จงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผอ. MASCI ‘ทุกหน่วยงานในประเทศไทยควรจะมีมาตรฐาน’

จงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผอ. MASCI

‘ทุกหน่วยงานในประเทศไทยควรจะมีมาตรฐาน’

 

องค์กรที่มีความสำคัญในฐานะหน่วยตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment Body) ซึ่งมีภารกิจในการตรวจ (Inspection) การรับรอง (Certification) การตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ (Verification & Validation) ระบบการบริหารจัดการและระบบต่างๆ ตามมาตรฐานสากล และเสริมสร้างประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น

จงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) หรือ MASCI สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ กล่าวถึงความเป็นมาและบทบาทหน้าที่ของMASCI ว่า จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ดำเนินการถ่ายโอนงานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยทำหน้าที่ตรวจประเมิน ให้การรับรองและฝึกอบรมระบบการบริหารจัดการต่างๆ อาทิ ISO 9001, ISO 14001, ISO 45001, ISO 50001

การได้รับรองมาตรฐาน ISO ทุกองค์กรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แล้วไม่ใช่เพียงธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบการธุรกิจบริการต่างๆ ก็สามารถขอการรับรองมาตรฐานได้ รวมทั้ง รัฐวิสาหกิจ ราชการ หน่วยงานเอกชน หรือสถานศึกษาและโรงเรียนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

ผู้อำนวยการ MASCI ให้ความเห็นว่า ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญกับการได้รับรองมาตรฐาน เนื่องจากปัจจุบันเรื่องความยั่งยืนเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งพิจารณาจาก 4 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จึงจำเป็นต้องมี ‘มาตรฐาน’ ยึดเป็นกรอบในการดำเนินงาน

ในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ นั้น เนื่องจาก MASCI  เป็นหน่วยงานปลายน้ำ ก่อนจะมีการรับรององค์กรอื่นได้  MASCI จะต้องได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือเป็นอันดับแรก จึงต้องมีระบบงานสำหรับการเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองที่ได้มาตรฐานสากล เช่น ISO/IEC 17020,  ISO/IEC 17021-1, ISO/IEC 17029, ISO 14065 โดย MASCI ได้รับการรับรองระบบงานจาก สมอ. และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งเป็นหน่วยรับรองระบบงานของประเทศไทย

จงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผอ. MASCI

“เมื่อมีการตรวจประเมินจาก MASCI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง ก็ทำให้เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นจากลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการสามารถนำผลการรับรองไปใช้ในการส่งออกทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งช่วยประกันคุณภาพ ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้องค์กรมีการทำงานที่เป็นระบบ ปฏิบัติงานตามกฎหมาย สร้างโอกาสทางธุรกิจ และส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร”

“โดยก่อนตรวจประเมิน MASCI ให้บริการฝึกอบรมได้ แต่ไม่ได้ให้คำปรึกษาในมาตรฐานที่ตรวจรับรองเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง สำหรับมาตรฐานที่เราไม่ได้ให้การรับรองก็จะทำ coaching เพื่อเป็นการแนะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีได้ หรือทำมาตรฐานฉบับย่อ ซึ่งใช้กับบริบทในประเทศไทย เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนายิ่งขึ้น”

“MASCI มีบทบาทในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย โดยจัดกิจกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางภาครัฐ เช่น ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการ และร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในการเป็นหน่วยเตือนภัย (Intelligence Unit) เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบด้านการมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้  หากมีข้อสงสัยสามารถขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำได้ ล่าสุดมีความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนฯ ในการจัดทำข้อมูลรายงานประจำปี (One Report) เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อสะท้อนการทำธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG)”

“เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรง ปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์ จึงต้องมีมาตรฐาน ISO 14064-1 เป็นการทวนสอบบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงไหน และอาจทำคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนเข้ามา แล้วดูว่ามีคาร์บอนเครดิตเท่าไร สามารถนำไปขายได้ แต่จะต้องมีการทวนสอบตามมาตรฐาน ISO 14064-2”

จากการทวนสอบตาม ISO 14064-2 หรือ T-VER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จะสามารถรายงานผลโครงการลดก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือคาร์บอนเครดิตและ สามารถนำไปจำหน่ายได้ MASCI จึงมีบทบาทในการยืนยันความถูกต้องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์และเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนาไปสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติด้วย

นอกจากนี้ เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทเกือบทุกวงการ จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อกำกับดูแลการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและโปร่งใส ในฐานะผู้อำนวยการ MASCI ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง ด้วยเกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ AI ยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

“ปัจจุบัน MASCI มีการตรวจรับรองมาตรฐานระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ISO/IEC 27001 (Information Security Management Systems) คือทำอย่างไรที่จะดูแลป้องกันข้อมูลทางธุรกิจจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ลดความเสี่ยงเรื่อง IT ให้องค์กรได้ และล่าสุดองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ออกมาตรฐาน ISO/IEC 42001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบบริหารจัดการ AI และพูดถึงวิธีการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจาก AI เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล คุณภาพของข้อมูล ซึ่งถ้าหากใช้อัลกอริทึมของข้อมูลที่นำไปฝึกให้กับ AI โดยไม่มีการทวนสอบและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลมีความผิดพลาดและส่งผลต่อผู้ใช้งาน เพราะเมื่อมีความเสี่ยงก็ต้องมีการจัดการความเสี่ยง เนื่องจากโลกวันนี้ไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีได้ เพียงแต่จะมีการจัดการอย่างไรให้เทคโนโลยีนั้นอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ดูแลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย”

ผู้อำนวยการ MASCI ขยายความของคำว่ามาตรฐาน หากเป็นศาสตร์ตะวันตกจะอยู่ภายใต้หลัก Plan-Do-Check-Act (PDCA) หรือหลักการทำงานสู่ความสำเร็จ วางแผนอย่างไรก็นำไปสู่การปฏิบัติ แล้วตรวจสอบว่ามีการปฎิบัติอย่างนั้นจริงหรือไม่ ถ้าปฎิบัติแล้วไม่ดีก็ต้องปรับปรุง

“เนื่องจากโลกเปลี่ยนเร็ว บริบทภายนอกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกับบริบทภายในแต่ละองค์กร ทำให้เกิดเป็นโอกาสซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยง ต้องพิจารณาความเสี่ยงและปรับใช้ กำหนดเป็นแผนการทำงานเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง หรือจะมีการ Take Risks อย่างไร แม้นักลงทุนจะบอกว่า High Risk High Return แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป สามารถคู่ขนานกันไปได้ เมื่อเห็นความเสี่ยงก็จัดการกับความเสี่ยงตรงนั้น”

อีกความภาคภูมิใจของการเป็นสถาบันรับรองมาตรฐาน คือการทำงานร่วมกับ สมอ. ในการกำหนดมาตรฐาน มอก.9999 หรือ ‘มาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม’ แสดงถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ “มอก.9999” เป็นมาตรฐานที่สะท้อนถึงความรู้อยู่คู่คุณธรรม ภายใต้ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพความรู้ความสามารถให้รับมือได้กับทุกการเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่เน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมก่อน”

ผู้อำนวยการ MASCI ทิ้งท้ายว่า ทุกหน่วยงานในประเทศไทยควรจะต้องมีมาตรฐาน แต่จะนำร่องที่มาตรฐานใดให้ประเมินจากแต่ละองค์กร เพราะบริบทแต่ละแห่งแตกต่างกันไป ให้ศึกษาทำความเข้าใจในมาตรฐานและนำมาปฏิบัติเบื้องต้น พิจารณาว่าเหมาะสมกับบริบทขององค์กรหรือไม่ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองมาตรฐานเพื่อยืนยันว่าปฏิบัติได้จริง

“ย้ำว่าทุกมาตรฐานเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ ต้องเริ่มต้นที่บริบทของแต่ละองค์กร” •