BRICS ในมิติที่ไทยไม่ควรละเลย

เมื่อพูดถึงกลุ่มความร่วมมือพหุภาคีที่กำลังเป็นประเด็นทั้งน่าทึ่งและน่ากังวล BRICS คือชื่อที่ปรากฏขึ้นในสื่อและบทวิเคราะห์ต่างประเทศในไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะท่าทีของรัสเซียและจีน 2 ชาติพี่ใหญ่ในกลุ่ม

ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 คณะรัฐมนตรีของไทยได้เห็นชอบหนังสือแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำขึ้นในปี 2566 ช่วงท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้นำเผด็จการทหาร คสช. ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐบาลชุดที่เอนเอียงเข้าหาจีนเป็นพิเศษ

กล่าวได้ว่า การเข้าร่วมสมาชิก BRICS ถือเป็นผลพวงจากเครือข่ายชนชั้นนำและกองทัพก่อการรัฐประหาร 2557 โดนชาติตะวันตกรุมประณามและตัดสิทธิทั้งการทหารและการค้า ทำให้ชนชั้นนำจารีตโน้มลำไผ่รากเปราะไปใกล้พญามังกร

การเข้าร่วม BRICS ของไทยในสภาวการณ์โลกหลายขั้วเช่นนี้ ไทยจะได้หรือเสียหากได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ

 

ก่อนที่จะเข้าเนื้อหา ไทยได้อะไรจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก สำหรับ BRICS คือกลุ่มพหุภาคีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว (Emerging Economic Countries) ของชาติก่อตั้ง 4 ชาติแรกคือ รัสเซีย จีน อินเดีย และบราซิล ในการประชุมที่เยตาการินเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ในปี 2549

ส่วนที่มาของชื่อ BRICs (ที่ยังไม่มี “S” ตัวใหญ่ หรือแอฟริกาใต้) ในตอนนั้น มาจากบทความยุทธศาสตร์การลงทุนปี 2544 ที่นำเสนอโดย จิม โอนีล ประธานฝ่ายจัดการสินทรัพย์ของโกลแมน แซคส์ ในชื่อ Building Better Global Economic BRICs โดยระบุว่า ในช่วงปี 2544-2545 จีดีพีรวมของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะแซงหน้ากลุ่ม G7 หรือกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ และตั้งข้อสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นด้วยการขับเคลื่อนของ BRICs

นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยร่วมของทุกสมาชิกกลุ่ม BRICS รวมถึงว่าที่สมาชิกใหม่ที่ต่อแถวยื่นใบสมัครรอรับรอง ในเดือนตุลาคม ปี 2566 อยู่ที่ 30.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่สามารถแซงกลุ่ม G7 (รวมมูลค่า 45.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) อยู่ดี ทำให้สมมุติฐานของโอนีลยังไม่เกิดขึ้นได้

แต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือ BRICS ได้ถูกโยงเข้ากับความเสี่ยงโลกในปีนี้คือ BRICS กำลังกลายเป็นตัวแสดงแบบคู่แข่งทั้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์กับ G7 หลังเกิดภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่เป็นการเผชิญหน้าตั้งแต่ระดับรัฐจนถึงกลุ่มความร่วมมือเลย

ท่ามกลางการแข่งขันของชาติมหาอำนาจเพื่อชิงกันเป็นผู้จัดระเบียบโลกในยุคนี้

 

ตั้งแต่ต้นปีมานี้ BRICS รับสมาชิกใหม่เพิ่มทั้ง อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนอาร์เจนตินาตัดสินใจไม่เอา กับซาอุดีอาระเบียที่ตอนแรกเหมือนจะเข้าร่วม แต่ล่าสุดคือยังแค่พิจารณาอยู่ แต่ก็ยังมีอีกหลายชาติรวมถึงไทยยืนต่อคิวรอรับรอง

เมื่อดูรายประเทศในแง่ศักยภาพ กลับกลายเป็นว่า จีนมีพลังเศรษฐกิจใหญ่สุดและชาติอื่นต้องพึ่งพาจีนเพื่อพาชาติโตไปด้วย (ยกเว้นอินเดีย)

และจีนกำลังใช้ BRICS หาสมัครพรรคพวกเพื่อสร้างอำนาจต่อรองไว้งัดกับชาติตะวันตกในกลุ่ม G7 เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจโลกถูกเปลี่ยนมืออยู่ในการนำของจีน และหลุดการครอบงำจากสกุลเงินดอลลาร์

นอกจากนั้น ชาติสมาชิก BRICS เองก็มีประเด็นก่อปัญหาระดับโลกกับประเทศอื่นและสมาชิก BRICS ด้วยกันเอง อย่าง 2 ชาติสมาชิกคือ จีนกับอินเดียที่มีข้อพิพาทดินแดนในจัมมู-แคชเมียร์ แนวเขาหิมาลัยและการคุมเชิงอิทธิพลในแถบอนุทวีปอินเดีย จีนกับไต้หวันและชาติอาเซียน และรัสเซียที่ก่อสงครามรุกรานยูเครนมาได้ 3 ปี เรียกว่า ความแน่นแฟ้นกลุ่ม G7 ดูดีขึ้นมาทันที

เหมือนเป็นกลุ่มที่รวมคนมีปัญหาเข้าไว้ แต่ก็มีการประเมินว่า ภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า BRICS จะโตแซง G7 ได้สำเร็จ และไทยใช้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจตอบรับคำเชิญร่วมเป็นสมาชิก

(แม้จะมีแรงรูงใจการเมืองภายในไทยเกี่ยวพันด้วย)

 

ไทยตัดสินใจแสดงความประสงค์เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาลระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

ด้านนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าเป็นสมาชิก BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่ม ทำให้ไทยสามารถใช้ศักยภาพในฐานะประเทศที่เป็นมิตรกับทุกกลุ่มในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วม และไทยอาจมีบทบาทเป็นช่องทางประสานงานระหว่างประเทศอื่นๆ กับประเทศสมาชิก BRICS ทำให้กลุ่ม BRICS มีความเข้มแข็งขึ้น และมีความครอบคลุมในเชิงภูมิศาสตร์ และมุมมองทางยุทธศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะจากไทยที่เป็นจุดเชื่อมทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ไทยร่วมกำหนดท่าทีเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของ BRICS ให้สอดคล้องกับมุมมองของไทยมากขึ้น

ข้อสังเกตที่ว่า “การที่ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มประเทศตะวันตกนี้” นี่เป็นการกล่าวฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทย การคิดว่าไทยเข้าร่วมกับ BRICS แล้วจะไม่มีปัญหากับกลุ่มความร่วมมือที่มีชาติตะวันตกเป็นสมาชิก คำถามคือ รู้ได้ยังไง?

เพราะล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รีบแนะบัวแก้วให้พิจารณาร่วม BRICS เพียงระดับหุ้นส่วนพอ อย่าแล่นเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว ซึ่งจะกระทบต่อโอกาสเป็นสมาชิกกลุ่ม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ซึ่งสมาชิกทั้งหมดเป็นชาติตะวันตก และไทยก็อยู่ขั้นตอนพิจารณา

ดังนั้น การเข้าร่วมอะไรควรจัดวางให้สมดุลจริงๆ

เรียกว่า รัฐบาลทหาร คสช.และประยุทธ์ วางยาทั้งระบบการเมืองไทยและหลักการต่างประเทศไทยไว้อย่างน่าเจ็บปวดที่สุด

 

แล้วถ้าหากไทยเปลี่ยนใจไม่ร่วม BRICS ไทยจะไปมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกับกลุ่มไหน? ใกล้ตัวสุดก่อนคือ อาเซียน เพราะไทยคือชาติผู้ก่อตั้ง ถ้าสามารถยุติสงครามกลางเมืองพม่าได้ ไทยและอาเซียนมีแต่ได้กับได้

จากนั้น เป้าหมายต่อไปคือ G20 ซึ่งมีชาติสมาชิกทั้งซีกโลกเหนือและใต้รวมกัน และมีเพื่อนอาเซียนอย่างอินโดนีเซียร่วมก่อนแล้ว ถ้าไทยถึงจุดนั้นได้ ไทยและอินโดฯ จะเป็น 2 ชาติอาเซียนที่ทรงอิทธิพลที่สุด

เลือกเน้นยุทธศาสตร์ไม่กี่อย่างที่ดีกับไทยจริงๆ แล้วทุ่มทุนให้คุ้มค่าที่สุด ไม่ใช่เที่ยวขายของไปทั่ว หว่านแหลก 80 ผลลัพธ์ออกมาได้แค่ 20 หรือเป็นศูนย์ ถือว่าสูญเปล่ามาก

อยากโตต้องร่วมมือกันนั้นถูกต้อง แต่ถ้าเพียงเพื่อหวังน้ำบ่อหน้า แล้วได้ดื่มเลือดและน้ำตาแทน จะเป็นก้าวพลาดครั้งใหญ่ที่สุด คิดแค่รักษาระบอบจารีตให้อยู่รอด แต่พาคนทั้งชาติเดือดร้อน

นั้นคือความเห็นแก่ตัว