เหรียญถวายภัตตาหาร ที่ระลึกเเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ

ชื่อเสียงของวัดปากน้ำภาษีเจริญ โด่งดังในฐานะสำนักการศึกษา ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จากบารมีของ “พระมงคลเทพมุนี” หรือ “หลวงพ่อสด จันทสโร” อดีตเจ้าอาวาส

วัตถุมงคลได้รับความนิยมแทบทุกชนิด โดยเฉพาะพระผงของขวัญ

สำหรับ “เหรียญหลวงพ่อสด รุ่นถวายภัตตาหาร” ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

รุ่นนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2501 โดยคณะศิษย์ เนื่องในวาระที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระมงคลเทพมุนี ปี พ.ศ.2500

เป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุ-สามเณรที่มีจำนวนมาก หลวงพ่อสดจึงได้ตั้งโรงครัว จัดเลี้ยงภัตตาหารตลอดมา

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหู เนื้อเงิน เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง

ด้านหน้า ขอบเหรียญเป็นจุดไข่ปลา ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรเฉียงบ่า พาดสังฆาฏิ ด้านบนรูปเหมือน เขียนคำว่า “พระมงคลเทพมุนี”

ด้านหลัง ไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นอักขระขอมอยู่ใจกลาง ล้อมรอบอักขระ อ่านว่า สัมมาอรหัง มีอักษรไทยเขียนล้อมรอบอักขระขอม คำว่า “ที่ระลึกในการถวายภัตตาหาร วัดปากน้ำภาษีเจริญ ธนบุรี”

ปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง พุทธคุณจึงไม่ต่างจากพระผงของขวัญ

ใครมีในครอบครอง จงรักษาให้จงดี ปัจจุบันหายาก

เหรียญหลวงพ่อสด รุ่นถวายภัตตาหาร

พระมงคลเทพมุนี ถือกำเนิดในตระกูล “มีแก้วน้อย” ของนายเงินและนางสุดใจ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2427 ที่บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

เรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชายที่วัดสองพี่น้อง และศึกษาอักษรขอมที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ในปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ จนเขียนอ่านได้คล่อง

หลังจบการศึกษาเบื้องต้น ออกมาช่วยบิดามารดาค้าขาย ซื้อข้าวบรรทุกเรือต่อล่องมาขายให้โรงสีในกรุงเทพฯ และนครชัยศรี เป็นคนรักงาน ขยันขันแข็ง ทำอะไรทำจริง การค้าจึงเจริญโดยลำดับ จนมีฐานะดียิ่งขึ้น

เดือนกรกฎาคม 2449 วัยย่าง 22 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง มีพระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวินยานุโยค (เหนียง อินทโชโต) และพระอาจารย์โหน่ง อินทสุวัณโณ แห่งวัดสองพี่น้อง เป็นพระคู่สวด

จำพรรษาที่วัดสองพี่น้องหนึ่งพรรษา แล้วจึงเดินทางมาเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ

สมัยนั้นต้องเดินไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ ฉันเช้าแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวนาราม แล้วกลับมาฉันเพลที่วัด บ่ายไปเรียนที่วัดมหาธาตุฯ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศนเทพวรารามบ้าง วัดจักรวรรดิราชาวาสบ้าง ส่วนกลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพนฯ

หลวงพ่อสด จันทสโร

แม้จะลำบากขนาดไหนก็ไม่ท้อแท้ ตั้งใจศึกษาจนเข้าใจในหลักสูตรต่างๆ

แม้จะไม่ได้เข้าสอบแปลบาลีในสนามหลวง เพราะไม่ถนัดการเขียน และไม่มีความปรารถนา แต่มักส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้ผู้อื่นเสมอว่า “การศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิตผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาดี จะได้อะไรก็ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติใช้ไม่หมด”

จากนั้น ก็มุ่งธรรมปฏิบัติเบื้องต้น ประกอบการศึกษาทางปฏิบัติกับอาจารย์หลายท่าน เช่น พระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ พระครูฌานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ จ.กาญจนบุรี

เมื่อมีความรู้พอสมควรจึงออกจากวัดพระเชตุพนฯ ไปจำพรรษาต่างจังหวัด

หลังวัดปากน้ำภาษีเจริญ ว่างเจ้าอาวาส สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญในยุคนั้น จึงส่งไปปกครองดูแล

เป็นคนพูดจริงทำจริง การปกครองอารามอย่างเข้มงวด แต่ด้วยความที่ชอบการศึกษา จึงส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างสุดกำลังความสามารถ ควบคู่ไปกับการอบรมทางจิตใจ ไม่ยอมให้พระ-เณรอยู่เปล่า

หากรูปใดมีสติปัญญาสามารถจะสนับสนุนส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาชั้นดีตามสำนักต่างๆ

กิจวัตรที่ปฏิบัติเป็นอาจิณ คือ การคุมภิกษุ-สามเณรลงทำวัตรทุกเช้าและเย็น วันพระและวันอาทิตย์จะลงแสดงธรรมในโบสถ์เองเป็นนิจ ควบคุมพระให้ไปนั่งภาวนารวมอยู่กับท่านทั้งกลางวันและกลางคืน ทุกวันพฤหัสบดี เวลาบ่ายสอง จะลงสอนการนั่งสมาธิแก่ภิกษุ-สามเณร อุบาสกอุบาสิกา

ด้านปฏิปทานั้น เน้นเดินสายกลาง ไม่ห่วงในลาภสักการะเพื่อตน แต่ขวนขวายเพื่อส่วนรวม

 

กิจนิมนต์ทางไกลถึงกับค้างคืนแล้ว จะรับน้อยมาก เพราะต้องใช้เวลาในการอบรมผู้ปฏิบัติธรรม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2464 เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน

พ.ศ.2492 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระภาวนาโกศลเถร

พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานพัดยศสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ

พ.ศ.2498 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระมงคลราชมุนี

พ.ศ.2500 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระมงคลเทพมุนี

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ.2502 ที่ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

สิริรวมอายุ 75 ปี พรรษา 53 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]