จะเป็น ‘คนกลางสร้างสันติภาพ’ ไทยต้อง ‘จัดระเบียบในบ้าน’ ก่อน

สุทธิชัย หยุ่น

วิกฤตพม่ามองจากมุมของไทยมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน…แม้จะไม่แน่ใจนักว่าคณะกรรมการชุดพิเศษที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตั้งขึ้นมาเป็น War Room ภายใต้ร่มของสภาความมั่นคงแห่งชาติสมัยคุณปรานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรองนายกฯ จะยังดำรงอยู่หรือไม่ก็ตาม

แต่ไทยจะเล่นบทเป็น “Peace Broker” หรือผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพแต่เพียงผู้เดียวคงไม่สำเร็จ

เพราะตัวละครสำคัญมีหลากหลาย

จีนไม่เพียงแต่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า แต่เพราะผลประโยชน์ทางความมั่นคงและเศรษฐกิจของปักกิ่งมีรอบด้าน จึงทำให้จีนคบทุกฝ่ายที่เอื้อต่อประโยชน์แห่งตน

โดยทางการ จีนคบหารัฐบาลทหาร แต่ขณะเดียวกันก็สนิทชิดเชื้อกับกลุ่มชาติพันธุ์โกกั้ง

บางครั้งก็ส่งอาวุธไปช่วยหลายฝ่าย…ตราบเท่าที่กิจกรรมเช่นนั้นสอดคล้องกับการปกป้องประโยชน์แห่งตน

อาวุธบางส่วนที่พบในหมู่นักรบของรัฐบาลเงาหรือ NUG ของพม่าก็ผลิตในจีน

จีนถือไพ่หลายสำรับ

แต่กรณีรัสเซียก็อาจจะเทน้ำหนักสนับสนุนไปทางกองทัพพม่าเป็นพิเศษได้เช่นกัน

มีหลักฐานว่าโดรนจากรัสเซียก็ถูกทหารรัฐบาลใช้ในการช่วงชิงดินแดนคืนจากฝ่ายต่อต้านเช่นกัน

ข่าวล่าสุด รัฐบาลทหารพม่าก็เชื้อเชิญรัสเซียเข้ามาพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายต่อจากที่ญี่ปุ่นและแม้แต่เอกชนไทยเคยทำเอาไว้

ญี่ปุ่นเองก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย และยิ่งวันก็ยิ่งแสดงบทบาทชัดเจนขึ้นว่าพร้อมจะอ้าแขนรับฝ่ายต่อต้านที่เป็นชาติพันธุ์ไปเยือนประเทศนั้นอย่างเปิดเผย

ถึงขั้นให้คนระดับรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศออกมาต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนจากกลุ่มต่อต้านที่สู้กับรัฐบาลทหาร

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นจะส่งความช่วยเหลือไปให้กับฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลทหารผ่านองค์กรการกุศล

เพื่อจะได้อ้างได้ว่ารัฐบาลไม่ได้เกี่ยวกับความขัดแย้งในพม่าโดยตรง

แต่วันนี้ สถานการณ์ปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะหลังจากที่ฝ่ายต่อต้านเริ่มรุกหนัก และสามารถยึดครองพื้นที่จากฝ่ายรัฐบาลได้มากขึ้น

เกิดภาพว่าฝ่ายทหารพม่าเริ่มจะเพลี่ยงพล้ำ อันทำให้ฝ่ายสนับสนุนฝ่ายต่อต้านที่มีสหรัฐและตะวันตกเป็นหลักเริ่มจะชักชวนให้พันธมิตรของตนในเอเชีย “เปิดหน้าชก” ให้ชัดเจน

เพื่อกดดันให้กองทัพพม่าต้องเจรจาหาทางหยุดยั้งสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในประเทศนี้มาตั้งแต่หลังสงครามโกลครั้งที่สองเป็นต้นมา

ประกอบกับฝ่ายชาติพันธุ์ติดดอาวุธ เช่น NKU หรือ KNPP ได้ปรับยุทธศาสตร์ต่างประเทศด้วยการยื่นมือสร้างปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างเป็นระบบมากขึ้น

สำหรับญี่ปุ่น ทุกความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศจะจับตาดูบทบาทของจีน

จีนมีบทบาทในพม่ามายาวนานเพราะสภาพภูมิรัฐศาสตร์ขณะที่ญี่ปุ่นตั้งอยู่ห่างไกล

แต่ในโลกวันนี้ที่ทุกมิติของความสัมพันธ์มีความเชื่อมโยงกัน โตเกียวก็ไม่อาจจะให้ปักกิ่งเคลื่อนไหวชิงการนำในการสร้างบทบาทและอิทธิพลในพม่าได้

เมื่อจีนมีความเคลื่อนไหวใกล้ชิดกับกลุ่มติดอาวุธติดชายแดนของตน ญี่ปุ่นก็ย่อมมองว่าบทบาทของตนอาจจะขยับมาทางฝั่งที่ติดกับชายแดนไทย

โดยมีมูลนิธิของญี่ปุ่นดำเนินกิจกรรมที่เน้นในระยะแรกไปด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการยกระดับคุณภาพชีวิตตามแนวชายแดนด้านตะวันออก

และมีความเป็นไปได้ว่าระยะหลังนี้อาจจะเพิ่มเป็นการเสริมส่งด้านการเงินและการทูตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

อีกด้านหนึ่งที่ควรจะจับตาคือระเบียงตะวันออก-ตะวันตกในพม่าซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญจากเวียดนามผ่านลาวและไทย (ทางพิษณุโลก) เชื่อมต่อไปทางแม่สอดและเมียวดีของพม่า

เส้นทาง logistics นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้อุดหนุนหลักมายาวนาน

เส้นทางนี้เช่นกันที่นำไปสู่เมียวดีอันเป็นจุดซ่องสุมของ “ทุนจีนสีเทา” ในกลุ่มสถานบันเทิงครบวงจรที่มีความซับซ้อนแห่งอำนาจของกองทัพพม่า, ฝ่ายต่อต้าน และ “มาเฟีย” ที่มีกองทัพของตน

เกิดเครือข่ายการทำเรื่องผิดกฎหมายทั้งเรื่องคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงผู้คนทั้งโลก, การค้ายาเสพติด, ค้ามนุษย์ ตลอดไปถึงการจับผู้คนเป็นตัวประกันอย่างโจ๋งครึ่ม

 

นอกจากความพยายามของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เสนอตัวเป็น “คนกลาง” เจรจาสันติภาพโดยพบปะกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มแล้วก็ยังเห็นภาพของอดีตนายกฯ กัมพูชา ฮุน เซน ที่ดูเหมือนจะพยายามเล่นบทนี้จากอีกด้านหนึ่ง

ฮุน เซน ได้ขอพูดคุยผ่านวิดีโอกับอดีตผู้นำพม่า อ่อง ซาน ซูจี เพื่อแสวงหาหนทางการเจรจากับฝ่ายกองทัพพม่า

แต่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ปฏิเสธข้อเสนอนั้นไป

วงการทูตบางสายตั้งคำถามว่า “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” มีการนัดหมายกันเพื่อเปิด “ปฏิบัติการสันติภาพร่วม” ในการช่วยคลี่คลายวิกฤตพม่าหรือไม่

ถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบว่าอดีตผู้นำไทยกับกัมพูชาคู่นี้มีการพูดคุยกันล่วงหน้าเพื่อแบ่งหน้าที่สร้างโอกาสการเปิดเวทีหาทางสงบสงครามในเพื่อนบ้านหรือไม่

แต่ที่แน่ชัดคือในกรณีของ “ทักษิณ” นั้นเป็นการกระทำโดยพลการที่ไม่ได้ปรึกษาหารือกับกระทรวงการต่างประเทศหรือฝ่ายความมั่นคงของไทย

จึงทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในกลไกของทางการไทยอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งชะงักลงเพราะตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับเชิญไปพูดคุยที่เชียงใหม่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเกิดความไม่ไว้วางใจว่า “ทักษิณ” จะนำ “จดหมายมอบอำนาจ” นั้นไปนำเสนอกับฝ่ายต่างๆ ในรูปแบบใด

สาเหตุก็มาจากความระแวงสงสัยว่าปฏิบัติการเช่นนี้ ใครจะได้ประโยชน์ที่แท้จริงกันแน่

 

“ฮุน เซน” อาจสามารถอ้างได้ว่าบทเรียนอันโหดร้ายของกัมพูชาในอดีต และกระบวนการที่นำไปสู่สันติภาพของเขมรนั้นอาจจะเป็นแนวทางเพื่อการแก้ไขวิกฤตของพม่าได้

แม้ว่าเงื่อนไขของสองประเทศนี้จะไม่ได้มีความละม้ายกันมากถึงขั้นจะลอกเลียนแบบกันไปได้ก็ตาม

แต่ลูกเล่นและลีลาของ “ฮุน เซน” ก็มีแนวทางที่ชูบทบาทของตนในภูมิภาคนี้ได้เสมอ

แต่ “เพื่อนซี้” สองคนนี้ได้มีการนัดหมายเพื่อ “เปิดยุทธการทางการทูตร่วม” หรือไม่ ยังเป็นปริศนาที่รอคำตอบอยู่ถึงวันนี้

 

ความจริง ยุทธศาสตร์หลักของไทยจะต้องมาจากกลไกรัฐเอง

หากไทยจะมีบทบาทอย่างขึงขังจริงจังต่อวิกฤตพม่าก็ต้อง “จัดระเบียบในบ้าน” ให้เรียบร้อยเสียก่อน

หน่วยงาน 3 หน่วยหลักของไทยที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงกลาโหม (โดยเฉพาะกองทัพบก) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

นักวิชาการบางคนเรียกว่า “สามเหลี่ยมเหล็กแห่งอำนาจ”

ทีมงานทั้งสามหน่วยงานนี้มีหน้าที่วิเคราะห์, ออกแบบและกำหนดนโยบายด้านต่างประเทศและความมั่นคง

แต่บ่อยครั้งก็ไม่ได้มีความเห็นที่สอดคล้องต้องกันเสียทั้งหมด

การตั้ง War Room ในเรื่องพม่าก็น่าจะมีเป้าหมายสำคัญคือการ “บูรณาการ” การทำงานของหน่วยงานทั้งหลายที่อาจจะมีมุมมองต่างกัน หรือยังขาดการประสานด้านข้อมูลและข่าวกรองเพียงพอ

อีกทั้งการจะสามารถดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อชาติจริงๆ ก็จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะ “สามเหลี่ยมเหล็กแห่งอำนาจ” เท่านั้น

เพราะยังมีมิติอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวันในการออกแบบนโยบายความมั่นคงที่ตอบโจทย์แห่งยุคสมัย

จึงต้องประสานกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ, มหาดไทยและตำรวจและอื่นๆ ที่โยงกับความเคลื่อนไหวในท้องถิ่น

ยังไม่นับหน่วยงานเอกชนที่มีส่วนพัวพันอย่างลึกซึ้งกับความเป็นไปตรงชายแดน

 

ถึงวันนี้ เรายังไม่เห็นการ “จัดบ้าน” ที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงยังไม่เคยได้รับทราบแนวทางของไทยต่อวิกฤตเพื่อนบ้านตะวันตกแห่งนี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

เพราะมือซ้ายไม่รู้ว่ามือขวาทำอะไร

ก้าวย่างแต่ละก้าวสั้นบ้างยาวบ้าง

สะดุดขากันเองเป็นประจำ!