เหตุใดชาวญี่ปุ่นจึงชอบชูสองนิ้ว

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

จากอดีตถึงปัจจุบัน แม้เรามักจะพบเห็นชาวญี่ปุ่นหลายคนชอบทำท่า “ชูสองนิ้ว” อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นนัยที่สื่อความหมายถึง “สันติภาพ”

แม้กระทั่งคนไทยเรา ที่หลายคนคงคุ้นเคยดี กับสัญลักษณ์การ “ชูสองนิ้ว” ในบริบทการ “ให้กำลังใจ” ที่มักมาพร้อมกับคำว่า “สู้ๆ” อยู่บ่อยครั้ง

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว หากพูดถึงสังคมญี่ปุ่นกับการ “ชูสองนิ้ว” ต้องบอกว่า คนญี่ปุ่นไม่ใช่ต้นตำรับการ “ชูสองนิ้ว” เป็นชาติแรก

เพราะหากย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1415 เราจะพบการ “ชูสองนิ้ว” ที่หมายถึง “ชัยชนะ” ในสงครามที่ได้รับการขนานนามว่า “ยุทธการอาแซ็งกูร์” หรือ Battle of Agincourt

Battle of Agincourt เป็นการต่อสู้ระหว่างอังกฤษ กับฝรั่งเศส โดยการ “ชูสองนิ้ว” เป็นสัญลักษณ์ที่นำมาจากการยิงธนู ที่ต้องใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางในการดึงสายธนู

บังเอิญว่า จอมทัพของอังกฤษ คือพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 หรือ Henry V โดย V คือเลข 5 ในอักษรโรมัน ที่ทรงประกาศชัยชนะเหนือ “ยุทธการอาแซ็งกูร์” ว่า The Great Victory

พร้อม “ชูสองนิ้ว” ร่วมกับพลธนูที่คุ้นเคยกับการใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางในการดึงสายธนู นับจากนั้น V Sign หรือ “ชูสองนิ้ว” จึงเป็นสัญลักษณ์ของ “ชัยชนะ” นับตั้งแต่นั้น

 

มาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีนักการเมืองเบลเยียมที่ชื่อ Victor de Laveleye ที่พูดปลุกใจประชาชนในแคมเปญต่อต้านนาซี พร้อมสัญลักษณ์ “ชูสองนิ้ว”

ที่หมายถึง “ชัยชนะ” หรือ Victory ในภาษาอังกฤษ และ Victoire ในภาษาฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Vrijheid ในภาษาฟลามส์ (ดัตช์) ซึ่งหมายถึง “เสรีภาพ”

และมาตอกย้ำอีกครั้งกับภาพคลาสสิคของ Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1942 ที่ประกาศชัยชนะเหนือนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน

ในความหมายของ Peace Sign หรือ V Sign ที่หมายถึงการ “ไม่ยอมแพ้” และพร้อม “สู้ตาย” เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ชัยชนะ” ที่จะนำไปสู่ “สันติภาพ” “เสรีภาพ” และ “ภราดรภาพ”

ในเวลาต่อมา ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อมวลชน ที่ได้พบเห็น Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มักพบเขาทักทายด้วยสัญลักษณ์ V for Victory อยู่เสมอ

โดยที่ต่อมา สัญลักษณ์ “ชูสองนิ้ว” หรือ V Sign ได้ไปปรากฏในสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1960 ช่วงที่ชาวอเมริกันผิวสีออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง “เสรีภาพ” ต่อคนผิวขาว

รวมถึงในทศวรรษ 1970 ที่บรรดาฮิปปี้ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐมักทำท่า “ชูสองนิ้ว” ต่อหน้าตำรวจ เพื่อสื่อถึง “สันติภาพ” เช่นเดียวกัน

 

แต่หากจะพูดถึงท่า “ชูสองนิ้ว” ในหมู่ชาวเอเชียแล้ว ที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นญี่ปุ่น ที่สืบทอดการ “ชูสองนิ้ว” เพื่อสื่อถึงคำว่า “สันติภาพ” ต่อๆ กันมา จากรุ่นสู่รุ่น

มีเรื่องเล่าว่า หากเดินไปตามท้องถนนในญี่ปุ่น แล้วหยิบกล้องขึ้นมา สมมุติว่าเอ่ยปากขอถ่ายรูปชาวญี่ปุ่น 100 คน ว่ากันว่า 80 คน หรือ 80% จะต้องโพสท่า “ชูสองนิ้ว” เสมอ

จึงมีการทดลองหันกล้องไปที่กลุ่มบัณฑิตชาวญี่ปุ่นในพิธีจบการศึกษา หรือชาวญี่ปุ่นที่ออกมาปิกนิกชมดอกซากุระ และในเทศกาลแห่งความสุขอื่นๆ ในจำนวน 10 คน

เชื่อได้ว่า จะต้องเห็นคนญี่ปุ่นอย่างน้อย 7 หรือ 8 คน หรืออาจจะ 9 คนด้วยซ้ำ ที่โพสท่าถ่ายรูปด้วยการ “ชูสองนิ้ว”

จึงเป็นคำถามว่า เหตุใดท่านี้ถึงได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น?

 

การสืบค้นต้นตำรับการ “ชูสองนิ้ว” ในญี่ปุ่น ต้องถอยไปในทศวรรษ 1970 เช่นกัน เมื่อ Jun Inoue ดารา และนักร้องนำวง The Spiders ได้ถ่ายแบบโฆษณากล้องถ่ายรูป Konica

แน่นอนว่า ก่อนทศวรรษ 1970 หากหยิบภาพถ่ายชาวญี่ปุ่นก่อนหน้านั้นมาดู จะไม่พบคนญี่ปุ่นทำมือเป็นสัญลักษณ์ V Sign หรือท่า “ชูสองนิ้ว” เลย

ต่อประเด็นนี้ บริษัทผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปยี่ห้อ Konika ระบุว่า ปรากฏการณ์ “ชูสองนิ้ว” น่าจะเริ่มต้นจาก Jun Inoue ถ่ายโฆษณากล้องถ่ายรูป Konika ในต้นทศวรรษ 1970

ตอนนั้น Jun Inoue ได้ทำท่า “ชูสองนิ้ว” สัญลักษณ์ตัว “วี” หรือ V Sign ในการถ่ายโฆษณากล้องถ่ายรูป Konica ที่สหรัฐ โดย Jun Inoue ไปถึงสหรัฐในปี ค.ศ.1970 พอดี

“ผมไปสหรัฐปี 1970 ตอนนั้นกำลังมีการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม ทุกคนที่ผมพบ ต่างก็ทำท่าสัญลักษณ์สันติภาพกับผม” Jun Inoue กล่าว

“ผมก็เลยทำบ้างในขณะที่ถ่ายทำ ตอนนั้น ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะใช้มันในโฆษณาจริงๆ หลังจากนั้น เวลาผมเจอใคร ก็จะพูดคำว่าสันติภาพกับผมทุกครั้ง” Jun Inoue กล่าว และว่า

และหลังจากนั้น ผู้คนก็ทำท่าสัญลักษณ์ “สันติภาพ” กับเขามากขึ้นเรื่อยๆ จนเชื่อได้ว่า ท่า “ชูสองนิ้ว” เริ่มแพร่กระจายในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนนั้น Jun Inoue ทิ้งท้าย

 

Masakazu Nomura นักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ได้เคยเขียนบทความอธิบายถึงท่า “ชูสองนิ้ว” ตีพิมพ์ในนิตยสาร Chuo-Koron เมื่อปี ค.ศ. 1991

Masakazu Nomura ชี้ว่า การยกมือโดยให้ฝ่ามือหันออกด้านนอก และ “ชูสองนิ้ว” โดยกางนิ้วกลางและนิ้วชี้ เป็นรูปตัว V แพร่หลายไปทั่วยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยนอกจาก V Sign จะเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะเหนือนาซีแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพในกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรอีกด้วย Nomura Masakazu สรุป

ขณะที่ Manabu Torihara นักวิจารณ์ภาพถ่าย ยอมรับว่า ท่า “ชูสองนิ้ว” ของ Jun Inoue ในโฆษณากล้องถ่ายรูป Konica ส่งอิทธิพลสำคัญต่อการเผยแพร่ท่าดังกล่าวในญี่ปุ่น

Manabu Torihara บอกว่า โฆษณาของ Jun Inoue มีอิทธิพลอย่างมาก ท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม โดยตัวผมเองก็จำได้ว่าชอบ “ชูสองนิ้ว” มากในเวลานั้น

หลังจากนั้น โฆษณาอันทรงอิทธิพลของ Jun Inoue ได้สร้างการรับรู้ในหมู่คนญี่ปุ่นถึงสัญลักษณ์ V ว่าสื่อถึง “สันติภาพ” ทำให้ท่าดังกล่าวเป็นที่นิยมยามที่คนญี่ปุ่นโพสท่าถ่ายรูป

 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เรายังคงพบเห็นการ “ชูสองนิ้ว” ได้อย่างแพร่หลายบนท้องถนนในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการโพสท่าถ่ายรูป ก็จะต้องเห็นการทำ V Sign เสมอ

Serina Oguma บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Egg กล่าวว่า แม้ท่า “ชูสองนิ้ว” ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น แต่ก็มีการพัฒนาเพื่อต่อยอดออกเป็นท่าอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน

“นอกจากการชูสองนิ้วเพื่อสื่อถึงสันติภาพแบบเก่าแล้ว เรายังพบการชูสองนิ้วหน้าเล็กที่วางไว้ใกล้กับใบหน้า การชูสองนิ้วหลังมือ การชูสองนิ้วที่คาง และการชูสองนิ้วกลับหัว”

Serina Oguma บอกว่า “การชูสองนิ้วในปัจจุบันต่างจากสมัยก่อนที่มีเพียง Trend เดียวให้ผู้คนทำตาม แต่คนหนุ่มสาวทุกวันนี้มักจะชูสองนิ้วแบบที่ตนชื่นชอบมากกว่า”

แน่นอนว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ท่า “ชูสองนิ้ว” ก็เปลี่ยนตาม ดังที่ Serina Oguma บอก นอกจากนี้ ท่าถ่ายรูป Mini Heart และท่าทำมือรูปหัวใจข้างแก้มก็เป็นที่นิยม

ยังไม่นับ “ท่าหูแมว” ซึ่งเป็นการ “ชูสองนิ้ว” แบบกลับหัวบนศีรษะ เพื่อให้ดูเหมือนหูสัตว์ ซึ่งหนุ่มสาวหลายคนบอกว่า เป็นการเลียนแบบการโพสท่าของไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ “ชูสองนิ้วแบบสาว Gal” หรือ “ชูสองนิ้วกลับหัว” ซึ่งได้รับความนิยมเมื่อปีกลาย Serina Oguma ทิ้งท้าย