2503 สงครามลับ สงครามลาว (75)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (75)

 

“ภูสิน” บันทึกสถานการณ์

ช่วงวิกฤต 18 ธันวาคม 2514 ต่อไป

“ในตอนบ่ายแก่ๆ ประมาณ 16.00 น.กว่าๆ นี่แหละ หลังจากจบภารกิจยิงของบีซี 609 แล้วขณะที่ผมกำลังอำนวยการยิงต่อเป้าหมายซึ่งเป็น ปตอ.ข้าศึกตามคำขอยิงของผู้นำอากาศยานหน้าอยู่ ได้ยินเสียงกระสุนระเบิดดังมาจากบริเวณที่ตั้งปืนใหญ่และผู้บังคับหมู่ปืนใหญ่หมู่ 1 รายงานว่าถูกรถถังข้าศึกยิง (รู้ได้เพราะได้ยินเสียง ‘ตึง’ จากรถถังในทุ่งไหหินสักครู่ก็ระเบิด ‘กล้ำ’ ที่เรา) แต่ดีที่ถูกบังเกอร์ปืนใหญ่ และพลประจำปืนไม่เป็นอันตราย แต่พลประจำปืนก็กลัวจนไม่กล้าออกมาปฏิบัติหน้าที่

ก็รถถังที่วิ่งตามธงขาวและทองแดงที่ปักสลับกันเป็นแนวทางตะวันตกของ ‘ไลอ้อน’ ที่เห็นกันเมื่อวานนั่นแหละครับ

ขณะนั้นในศูนย์อำนวยการยิงไม่มีหัวหน้าอื่นอยู่เลย ผมจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการยิงดูแลคำสั่งยิงต่อไป ส่วนผมเองวิ่งขึ้นไปที่ปืนใหญ่กระบอกที่มีปัญหา

เมื่อไปถึงหมู่ปืนใหญ่ที่ว่า ผมบอกว่าถ้าเราไม่ยิงมัน มันก็ยิงเราข้างเดียว ปืนของเราถึงยิงได้ช้ากว่าของมัน แต่ก็ใหญ่และมีอำนาจทำลายมากกว่า แค่ยิงเฉียดๆ มันก็แย่แล้ว ดีกว่ารอให้มันยิงเอาๆ ข้างเดียว

อาศัยพระบารมีปกเกล้า ได้ผลครับ ทุกคนมีใจฮึกเหิมออกมายิงต่อสู้อย่างดุเดือดไม่คิดชีวิต ถือว่าหากพวกเราจะต้องตายก็ขอให้ทำลายข้าศึกให้ได้มากที่สุดเสียก่อน ไม่ใช่อยู่ในบังเกอร์รอให้เขามาฆ่าให้อายบรรพชนนักรบไทย และผมวิทยุเรียนหัวหน้าทุกคนให้ช่วยกันเป็นกำลังใจให้แก่พลประจำปืนด้วย ซึ่งทราบว่าภายหลังว่า ภูมิ่งและภูเวียงก็ได้อยู่ประจำหมู่ปืนใหญ่กระบอกอื่นคนละกระบอก

ในช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวายและอันตรายที่สุด ไหนจะคอยระวังรถถังข้าศึกจะยิงเข้ามา ไหนจะคอยระวังปืนใหญ่ของข้าศึก ไหนจะต้องช่วยฐานยิงมัสแตงซึ่งกำลังถูกรถถังเข้าตี ไหนจะต้องยิงช่วยบีซี 609 บนภูเทิง”

19 ธันวาคม 2515

“The Call of The Faraway Hills”

“ประมาณ 17.00 น. ทุกฐานได้ยินเสียงรายงานสถานการณ์จากบีซี 609 บนยอดบนยอดภูเทิงว่ามีข้าศึกจำนวนมากเข้ามาในฐานถึงขั้นรบประชิดเข้าตะลุมบอนกันในฐาน และแล้วผมก็ได้ยินเสียงรุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า ‘อินทนิล’ พูดออกวิทยุซ้ำๆ อยู่ประมาณ 2-3 ครั้งก็เงียบหายไป ฟังแล้วขนลุก แต่ผมจำได้ติดหู”

“มัสแตง…ไลอ้อน…สติงเรย์…ใครได้ยินเสียงผมแล้วช่วยยิงแตกอากาศกลางฐานให้ผมด้วย เพราะเป็นทางเดียวที่ผมจะรอดอยู่ได้”

“คำว่า ‘ยิงแตกอากาศกลางฐาน’ จะใช้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเมื่อข้าศึกเข้ามาในที่มั่นของฝ่ายเราได้และที่มั่นของเรามีบังเกอร์หรือที่กำบังปิดปลอดภัย ฝ่ายเราจะหลบเข้าในที่กำบังปล่อยให้ข้าศึกอยู่ข้างนอกซึ่งไม่มีที่กำบัง เมื่อขอปืนใหญ่ฝ่ายเรายิงแตกอากาศกลางฐาน กระสุนปืนใหญ่จะระเบิดสูงจากพื้นดินประมาณ 20 เมตรซึ่งเป็นความสูงที่จะสาดสะเก็ดระเบิดเป็นอันตรายต่อคนนอกที่กำบังอย่างที่สุด แต่ไม่ทำลายที่กำบัง ฝ่ายเราซึ่งอยู่ในที่กำบังจึงปลอดภัยและคอยเก็บข้าศึกที่เล็ดลอดเข้ามาในที่กำบัง

แต่วิธีนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อข้าศึกมีจำนวนจำกัดไม่มีกำลังมาเพิ่มเติม แต่สถานการณ์ที่ภูเทิงเมื่อ 19 ธันวาคม 2514 นี้ ข้าศึกมีจำนวนมากมากเสียจนเราทำลายไม่ทัน

แต่ผมคิดว่าไลอ้อนน่าจะทำลายข้าศึกและช่วยบีซี 609 ได้ระดับหนึ่ง แต่ข้าศึกมีจำนวนมากเหลือเกิน มากจนกระทั่งเราทำลายไม่หมด ผมพยายามเรียกพี่อินทนิลแล้วบอกให้พยายามถอนตัวมารวมกันที่ไลอ้อน แต่ไม่ได้รับเสียงตอบและไม่ได้ยินเสียง และไม่ได้พบพี่อินทนิลอีกเลยตราบจนทุกวันนี้

ผมสั่งยิงไปที่ภูเทิงแบบปูพรมต่อไปอีกประมาณ 10 นาทีก็สั่งจบภารกิจ”

 

บันทึกของพันเอกเหงียน ชวน…

พันเอกเหงียน ชวน ผู้บังคับการกรม 165 บันทึกการปฏิบัติต่อที่หมายกองพันทหารเสือพราน บีซี 609 ที่ยอดภูเทิง ต่อไปดังนี้

เวลา 16.45 : 19 ธันวาคม กระสุนระเบิดถูกยิงโจมตีที่หมายอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง นัดต่อนัด ส่งเสียงกัมปนาทราวฟ้าร้องกลางพายุร้าย จากเครื่องยิงระเบิด 120 ม.ม. 82 ม.ม. และปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ทั้งหมดพุ่งเข้าสู่เป้าหมายที่มั่นแข็งแรงทั้งสามแห่งบนยอดเนินของข้าศึกซึ่งต่างหลบหายอยู่ภายใต้กลุ่มควันและเปลวไฟ จากนั้นก็ติดตามด้วยกระสุนปืนใหญ่ขนาด 130 ม.ม. 122 ม.ม. และ 85 ม.ม.ของฝ่ายเรา

ต่อมาเสียงกัมปนาทก็พลันเปลี่ยนพื้นที่ไปอย่างกะทันหัน ตำบลกระสุนตกเคลื่อนย้ายไปหลังกลุ่มเป้าหมาย พลุส่องแสงระเบิดขึ้นกลางอากาศเหนือที่ตรวจการณ์ ณ จุดบัญชาการรบของเราอันเป็นสัญญาณออกตี

ผู้บังคับกองร้อย เหงียน ธี เธา (Nguyen The Thao) กระโจนขึ้นจากตำแหน่งเตรียมเข้าตี กำลังส่วนโจมตีของกองร้อยที่ 9 กรม 165 ชาร์จเข้าสู่ที่หมาย โดยไม่ใส่ใจต่อความลาดชันของพื้นที่ข้างหน้าและระเบิดขว้างที่ข้าศึกโยนออกมาเพื่อสกัดการรุก เธาและแดน วิ่งนำหน้ากองร้อย พุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางที่มั่นแข็งแรงของข้าศึก ขณะที่ลึกไปด้านหลัง ปืนกลหนัก 12.7 ม.ม. ระดมยิงสนับสนุนการรุกสู่ที่หมายของกองร้อยที่ 9 อย่างต่อเนื่อง

ธงแดงในมือของผู้บังคับหมู่ วู ดัค (Vu Duc) โบกสะบัดไปมาราวกับเปลวไฟขณะที่เขาเคลื่อนไปข้างหน้า ทหารข้าศึกซึ่งถูกกดดันจากฉากการยิงปืนใหญ่ก่อนหน้านี้ โงหัวขึ้นมาจากที่มั่นทำการยิงต่อต้าน

กำลังทั้งหมดของกองร้อยที่ 9 ยังคงรุกคืบหน้าลึกเข้าไปภายในที่มั่นแข็งแรงของข้าศึก จากนั้นก็แยกย้ายกันกระโจนลงไปในแนวคูติดต่อ ขว้างระเบิดมือและระเบิดไร้สะเก็ด (Hand-Held Explosive Charges : ใช้สำหรับการรบประชิด/บัญชร) เข้าใส่ข้าศึกจนแผ่นดินสั่นสะเทือน อากาศถูกอัดซ้ำด้วยแรงระดมยิงจากปืนอาก้าประจำตัว ทหารไทยพยายามตอบโต้ด้วยการใช้ประโยชน์จากแนวคูติดต่อ

กองร้อยที่ 10 และ 11 เข้าโจมตีขึ้นเนินจากด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ ฮง มินห์ ตรี (Hoang Minh Tri) ปักธงประจำกองร้อยที่ 10 ไว้เหนือบังเกอร์ข้าศึก ผืนธงโบกสะบัดท่ามกลางสายลม ระเบิดขว้างลูกหนึ่งของข้าศึกระเบิดใกล้ๆ ตรี แรงระเบิดทำให้เขาล้มลงหมดสติ แขนซ้ายได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด

ทหารที่ตามติดไปข้างหลังวิ่งเข้าพยุงนำไปหลบในหลุมระเบิด จากนั้นก็ทำการปฐมพยาบาลและพันแผลให้

เมื่อได้สติ ตรีกลับไปสู้รบต่อ จนได้รับบาดเจ็บอีกครั้ง เลือดโชกไปทั่วขากางเกง แต่ตรีก็ยังคงยืนหยัดสู้ต่อไปเคียงข้างรองผู้บังคับกองร้อยหู (Hieu) เพื่อช่วยถ่ายทอดคำสั่ง

ตัวรองผู้บังคับกองร้อยหูเองนั้นแม้จะได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เริ่มการเข้าตี แต่ก็ยังคงกัดฟันออกคำสั่งแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้เดินหน้าเข้าตีต่อไป

การต่อสู้ผ่านไปหลายนาที ทหารกองพันที่ 6 สามารถเข้ายึดที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 1 ได้ครึ่งพื้นที่ ขณะที่อีกครึ่งที่เหลือ ทหารข้าศึกยังคงใช้ประโยชน์จากบังเกอร์และคูติดต่อทำการยิงต่อต้านส่งผลให้รองผู้บังคับกองพัน บัค ชวน บวง (Bach Xuan Buong) เสียชีวิตจากกระสุนข้าศึก กองพันต้องหยุดปรับกำลังใหม่ก่อนทำการเข้าตีต่อไป

ระหว่างนั้น ผู้บังคับกองร้อย เหงียน นู คิม (Nguyen Nhu Kim) และนายทหารการเมือง เหงียน ชวน เชียน (Nguyen Xuan Xien) นำกำลังกองร้อยที่ 1 เข้าตีผ่านช่องว่างทางตะวันออกของที่มั่นแข็งแรงที่ 2 ทันทีที่ปืนใหญ่ของฝ่ายเราเลื่อนฉากการยิงไปยังด้านหลัง

หมวดที่รุกลึกเข้าไปบุกไปข้างหน้า ธงแดงที่ถือโดยรองผู้บังคับหมวด เลอ ธัน งัต (Le Thanh Ngat) สบัดโบกกลางอากาศนำหน้าหมวดนำนี้ อาวุธหนักของข้าศึกเปิดฉากระดมยิงเข้ามาสู่ด้านปีกของหมวดนำ งัต (Ngat) ซึ่งนำหน้าหมวดนำอยู่ล้มคว่ำลง เสียชีวิตทันที

ผู้บังคับหมู่ ฮวง ตรัง อัน (Hoang Trung An) วิ่งเข้าไปดึงธงจากมืองัต แต่บุกไปข้างหน้าได้เพียงไม่กี่ก้าวก็ถูกยิงทะลุหน้าอก

พลทหารควิน (Quen) วิ่งเข้ามาจากด้านหลังแล้วเข้าถือธงต่อ พื้นที่แคบจำกัดการเคลื่อนที่ข้างหน้าท่ามกลางแนวที่มั่นตั้งรับของข้าศึกทำให้การเข้าตีของกองร้อยที่ 1 ต้องหยุดชะงักลง

แต่หลังใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อปรับรูปขบวนให้กระจายกว้างออก เครื่องยิง B-40 และ B-41 เริ่มยิงจรวดเข้าสู่ที่ตั้งปืนกลของข้าศึก แต่ปืนกล 12.7 ม.ม.ของข้าศึกก็ยังคงระดมยิงสกัดกั้นการรุกของฝ่ายเรา ส่งผลให้ส่วนที่บุกทะลวงเข้าสู่ที่หมายของฝ่ายเราเหลือกำลังเพียงครึ่งหนึ่ง

พลทหารควินถูกยิงอีกครั้ง ธงที่ชุ่มโชกไปด้วยเลือดทหารคนแล้วคนเล่า ถูกส่งต่อไปยังผู้บังคับหมู่ เหงียน ชวน คิว (Nguyen Xuan Quy) เครื่องบินข้าศึกโฉบเข้าโจมตีทิ้งระเบิดรอบๆ บริเวณที่มั่นแข็งแรง ควันและฝุ่นคลุ้งไปทั่วบริเวณราวกำแพงกำบังพื้นที่สู้รบจากสายตา

สถานการณ์ในพื้นที่มั่นแข็งแรงที่ 1 ตกอยู่ในความคับขัน บัดนี้ กองร้อยที่ 9 และ 10 ไม่มีจรวดสำหรับเครื่องยิง B-40 และ B-41 ไม่มีทั้งระเบิดไร้สะเก็ด ทหารแต่ละคนเหลืออยู่แต่เพียงกระสุนอาก้าไม่กี่นัด

ข้าศึกที่ยังเหลืออยู่หลบหนีเข้าไปในบังเกอร์ ซึ่งมีอยู่ 4 แห่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยทหารญี่ปุ่นเข้ายึดครองพื้นที่ทุ่งไหหิน และต่อมาทหารฝรั่งเศสได้ปรับปรุงให้แข็งแรงขึ้น

จนกระทั่งอีก 30 นาทีต่อมา ฝ่ายเราจึงได้เริ่มการโจมตีบังเกอร์ปิดซึ่งข้าศึกที่รอดชีวิตยึดครองอยู่อีกครั้งหนึ่ง ข้าศึกระดมยิงออกมาจากบังเกอร์พร้อมกับขว้างระเบิดมือออกมา

ห้านาทีต่อมา ทหารของเรายิง B-40 และ B-41 รวมทั้งปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง 75 ม.ม. และ ปืนกล 12.7 ม.ม.เข้าใส่ จากนั้นหมวดโจมตีของเราก็ใช้ดินระเบิดทำลายจำนวนมากโยนเข้าใส่ ระเบิดสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วพื้นดิน เกิดเป็นควันและฝุ่นกระจายหนาไปบนอากาศทั่วบริเวณ กองร้อยที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 บุกไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน โยนระเบิดมือและระเบิดไร้สะเก็ดเข้าไป ขณะที่ใช้โทรโข่งประกาศให้ข้าศึกยอมจำนน

ณ ที่มั่นแข็งแรงที่ 2 แม้ว่าผู้บังคับกองร้อย เหงียน นา คิม (Nguyen Nha Kim) พร้อมด้วยผู้บังคับหมวดของเขาจะได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่มีใครละทิ้งหน้าที่ ความกล้าหาญเสียสละของเขาทำให้ทหารที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ยังคงวางกำลังอยู่หน้าบริเวณช่องว่างในแนวตั้งรับของข้าศึกในการเข้าตีเจาะขั้นแรก

หลังจากเสร็จสิ้นการยิงฉากด้วยอาวุธหนักต่อที่ตั้งยิงข้าศึก กำลังฝ่ายเราก็เริ่มเปิดฉากการเข้าตีอีกระลอกหนึ่ง แต่การเข้าตีก็ล้มเหลวลงอีกครั้ง กำลังทหารที่ถูกสกัดกั้นอยู่ตรงหน้าบริเวณช่องว่าง

แนวตั้งรับของข้าศึกมีจำนวนมากขึ้นไปอีก