ยุทธการ 22 สิงหา ชวลิต ยงใจยุทธ ร้องเพลง ‘ถอย’ อนุพงษ์ เผ่าจินดา ปฏิวัติหน้าจอ

สาระนิยาย Psy ฟุ้ง

 

ยุทธการ 22 สิงหา

ชวลิต ยงใจยุทธ ร้องเพลง ‘ถอย’

อนุพงษ์ เผ่าจินดา ปฏิวัติหน้าจอ

 

มองเข้าไป “ภายใน” รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ภายหลังสถานการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ก็สัมผัสได้ใน “วิกฤต”

ลำพังการผลักดัน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นายสมัคร สุนทรเวช ก็ก่อให้เกิดรอยร้าวที่ขยาย “ลึก” และกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับอยู่แล้ว

นั่นคือ ปฏิกิริยาและความไม่พอใจอันมาจากปีกของ นายเนวิน ชิดชอบ

ในกระแสการรุกเข้ามากดดันโดยรอบจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาลหวังจะอาศัย “บารมี” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาเป็นเครื่องช่วยผ่อนคันเร่งของสถานการณ์

อย่างน้อย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน

ความหมายก็คือเข้ามาแสดงบทบาทแทน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แม้จะมีสัมพันธ์ที่ดีกับตำรวจ แต่ก็ไม่ดีนักกับกองทัพ

แต่เมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทุกอย่างก็พังครืน

 

ผลสะเทือนจากการตัดสินใจส่งกำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมตาม “แผนกรกฎ” ผลก็คือบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต 2 คน

1 นส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ 1 พ.ต.ท.มนตรี ชาติเมธี

ในฐานะผู้ต้องรับผิดชอบโดยตรง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจยื่นใบลาออกกลางดึกของคืนวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ทั้งมิได้เป็นการลาออกอย่างธรรมดาปกติ

ตรงกันข้าม อีก 2 วันต่อมา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็ให้สัมภาษณ์ “พิเศษ” กับหนังสือพิมพ์ “บางกอกโพสต์”

ระบุว่า ปัญหาทางการเมืองของไทยในขณะนี้ไม่มีทางออกแล้ว

ขอเรียกร้องให้ พล.อ.อนุพงษ์เ ผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีเงื่อนไขเพียงเงื่อนไขเดียวด้วยการ

“คืนอำนาจให้ประชาชน เปิดทางจัดตั้งรัฐบาลรักษาการคลี่คลายสถานการณ์”

ข้อเสนอของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เหมือนกับจะเป็นการเสนอ “ทางออก” แต่ก็ใช่ว่าทางออกนี้จะราบรื่น

ไม่ว่ามองจากด้านของ “กองทัพ” ไม่ว่ามองจากด้านของ “รัฐบาล”

 

เช้าวันรุ่งขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3

ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม

ส่วนกระแสกดดันเร่งเร้าให้ทหารออกมายึดอำนาจโดยการปฏิวัติรัฐประหารนั้น กองทัพประเมินแล้ว

ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ และไม่น่าจะคุ้ม

ที่น่าสนใจก็คือ ท่าทีของรัฐบาล เพียง 2 วันหลังมีข้อเสนอจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพียง 1 วันหลังจากมีความเห็นจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐบาลโดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีก็ขานรับ

ระบุว่าเป็นการหาหนทางออกตามข้อเสนออันมาจากกองทัพบก

รัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ 1 คณะกรรมการอิสระเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงการสลายการชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และ 1 คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์

จากนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ชี้แจงผ่าน “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย” แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องว่ารัฐบาลควรจะยุบสภาหรือลาออกนั้น

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขอให้เห็นทางออกที่ชัดเจนเสียก่อน

พร้อมร้องขอพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคืนทำเนียบรัฐบาล

 

การเคลื่อนไหวที่สังคมสนใจและจับตามองอย่างเป็นพิเศษคือการออกรายการพร้อมกันของ ผบ.เหล่าทัพและตำรวจ

โดยการให้สัมภาษณ์สดในรายการข่าว “เรื่องเด่นเย็นนี้” ในวันที่ 16 ตุลาคม

นั่นก็คือ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เรียกร้องและเสนอให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551

เหตุการณ์นี้ถูกเรียกขานว่าเท่ากับเป็น “การปฏิวัติหน้าจอ”

 

รุ่งขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จากนั้นแถลงว่า

ยังไม่ลาออก

แต่จะรอคำชี้ขาดจากคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ หากคณะกรรมการมีบทสรุปว่าเป็นความผิดก็พร้อมจะลาออก ส่วนข้อเสนอจากผู้บัญชาการทหารบกเป็นเพียงความเห็น

“ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารบก”

อีก 2 วันต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้พบและพูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ต่อหน้าสาธารณะเป็นครั้งแรกในพิธีซ้อมริ้วขบวนพระอิสริยยศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

โดยการสนทนาช่วงแรก ทั้งสองนั่งเก้าอี้เว้นระยะห่างกันถึง 3 ที่นั่ง ต่อมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ลุกเดินไปนั่งเก้าอี้ชิดกับที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่ง

แล้วพูดคุยด้วยสีหน้าเคร่งเครียด จริงจังประมาณ 10 นาที

ภายหลังพิธีซักซ้อมเสร็จสิ้น ทั้งสองได้นั่งคุยกันต่อไปโดยทิ้งระยะห่างเก้าอี้ 1 ที่นั่ง

ไม่มีใครรู้ว่าทั้งสองคุยกันด้วยเรื่องอะไร แต่คาดว่าคงไม่พ้นไปจากสถานการณ์

 

ความน่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ความคืบหน้าของคณะกรรมการ 2 คณะที่รัฐบาลมีมติให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นคำตอบและเป็นทางจากปัญหาซึ่งคุกรุ่นและตึงเครียดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม

วันที่ 12 ตุลาคม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง

เป็นคณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเฉพาะ

วันที่ 14 ตุลาคม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำนวน 11 คน มี นายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธาน

และคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่อง จำนวน 24 คน มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธาน

ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลงไม่ยอมรับคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยระบุว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงได้

 

ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ คณะอัยการสูงสุดเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณายุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 10 ตุลาคม

โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องให้พิจารณายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย

ในที่สุด ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่อัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย ไว้พิจารณาวินิจฉัยในวันที่ 14 ตุลาคม

วันที่ 14 ตุลาคม 2551 จึงเป็นบาทก้าวหนึ่งซึ่งพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย ประทับจิตฝังจำ

ทั้งหมดล้วนเป็นจังหวะก้าวแห่ง “ตุลาการภิวัฒน์”