คุยกับทูต | แพทริก เฮมเมอร์ เรื่องราวของการเคารพซึ่งกันและกัน ความมุ่งมั่นร่วมกันและความสามารถด้านใหม่…มวยไทย (1)

คุยกับทูต | แพทริก เฮมเมอร์

เรื่องราวของการเคารพซึ่งกันและกัน

ความมุ่งมั่นร่วมกันและความสามารถด้านใหม่…มวยไทย (1)

 

เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย นายแพทริก เฮมเมอร์ (H.E. Mr. Patrick Hemmer) ให้สัมภาษณ์พิเศษมติชนสุดสัปดาห์ในโอกาสวันชาติ

ซึ่งเป็นหนึ่งในงานเฉลิมฉลองที่ใหญ่ที่สุดในลักเซมเบิร์ก

วันชาติของลักเซมเบิร์ก เริ่มต้นครั้งแรกด้วยวันประสูติของแกรนด์ดัชเชสชาร์ลอตต์แห่งลักเซมเบิร์ก (Charlotte, Grand Duchess of Luxembourg) ซึ่งตรงกับวันที่ 23 มกราคม แต่เนื่องจากอยู่ในฤดูหนาว งานเฉลิมฉลองจึงถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 23 มิถุนายน และวันที่ดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากรัชสมัยของพระองค์ แม้จะไม่มีกษัตริย์องค์ใดของลักเซมเบิร์กที่มีวันเฉลิมพระชนมพรรษาตรงกับวันนี้จริงๆ ก็ตาม

การเฉลิมฉลองจะเริ่มขึ้นก่อนหนึ่งวันคือวันที่ 22 มิถุนายน โดยเป็นเทศกาลสาธารณะที่ยิ่งใหญ่ มีคบไฟที่เรียกว่า Fakelzuch และการแสดงพลุ จากนั้นจะมีการแสดงดนตรีประเภทต่างๆ และงานรื่นเริงจนล่วงเข้าวันใหม่ ตามด้านนอกของร้านคาเฟ่โดยเฉพาะบริเวณเวทีที่จัดขึ้นอยู่ทั่วเมือง ส่วนในวันชาติจริง (23 มิถุนายน) จะเป็นพิธีแบบเป็นทางการ

เช่น การเดินสวนสนาม และเป็นวันละเล่นของเด็กๆ

เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย นายแพทริก เฮมเมอร์

“ในลักเซมเบิร์ก เราชอบคิดว่าตัวเองเป็นผู้บุกเบิก ซึ่งในแต่ละประเทศต่างก็เป็นผู้บุกเบิกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับประเทศที่มีขนาดเท่าเรา การเปิดกว้างและนวัตกรรมกลายมาเป็นตัวตัดสินชี้ชะตาความอยู่รอดของทุกๆ องค์กรมาโดยตลอด”

เอกอัครราชทูตแพทริก เฮมเมอร์ กล่าว และว่า

“ลักเซมเบิร์ก มีสถานะเป็นราชรัฐเดียวในโลก และเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ เนื่องจากตั้งอยู่บนจุดตัดในกลางยุโรป ประชากรลักเซมเบิร์กมีความสุขจากคุณภาพชีวิตที่อยู่ในระดับสูงในสังคมที่ครอบคลุมหลากหลาย พูดได้หลายภาษา ทั้งยังมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและมีเสถียรภาพทางการเมือง”


นายแพทริก เฮมเมอร์ (H.E. Mr. Patrick Hemmer) เอกอัครราชทูตลักเซมเบอร์กและคู่สมรสนางแมกดาเลนา เฮมเมอร์ (Mrs. Magdalena Hemme)

ลักเซมเบิร์กมีรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีแกรนด์ดยุคทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) ตั้งแต่ปี 1815 มีสถานะเป็นแกรนด์ดัชชี (ซึ่งเป็นเขตการปกครองแบบราชรัฐชนิดหนึ่ง ที่ประมุขมีอิสริยยศเป็นแกรนด์ดยุคหรือแกรนด์ดัชเชส) และเป็นเอกราชจากเนเธอร์แลนด์อย่างเต็มตัวในปี 1890

ปัจจุบันแกรนด์ดยุคอองรี (Grand Duke Henri) เป็นประมุขของรัฐ และถือว่าเป็นแกรนด์ดัชชีที่เดียวในโลกที่มีอำนาจอธิปไตย ปัจจุบัน แกรนด์ดยุคอองรี เป็นประมุขแห่งรัฐลำดับที่ 6 ในราชวงศ์นัสซอ-วิลเบิร์ก (Nassau Weilbourg)

แกรนด์ดยุคอองรีแห่งลักเซมเบิร์ก ภาพจาก Royal World Thailand-รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย

“ผมคิดว่า ความเปิดกว้าง นวัตกรรม และความน่าเชื่อถือ คือกรอบความคิดที่ขับเคลื่อนงานของผมในฐานะเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย”

“ประเทศไทยและลักเซมเบิร์กสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1959 ต่อมาในปี 1960 ราชวงศ์แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตแห่งลักเซมเบิร์กได้พระราชทานเลี้ยงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จเยือนลักเซมเบิร์ก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสองก็เจริญรุ่งเรืองตามลำดับโดยอาศัยความเคารพซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน”

นายแพทริก เฮมเมอร์ (Mr. Patrick Hemmer) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย

“ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายซาวีเยร์ เบตแตล (Xavier Bettel) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ การค้าต่างประเทศ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลักเซมเบิร์ก มาเยือนไทย ถือเป็นแรงผลักดันใหม่ในความสัมพันธ์ของเรา”

“นอกจากความสำเร็จในการพบปะแล้ว การเยือนครั้งนี้ยังรวมถึงการบรรยายพิเศษด้านการทูตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมด้วย”

“รัฐมนตรีของเรายังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความท้าทายทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวของเมือง การเยือนไทยครั้งนี้ได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจอย่างมากต่อประเทศลักเซมเบิร์ก และผมหวังว่าจะได้ต้อนรับคณะผู้แทนทางเศรษฐกิจระดับสูงที่จะเดินทางมายังประเทศไทยเร็วๆ นี้”

มารี ไฮนซ์ (Marie Heinz) นักชกสาวหน้าสวยจากลักเซมเบิร์ก ภาพจาก มวยช่อง 8

“นอกเหนือจากการติดต่ออย่างเป็นทางการเหล่านี้แล้ว ผมรู้สึกซาบซึ้งในไมตรีจิต วัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบสานต่อกันมายาวนาน และ มรดกโลกทางธรรมชาติของไทย ประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งในเอเชียสำหรับนักท่องเที่ยวชาวลักเซมเบิร์ก”

“ด้านพลังอันนุ่มนวลหรือซอฟต์เพาเวอร์ของลักเซมเบิร์กอาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในภูมิภาคนี้ แต่เราก็ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ยิ่งใหญ่ ตัวอย่าง มารี ไฮนซ์ (Marie Heinz) นักชกมวยไทยสาวสวยชาวลักเซมเบิร์กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้ขึ้นพาดหัวข่าวเมื่อเธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าตำแหน่งแชมป์โลกในรุ่นเฟเธอร์เวต เราไม่สามารถภาคภูมิใจได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว”

“เมื่อไม่นานมานี้ ผมโชคดีที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมชมการถ่ายทำภาพยนตร์ชุด Morte Cucina ซึ่งเป็นการผลิตร่วมกันเรื่องแรกระหว่างไทยและลักเซมเบิร์ก กำกับการแสดงโดยบุคคลชั้นนำในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยคือ คุณเป็นเอก รัตนเรือง ถึงตอนนี้ ผมรอชมภาพยนตร์เรื่องนี้แทบไม่ไหวแล้ว”

นายซาวีเยร์ เบตแตล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศลักเซมเบิร์ก (ขวา) เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย นายแพทริก เฮมเมอร์ (ซ้าย)

นอกจากนี้ ลักเซมเบิร์กยังเป็นผู้บุกเบิกด้านการเงินและการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อความยั่งยืน

“ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของลักเซมเบิร์กไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชค แต่ใช้แนวทางที่มองไปข้างหน้าและความสามารถในการเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเศรษฐกิจ”

“แม้ว่าประวัติศาสตร์ของเรามีรากฐานมาจากเกษตรกรรม แต่ลักเซมเบิร์กได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมเหล็กของยุโรปที่กำลังเติบโตในศตวรรษที่ 19 และ 20 ขณะที่ในเวลานั้นเราถูกมองว่าเป็น “ยักษ์เหล็ก” ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับประเทศที่มีขนาดเท่ากับลักเซมเบิร์ก”

“ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เราผลิตเหล็กชนิดพิเศษที่ใช้ในตึกระฟ้า เช่น ตึกเบิร์จคาลิฟา (Burj Khalifa) ในดูไบ หรือตึกวันเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (One World Trade Center) แห่งใหม่ในนครนิวยอร์ก”

“ครั้งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในทศวรรษ 1970 ลักเซมเบิร์กต้องปรับตัวเองอีกครั้ง คราวนี้ด้วยการสร้างศูนย์กลางทางการเงินที่เจริญเติบโตอย่างมีพลวัตและการบริการด้านเศรษฐกิจอันสมบูรณ์ ลักเซมเบิร์กได้กลายเป็นศูนย์กลางการธนาคารเอกชนแห่งแรกในยูโรโซนหรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พื้นที่ยูโร และเป็นศูนย์กองทุนเพื่อการลงทุนแห่งที่สองในโลกที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนข้ามพรมแดน” •

เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin