เฉลิมพระชนมพรรษา ที่มาและความเป็นไป | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะถึงเดือนกรกฎาคมของปีนี้แล้ว

เดือนกรกฎาคมปีนี้มีความหมายพิเศษกว่าปีปกติ เพราะตอนปลายเดือนคือวันที่ 28 จะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบหกรอบหรือ 72 พรรษา และจะมีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ทั่วทั้งประเทศ

ผมเห็นเป็นโอกาสดีที่จะชวนกันทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา รวมตลอดไปถึงวันเกิดของคนธรรมดาสามัญด้วย ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

และเป็นเรื่องของไทยแท้มาแต่เดิมหรือไม่

จากเรื่องราวที่เราสามารถสืบค้นได้ในอดีต การฉลองวาระครบรอบวันเกิดไม่ว่าจะเป็นของเจ้านายหรือของคนธรรมดาในบ้านเมืองไทยของเราไม่เคยมีมาแต่ก่อน

อาจจะเป็นด้วยเหตุผลข้อแรก คือ ไทยเราไม่นิยมการจดบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร ลูกหลานเกิดวันไหน ปีแรกๆ ก็จำได้อยู่ ผ่านไปหลายปีเข้าก็เริ่มลืมเลือน

ยิ่งประกอบกับข้อเท็จจริงว่าในวันครบรอบวันเกิดในแต่ละปีไม่เคยมีใครเขาคิดฉลองอะไรเป็นการใหญ่การโต แค่จำได้ว่าอายุประมาณเก้าขวบหรือสิบขวบแค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว

ประเพณีแต่เดิมที่ปฏิบัติกันในทุกครัวเรือนได้แก่เรื่องโกนจุก หรือถ้าเป็นราชาศัพท์สำหรับเจ้านายก็ใช้คำว่าโสกันต์บ้างหรือเกศากันต์บ้างแล้วแต่พระเกียรติยศ ก็ไม่ได้ถือแม่นยำว่าบุคคลหรือเจ้านายนั้นจะต้องมีอายุเท่านั้นเท่านี้เป๊ะ

ใช้วิธีประมาณการว่า ถ้าเป็นเด็กหญิงอายุในราว 10 ขวบหรือ 11 ขวบก็โกนจุกได้แล้ว เห็นจะเป็นเพราะผู้หญิงของเราเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าผู้ชาย ส่วนเด็กชายก็ต้องอายุราว 13 ขวบจึงโกนจุก

พอโกนจุกแล้วก็ถือว่าพ้นวัยเด็ก ก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว การแต่งเนื้อแต่งตัวหรือความประพฤติทั้งหลายก็ต้องทำให้สมวัย

มีข้อมูลประกอบการ “เดา” ของผมอีกอย่างหนึ่งว่า แม้อายุของเจ้านายที่ใช้ราชาศัพท์ว่า “พรรษา” ก็แสดงแนวทางการนับว่าเจ้านายพระองค์นั้นมีอายุผ่านมากี่ฤดูฝนแล้ว เป็นสำคัญเพราะพรรษาแปลว่าฤดูฝน

นี่ขนาดเจ้านายท่านยังใช้วิธีนับฤดูฝนเป็นการบอกอายุ

สำหรับชาวบ้านทั่วไปจะไปใช้วิธีละเอียดพิสดารกว่านี้เห็นจะลำบากครับ

ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไรหรอก เพียงแต่ไม่ได้จดและไม่ได้จำกันไว้เท่านั้น

เพราะไม่รู้ว่าจะจดหรือจำไปทำอะไร ไม่เหมือนกับยุคสมัยนี้ที่เวลาอายุครบเท่านั้นเท่านี้บริบูรณ์ จะทำให้เกิดสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น บรรลุนิติภาวะหรือสามารถแต่งงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากพ่อแม่ วันเดือนปีเกิดที่แม่นยำจึงมีความสำคัญขึ้นมา

แถมยังมีเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมาก เช่น การที่ต้องไปเข้าโรงเรียน ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของเมืองไทยยุคหลังปฏิรูปที่เดินหน้าเข้าสู่วิถีชีวิตแบบสังคมโลกแล้ว

และลองนึกต่อไปอีกนิดหนึ่งนะครับว่า คนไทยยุคสมัยก่อนที่จะมีโรงเรียน จะมีสักกี่คนที่สามารถอ่านหนังสือได้ เขียนหนังสือเป็น มีกระดาษดินสออยู่กับบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์จดเวลาตกฟากของลูกหลาน

การที่ใครก็ตามคิดจะฉลองวันครบรอบวันเกิดในแต่ละปีจึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์เกินความคาดหวังเพราะจำไม่ได้เสร็จแล้วว่าเกิดวันไหน

อีกประการหนึ่ง คือถึงแม้จำวันเกิดได้ ก็อยากเก็บวันเดือนปีเกิดนี้ไว้เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เปิดเผยกับคนทั่วไป เพราะอะไรหรือครับ

เพราะหวาดกลัวว่าถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีเกิดรู้วันเดือนปีเกิดของเราเข้า ก็อาจนำข้อมูลไปใช้ในทางที่เป็นผลร้ายแก่เจ้าตัวโดยการทำคุณไสย หรือกลั่นแกล้งโดยวิธีนอกวิทยาศาสตร์ทั้งหลายซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของคนไทยในสมัยโน้น

การจัดงานฉลองวันเกิดของคนไทยเราแต่ดั้งเดิมจึงไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างมากที่สุดเท่าที่พอสืบค้นได้ ในบางปีเจ้าของวันเกิดอาจทำบุญเพื่อสะเดาะเคราะห์ตามคัมภีร์ทักษาพยากรณ์ คือทำบุญรับเทวดาผู้เสวยอายุตามคติของศาสนาพราหมณ์ฮินดู

ประมาณว่าปีนี้พระราหูเสวยอายุ จึงต้องทำบุญถวายพระราหูด้วยของดำเสียหน่อย

แต่เรื่องอย่างนี้ก็ไม่ได้ทำทุกปีนะครับ ปีไหนมีเทวดาเข้าเสวยอายุ จึงลุกขึ้นทำบุญกันครั้งหนึ่ง และก็มิได้เคร่งครัดว่าต้องทำให้ตรงกับวันเกิด เพราะอย่างที่บอกมาข้างต้นว่าจำไม่ได้ หรือถึงแม้จำได้ก็ไม่อยากบอกใครว่าเกิดวันไหน

การทำบุญแบบที่ว่าจึงนิยมทำกันในเวลาเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ เรียกว่ายิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือเป็นการทำบุญปีใหม่ด้วยและทำบุญถวายเทวดาเสวยอายุด้วย วันเกิดของเจ้าของงานจึงเป็นความลับดำมืดต่อไป

สบายใจดีจัง

มาถึงรัชกาลที่สามคือรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งธรรมเนียมใหม่อย่างหนึ่ง คือจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปีละหนึ่งองค์

แต่วันที่บำเพ็ญพระราชกุศลหล่อพระนี้ไม่ได้เคร่งครัดว่าต้องเป็นวันหนึ่งวันใดเป็นพิเศษ หากแต่ทรงกำหนดวันที่สะดวกตามพระราชหฤทัย

ลักษณะเช่นนี้จึงจะเรียกว่าเป็นงานเฉลิมพระชนมพรรษาแบบที่เรารู้จักอยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้

ประเพณีการทำบุญวันเกิดหรือสำหรับเจ้านายที่เรียกว่าวันเฉลิมพระชนมพรรษานี้เพิ่งเกิดขึ้นแท้จริงโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเริ่มทำมาตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงผนวช และตามหลักฐานประวัติศาสตร์ก็แสดงว่ามิได้ทรงคิดเรื่องนี้ขึ้นเพื่อทำตามธรรมเนียมของจีนหรือของฝรั่งซึ่งมีการฉลองวันเกิดมาแต่ไหนแต่ไร

หากแต่มีพระราชดำริด้วยพระองค์เองว่า การที่มีชีวิตรอดมาครบรอบปี ไม่มีอันตรายเสียก่อน เป็นลาภอันอุดมควรยินดี และเป็นโอกาสที่ควรจะบำเพ็ญการกุศลเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น

อีกทั้งจะเป็นการทำให้มีใจตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นเครื่องเตือนใจว่าชีวิตล่วงไปใกล้ต่อความมรณะอีกก้าวหนึ่ง คิดอย่างนี้ได้แล้วก็จะบรรเทาความมัวเมาในชีวิตลงได้

พระราชดำริเช่นนี้ทรงตั้งต้นตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แน่นอนว่าในครั้งนั้น การบำเพ็ญพระราชกุศลได้ทำเป็นการภายในแบบเงียบๆ ให้สมกับภาวะที่ทรงเป็นพระภิกษุ

ผมนึกว่าถ้าทรงทำเป็นการใหญ่อื้ออึงไป อาจมีคนกล่าวขานไปได้ต่างๆ นานา ซึ่งไม่เป็นคุณเป็นประโยชน์เลย

จนกระทั่งเมื่อได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว จึงทรงยกธรรมเนียมที่ทรงปฏิบัติมาแต่เดิมนั้นขึ้นเป็นงานหลวง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานเป็นสองตอน เรียกว่าการฉลองอย่างหนึ่งและการเฉลิมอีกอย่างหนึ่ง

การฉลองนั้น หมายถึงการฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาที่สร้างเป็นประจำทุกปี ปีละหนึ่งองค์ ตามแบบแผนที่มีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่สาม กำหนดวันงานตามวันพระบรมราชสมภพแบบจันทรคติ คือวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี

ส่วนการเฉลิมนั้น คำเต็มคือการเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงกำหนดให้มีวันงานตามวันพระบรมราชสมภพที่นับแบบสุริยคติ คือวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี

แรกทีเดียวแม้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว การพระราชพิธีข้างต้นก็ยังเป็นงานหลวงที่ทราบกันแต่เฉพาะในหมู่เจ้านายและข้าราชการ ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปยังไม่ทราบความข้อนี้แพร่หลาย

จนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2407 เป็นปีที่มีพระชนมพรรษาครบห้ารอบนักษัตร หรือ 60 พรรษาบริบูรณ์ จึงได้มีการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างใหญ่เหมือนอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินของประเทศทั้งปวงปฏิบัติกัน

มีการบำเพ็ญพระราชกุศลติดต่อกันหลายวัน มีการออกหมายประกาศห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ในเวลางานเฉลิมพระชนมพรรษา เจ้านายและคนทั่วไปที่มีกำลังต่างพากันทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระถวายพระราชกุศล จัดให้มีการละเล่นต่างๆ สมโภชสนองพระเดชพระคุณ รวมทั้งประดับประทีปโคมไฟไสวสว่างไปทั้งพระนคร

ความเป็นมาเช่นนี้เองจึงเป็นต้นทางของงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่มีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีพระราชนิยมปรากฏชัดเจนเช่นนี้ เจ้านายข้าราชการตลอดถึงประชาชนทั่วไปเห็นว่าการจัดการเฉลิมฉลองแบบนี้เป็นเรื่องควรนิยมยินดี จึงต่างพากันปฏิบัติเป็นการทั่วไป มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังของแต่ละบุคคล

ผมเองเป็นผู้หนึ่งที่เวลานี้ ในแต่ละปีเมื่อถึงคราวครบรอบวันเกิดก็จัดการบำเพ็ญกุศลขึ้นตามความสามารถที่จะเป็นไปได้ โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของผม อนุญาตให้จัดงานสวดมนต์เย็นที่วัดแห่งนั้นเพื่อเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี

นอกจากนั้น ก็เป็นการทำบุญทำกุศลตามโรงพยาบาลหรือสถานศึกษาต่างๆ ที่มีพระคุณกับชีวิตของผม แถมด้วยการกินข้าวกับครอบครัวและผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคย

หลักสำคัญก็ยังคงอยู่ในแนวทางตามพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางแนวทางไว้ให้พวกเราได้ยึดถือ นั่นคือทำบุญเพื่อเป็นสวัสดิมงคลกับชีวิต และพร้อมกันนั้นก็เป็นการเตือนตัวเองให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่มัวเมาในเรื่องอกุศลทั้งหลาย

ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ใครก็ตามที่ฉลองวันเกิดแล้วกินเหล้าเมามาย ขับรถด้วยความเร็วสูงไปล้มคว่ำคะมำหงาย ตัวเองตาย คนอื่นพิการ แบบนี้ต้องถือว่าสอบตกนะครับ

ไม่ผ่านเช็กลิสต์สองข้อที่ผมกล่าวมาข้างต้น น่าเสียดายครับ

เมื่อไปค้นข้อมูลอย่างนี้มาได้ก็ขอนำมาแบ่งปันไว้ในที่นี้

หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างตามสมควรนะครับ