ส.ว. (ไร้) ศรัทธา (ไร้) อนาคต Breaking the cycle (ไม่ได้?)

สรุปยอดผู้สมัครเข้ารับการเลือกเป็น ส.ว.ภายใต้กติกาใหม่ คือ 48,117 คน จำแนกออกเป็น 20 กลุ่ม ซึ่งน้อยกว่าที่หลายคนคาดการณ์ น้อยกว่าที่คนจัดการเลือกคาดหวังไว้กว่าเท่าตัว

ถัดจากวันปิดรับสมัครไม่นาน ก็เจอ กกต.ประกาศตัดสิทธิอีก 2,021 คน เหตุจากการไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น บ้างก็ลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองแต่ชื่อออกจากระบบไม่ทัน ทำให้เหลือผู้สมัคร ส.ว.ราว 4.6 หมื่นคน

ถ้ามองว่า “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนคือโจทย์หลัก” ต้องบอกว่าจากยอดผู้สมัครรอบแรก การเลือกครั้งนี้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก

แต่ถ้ามองจากฐานคิดของผู้นำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องบอกว่า “ไม่ผิดจากที่คาด” เพราะต้องไม่ลืมหลักสำคัญที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตั้งอยู่บนปรัชญาของ “การพยายามสร้างกติกากีดกันประชาชน”

คนร่างรัฐธรรมนูญมองว่า “เสี่ยงเกินไป” ที่จะมอบอำนาจการเลือก ส.ว.ให้กับประชาชนคนไทยแบบเดิม เพราะอาจจะนำมาสู่สภาผัว-เมีย

กติกาอันสลับซับซ้อน จนได้ฉายาว่า “ยุ่งยากที่สุดในโลก” จึงกำเนิดขึ้น

 

ตั้งแต่การบังคับให้ต้องจ่ายเงิน 2,500 บาทก่อนจึงจะมีสิทธิร่วม การกำหนดให้คนอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นจึงจะมีสิทธิสมัคร ระเบียบต่างๆ ที่ออกมาต่อเนื่อง การต้องใช้เอกสารมากมาย แถมยังมีกฎเกณฑ์ที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนไป-มา รวมถึง “การกำหนดโทษที่รุนแรง” จากความบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้

หรือกรณีระเบียบของ กกต.เรื่องการแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ว.ที่ตีความเกินเลย จนผู้สมัครต้องไปร้องศาลปกครองให้เพิกถอน สุดท้าย กกต.ต้องแก้ไขระเบียบใหม่ตามคำร้องของผู้สมัครหลายข้อ

ทั้งหมด นอกจากจะดูเหมือน “ไม่อำนวยความสะดวก” ในทางกลับกัน กลับเป็นเหมือน “การสกัดให้คนไม่มาสมัคร ส.ว.ชุดใหม่” ด้วยซ้ำ

จึงเป็นที่มาของยอดสมัครต่ำกว่าเป้าอย่างมากอย่างไม่ต้องสงสัย

 

นํามาสู่ปัญหาใหม่ หลายอำเภอมียอดสมัครเพียงคนเดียว หรือ 2 คน ซึ่งก็นำมาสู่ปัญหาใหม่ว่าจะตีความอย่างไร ให้ผ่านไปรอบจังหวัดเลย โดยไม่ต้องเลือกไขว้ หรือให้ตกรอบ

เลขาฯ กกต.ออกมาให้ข่าวทันทีว่าต้องให้ตกรอบ แพ้ฟาวล์ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดว่าต้องผ่านในขั้นเลือกไขว้

แต่ก็มีคำถามว่าผู้สมัครผิดอะไรที่ทั้งอำเภอจะมาสมัครแค่คนเดียว กกต.สามารถตีความกฎหมาย ออกระเบียบ หรือขยายเวลารับสมัครหรือไม่ มากกว่าแค่ตีตก

เรื่องนี้ก็มีความเห็นจาก ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ออกมายืนยันไม่ใช่ความผิดผู้สมัคร แต่เป็นความคาดไม่ถึงของคนเขียนรัฐธรรมนูญเอง พร้อมแนะ ให้ผู้ถูกถอดสิทธิทางการเมือง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทวงสิทธิ เป็นต้น

หรือจะเป็นกรณีการตัดสิทธิผู้สมัครจำนวนมาก เพราะมีชื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งที่หลายคนได้ยื่นลาออกจากพรรคการเมืองไปก่อนการรับสมัครแล้ว แต่กลับยังมีชื่ออยู่ในระบบ กระทั่งถูกตัดสิทธิ

ล่าสุด คือการแก้บัตรรอบเลือกไขว้ เก้าวันก่อนวันเลือกระดับอำเภอ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเพราะ กกต.ประชาสัมพันธ์เรื่องวิธีเขียนบัตรเลือกแบบเดิมไปแล้ว

ยังมีปัญหาอีกเยอะ อันจะเป็นผลมาจากการตีความกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลักการหาช่อง “ตัดสิทธิ” มากกว่า “ให้สิทธิ”

 

อีกเรื่องคือปัญหาการ “ฮั้ว” การเลือก ส.ว. ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา

คำว่า “ฮั้ว” เป็นคำเชิงลบ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือก ส.ว.ชุดนี้ ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจก่อนว่า การฮั้วกันมาลงสมัคร ส.ว. หากเป็นการชักชวนมาลงสมัครโดยมีการตอบแทน นั่นเป็นความผิดตามกฎหมาย ทำไม่ได้

แต่การ “ฮั้ว” ในลักษณะการชักชวนมาลงสมัครในกลุ่มคนที่เชื่อและคิดเหมือนกัน อาจไม่ผิดในทางการเมือง

ถ้าเชื่อเช่นกัน การฮั้วประเภทหลังอาจไม่ใช่ความผิด เผลอๆ คนเขียนกฎหมายก็เข้าใจอยู่แล้วว่าต้องมี เลยคิดระบบที่ซับซ้อนไว้ ด้วยระบบการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ และการเลือกไขว้ ทั้งยังต้องผ่าน 3 ระดับ คืออำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ

นั่นเท่ากับเป็นการวางกลไกสกัดการฮั้วไว้นั่นเอง ต่อให้มีการฮั้วจริง (ซึ่งก็มีจริงๆ) ก็ผ่านไปสู่ขั้นสุดท้ายไม่ง่าย ถ้าจะผ่านไปได้ก็จะต้องลงทุนมหาศาล ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน

 

ถ้าจะเชื่อแบบ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่าอย่างน้อยสภาสูงชุดใหม่จะมีหน้าตาดีกว่าที่ คสช.แต่งตั้ง หรือใช้คำแบบ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ.ก็ต้องบอกว่า ระบบแบบนี้ อย่างดีที่สุดก็จะเลือกได้ “หัวกะทิของกลุ่มอาชีพต่างๆ”

สนามการต่อสู้ศึกสภาสูงชุดใหม่จึงน่าสนใจ เพราะการแข่งขันในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยครั้งสำคัญ

การเคลื่อนไหวของขั้วอำนาจใหม่ ทำการรณรงค์อย่างเปิดเผยชวนคนมาลงสมัคร ส.ว.เพื่อหวังเข้ามายึดกุมเก้าอี้ ให้ ส.ว.ใหม่เป็นเครื่องมือนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง

แน่นอน ขั้วอำนาจเก่า ฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต ก็เดินเกมรุกสกัด

ระดับเบาคือลงสมัครชิงเก้าอี้ต่อสู้ใช้ความได้เปรียบจากการเมืองเชิงเครือข่ายราชการเดิมเป็นพื้นฐาน

ระดับหนัก คือการรุกเข้ามายังกลไกทางกฎหมาย เป้าหมายคือแตะเบรกการเลือก ส.ว.ชุดใหม่

การขยับของ สมชาย แสวงการ ส.ว.รักษาการ ชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาออกมาปูดเรื่องการพยายามฮั้วเลือก ส.ว. 149 ทั่วประเทศ คือรูปธรรม

 

ถามว่าทำไมอำนาจเก่าต้องขยับ โดยมีเป้าที่กระบวนการเลือก ส.ว.ชุดใหม่

1. เพื่อสกัดอำนาจใหม่ กลุ่มก้อนอำนาจทางการเมืองใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองไทย จัดการกับมรดกการปกครองประเทศช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาของคณะรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560

2. เพื่อยืดอำนาจตัวเอง เพราะแม้จะเป็นอำนาจรักษาการ ที่โดยมารยาทก็ไม่ควรต้องทำอะไรแล้ว แต่ล่าสุด ส.ว.ชุดลากตั้งก็ยังส่งเรื่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญร้องให้ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน จากนายกฯ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน และอาจรวมถึงการตั้งเป้าหมายยังเป็นผู้คัดเลือกองค์กรอิสระได้ต่อ หากสามารถสกัดการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ได้ต่อ

3. เพื่อสกัดขั้วอำนาจฝ่ายทักษิณ-รัฐบาลเพื่อไทย ที่แม้จะหันมาจับมือขั้วอำนาจเก่าตั้งรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองในการสกัดพรรคก้าวไกลได้ แต่ฝ่ายอำนาจเก่าก็ยังไม่ไว้ใจทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวมากขึ้นของนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย ที่ขั้วอำนาจเก่ากังวลว่าจะเข้ามามีอิทธิพลต่อ ส.ว.ชุดใหม่

ปัญหาเชิงเทคนิคที่เกิดจากการตีความกติกาการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ จึงถูกฉกฉวยไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง เพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายบางอย่างทาง “นิติสงคราม”

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติสั่งรับวินิจฉัย 4 มาตรา พ.ร.ป.เลือก ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากคำวินิจฉัยว่าขัด ก็อาจจะมีการเริ่มกระบวนการใหม่หมด

ดังนั้น ที่นักวิชาการอย่าง รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ออกมาระบุ ชวนให้จับตาปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า ‘เลือก เลิก ล้ม’ จึงอาจไม่ได้เกินจริงอะไร เพราะมีร่องรอยบางอย่างปรากฏแล้ว

 

เดือนมิถุนายนนี้จึงเป็นเดือนแห่งความตึงเครียดทางการเมืองโดยแท้

อนาคตของบุคคลและกลุ่มทางการเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณ ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล รวมถึง ส.ว.ชุดใหม่ จะถูกกำหนดชัดเจนในเดือนนี้ภายใต้การตีความและตัดสินของฝ่ายตุลาการ

ความตึงเครียดการเมืองระดับสูงยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ วันนี้ตลาดหุ้นไทยร่วงระนาว ไม่มีท่าทีจะฟื้น ต่างชาติถอนการลงทุนต่อเนื่อง ไม่มีท่าทีจะกลับมา

ความหวังที่จะกอบกู้ “ศรัทธาการเมือง” ด้วยการทำคลอดสถาบันการเมืองใหม่อย่าง “สภาบนชุดใหม่” ในวันนี้จึงยังอยู่บนอนาคตที่สั่นคลอน

พูดแบบภาพยนตร์สารคดีพรรคอนาคตใหม่เรื่อง Breaking the cycle ที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ขณะนี้ ก็ต้องบอกว่า ความหวังของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ที่อยากจะ Breaking the cycle ด้วยการเข้าสู้ในศึกวุฒิสภาชุดใหม่จึงดูเหมือนมืดมน

“วงจรเดิม” ยังคงทำงานอยู่

Breaking the cycle ยังไม่สำเร็จ (แต่ไม่ใช่ไม่สำเร็จ)