เปิดตำนาน ‘ไทลาซีน’ สัตว์ประหลาดแห่งแทสเมเนีย

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ในปี 1642 เอเบล แทสมาน (Abel Tasman) ต้นหนและนักบุกเบิกมากประสบการณ์แห่งบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งดัตช์ (Dutch East India Company) ออกเรือจากเมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบัน คือเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย) เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

และแล้วในวันที่ 24 พฤศจิกายน 1642 เอเบลก็ค้นพบดินแดนใหม่ในระหว่างทางที่เขาเดินทางสำรวจ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สนับสนุนการสำรวจอย่างเป็นทางการ เขาตั้งชื่อดินแดนที่ค้นพบใหม่นี้ว่า “เกาะของวานดีเมน” ตามชื่อของแอนโทนี วาน ดีเมน (Anthony van Diemen) ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอินเดียตะวันออกแห่งดัตช์

หลังจากที่ค้นพบดินเเดนใหม่ ทีมของเอเบลนำโดยกัปตันฟรองซัวส์ ยาคอปซ์ (Francoys Jacobsz) ก็เริ่มเข้าสำรวจชายฝั่ง พวกเขาค้นพบรอยเท้าสัตว์นักล่า มีร่องรอยบ่งชี้ว่ามีกรงเล็บคล้ายกับรอยเท้าเสือ

พวกเขาเชื่อว่ารอยเท้านี้เป็นรอยเท้าของเสือ หรือไทเกอร์ (Tyger) ตามคำเรียกในภาษาของพวกเขา

แม้ว่าจะยังเป็นข้อถกเถียงกันค่อนข้างเยอะว่ารอยเท้าที่ฟรองซัวส์พบนั้น จะเป็นรอยเท้าของตัวอะไร (อาจจะเป็นของสัตว์ล่าเนื้ออื่นๆ เช่น ปีศาจแทสเมเนีย (Tasmanian devil) ก็เป็นได้)

แต่นักวิจัยหลายคนก็ตีขลุมไปแล้วว่า “รอยเท้าของไทเกอร์” นี้ คือบันทึกแรกของการค้นพบ “ไทลาซีน (Thylacine)” สัตว์ประหลาดในตำนานแห่งเกาะวานดีเมน

ไทลาซีนกับนักล่าในปี 1869

ในช่วงตอนปลายศตวรรษที่ 18 หลักฐานการค้นพบไทเกอร์ก็เริ่มน่าตื่นเต้นมากขึ้น นักบุกเบิกอาณานิคมชาวฝรั่งเศส พบซากขากรรไกรบนของสัตว์ล่าเนื้อและได้ยินเสียงร้องของพวกมัน

นักสำรวจฝรั่งเศสระบุชัดว่าพวกเขาได้พบสิ่งมีชีวิตหน้าตาคล้ายสุนัขตัวใหญ่มีสีขาวอมน้ำตาลจางๆ และมีลายพาดกลอนสีดำ

ไม่นานหลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ามาที่เกาะ ก็เริ่มมีผู้บุกเบิก พ่อค้าและพวกนักล่าอาณานิคมเดินทางมาที่เกาะนี้มากขึ้น และในปี 1803 นักล่าอาณานิคมจากสหราชอาณาจักรก็เริ่มเข้ามายึดหัวหาด ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บนเกาะนี้เช่นกัน

และเพื่อยึดพื้นที่ให้ได้อย่างมั่นคง ในปี 1804 กองทัพของนายพลวิลเลียม แพตเตอร์สัน (William Paterson) จากสกอตแลนด์ได้ยกพลขึ้นบกที่เกาะวานดีเมนและเริ่มก่อตั้งเมืองท่าอยู่ที่บริเวณท่าเรือดัลริมเพิล (Port Dalrymple – ในปัจจุบันคือเมืองจอร์จทาวน์ รัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย)

และเพื่อก่อตั้งอาณานิคม วิลเลียมสั่งการให้กองทัพของเขา ซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นกำลังทหารที่โหดร้าย มือเปื้อนเลือด ฆ่าหมดทั้งคนแก่ ผู้หญิงเเละเด็ก ลงพื้นที่สำรวจเกาะวานดีเมนอย่างละเอียด

และพวกเขาก็ได้พบกับสัตว์ประหลาดหน้าตาเหมือนสุนัขแต่มีกระเป๋าหน้าท้อง…

 

ทีมสำรวจของวิลเลียมรายงานอย่างละเอียดในวารสาร Sydney Gazette and New South Wales Advertiser “ความยาวทั้งตัววัดจากปลายจมูกถึงปลายหางได้ยาวราวๆ 5 ฟุต 10 นิ้ว แค่หางอย่างเดียวจะยาวราว 2 ฟุต หัวมีขนาดใหญ่มาก มีลักษณะสัณฐานคล้ายกับไฮยีนา”

นี่เป็นรายงานแรกที่ชัดเจนว่ากล่าวถึงไทลาซีน “ทั้งตัวของมันปกคลุมไปด้วยขนที่เรียบสั้นสีเหลืองอมน้ำตาล บนส่วนท้ายของหลังและเอวมีแถบสีดำ 16 แถบพาดผ่าน” พวกเขาบรรยาย

ทว่า เกาะวานดีเมน กลับไม่ได้เป็นที่นิยมของพ่อค้าและนักล่าอาณานิคม ด้วยความดิบเถื่อนและไกลปืนเที่ยงของพื้นที่

สหราชอาณาจักรได้แปรสภาพเกาะขนาดยักษ์แห่งนี้ให้เป็นที่สำหรับเนรเทศนักโทษทางการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หากโดนตีตั๋วเที่ยวเดียวอัปเปหิส่งมาอยู่บนเกาะนี้แล้ว ไม่มีทางเลยจะหนีออกไปจากเกาะนี้ได้

และเมื่อนานวันเข้า นักโทษที่ถูกเนรเทศไปก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชื่อเสียงของเกาะวานดีเมนเริ่มฉาวโฉ่ ในสหราชอาณาจักร เกาะวานเดีเมนคืออาณานิคมแห่งนักโทษที่น่ากลัว

 

นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมในช่วงปีทศวรรษ 1850s หลังจากที่เกาะวานดีเมนสามารถจัดตั้งรัฐบาลมาปกครองดูแลกันได้เอง สิ่งที่รัฐบาลชุดแรกทำก็คือเปลี่ยนชื่อเกาะเสียใหม่… เป็น “เกาะแทสเมเนีย (Tasmania Island)”

จากไทลาซีน ที่แปลว่า “สัตว์มีถุงหน้าท้องหัวสุนัข” ก็เลยได้ชื่อเรียกเพิ่มเป็น “เสือแทสเมเนีย (Tasmanian tiger)” เพราะมีกรงเล็บและมีลาดพาดอยู่ที่หลังเหมือนเสือ และ “หมาป่าแทสเมเนีย (Tasmania wolf)” เพราะหน้าตาเหมือนสุนัข

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะดูเผ่าพงศ์วงศ์วานในสายวิวัฒนาการ ไทลาซีนนั้นไม่ใช่ทั้งเสือและหมาป่า แท้จริงแล้ว พวกมันเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องจำพวกเดียวกับ “ปีศาจแทสเมเนีย”

ในอดีต ไทลาซีนนั้นพบได้ทั่วไปในออสเตรเลีย แทสเมเนียไปจนถึงปาปัวนิวกินี และถือเป็นหนึ่งในสัตว์นักล่าที่อยู่บนยอดสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร

ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ ไทลาซีนน่าจะพบได้มากมาย และเริ่มร่อยหรอในตอนที่พวกนักล่าอาณานิคมเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในแทสเมเนีย

แต่ในความเป็นจริง ในธรรมชาติ ไทลาซีนนั้นค่อนข้างเปราะบาง พวกมันเริ่มสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วจากออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีไปตั้งแต่เมื่อราว 2,000-3,000 ปีก่อนจากการรุกรานของสุนัขดิงโก้และศัตรูทางธรรมชาติอื่นๆ

 

กว่าที่มนุษย์จากโลกตะวันตกจะได้รู้จักกับไทลาซีน สถานะของพวกมันก็น่ากังวลอย่างที่สุดแล้วในมุมของนักอนุรักษ์ ในตอนนั้น แหล่งที่สามารถพบไทลาซีนได้เหลือเพียงแค่ที่เดียวคือบนเกาะแทสเมเนีย และทั้งเกาะ น่าจะมีเหลืออย่างมากแค่ไม่ถึง 5,000 ตัว

ถ้าเป็นปัจจุบัน หากเหลือแค่หลักพันทั้งโลก ไทลาซีนน่าจะถูกลิสต์ขึ้นทำเนียบบัญชีแดง (Red list) สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Nature Resources, IUCN) เป็นที่จับตามองของกลุ่มนักอนุรักษ์ทั่วโลก บางทีมอาจจะเห็นโอกาสในการสร้างแคมเปญอนุรักษ์ในพื้นที่ และร่วมด้วยช่วยกันระดมสมองออกไอเดียช่วยป้องกันปกป้องไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์

อนิจจา ในยุคตั้งอาณานิคม ไม่มีใครสนใจว่าไทลาซีนจะสูญพันธุ์

เพราะเกาะแทสเมเนียนั้นทั้งใหญ่โตมโหฬาร ถ้าเทียบขนาดก็น่าจะประมาณประเทศไอร์แลนด์ทั้งประเทศ หรือถ้าเทียบกับประเทศไทย ก็พอๆ กับภาคใต้ทั้งภาค อีกทั้งภูมิประเทศก็เต็มไปด้วยผืนป่าดงดิบที่รกชัฏ ใครจะไปคิดว่าประชากรของผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารแห่งผืนป่าอันอุดมจะวิวัฒนาการมาได้แบบสนิมสร้อย ใกล้สูญพันธุ์ เหลืออยู่จริงแค่ไม่กี่พันตัวในที่เดียวบนโลก

สำหรับผู้บุกเบิกอาณานิคม ไทลาซีน คือหนึ่งในนักล่าที่มาปั่นป่วนฟาร์มปศุสัตว์ ฆ่าแกะ ฆ่าไก่ ซึ่งที่จริงแล้ว ไทลาซีนคือตัวที่มาป่วนจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะศัตรูที่ออกมาสร้างปัญหา ล่าปศุสัตว์นั้น อาจจะเป็นตัวอื่นก็ได้ ทั้งหมา ทั้งแมว ทั้งปีศาจแทสเมเนีย แต่เพื่อตัดปัญหา ตัวไหนมาก็กำจัดไปให้หมดสิ้น อาณานิคมจะได้อยู่กันอย่างสงบสุข

ถึงขนาดที่มีแคมเปญในปี 1888 ออกมาให้ค่าหัวไทลาซีน 1 ปอนด์สำหรับตัวเต็มวัย และ 10 ชิลลิ่งสำหรับลูกไทลาซีน จากที่มีบันทึกไว้ แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ มีผู้มาขอรับค่าหัวมากถึง เกือบสองพันสองร้อยตัว

 

ในเวลาไม่กี่ทศวรรษ จากการล่ากันอย่างไม่บันยะบันยัง มีไทลาซีนถูกกำจัดไปมากมายหลายพันตัว จำนวนประชากรไทลาซีนในธรรมชาติที่เดิมก็มีน้อยอยู่แล้ว ก็ร่อยหรอลงไปอีกจนแทบไม่เหลือ

จำนวนประชากรของไทลาซีนที่ลดลงอย่างฮวบฮวบ ช่วยกระตุกความสนใจของนักอนุรักษ์ ได้ออกมาขับดันให้ออกกฎเพื่อปกป้องประชากรไทลาซีน

ทว่า มันสายไป เพียงแค่สองเดือนหลังจากที่กฎหมายจะออกมา ในปี 1936 “เบนจามิน (Benjamin)” ไทลาซีนตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ที่สวนสัตว์โบมาริส (Beaumaris) ในเมืองโฮบาร์ต (Hobart) ก็ถึงคราวต้องลาโลกไป

ผ่านไปห้าสิบปี ก็ยังไม่มีใครมีหลักฐานการพบเจอไทลาซีนตัวเป็นๆ ในธรรมชาติ ในที่สุด ไทลาซีนถูกประกาศว่าเป็นสปีชีส์ที่สูญพันธุ์ในปี 1986

อย่างไรก็ตาม ในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของแทสเมเนีย ยังมีพื้นที่ตกสำรวจอยู่อีกมากมาย ใครจะรู้ บางทีอาจจะมีครอบครัวของไทลาซีนซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งก็เป็นได้

อยากกระซิบบอกว่า ถึงตอนนี้ก็ยังมีนักวิจัยอีกหลายคนเชื่อว่าไทลาซีนไม่ได้สูญพันธุ์จริงๆ และกำลังพยายามค้นหาไทลาซีนตัวเป็นๆ อยู่!!

ส่วนพวกเราคนดู ก็ได้แต่ลุ้นต่อไป…