สงคราม ‘ดิงโก้’ ปะทะ ‘ไทลาซีน’

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

สงคราม ‘ดิงโก้’

ปะทะ ‘ไทลาซีน’

 

ตั้งแต่นักบุกเบิกอาณานิคมจากยุโรปเริ่มเข้ามาตั้งรกรากที่แทสเมเนีย ไทลาซีนก็โดนหมายหัวให้เป็นหนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของชาวอาณานิคม ด้วยขนาดที่ใหญ่ และหน้าตาที่ดูเหมือนหมาไน (แถมมีลายเหมือนเสืออีก) พวกเขาเชื่อว่าไทลาซีนคือนักล่าเบอร์ต้นในห่วงโซ่อาหาร และน่าจะเป็นตัวการสำคัญที่เข้ามาแอบล่าและบ่อนทำลายปศุสัตว์ของพวกเขา

เพื่อปกป้องแกะและวัวของพวกเขา ชาวอาณานิคมเริ่มระดมเงินลงขันกันเพื่อตั้งค่าหัวสำหรับไทลาซีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18

และในเวลาต่อมา ในปี 1888 รัฐบาลแทสเมเนียก็เข้ามาร่วมผสมโรงด้วยในฐานะเจ้าภาพ โดยออกประกาศให้รางวัลใครก็ตามที่ฆ่าไทลาซีนได้ ตัวโตเต็มวัยจะได้ค่าหัว ตัวละ 1 ปอนด์ และถ้าเป็นตัวลูกจะได้ตัวละ 10 ชิลลิ่ง

นี่คือจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ภาพโมเดลสามมิติของกะโหลกของไทลาซีน โดย Marie Attard & Stephen Wroe

จากบันทึกของรัฐบาลแทสเมเนีย มีไทลาซีนนับพันชีวิตที่ต้องสังเวยชีวิตไปกับคำสั่งประหารชีวิตทั้งเผ่าพันธุ์นี้ กว่าที่จะมีคำสั่งยกเลิกประกาศนี้ไปในปี 1909

ประกาศนี้อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เผ่าพันธุ์สัตว์นักล่ามีกระเป๋าหน้าท้องที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไทลาซีนต้องถึงกาลอวสาน เพียงแค่เพราะว่ามัน (อาจจะ) รุกรานฟาร์มวัว และแกะของผู้คนที่มายึดครองถิ่นที่อยู่ของพวกมันเพื่อความอยู่รอด

ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ ไทลาซีน อาจจะเป็นแค่แพะรับบาป พวกมันไม่น่าใช่ต้นเหตุหลักที่ทำให้วัวและแกะของชาวอาณานิคมล้มตาย อย่างที่โดนกล่าวหา

แม้จะมีรายงานการพบเห็นว่าไทลาซีนล่าจิงโจ้อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยมาก นานๆ จะมีคนพบ ซึ่งส่วนมากจะเป็นครอบครัวไทลาซีนที่มีแม่และฝูงลูกๆ ที่เพิ่งจะเติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

พิจารณาจากสัณฐานกะโหลกก็ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ปากที่เรียวแหลมของไทลาซีนไม่น่าจะเหมาะกับการล่าสัตว์ใหญ่

ปีศาจแทสเมเนีย ภาพโดย JJ Harrison (Wikipedia) CC BY-SA 3.0

แต่เดิม เผ่าพันธุ์ไทลาซีนกระจายตัวไปทั่วในออสเตรเลีย แทสเมเนีย ยาวไปจนถึงปาปัวนิวกินี แต่พอมีการเข้ามาในทวีปออสเตรเลียของสุนัขดิงโก้ ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างไทลาซีนและดิงโก้ จนท้ายที่สุด ไทลาซีนที่อ่อนแอก็พ่ายแพ้และสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจนหมดสิ้นในออสเตรเลียและปาปัวนิวกินี

“ถ้าไทลาซีนเป็นนักล่าที่เก่งกาจที่สามารถล่าสัตว์ใหญ่ อย่างนกอีมู หรือจิงโจ้ตัวเต็มวัยได้ อีกทั้งยังจับพวกสัตว์เล็กๆ มากินเล่นได้อีก การแข่งขันกับสุนัขดิงโก้ (dingo) ที่ตัวเล็กกว่าก็ไม่น่าที่จะทำให้สถานการณ์ดูบีบคั้นจนเกินไปนักสำหรับไทลาซีนในเกมแห่งการอยู่รอดนี้” สตีเฟ่น โร (Stephen Wroe) นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (University of New South Wales) ตั้งข้อสังเกต

เพื่อให้เข้าใจกลไกการสังหารเหยื่อของไทลาซีนและดิงโก้ ในปี 2007 สตีเฟ่นและทีมได้สแกนกะโหลกของไทลาซีนและดิงโก้เพื่อสร้างโมเดลสามมิติออกมาด้วยเครื่อง CT Scan ก่อนที่จะเอามาวิเคราะห์ทางวิศวกรรมด้วยเทคนิคที่เรียกว่าไฟไนต์เอลิเมนต์สามมิติ (three-dimensional finite element analysis)” มาอธิบายความทนทานและความตึงเครียดของกระดูกชิ้นต่างๆ ในระหว่างกระบวนการกัด สะบัดและทึ้งเหยื่อ

สิ่งที่เขาพบน่าสนใจ แม้ว่าแรงขบกัดของไทลาซีนจะรุนแรงไม่ได้น้อยไปกว่าของดิงโก้

แต่ด้วยดีไซน์ของโครงสร้างขากรรไกรของมัน การกัดเหยื่อที่ดิ้นได้จะสร้างความตึงเครียดอย่างหนักให้กับกระดูกขากรรไกรของมันทำให้ไม่เหมาะในการล่าเหยื่อขนาดใหญ่ ในขณะที่ขากรรไกรของดิงโก้นั้นไม่ได้มีจุดอ่อนอะไรแบบเดียวกันนี้

“เป็นอะไรที่แปลกประหลาดสำหรับนักล่าขนาดใหญ่อย่างไทลาซีน ถ้ามองจากขนาดมวลตัวที่ใหญ่โตถึง 30 กิโลกรัมกับอาหารของสัตว์นักล่า ไทลาซีนควรที่จะมีความสามารถในการล้มเหยื่อตัวใหญ่ๆ ขนาดแกะได้ แต่การค้นพบของเราบ่งชี้ชัดเจนว่าชื่อเสียงอันฉาวโฉ่ของมันนั้น ก็แค่ข่าวลือเกินจริง” มารี แอตทาร์ด (Marie Attard) หนึ่งในนักวิจัยในทีมของสตีเฟ่นที่นิวเซาธ์เวลส์ให้ความเห็น

“งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าขากรรไกรที่อ่อนแอของไทลาซีนทำให้พวกมันสามารถล่าเหยื่อได้แค่พวกตัวเล็กๆ เพรียวๆ เท่านั้น”

 

ขนาดของไทลาซีนตัวเต็มวัยที่เคยมีบันทึกไว้จะอยู่ที่ประมาณ 30 กิโลกรัม ในขณะที่ขนาดเฉลี่ยของดิงโก้จะอยู่ที่ราวๆ 13-20 กิโลกรัมเท่านั้น

มองในมุมหนึ่ง ขนาดอาจจะดูเหมือนข้อดี แต่ในความเป็นจริง ขนาดที่ใหญ่อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด เพราะนั่นหมายความถึงปริมาณอาหารที่พวกมันต้องกินเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะต้องมากขึ้นตามไปด้วย

“ถ้ามองในมุมของการแข่งขัน ดิงโก้สามารถกินทุกอย่างที่ไทลาซีนกินได้ และยังสามารถล่าเหยื่อที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าได้ แม้ว่าตัวจะเล็กกว่าก็ตาม” มารี แอตทาร์ด กล่าว และว่า ความต้องการอาหารน้อยกว่า แต่ล่าเหยื่อได้เก่งกว่า นั่นหมายถึงชัยชนะในห่วงโซ่อาหาร นี่คือข้อได้เปรียบที่ชัดเจนในการอยู่รอดของดิงโก้เมื่อเทียบกับไทลาซีน

น่าสนใจ ไทลาซีนไม่ล่าสัตว์ใหญ่ แต่ดิงโก้ตัวเล็กกว่าไทลาซีนเกือบครึ่ง ทำไมไทลาซีนไม่สวบดิงโก้มาเป็นมื้อค่ำ อาจจะเป็นเพราะดิงโก้ไม่ใช่เหยื่อที่ล่าได้ง่าย เพราะปกติแล้ว ดิงโก้จะมีพฤติกรรมรวมกลุ่มล่าเหยื่อ ซึ่งทำให้พวกมันสามารถล้มเหยื่อขนาดใหญ่ได้

การที่ไทลาซีนจะเข้าไปจกดิงโก้สักตัวมาเป็นดินเนอร์ ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนรุม แล้วกลายไปเป็นดินเนอร์เสียเอง

 

แต่ที่ทำให้เรื่องราวซับซ้อนขึ้นไปยิ่งกว่าเดิมก็คือ “ไทลาซีนอาจจะไม่ได้มีสายพันธุ์เดียว” ไมก์ เลตนิก นักชีววิทยาอีกคนจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์เผย “เราเคยเจอในบันทึกเก่าๆ ระบุว่าไทลาซีนที่พบบนแผ่นดินใหญ่ของทวีปออสเตรเลียนั้น จะมีขนาดเล็กกว่าไทลาซีนที่พบในแทสเมเนีย”

ในกรณีของออสเตรเลีย ดิงโก้มีขนาดใหญ่กว่าไทลาซีนเกือบสองเท่า ไทลาซีนตัวเมียโตเต็มวัยในออสเตรเลียมีขนาดแค่พอๆ กับสุนัขจิ้งจอก คือมีน้ำหนักแค่ราวๆ 6-8 กิโลกรัมเท่านั้น

อุปมาราวปลาใหญ่กินปลาเล็ก “ผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่กว่าก็มักจะสังหารผู้ล่าที่มีขนาดเล็กกว่า” ไมก์เปรียบ “ถ้ามีการเผชิญหน้ากันแบบซึ่งๆ คงไม่แปลกที่สุนัขดิงโก้ที่ตัวใหญ่กว่าไทลาซีนจะสวบไทลาซีนไปกินเป็นอาหารว่าง”

และในตอนนี้ ดิงโก้ก็ถูกหลอมรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนของออสเตรเลียไปแล้ว พวกมันสวมบทบาทนักล่าผู้รักษาสมดุลประชากรสัตว์กินพืชและพวกผู้ล่าขนาดเล็กแทนไทลาซีน (และปีศาจแทสเมเนีย (Tasmanian devil)) ที่แพ้พ่ายให้กับพวกมันในสมรภูมิแห่งการอยู่รอดจนสูญพันธุ์ไปจากออสเตรเลีย

แล้วที่แทสเมเนีย ในที่ที่ไม่มีดิงโก้ มีตัวอะไรบ้างที่น่าจะเป็นนักล่าที่จะมาแข่งขันในสงครามแย่งแหล่งอาหารกับไทลาซีน สตีเฟ่นตั้งคำถามต่อ และถ้าเทียบกับนักล่าตัวอื่นๆ แห่งแทสเมเนียอย่าง “ควอลล์ (Quoll)” (สัตว์นักล่ามีกระเป๋าหน้าท้องขนาดเล็ก พบในออสเตรเลีย แทสเมเนียและปาปัวนิวกินี) หรือ “ปีศาจแทสเมเนีย” ไทลาซีนจะอยู่ตรงไหนในสมรภูมิแห่งการอยู่รอด

 

สตีเฟ่นและมารีลองใช้วิธีเดิมในการเปรียบเทียบ ทำ CT Scan กะโหลกสามมิติของควอลล์ และปีศาจแทสเมเนียแล้วสร้างแบบจำลองทางวิศวกรรมขึ้นมาเทียบกับไทลาซีนในปี 2011

ผลออกมาค่อนข้างเป็นไปดังที่คาด ปีศาจแทสเมเนียมีขากรรไกรที่ทรงพลังเหมาะแก่การบดเคี้ยวกระดูกของเหยื่อ อีกทั้งยังมีกลไกในการซับแรงที่สามารถช่วยลดแรงกดดันในการขบกัดทำให้พวกมันสามารถล่าเหยื่อได้อย่างดุดัน ในขณะที่ควอลล์มีขากรรไกรที่แม้จะไม่ค่อยยืดหยุ่นมากนัก แต่ก็ยังให้พลังในการขบกัดได้อย่างมาก ช่วยให้พวกมันสามารถล่าเหยื่อได้หลากหลาย

ส่วนขากรรไกรของไทลาซีนนั้น แม้จะมีแรงขบกัดที่ทรงพลังไม่แพ้กัน แต่กลไกการรับแรงกดดันจากการขบกัดนั้นค่อนข้างแย่เมื่อเทียบกับนักล่ามีกระเป๋าหน้าท้องทั้งสองตัว

“การเปรียบเทียบลักษณะกะโหลกของไทลาซีนที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กับพวกที่มีความเกี่ยวโยงกันในสายวิวัฒนาการที่ยังคงมีชีวิตอยู่จะทำให้เราสามารถทำนายขนาดของเหยื่อที่พวกมันล่าได้” สตีเฟ่นกล่าว งานนี้ช่วยยืนยันสิ่งที่เขาและมารีพบในอดีตที่ว่าไทลาซีนนั้นไม่น่าที่จะสามารถล่าเหยื่อขนาดใหญ่อย่างแกะหรือวัวได้

นั่นหมายความว่าไทลาซีนที่น่าสงสารนั้นถูกปรักปรำให้เป็นจำเลยของสังคม โดยที่อาจจะไม่ได้มีความผิดอะไร

 

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปจริงๆ ต่อให้ไม่โดนล่าโดยมนุษย์ ด้วยลักษณะทางกายวิภาคที่ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยต่อการอยู่รอดมากนัก ก็เป็นไปได้เช่นกัน ที่เผ่าพันธุ์ของไทลาซีนจะสูญสิ้นไปเองตามกาลเวลา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของระบบนิเวศน์เพียงเล็กน้อย อย่างเช่น การเข้ามาของสุนัขดิงโก้ในออสเตรเลียและปาปัวนิวกินี

เพราะตอนก่อนมนุษย์จะเข้ามา ที่มีเหลืออยู่ในธรรมชาติจริงๆ ก็แค่หลักพัน… เผ่าพันธุ์ไทลาซีนค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

ถ้านักวิทยาศาสตร์ที่ไปกับนักบุกเบิกอาณานิคมสมัยนั้นสนใจที่จะเข้าใจธรรมชาติของพวกมันจริงๆ และรู้ว่าพวกมันต้องการความช่วยเหลือ มากกว่าจะแค่เก็บตัวอย่างไปเพื่อจัดจำแนก บางทีเราอาจจะยังมีไทลาซีนตัวเป็นๆ เหลืออยู่ ไม่ใช่แค่หนัง หรือซากดองในโหล

และบางที เราอาจจะไม่ต้องลงทุนอีกนับร้อยนับพันล้าน เพื่อพยายามฟื้นชีพเผ่าพันธุ์ของพวกมันกลับมา