วิกฤตยุโรปในทีทรรศน์ปัญญาชน (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

วิกฤตยุโรปในทีทรรศน์ปัญญาชน (1)

 

“ปีศาจหลายตนกำลังหลอกหลอนยุโรป – โดยเฉพาะปีศาจกระแสขวาจัดและความขัดแย้งด้วยอาวุธ…”

 

หากให้เลียนแบบประโยคเปิดฉากคำประกาศพรรคคอมมิวนิสต์อันลือลั่นของคาร์ล มาร์กซ์ กับฟรีดริช เองเกลส์ มากล่าวซ้ำสำหรับศักราชปัจจุบันก็คงออกมาได้ประมาณนี้ (“Manifesto of the Communist Party,” 1848, https://www.marxists.org/archive/marx/works/1848/communist-manifesto/ch01.htm)

ค่าที่ทวีปยุโรปกำลังดำดิ่งลงไปในช่วงมืดมนอนธการอีกครั้ง ขณะพรมแดนด่านหน้าของมันถูกคุกคามด้วยสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนที่หวนกลับมา

ส่วนภายในสหภาพยุโรปเองก็ถูกสั่นคลอนด้วยการผงาดขึ้นของอุดมการณ์อำนาจนิยมและการเจาะทะลวงของบรรดาพรรคที่ยึดเอกลักษณ์เป็นเจ้าเรือนทั้งหลาย

ในสภาพที่เผชิญหน้าวิกฤตกระแสผู้อพยพหลั่งไหลเข้าเมือง ยุโรปเก่าก็โลๆ เลๆ ไปมาระหว่าง [นโยบายต้อนรับผู้อพยพซึ่งมุ่งหมายใช้มาช่วยแก้ไขบำบัดวิกฤตประชากรยุโรปแก่ชรา อัตราเกิดลดลงและอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้น] กับ [ความหวาดวิตกว่าจะเกิดการแทนที่ประชากรครั้งใหญ่ตามทฤษฎีของเรอโนด์ กามูส์ นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้อ้างว่าประชากรยุโรปผิวขาวกำลังถูกแทนที่ทางประชากรศาสตร์และวัฒนธรรมโดยผู้คนผิวไม่ขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหล่าประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเนื่องจากคลื่นการอพยพเข้าเมืองขนานใหญ่]

(https://www.washingtonpost.com/history/2022/05/17/renaud-camus-great-replacement-history/)

-โลโก้การประชุมสุดยอดมหาทวีปยุโรปครั้งที่หนึ่งของวารสารออนไลน์ Le Grand Continent – https://legrandcontinent.eu/summit/

นานมาแล้วที่ยุโรปเก่าพูดถึงความขัดแย้งในฉนวนกาซาไปคนละทิศละทาง มาบัดนี้สหภาพยุโรปก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบตุปัดตุเป๋ บนพื้นฐานคำมั่นสัญญาว่า “จะไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบฮอโลคอสต์อีกแล้ว”

ขณะเดียวกันวิกฤตการเกษตรก็พุ่งทะลวงใส่ “ข้อตกลงสีเขียวของยุโรป” เพื่อแก้ไขปัญหาโลกเดือดอันเป็นธงหลักทางนโยบายผืนหนึ่งของสหภาพยุโรปเข้าเต็มรัก ทำให้มันตกเป็นเป้าโจมตีเสมือนแพะรับบาปของเหล่าขบวนการปฏิกิริยาขวาจัดทั้งหลาย

และมาบัดนี้ก็ปรากฏการแตกแยกในหมู่นานาชาติยุโรปเกี่ยวกับยุทธวิธีค้ำจุนหนุนหลังยูเครนเบื้องหน้า สงครามรุกรานของรัสเซียและการคาดเล็งฉากทัศน์ที่อาจต้องส่งกำลังทหารไปช่วยรบที่นั่นด้วย จนเกิดเป็นวิวาทะระหว่างพวกสายเหยี่ยวคลั่งสงคราม กับพวกสายพิราบประนีประนอมตามแนวทางข้อตกลงสมยอมกับฮิตเลอร์ ที่เมืองมิวนิกเมื่อปี 1938

มิพักต้องพูดถึงการเลือกตั้งสภายุโรปที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายนศกนี้ ซึ่ง น.ส.พ. Financial Times ของอังกฤษพาดหัวข่าวว่า “พวกขวาจัดกำลังชนะใจหนุ่มสาวชาวยุโรปอย่างไร?” (https://on.ft.com/451UVNI) และสำนักข่าว Deutsche Welle ของเยอรมนีปุจฉาอย่างว้าวุ่นว่า “โหวตเตอร์หนุ่มสาวจะเสริมส่งพวกขวาจัดให้เฟื่องฟูในการเลือกตั้งสหภาพยุโรปหรือไฉน?” (https://www.dw.com/en/will-young-voters-boost-far-right-in-eu-elections/a-69277494)

เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น กลุ่มพันธมิตรการเมืองที่ดำรงอยู่ก็จะพลิกคว่ำต้องจัดแถวกันใหม่ และอาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วเสียงข้างมากในสภายุโรปด้วยซ้ำไป อันจะเป็นการชี้ชะตากรรมของยุโรปในฤดูใบไม้ผลิปีนี้!

Gilles Gressani แห่ง Le Grand Continent, นายกฯ Kaja Kallas แห่งเอสโตเนีย, Lea Ypi แห่ง LSE

ท่ามกลางโศกนาฏกรรมที่หวนคืนมาปกคลุมยุโรป นักคิดหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่งได้ถูกระดมเชิญมาประชุมสุดยอดเพื่อปรึกษาหารือถกเถียงแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้นโดยวารสารดิจิทัลฝรั่งเศส Le Grand Continent (มหาทวีป https://legrandcontinent.eu/fr/) ณ ใจกลางภูเขามองต์บลังก์แห่งเทือกเขาแอลป์ในยุโรปตะวันตก ท่ามกลางฤดูหนาวหิมะขาวยะเยือกระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคมศกก่อน

และที่ประชุมปัญญาชนยุโรปเหล่านี้สรุปว่าพวกเขาปฏิเสธที่จะสละทิ้งซึ่งยูโทเปียของยุโรป!

วารสารดิจิทัล Le Grand Continent ก่อตั้งออกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2019 โดยกลุ่มหนุ่มสาวศิษย์เก่าเหล่าสถาบันการศึกษาฝึกอบรมนักวิจัยและครูอาจารย์ชั้นสูงของฝรั่งเศสที่เรียกว่า ?cole normale sup?rieure ด้วยปณิธานให้เป็นเวทีวิวาทะประเด็นปัญหาต่างๆ ของทวีปยุโรป

การประชุมสุดยอดครั้งแรกของวารสารครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองแซงต์-แวงซองอันเป็นเมืองสปาในหุบเขาอาโอสเตของอิตาลี ผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประกอบด้วยนักการเมือง นักอุตสาหกรรมและปัญญาชนกว่า 130 คนเพื่อร่วมกัน “ตกผลึกเรื่องเล่าใหญ่ของยุโรป” ที่ล้อมรอบระยะเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา ภูมิรัฐศาสตร์และดิจิทัลของทวีป

ทางวารสารผู้จัดมุ่งมาดจะเปิดฉาก “กระบวนการขัดเกลาทางสังคมของยุโรป” ด้วยแนวคิดต่างๆ แต่ก็ปรารถนาจะขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันด้วย

 

จิลล์ เกร็สซานี ผู้อำนวยการวารสาร Le Grand Continent ซึ่งเป็นประธานกลุ่มศึกษาภูมิรัฐศาสตร์และอาจารย์สอนที่ Sciences Po Paris หรือสถาบันศึกษาการเมืองแห่งกรุงปารีสอธิบายการจัดงานประชุมนี้ว่า :

“ไม่มีที่แห่งใดอีกแล้วที่ซีอีโอชาวฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย (นายกฯ หญิง กายา กัลลาส) และนักเขียนชาวแอลเบเนียผู้สอนปรัชญาที่กรุงลอนดอน (หมายถึง ลีอา ยิปี ศาสตราจารย์หญิงด้านทฤษฎีการเมืองแห่ง The London School of Economics and Political Science ผู้แต่งบันทึกความทรงจำยอดฮิต Free : Coming of Age at the End of History, 2021) จะมาแลกเปลี่ยนข้อคิดความเห็นกันเกี่ยวกับชะตาของยุโรปนะครับ”

สถานที่ประชุมเหล่าปัญญาชนยุโรปชั้นนำซึ่งดำเนินไปด้วยความเคร่งเครียดกังวล แก่วิชาและหนักแน่นด้วยข้อมูลนี้จัดขึ้น ณ โรงแรม Grand H?tel Billia ในอิตาลี

มันมีกังวานชวนหวนระลึกถึงบรรยากาศสถานพักฟื้นตากอากาศในนิยายเรื่อง The Magic Mountain (Der Zauberberg, 1924) ของ Thomas Mann (1875-1955, นักเขียนเยอรมันผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1929) อันอยู่ในรูปข้อครุ่นคำนึงถึงเหล่าชนชั้นนำทางวัฒนธรรมของยุโรป ณ จังหวะริมขอบเหวทางประวัติศาสตร์ที่จวนเจียนจะไถลลาดไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมของอาคารโรงแรมก็อยู่ในสไตล์ Art d?co แบบฝรั่งเศสก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงฉากโรงแรมในภาพยนตร์โด่งดังเรื่อง The Grand Budapest Hotel (2014) ของ Wes Anderson ผู้กำกับการแสดงชาวอเมริกัน อันผูกเรื่องล้อมรอบเด็กรับใช้หนุ่มในโถงรับแขกของโรงแรมสปาชื่อดังแต่เก่าโทรมผู้เข้าไปพัวพันกับแผนการพิลึกพิเรนในประเทศสมมุติแห่งหนึ่งของยุโรปในช่วงต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สอง

 

สมดังที่ กวีเลียโน ดา เอมโปลี (Giuliano da Empoli,1973-ปัจจุบัน, นักเขียนชาวสวิส-อิตาเลียน, ประธานสถาบันคลังสมอง Volta ในมิลาน, ที่ปรึกษาอาวุโสของอดีตนายกฯ มัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี และศาสตราจารย์แห่ง Sciences Po Paris) แขกขาประจำของวารสาร Le Grand Continent บรรยายว่า :

“สถานที่ประชุมแห่งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนยุคสมัยก่อนจริงๆ คือมันมีบรรยากาศอันชวนให้หวนคิดถึงโลกในอดีตที่จมปลักอยู่ในสงครามโลกสองครั้ง ซึ่ง สเตฟาน ซไวก์ (Stefan Zweig นักเขียนชาวออสเตรีย, 1881-1942) บรรยายไว้อย่างยอดเยี่ยม

“ทุกวันนี้ รูปการของข้อยกเว้นแบบยุโรปซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของกฎหมาย ความรู้ประมาณและกระทั่งความน่าเบื่อบางอย่างซึ่งก็ถือเป็นคุณธรรมทางการเมืองด้วยนั้น กำลังจะสิ้นสุดลง”

อาจสรุปได้ว่าในทัศนะของเอมโปลี ถึงแม้เหล่าสถาบันต่างๆ ของยุโรปที่ผ่านมาจะเฉื่อยเนือยแฉะแบะ แต่มันก็ช่วยนำมาซึ่งความสงบส่วนรวมบางอย่าง

ที่น่าวิตกคือภาวะน่าเบื่อดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลงและเปิดทางให้ความป่าเถื่อนเข้ามาแทนที่!

(ต่อสัปดาห์หน้า)