ดราม่า สอบครูผู้ช่วย ข้อสอบผิด-ให้คะแนนฟรี?

กลายเป็นดราม่า ต่อเนื่องสำหรับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว14) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2567

จัดสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ไปเมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายนที่ผ่านมา

หลังการสอบภาค ข ไม่ทันข้ามวัน ผู้เข้าสอบหลายคนออกมาโพสต์ ข้อความว่า ข้อสอบบางวิชายากเกินไป และมีข้อผิดพลาดหลายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาเอกคณิตศาสตร์ จนมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการตรวจข้อสอบ พิจารณาตรวจข้อสอบใหม่อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นกับผลคะแนน

ทิ้งเวลาไม่นานศูนย์สอบ มธ. ออกมาโพสต์ข้อความยอมรับข้อผิดพลาด และยืนยันว่า ผู้เข้าสอบทุกคนต้องได้รับความยุติธรรม…

โดยมีมติตัดสินให้คะแนนฟรี จำนวน 41 ข้อ ใน 17 สาขาวิชาเอก ดังนี้

คณิตศาสตร์ ฟรี 11 ข้อ, ฟิสิกส์ ฟรี 2 ข้อ, นาฏศิลป์ ฟรี 1 ข้อ, วิทยาศาสตร์/วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟรี 2 ข้อ, สังคม ฟรี 1 ข้อ, ญี่ปุ่น ฟรี 1 ข้อ, ภาษาไทย มี 1 ข้อ ที่มี 2 ตัวเลือกที่ถูก, พลศึกษา ฟรี 1 ข้อ และมี 1 ข้อที่มีตัวเลือกถูก 2 ข้อ, บรรณารักษ์ ฟรี 1 ข้อ, ดนตรีไทย ฟรี 1 ข้อ, เคมี ฟรี 4 ข้อ และมี 1 ข้อที่มีตัวเลือกถูก 2 ข้อ, ชีววิทยา ฟรี 5 ข้อ, ดนตรีสากล ฟรี 4 ข้อ, ประถมศึกษา ฟรี 2 ข้อ, ธุรกิจศึกษา ฟรี 1 ข้อ, วิศวกรรมศาสตร์ ฟรี 1 ข้อ และการศึกษาพิเศษ ฟรี 2 ข้อ

คำถามที่ตามมาคือ ควรหรือไม่ที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นกับข้อสอบคัดเลือกครู ของประเทศ?

 

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า โดยหลักการ ผู้ที่ออกข้อสอบผิดพลาด แล้วคิดว่าการให้คะแนนฟรีเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกที่สุดนั้น เป็นการคิดตื้นๆ เพราะข้อสอบคัดเลือกถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้น ควรจะต้องไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้เสียเวลาผู้เข้าสอบแล้ว การให้คะแนนฟรีเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งผู้ออกข้อสอบทุกคนไม่ควรมีหลักคิดในเรื่องดังกล่าว และหากครูทุกคนมีหลักคิดแบบนี้ ก็เป็นที่น่ากังวลว่าจะเสียหายต่อการจัดการศึกษาของประเทศในอนาคต

“เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนของ สพฐ. และศูนย์สอบที่ต้องนำไปปรับปรุงพัฒนาการออกข้อสอบ จะมาแก้ตัวว่า ออกข้อสอบกว่า 5,000 ข้อ ผิดเพียง 41 ข้อ คิดเป็นข้อผิดพลาดเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของข้อสอบทั้งหมดนั้นไม่ได้ สพฐ.ต้องทบทวนกระบวนการ ให้มั่นใจว่าไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก เช่น อาจจะเพิ่มกรรมการตรวจข้อสอบให้มากขึ้น เพราะหากออกข้อสอบผิดแล้ว แม้จะให้คะแนนฟรี และออกมายอมรับต่อสาธารณะ ก็ไม่ได้แสดงถึงความโปร่งใส เป็นธรรม ส่วนจะทำให้เกิดความลักลั่นกับสาขาวิชาเอกอื่นๆ ที่ไม่ได้คะแนนฟรีหรือไม่นั้น ตรงนี้ไม่ถือว่ามีความลักลั่น เพราะแต่ละวิชาเอก ก็ต้องสอบแข่งขันเฉพาะในกลุ่มของตัวเอง” นายเอกชัยกล่าว

 

ด้านนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ระบุว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามหลักการหากข้อสอบใดมีความไม่ชัดเจน จะต้องยกประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนกรณีที่ข้อสงสัยว่า มธ.ไม่มีวิชาด้านการศึกษา จะมาออกข้อสอบได้อย่างไรนั้น ในการดำเนินการ ทาง มธ.ได้ประสานขอให้ สพฐ.เป็นผู้คัดเลือกครูที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มาร่วมออกข้อสอบ ส่วนกระบวนการเลือกข้อสอบเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย ซึ่งทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมมากที่สุด

สำหรับความยากง่ายของข้อสอบนั้น ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการสอบแข่งขันที่ข้อสอบจะต้องเน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกคนที่เก่ง ดี มีคุณภาพมาเป็นครูตามเป้าหมาย

“การแก้ปัญหาโดยยกประโยชน์ให้กับผู้เข้าสอบ ถือว่าเป็นไปตามหลักการ สพฐ.ย้ำมาโดยตลอด ให้ดำเนินการจัดสอบด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น จึงไม่มีความกังวลในเรื่องข้อกฎหมาย เพราะทุกคนที่เข้าสอบได้รับสิทธิโดยเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งนี้ การที่ศูนย์สอบ มธ.ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวถือเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ใจ ทำให้เห็นว่าการจัดสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้มีความโปร่งใสอย่างแน่นอน สำหรับการสอบครูผู้ช่วยในปีต่อไปจะมีการปรับแนวทางการดำเนินการจัดสอบและการออกข้อสอบหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดย สพฐ.เองพยายามดำเนินการจัดสอบให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมมากที่สุด”นายสุรินทร์กล่าว

 

ขณะที่เจ้ากระทรวงอย่าง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ย้ำว่า ถือเป็นบทเรียนในการดำเนินงานให้หน่วยงานที่จัดสอบอื่นๆ เฝ้าระวังและมาตรการป้องกัน ทั้งนี้ ศูนย์สอบ มธ.มีความน่าเชื่อถือดำเนินการจัดสอบให้หลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สอบเข้ารับราชการตำรวจ เพราะฉะนั้น การที่ สพฐ.เลือกใช้ มธ.เป็นศูนย์สอบก็ถือว่ามีความน่าเชื่อถือ อยากให้เชื่อมั่นในการดำเนินการโดยพยายามทำให้รัดกุม บริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด

“ส่วนกรณีข้อสอบที่ผิดพลาดเป็นเรื่องที่ศูนย์สอบ มธ.จะต้องชี้แจง แต่อยากให้มีความเชื่อมั่น โดยส่วนตัวไม่กังวลว่าจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น และหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริงก็เป็นสิ่งที่ดี เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยศาลและจะได้มีการพิสูจน์ให้ชัดเจนว่ามีการดำเนินการที่รัดกุม โดยสถานบันที่ได้มาตรฐาน” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ ประกาศผลสอบภาค ก และภาค ข ไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์สอบ มธ.ได้ออกมาเปิดสถิติการสอบครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. 2567 ใน 50 เอกวิชา ใน 179 เขต ใช้ 227 สนามสอบ จำนวนผู้มีสิทธิ์สอบ 153,583 คน ใช้ข้อสอบทั้งหมด 5,300 ข้อ แบ่งเป็นภาค ก 200ข้อ ภาค ข 5,100 ข้อ มีผู้เข้าสอบจริง 149,122 คน คิดเป็นร้อยละ 97.10% จากผู้มีสิทธิ์สอบ มีผู้สอบผ่านข้อเขียน ภาค ก และภาค ข 42,495 คน คิดเป็นร้อยละ 28.50% จากผู้เข้าสอบทั้งหมด

เอกวิชาหูหนวกศึกษา เป็น 1 เดียว ที่ไม่มีผู้สอบผ่าน จาก 50 เอกวิชา เอกวิชาที่ผ่านมากที่สุด คือ เอกวิชาการงานวิชาชีพ ผ่าน 2 คน 100% ตามด้วยเอกวิชาจิตวิทยาคลินิก ผ่าน 26 คน 86.67% และเอกวิชาการพยาบาล ผ่าน 36 คน 81.82%

สถิติร้อยละเอกวิชาที่ผ่านน้อยสุด เอกวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ 563 คน 21.39% เอกวิชาศิลปะ/ศิลปศึกษา 520 คน 24.74% เอกวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป 3,393 คน 25.22%

เขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตราส่วนผู้สอบได้มากสุด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สมุทรปราการ 194 คน 52.57% สพม.ประจวบฯ 49 คน 50.52% สพม.บึงกาฬ 183 คน 48.93%

เขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตราส่วนผู้สอบได้น้อยสุด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 1 จำนวน 91 คน 15.96% สพป.ราชบุรี เขต 1 จำนวน 72 คน 16.40% สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 1 จำนวน 41 คน 16.53%

ยังไม่แน่ใจว่า ดราม่านี้จะจบแบบสนิทแล้วหรือไม่ ถือเป็นบทเรียนสำคัญ แม้ศูนย์สอบ มธ. และ สพฐ. จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้คะแนนฟรีเพื่อความเป็นธรรม เปิดเผยข้อผิดพลาดเพื่อความโปร่งใส

แต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า การสอบคัดเลือกครูของประเทศ ไม่ควรมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน… •