Breaking the Cycle : ทำลาย ‘วงจรอุบาทว์ใหม่’

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

หนังสารคดีที่กำลังมาแรงสร้างแรงสะเทือนในวงการหนังและที่สำคัญคือวงการการเมืองด้วย

ผมกำลังพูดถึงสารคดีเชิงการเมืองไทยร่วมสมัยที่ตั้งชื่อว่า Breaking the Cycle : Breaking The Cycle – อำนาจ ศรัทธา อนาคต”

คำโปรยของโรงหนังกล่าวว่า “ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ยังเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์สำคัญที่มีต่อประเทศไทย ว่าเหตุใดหรือทำไม “คนยุคใหม่ ต่อต้านเผด็จการและการรัฐประหารของประเทศ…?” เตรียมพบกับคำตอบ ที่จะทำให้เราจะรู้ได้ลึกขึ้นกว่าที่เคย ผ่านสารคดีเรื่องนี้”

ผมได้ข่าวว่าหลายคนที่ได้ไปดูหนังสารคดีนี้ถึงกับน้ำตาคลอเมื่อถึงฉากอันเป็นหัวใจของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคคนรุ่นใหม่ที่ชื่อ “อนาคตใหม่”

นั่นคือวาระสุดท้ายของพรรคในมือของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยื่นคำขาดราวคมดาบของผู้ประหารให้ยุติการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองด้วยข้อหาเงินบริจาคที่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต

แม้จะรู้ว่าหนังจะดำเนินไปสู่จุดไคลแมกซ์อะไร แต่ผมก็อดน้ำตาซึมไม่ได้เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์ที่เป็นของจริง ด้วยฝีมือและการสร้างของนักสร้างหนังรุ่นใหม่สองคน เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และธนกฤต ดวงมณีพร ที่ทำให้เราเหมือนเข้าไปอยู่ในใจกลางของความตึงเครียด การตัดสินใจ การต่อรองและท้ายสุดการรับมือต่อคำประหารชีวิตทางการเมืองของพรรคและคณะกรรมการบริหาร

เหนือกว่านั้นคือผู้ลงคะแนนเสียงอีกหลายล้านคน ที่ไม่ได้มาด้วยการ “ซื้อเสียง ขายสิทธิ” ไม่ได้มาด้วยอิทธิพลและบารมีของผู้นำการเมืองแบบเก่า หากแต่เป็นผู้ลงคะแนนที่มาด้วยความเชื่อมั่นในนโยบาย จุดหมายและวิธีการทำงานการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ด้วยสายตาที่แวววาวด้วยความมั่นใจ ที่เต็มด้วยความสุขเมื่อการเมืองเป็นเรื่องของความงามและความจริงใจที่เปิดเผยไม่มีเบื้องหลังข่าว

หายากมากที่ผู้คนจะรู้สึกถึงความใฝ่ฝันของพวกเขาที่กำลังจะกลายเป็นความจริงในการเมืองไทย ผ่านประสบการณ์ทางตรงของพวกเขากันเอง

ภาพเหล่านี้ถูกบันทึกและถ่ายทอดออกมาอย่างงดงามและมีชีวิตชีวาที่รวมศูนย์อารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดได้อย่างเหมาะสม

 

นวัตกรรมทางกฎหมายที่เพิ่งเกิดไม่กี่ปีมานี้ในการเมืองไทยคือคำตัดสินยุบพรรคการเมืองโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (2549) ต่อมาคือศาลรัฐธรรมนูญ

ที่เรียกว่านวัตกรรมทางกฎหมายเพราะไม่เคยปฏิบัติมาก่อน แม้ในต่างประเทศที่ไทยไปเอาแนวคิดมาในการให้มีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีอำนาจในการยุบพรรคการเมืองได้นั้น (รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540)

แต่ของต้นทางในกรณีนี้คือเยอรมนีก็ไม่ได้ปฏิบัติในการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายเหมือนกับของศาลรัฐธรรมนูญไทย

ข้อต่างที่สำคัญคือการยุบพรรคในตะวันตกทำได้ยากกว่าในไทย ที่ยากนั้นเพราะศาลตะวันตกถูกผูกมัดเข้ากับคติสิทธิเสรีภาพของบุคคลอันถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองและรัฐประชาธิปไตยเสรี

ในขณะที่ศาลไทยผูกมัดเข้ากับคติความมั่นคงของรัฐที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น และนิยามความมั่นคงของรัฐก็ขยายกินความไปตามสถานการณ์และสภาพการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละรัฐบาล จึงไม่มีหลักการพื้นฐานที่แน่นอนอันเข้าใจได้โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไป

ผมจำได้ว่าเมื่อได้ฟังคำตัดสินการยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550 อันเป็นกรณีแรกของการยุบพรรคการเมือง ตามมาด้วยการตัดสิทธิการเมืองผู้บริหารพรรคการเมืองนั้น ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเห็นว่า ในเมื่อมาตรการตัดสิทธิการเมืองไม่ใช่โทษอาญา จึงสามารถใช้ย้อนหลังได้ จึงตัดสิทธิย้อนหลังกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน

ความรู้สึกแรกคืออาการช็อก ตกตะลึง เหมือนเห็นการฆ่าคนตายต่อหน้าต่อตา แล้วเราทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ยืนดูการฆาตกรรมกลางแปลงนั้น แม้ไม่เห็นด้วย ไม่รับรองการประพฤติปฏิบัตินั้นของเจ้าหน้าที่ แต่ก็อธิบายไม่ได้ พูดไม่ออกว่าเพราะอะไร มีเหตุผลอะไรที่ไม่เห็นด้วยกับการประหารทางการเมืองครั้งนั้น

ที่พูดไม่ได้เพราะเราไม่มีภาษาที่เป็นเครื่องมือเฉพาะทางของผู้เชี่ยวชาญในอาชีพนั้น ไม่ใช่วิชาประวัติศาสตร์ที่ใครๆ ถึงไม่รู้ไม่เข้าใจทฤษฎีและวิธีการไปถึงจุดหมายของมัน ก็สามารถออกมาพูดมาบรรยายให้ใครก็ได้นั่งฟังได้เป็นวันเป็นอาทิตย์ แถมได้เงินค่าบรรยายอีก

แต่กับกฎหมายคนทั่วไปทำไม่ได้ นี่คืออภิสิทธิ์ของสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย เพราะมันอยู่ใกล้ชิดและรักษาความเป็นความตายของรัฐและผู้ปกครองที่ใช้อำนาจนั้นไว้

ผมถึงเข้าใจต่อมาว่า พฤติกรรมและความคิดของกฎหมายนั้น ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ แม้ในทางทฤษฎีจะบอกว่ารับใช้ประชาชนก็ตาม

แต่ในความเป็นจริงกฎหมายมีเพื่อรัฐเป็นประการแรกส่วนประชาชนเป็นประการรอง

 

เร็วๆ นี้ได้อ่านบทความของนักกฎหมายที่อธิบายความเป็นมาของคดีรัฐธรรมนูญ แล้วแสดงให้เห็นว่าในทางความคิดและการปฏิบัติก็ไม่ได้ดำเนินไปตามครรลองของการใช้กฎหมายสมัยใหม่ที่เป็นแบบเชิงประจักษ์ (positive law) ซึ่ง “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงแปลเป็นไทยว่า “กฎหมายบ้านเมือง” ซึ่งไม่ค่อยตรงกับความหมายดั้งเดิมในยุโรปนัก

ฝ่ายไทยเน้นว่า “กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ” คำอธิบายต่อมายิ่งสะท้อนวิธีนำเข้าหลักกฎหมายตะวันตกมาใช้แบบไทยๆ นั่นคือเน้นที่อำนาจนิยมไม่ใช่ประจักษ์นิยมแต่ประการใด

“เราจะต้องระวังอย่าคิดเอากฎหมายไปปนกับความดี ความชั่ว ฤๅความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่งเป็นแบบที่เราจะต้องปฏิบัติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็จะชั่วได้ ฤๅไม่เป็นยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรมมีบ่อเกิดหลายแห่ง เช่น ตามศาสนาต่างๆ แต่กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียว คือ จากผู้ปกครองแผ่นดิน ฤๅที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น” (พัชร์ นิยมศิลป Public-Law.Net : ความยุติธรรมกับการปฏิวัติรัฐประหาร : เมื่อแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองกำลังถูกท้าทาย)

มองย้อนกลับไปปัญหาของการประยุกต์ใช้กฎหมายสมัยใหม่ในไทยไม่ใช่เพิ่งเกิด หากมันมีรากเหง้ามาตั้งแต่วาระแรกของการปฏิรูประบบกฎหมายไทยจากแบบจารีตนครบาลที่ฝรั่งไม่ยอมรับและดูถูกว่าไร้อารยธรรม มาสู่ระบบกฎหมายประมวลแบบสมัยใหม่ของตะวันตก

ความต้านตึงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อคณะผู้ร่างกฎหมายใหม่ดำเนินการจัดทำเป็นภาษาไทยและตรวจสอบในขั้นสุดท้ายโดยฝ่ายไทย

หลายความคิด หลายมโนทัศน์สมัยใหม่ที่สยามไม่ต้องการ เช่น อำนาจของปัจเจกบุคคล ที่สาธารณะ และที่สำคัญสิทธิทางการเมืองของราษฎรก็ไม่ได้บรรจุเข้าไป

ประมวลกฎหมายยุโรปนั้นสร้างขึ้นมาผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นฟิวดัล (ศักดินาฝรั่ง) จนสามารถสถาปนารัฐชาติใหม่ที่เป็นกระฎุมพีทั้งทางอุดมการณ์และทางเศรษฐกิจ

นั่นคือหลักว่าด้วยปัจเจกบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน (propertied individualism) และเสรีภาพของปัจเจกชน เส้นแบ่งระหว่างอำนาจของรัฐที่เป็นทรัพย์สินของชนชั้นจารีตกับของราษฎรกระฎุมพีได้ถูกทำลายสลายไปหมดสิ้นแล้ว

กฎหมายสมัยใหม่จึงเป็นอุดมการณ์ของคนชั้นกลางเป็นหลัก ในขณะที่อำนาจในทรัพย์สินในรัฐไทยยังคงเป็นของชนชั้นจารีตอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจะพัฒนาไปอย่างไรก็ตาม

 

ข้อสังเกตเรื่องความต้านตึงในกฎหมายใหม่ของไทย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ไทยมีชื่อระดับนานาชาติคนแรกๆ ได้กล่าวในงานเปิดนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 เขากล่าวว่า

“การปฏิรูปครั้งนั้นสยามไม่ได้รับเอาหัวใจของระบบกฎหมายตามบรรทัดฐานสากลมาด้วยคือการปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของพลเมืองให้ปลอดพ้นจากการคุกคามของอำนาจรัฐซึ่งเป็นหัวใจของระบบนิติรัฐทุกแห่งในทางสากลนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา”

นายยอร์ช ปาดูซ์ กงสุลใหญ่ฝรั่งเศส ที่ปรึกษาการนิติบัญญัติแห่งรัฐบาลสยามพูดถึงลักษณะทั่วไปของกฎหมายสมัยใหม่ที่สยามกำลังนำเข้ามาใช้ แต่ในการร่างกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกในไทยนั้น เขาก็เห็นข้อจำกัดหลายอย่างที่สยามไม่ต้องการนำเอาลักษณะทั่วไปมาใช้ทั้งหมด นายปาดูซ์กล่าวว่าหลักสมัยใหม่หลายอย่างที่สยามไม่เอามาใช้เพราะขัดหรือตรงข้ามกับแนวความคิดและหลักปฏิบัติในกฎหมายเก่าที่เคยใช้มาก่อนแล้ว เพื่อทำให้การร่างกฎหมายประมวลใหม่นี้สำเร็จจึงใช้วิธี “ผสมผสานอารยธรรมยุโรปกับอารยธรรมท้องถิ่นของสยามเอง” นั่นคือที่มาของการเปิดให้มีการใช้อำนาจตัดสินได้โดยผู้พิพากษาต่อคดีรูปธรรม เมื่อถึงสิทธิทางแพ่งและในทางการเมือง เขาไม่ลังเลที่จะระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า “พลเมืองชาวสยามอาจกล่าวได้โดยทั่วไปได้ว่า ไม่ได้มีสิทธิในทางการเมืองเลย” ดังนั้นจึงไม่มีการตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ต้องคำพิพากษาได้

(กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ฉบับภาษาฝรั่งเศสพร้อมกับคำนำและหมายเหตุโดยนายยอร์ช ปาดูซ์ 1909 แปลโดยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, หน้า 53)

 

การตัดสิทธิทางการเมืองของราษฎรและนักการเมืองเริ่มภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเมื่อมีความแตกแยกกันภายในคณะราษฎรและระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้า เพื่อกำจัดและลงโทษปริปักษ์ทางการเมือง ได้แก่การตั้งศาลพิเศษ พ.ศ.2476 กรณีกบฏบวรเดช ศาลพิเศษ 2481 (พระยาทรงสุรเดชกับ 18 นักโทษประหาร) และศาลพิเศษ 2483 และ พ.ร.บ.อาชญากรสงคราม 2488 ที่ใช้บังคับย้อนหลัง ที่รู้จักกันมากสุดคือประกาศคณะปฏิวัติ มาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ทั้งหมดนั้นเป็นการใช้กฎหมายในสถานการณ์ไม่ปกติ

แต่การตัดสิทธิการเมืองภายใต้ระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะต่อพรรคการเมืองที่ไม่ได้ใช้กำลังเกิดเมื่อใด หากยึดถือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเริ่มปรากฏครั้งแรกในปี 2550 โดยตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย และแถมตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปีด้วย และนับจากนั้นมาถึงปัจจุบัน การตัดสิทธิทางการเมืองของพลเมืองกลายเป็นกิจวัตรปกติธรรมดาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรกระบวนการยุติธรรมไป

หรือว่านี่คือการสร้าง “วงจรอุบาทว์” ใหม่ที่รอการถูกทำลายล้างให้กับอำนาจเก่าในรัฐไทยต่อไป