ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (19)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

“ความคิดเห็นที่ต่างกัน”

แม้ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร จะให้ความเห็นต่อความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของคณะราษฎรในช่วงเวลาประมาณ 5 ปีที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีว่า

บรรดาสมาชิกระดับแนวหน้าของคณะราษฎรต่างก็แยกย้ายกันรับหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ และทำงานร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งทำให้บ้านเมืองก้าวหน้าไปตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

อีกทั้งการบริหารประเทศก็เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต่อมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลสืบแทนพระยาพหลพลพยุหเสนา คณะรัฐมนตรีก็ประกอบด้วยสมาชิกของคณะราษฎรเกือบทั้งคณะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอุดมการณ์และวัตถุประสงค์หลัก โดยไม่ปรากฏว่าสมาชิกของคณะราษฎรผู้ใดมีความคิดที่จะแย่งชิงอำนาจจากใคร

ขณะที่ “ความคิดเห็นที่ต่างกันในบางเรื่องก็เป็นธรรมดา”

อย่างไรก็ตาม “ความคิดเห็นที่ต่างกัน” ในบางประการมิได้หยุดอยู่เพียงในใจของแต่ละคนเท่านั้น เพราะได้นำไปสู่ “การปฏิบัติที่แตกต่างกัน” ซึ่งรูปธรรมแรกที่ปรากฏให้เห็นคือการปฏิบัติต่อนักโทษการเมือง

ขณะที่หลวงอดุลเดชจรัสซึ่งมีขุนศรีศรากรเป็นกำลังสำคัญเป็นไปอย่างให้เกียรติด้วยพื้นฐานทางความคิดว่า ผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันไม่ใช่ “อาชญากร” ซึ่งได้นำไปสู่มาตรการผ่อนปรนต่างๆ นับตั้งแต่ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำบางเขน รวมทั้งยังมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองสู่อิสรภาพในวาระต่างๆ จนกระทั่งเหลือนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังเพียง 70 คนที่ล้วนมีความหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวในโอกาสอันใกล้

แต่ความหวังนั้นพลันดับวูบลงเมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นักโทษการเมืองถูกโยกย้ายพื้นที่คุมขังจากคุกบางขวางไปยังเกาะตะรุเตาตามนโยบายของหลวงพิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี ขณะที่ขุนศรีศรากรยังคงรับผิดชอบในการควบคุมนักโทษการเมืองเหล่านี้ในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองที่เกาะตะรุเตาจึงยังคงมีลักษณะผ่อนคลายตามบันทึกของ สอ เสถบุตร จนกระทั่งถูกโยกย้ายที่คุมขังไปยังเกาะเต่าตามนโยบายของหลวงพิบูลสงครามอีกเช่นกัน

 

ที่เกาะเต่า ในชั้นต้นชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองก็ยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่เลวร้ายเกินไปนักแม้จะอยู่ท่ามกลางความขาดแคลนเนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม

จนต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับผิดชอบจากขุนศรีศรากรเป็น พันตำรวจโท พระกล้ากลางสมร ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

นักโทษการเมืองหลายคนเสียชีวิต ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ถูกบังคับให้ทำงานหนัก ชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปอย่างแร้นแค้นและถูกควบคุมอย่างเข้มงวด จนทำให้เกิดความเข้าใจว่า รัฐบาลต้องการให้นักโทษการเมืองทั้งหมดเสียชีวิตเพราะใกล้กำหนดพ้นโทษ

ตลอดระยะเวลาของการขับเคี่ยวกันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับคณะราษฎร หลวงอดุลเดชจรัสยึดมั่นในอุดมการณ์ของคณะราษฎรและพยายามปกป้องความอยู่รอดปลอดภัยของคณะราษฎรอย่างสุดกำลัง

ในบทบาทอธิบดีกรมตำรวจได้ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเต็มความสามารถตามกฎหมายในฐานะจุดเริ่มต้นของขบวนการยุติธรรมด้วยการสืบสวน จับกุมและสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสนอต่อกรมอัยการเพื่อสั่งฟ้องศาลต่อไป

ส่วนการพิจารณาสั่งฟ้องและการตัดสินของผู้พิพากษาศาลพิเศษไม่ปรากฏหลักฐานว่าหลวงอดุลเดชจรัสเข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ความรับผิดชอบทั้งหมดรวมทั้งความเป็นอิสระของศาลพิเศษจึงอยู่ที่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะการประหารชีวิต 18 คน

 

ประหารชีวิต 18 คน
: เป็นเรื่องของหลวงอดุลฯ

กรณีศาลพิเศษพิพากษาประหารชีวิต 18 คนเมื่อ พ.ศ.2482 ได้รับความสนใจจากประชาชนมาโดยตลอดแม้เหตุการณ์จะผ่านไปยาวนาน “นายฉันทนา” (มาลัย ชูพินิจ) ได้สัมภาษณ์จอมพล ป.พิบูลสงคราม เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เมื่อ พ.ศ.2489 ซึ่งผ่านเหตุการณ์ไปแล้วเกือบ 10 ปี “บันทึกจอมพล” ของ “นายฉันทนา” มีบทสัมภาษณ์นี้อย่างละเอียด ปรากฏว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม “โยนความผิด” ไปให้หลวงอดุลเดชจรัส

“แม้จะรู้อยู่ว่าจะเป็นการสะเทือนใจสักเพียงไร ข้าพเจ้าก็ต้องขอทราบเบื้องหลังการประหารนักโทษการเมือง 18 คนให้ได้ ข้าพเจ้าชี้แจงให้ฟังว่า ในประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองประชาธิปไตยไทยเราไม่มีครั้งใดเลยที่ประชาชนจะสะเทือนใจและเสียขวัญเท่ากับการประหารบุคคลเหล่านั้น ท่านจอมพลจะว่ามือปราศจากคาวเลือดจากคดีนั้นไม่ได้ สีหน้าของจอมพลเปลี่ยนไปทันที กิริยาที่กระปี้กระเปร่ากลายเป็นเคร่งขรึม มองดูบุหรี่ที่มอดดับอยู่ในมือแล้วตอบว่า

‘นั่นเป็นเรื่องของศาลพิเศษนี่’

ข้าพเจ้าบอกว่าคนอ่านคำพิพากษาคดีนั้นแล้วก็มีแต่จะพิศวงงงงวยยิ่งขึ้น แต่โดยไม่ต้องวิจารณ์คำพิพากษา ในฐานะที่จอมพลเป็นอยู่ในเวลานั้นย่อมจะขอพระราชทานลดโทษบุคคลเหล่านั้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้ถึงกับประหารได้ไม่ใช่หรือ?

จอมพลเงยหน้าขึ้นมองดูหน้าข้าพเจ้าอย่างลำบากใจ

‘เรื่องนี้ขอกันได้ไหมคุณ?’

ข้าพเจ้าชี้แจงว่าเรื่องของท่านจอมพลเป็นสมบัติสาธารณชน ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ หนังสือพิมพ์ย่อมจะมีความเคารพสิทธิเอกชนพอที่จะไม่เข้าไปแตะต้อง แต่คดีประหารนักโทษการเมืองเป็นเรื่องสาธารณะและประชาชนข้องใจนัก

‘ถ้าหากคุณจะเขียนแล้ว ก็ขอให้ช่วยระมัดระวังหน่อย’ จอมพลตอบ ‘มันจะกลายเป็นเรื่องอาฆาตจองเวรกันไปไม่มีที่สิ้นสุด จริง ผมย่อมจะขอลดโทษได้และก็ได้ทำไปแล้ว กรมขุนชัยนาทฯ เจ้าคุณเทพฯ หลวงชำนาญฯ รอดชีวิตมาได้ก็เพราะผมไม่ยอมเซ็น ขอเขาได้เพียง 3 คนเท่านั้น คนอื่นๆ หลวงอดุลฯ เขาไม่ยอมท่าเดียว ข้อนี้เมียผมเขารู้เรื่องดี’

ชี้ไปทางร่างเล็กๆ ในกระโปรงสีดอกตะแบกซึ่งก้มหน้าอยู่กับจักรเย็บผ้าเบื้องหลัง

‘เวลานั้นผมกำลังเป็นโรคเส้นประสาทอย่างแรง พอรู้ว่าเขาเอาหนังสือมาให้ผมเซ็นว่าจะประหารพวกนั้น ขี้เยี่ยวแตกหมดเป็นลมอาเจียนจนไม่ได้ความ ต้องรีบหนีขึ้นไปนอน แต่หลวงอดุลฯ ก็ไม่ยอม ไปคว้าเอาตราดำมาตั้งนั่งเฝ้าอยู่หน้าห้อง ว่าเข้าไปเมาแอ๋ พูดเสียงอ้อแอ้’ ทำท่าทางประกอบ ‘ว่าถ้าผมไม่เซ็นเป็นไม่ยอมไปเด็ดขาด จนเมียผมเขาโกรธว่ารบกวนคนป่วย จะเอาขวดเหล้าตีกบาลแตกเสียแล้ว’

‘แต่ในที่สุดท่านจอมพลก็ได้เซ็นลงไป?’

จอมพลพยักหน้าอย่างเศร้าๆ ‘ผมจำเป็นต้องเซ็น’…”

 

“เราพูดกันถึงคำพิพากษาศาลพิเศษถึงคดีกบฏ พ.ศ.2476 และถึงเรื่องนักโทษการเมือง จอมพลมีความสนใจเรื่องค่ายคุมขังนักโทษการเมืองของ ‘ไทยน้อย’ บอกว่าไม่รู้เลยว่าที่ตะรุเตาและเกาะเต่าจะเต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณเช่นนั้น ในที่สุดบุรุษผู้เป็นประมุขของรัฐบาลซึ่งก่อกรรมทำเข็ญไว้ให้ราษฎรได้รับทุกข์ทรมานยิ่งกว่ายุคใดสมัยใดผู้นี้ก็พยายามจะหลีกเลี่ยงจากความรับผิดชอบไปทั้งหมดทีเดียวเลยนี่? ข้าพเจ้าคิด

‘ท่านจอมพลน่าจะทราบมาบ้างก่อนที่จะได้อ่านพบจากหนังสือพิมพ์ไม่ใช่หรือว่าที่โน่นเขาปฏิบัติกับนักโทษการเมืองร้ายกาจเพียงใด?’

‘ถ้าจะเกณฑ์ให้รับบาปเป็นกระโถนท้องพระโรงแทนใครต่อใคร ผมก็ต้องรับเพราะเป็นนายกรัฐมนตรี’ จอมพลตอบ

‘แต่ถ้าจะให้บอกตามความจริง ผมก็ต้องว่าไม่รู้และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายนักโทษการเมืองเหล่านั้นไปคุมขังไว้ถึงที่โน่น’

‘ถ้าเช่นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของใคร?’

‘หลวงอดุลฯ’ จอมพลตอบ ยื่นคางออกมาหาข้าพเจ้า

‘ผมไม่ได้โยนความผิดไปให้ใคร สิ่งใดที่อยู่ในความรับผิดชอบของผม ผมต้องรับ แต่เรื่องนี้มันเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในเวลานั้น คุณก็รู้แล้วว่าภาระทางการเมืองของผมยุ่งยังกับอะไร เราแบ่งหน้าที่กันไว้ ผมว่าทางการเมือง เขาว่าทางฝ่ายปกครอง เรื่องย้ายนักโทษการเมืองเป็นเรื่องของเขา เขามาบอกผมว่าเอาไว้ที่บางขวางพวกนั้นติดต่อกับพรรคพวกข้างนอกได้ง่ายนัก ยุ่งยากแก่การควบคุมดูแล ส่งไปเก็บไว้ให้สุดลูกหูลูกตาดีกว่า แล้วเขาก็จัดการไป’

เมื่อปี พ.ศ.2511 นายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของนายปรีดี พนมยงค์ กลับจากไปเยี่ยมบิดาที่ฝรั่งเศสได้ไปเยี่ยม พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นสหายร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากับนายปรีดี นายปาลเล่าให้ ประจวบ อัมพะเศวต ฟังและบันทึกไว้ใน ‘พลิกแผ่นดิน’ หน้า 93 เมื่อได้พูดคุยกันถึงการเมืองในอดีต พล.ต.อ.อดุล ได้กล่าวกับนายปาล พนมยงค์ ว่า ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิต 18 กบฏเลย…

‘เป็นเรื่องของจอมพลทั้งนั้น'”

 

บทสัมภาษณ์นี้เมื่อมีการตีพิมพ์เผยแพร่ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งหลวงอดุลเดชจรัสผู้ถูกพาดพิง

ความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างระหว่าง 2 เพื่อนสนิท “แปลก-อดุล” ยังจะมีปรากฏอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา และจะกลายเป็นเหตุสะสมที่นำไปสู่ความแตกสลายของมิตรภาพระหว่างกันในที่สุด ดังที่คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม เขียนไว้ว่า

“แต่อนิจจาการเมืองเอย เจ้าหรือมิใช่ที่ทำให้มิตรร่วมชีวิต 2 ท่านนี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นศัตรูกันและยังรักกันฝังอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ จำต้องแยกทางกันเดินในบั้นปลายของชีวิต”