ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : อักษรจีน อาจจะเป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แทนอักษรลิ่ม?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เชื่อกันมาแต่เดิมว่า “ตัวอักษร” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือ “ตัวอักษรลิ่ม” หรืออักษร “คูนิฟอร์ม” (cuneiform) ของชาวสุเมเรียน ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ราบลุ่มอันอุดมของแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส หรือที่เรียกกันว่าเมโสโปเตเมียในภูมิภาคตะวันออกกลาง

โดยถ้าจะชี้เป้าลงไปให้ชัดๆ เลยก็คือ บริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศอิรักในปัจจุบันนั่นแหละนะครับ

อักษรลิ่มถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยในการจดจำ หรือบันทึกบัญชีสิ่งของด้วยวิธีที่คล้ายชวเลข หรือภาษาโทรเลข

แต่การจดบันทึกที่ว่าก็เป็นที่นิยมนับตั้งแต่เริ่มพบหลักฐานครั้งแรกเมื่อเฉียดๆ 5,400 ปีที่แล้วและยังใช้กันอย่างแพร่หลาย และพัฒนารูปแบบจนแตกต่างกันออกไปทั่วดินแดนเมโสโปเตเมีย ในอาณาจักร และยุคสมัยต่างๆ ในที่สุด

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ถึงแม้อักษรคูนิฟอร์มจะถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยพวกสุเมเรียน ซึ่งเป็นสังคมเมืองที่ซับซ้อนแห่งแรกๆ ของเมโสโปเตเมีย แต่อักษรชนิดนี้ไม่ใช่ของชาวสุเมเรียนเท่านั้น ใครๆ ที่ใช้อักษรลิ่มนั้นก็เรียกว่าอักษรคูนิฟอร์มได้ทั้งหมด เพราะคำว่า “คูนิฟอร์ม” นั้นเป็นคำเรียกในสมัยหลัง ที่พวกฝรั่งเอาไปใช้เรียกตัวอักษรประเภทนี้ต่างหาก

เพราะคำว่า “คูนิฟอร์ม” ถูกผูกขึ้นมาใหม่จากรากในภาษาละติน คือคำว่า “cuneus” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ลิ่ม” นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่นักอ่านภาษาโบราณบางท่านยังได้อธิบายต่อไปอีกว่า ตัวอักษรลิ่มนี่แหละครับที่ส่งอิทธิพลให้พวกอียิปต์ประดิษฐ์ตัวอักษร “เฮียโรกลิฟิก” (hieroglyphics) เมื่อราว 5,200 ปีที่แล้ว แต่ได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ของตัวอักษรในฐานะเครื่องช่วยจำสำหรับการทำบัญชีมาเป็นเครื่องช่วยจำในคติความเชื่อทางศาสนา

พิสูจน์กันได้ง่ายๆ จากการที่พบอักษรพวกนี้อยู่ในศาสนสถานและสุสานอย่างพีระมิดนี่แหละ

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เจ้าคำว่า “เฮียโรกลิฟิก” นั้นเป็นคำที่ผูกขึ้นมาจากรากในภาษากรีกสองคำ ได้แก่ “hieros” ที่แปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” และ “glypho” ที่แปลว่า “จารึก” ซึ่งผมคงจะไม่ต้องบอกนะครับว่ารวมความแล้วมันแปลว่าอะไร?

ผู้ที่ผูกศัพท์คำนี้ขึ้นมาด้วยภาษากรีกก็คือชาวกรีกนี่เอง ติตุส ฟลาวิอุส คลีเมนส์ (Titus Flavius Clemens) หรือที่มักจะเรียกกันว่า คลีเมนส์แห่งอเล็กซานเดรีย นักเทววิทยาชาวคริสเตียน ที่ลืมตาขึ้นดูโลกที่เมืองเอเธนส์ เมื่อราวๆ พ.ศ.693 คือใครคนนั้น

และจากคำที่ท่านได้ผูกขึ้นมาใช้เรียกตัวอักษรเหล่านี้แล้ว ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า ตัวอักษรเหล่านี้มีหน้าที่การใช้งานและสถานภาพอย่างไรในยุคของท่าน เพราะตัวอักษรพวกนี้ยังถูกใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงช่วง พ.ศ.939 เลยทีเดียว

ดังนั้น สำหรับเจ้าของตัวอักษรพวกนี้คือชาวอียิปต์โบราณเอง จึงไม่ได้เรียกพวกมันว่า “เฮียโรกลิฟิก” หรอกนะครับ

พวกเขาเรียกตัวอักษรเหล่านี้ว่า “มิดิว เนตเชอร์” (medew netcher หรือที่สะกดตามอักขรวิธีโบราณว่า mdw mTr) ซึ่งก็แปลว่า “คำพูดของพระเจ้า” ต่างหาก

ที่เรียกว่าเป็นคำพูดของพระเจ้า ก็แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของตัวอักษรและหน้าที่การใช้งานที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่พวกอียิปต์สมัยโน้นยังมีความเชื่อที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นอีกว่า ตัวอักษรเหล่านี้เป็นของที่เทพเจ้าธอธ (Thoth) เทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา ที่มีเศียรเป็นนกกระสา ประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วก็ประทานมาให้กับมนุษย์โลกใช้เลยทีเดียว

สำหรับพวกอียิปต์โบาณ ที่มีตัวอักษรใช้ห่างจากอักษรลิ่มของพวกสุเมเรียนไม่กี่ร้อยปีนั้น ตัวอักษรของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในการสื่อสารกับพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะใช้จดบันทึกอะไรในเชิงการค้าอย่างของพวกสุเมเรียน

 

อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “อักษรจีน” โดยการขุดค้นในแถบพื้นที่มณฑลซีอาน ประเทศจีนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ นักอ่านจารึกโบราณของจีนอ้างว่า ตัวอักษรจีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 6,000 ปีมาแล้ว เบียด “ตัวอักษรลิ่ม” ของพวกสุเมเรียน เจ้าของตำแหน่งตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคนเดิมเสียจนตกขอบเวที

(แต่นี่ก็เป็นเพียงความฟากที่ดังมาจากฝ่ายจีนเท่านั้น เอาเข้าจริงแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจได้นักว่าตัวอักษรของจีนนั้นเก่าแก่ไปถึงขนาดที่พวกเขาเคลมจริงๆ หรือเปล่า?)

หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นและวิจัยทางด้านโบราณคดีช่วยให้เราทราบว่า แต่เดิมตัวอักษรโบราณของจีนน่าจะเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อเชิงศาสนาเพราะโดยมากพบอยู่บนกระดูกเสี่ยงทาย หรือกระดองเต่า (อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานว่าชาวจีนโบราณใช้ตัวอักษรทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยหรือไม่?)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทางด้านการเขียนอักษรจีน (National Museum of Chinese Writing) ที่เมืองอันหยาง มณฑลเหอเป่ย ได้เปิดเผยว่า ทุกวันนี้มีการค้นพบตัวอักษรบนกระดูกเสี่ยงทายและกระดองเต่าเหล่านี้ถึง 5,000 ตัวอักษร แต่สามารถแปลความหมายเพียงแค่ราว 2,000 คำเท่านั้น

ซึ่งถ้าหากจะไม่แคร์ว่าตัวอักษรของใครเก่าแก่กว่ากันแน่แล้ว ในช่วงเวลาที่ใกล้ๆ กันนั้น ตัวอักษร (โดยเฉพาะอักษรภาพ อย่างอักษรจีนและอักษรเฮียโรกลิฟิก) ที่แสดงถึงสิ่งของ, ความรับรู้ในวัฒนธรรมหรือสังคมนั้นๆ, ความซับซ้อนของสังคม ฯลฯ แล้ว เมื่อ 4,000 ปีบวกลบนิดหน่อยนั้น พวกอียิปต์เพิ่งจะมีตัวอักษรใช้แค่ 700 ตัว ในขณะที่สัญลักษณ์ที่เกิดจากการประสมตัวอักษรลิ่มเมื่อเฉียดๆ 5,000 ปีที่แล้วนั้นก็มีอยู่แค่ราว 1,500 ตัวอักษรเท่านั้นเอง

และถ้าจะใช้จำนวนตัวอักษรสำหรับเป็นมาตราชี้วัดถึงความซับซ้อนของอารยธรรมต่างๆ ในโลกแล้ว แน่นอนว่าถ้าวัดกันในแง่นี้แล้ว จีนชนะขาดลอย