รัฐบาลชู ‘อิกไนต์’ จุดไฟจีดีพี 3% นักวิชาการ-เอกชนชี้เป้าเส้นชัย

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย 6 เดือนแรกของปี 2567 หลายสำนักทยอยออกความเห็นกันมาแล้ว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มองเหมือนกันยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดหวังไว้ รวมถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นประชาชนผู้บริโภค ค่าดัชนีล่าสุดเดือนพฤษภาคม ยังลดลงต่อเนื่อง 3 เดือนติดกันแล้ว และเริ่มเห็นค่าดัชนีรูดเร็ว จนหลายรายการต่ำในรอบปีเศษ โดยเฉพาะมุมมองต่อเศรษฐกิจประเทศ และมองผลกระทบต่อความสุขในการดำรงชีวิตมากขึ้น

รัฐบาลในฐานะผู้บริหารจัดการ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และยังมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (จีดีพีประเทศ) ให้ปี 2567 นี้เติบโตให้ได้ 3% จึงได้เห็นหลากหลายโครงการที่รัฐบาลเร่งรัดไปถึงทุกกระทรวงกรมกอง หนึ่งในนั้นคือผ่านวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand (อิกไนต์ ไทยแลนด์) ผลักดัน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมของไทย ก้าวเป็นฮับอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย

โดย 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) 2.ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) 3.ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) 4.ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) 5.ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) 6.ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) 7.ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) และ 8.ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub)

 

ใน 8 กลุ่มใหญ่ มีการแบ่งแยกย่อยในแต่ละอุตสาหกรรม มีแผนเล็ก แผนน้อย ในการขับเคลื่อนเป็นของตัวเอง

อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรก เพื่อใช้ดันเศรษฐกิจช่วง 6 เดือนที่เหลือของปี หลังจากประเมินแล้ว พบว่า เครื่องมือหรือเครื่องยนต์อื่นๆ ดูทรงจะยังดับๆ ติดๆ อยู่ โดยรัฐบาลได้โหมท่องเที่ยวผ่านเป้าหมายการสร้างรายได้รวมที่ 3.5 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องดึงดูดเข้ามาที่ 36.7 ล้านคน เพิ่มจากเดิมประมาณ 1 ล้านคน

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวเลขที่ท้าทายมาก และหากสอบถามไปยังภาคเอกชน ที่ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่แล้ว ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “ยากมาก” แม้ใส่งบประมาณทำตลาดไป ก็ยังยากอยู่ ยิ่งหากไม่ใส่งบเป้าไปดันตลาดต่างชาติ อย่าหวังว่าจะเห็นรายได้ถูกดันขึ้นไปถึงเป้าหมายนั้น

ไม่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ที่เป็นหนึ่งในหัวข้อภายใต้อิกไนต์ อย่างศูนย์กลางการเงิน ปัจจุบันประเทศไทยเองต้องยอมรับก่อนว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันมีภาวะไม่ได้สดใสอย่างที่คาดไว้ ตลาดหุ้นไทยเซื่องซึมตั้งแต่ปี 2566 ก่อนจะรุนแรงมากๆ ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากดัชนีทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่โควิดระบาด

แถมยังไม่มีวี่แววว่า จะได้รับปัจจัยบวกใดเข้ามาสนับสนุนให้ดัชนีขยับตัวขึ้นได้ด้วย เนื่องจากมีคำถามในเรื่องความเชื่อมั่นที่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ดีมากเพียงพอ หุ้นไทยจึงไหลลงอย่างต่อเนื่อง

คำถาม คือ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว เราจะอาศัยอะไรขึ้นไปเป็นฮับอันดับ 1 ของภูมิภาคในเรื่องการเงิน ส่วนนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการต่อสู้กับประเทศที่เป็นเจ้าแห่งการเงินในเอเชียอยู่แล้วอย่างสิงคโปร์ด้วยซ้ำ

 

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแล้ว ซึ่งต้องเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไทยจะเกาะไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก (Megatrends) ได้ หลังจากได้ประกาศเป้าหมายและนโยบายในการขับเคลื่อนออกมา ทั้งอิกไนต์ หรือจีดีพีโต 3% เนื่องจากเมื่อมีแผนและเป้าหมายแล้ว สิ่งต่อไปคือ การเดินตามแผนที่ต้องชัดเจน โดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องพัฒนาตอบโจทย์ให้ทันโลก และมีคนไทยเข้าไปร่วมเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้า เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน เป็นแรงงานทักษะ เป็นนักวิจัยและพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ โดยหลักแล้วต้องพยายามผลักดันให้เกิดในปริมาณมาก ไม่ใช่แค่ธุรกิจนายทุนไม่กี่ราย

มาตรการระยะสั้น ต้องทำควบคู่ไปด้วย แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น คือ การกระตุ้นระยะสั้น ควรเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอกว่าที่ควรจะเป็น โดยปกติเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเฉลี่ยที่ 3.6% แต่ปรากฏในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ถึงระดับเฉลี่ย (โต 1.9%)

และปี 2567 นี้ มีความเสี่ยงที่จะเติบโตไม่ถึงระดับโดยเฉลี่ย

โดยมองว่ารัฐบาลควรจะมีการกระตุ้นเฉพาะกิจ ยกตัวอย่าง รัฐบาลชุดก่อนจะมีโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น แต่เมื่อรัฐบาลนี้ไปเลือกใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงประสบปัญหาเทคนิคต่างๆ และเจอข้อคัดค้านจากนักวิชาการ จึงไม่ได้เกิดการกระตุ้นออกมาอย่างที่ควรจะเป็น ถือเป็นการเสียโอกาสในด้านนี้ไป

เมื่อภาพการเดินตามเป้าหมาย ดูจะยังติดๆ ขัดๆ อยู่ ต้องสอบถามไอเดียจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวจริงในช่วงที่ผ่านมา หลังจากงบประมาณประจำปี ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เหลือตัวชี้วัดหลักอย่างการบริโภคและลงทุนของเอกชน ที่ยังเป็นบวกอยู่

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การไปให้ถึงเป้าหมายจีดีพีโต 3% ของรัฐบาล ผ่านมาตรการ 3 ด้านที่รัฐบาลวางไว้นั้น สิ่งที่จะเห็นผลเร็วที่สุดเป็นเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ หลังจากที่รอมานาน แต่ยังไม่สามารถใช้จ่ายได้ ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาประมาณ 4 เดือนที่จะสามารถใช้งบประมาณปี 2567 ได้ โดยรัฐบาลจะต้องเบิกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดูวิธีการใช้จ่าย เพราะเวลาใช้เหลือสั้นมาก เพื่อให้เม็ดเงินลงไปถึงมือประชาชนในแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาคได้จริง ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนที่ต่ำมากๆ ในตอนนี้

ภาคเอกชนมีความคาดหวังเรื่องการปรับลดดอกเบี้ย โดยเริ่มมีสัญญาณลดดอกเบี้ยลงในยุโรปออกมาแล้ว สะท้อนถึงแนวโน้มในระยะถัดไป ที่จะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลงแล้ว หรืออย่างน้อยก็นิ่งไว้ก่อนแล้วทยอยปรับลดลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจในโลกนี้จะเริ่มลดลงแล้ว ส่งผลให้กำลังซื้อกลับมา เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า คนมีงานทำมากขึ้น มีการหมุนเวียนเม็ดเงินเพิ่มขึ้น การผลิตเพื่อการส่งออกหรือใช้ในประเทศก็จะเริ่มกลับมาขยายตัวตามไปด้วย

คาดหวังว่าจะมาในช่วงไตรมาส 4/2567 ก็ถือเป็นความคาดหวังที่ระหว่างทางต้องพึ่งแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

เมื่อมีเป้าหมายที่เป็นเหมือนเส้นชัยรอ เบื้องหน้าอยู่แล้ว ทั้งยังมีคำแนะนำจากทุกส่วนส่งตรงไปยังภาครัฐ หวังว่าเราจะวิ่งถึงเส้นชัยกันเสียที