A Letter to Elise จดหมายรัก (ร้าว) ที่ไม่อาจหวนคืน ของ โรเบิร์ต สมิธ

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

 

A Letter to Elise

จดหมายรัก (ร้าว) ที่ไม่อาจหวนคืน

ของ โรเบิร์ต สมิธ

 

สําหรับนักฟังเพลงแล้ว The Cure เป็นวงดนตรีระดับตำนานรุ่นแรกๆ ที่ทำให้ดนตรีกอธิก ร็อก, โพสต์ พังก์ และนิวเวฟ เข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมดนตรีร็อกทางเลือกมาตั้งแต่ปลายยุค 70 ร่วมกันกับวงอย่าง Siouxsie and the Banshees, Joy Division และ Bauhaus โดยการสร้างซาวด์ที่มืดหม่น

ซึ่งเข้ากันได้ดีกับเนื้อหาของบทเพลงที่โรแมนติกแบบเศร้าๆ, การเล่นเบสในคอร์ดไมเนอร์ที่ให้เสียงทุ้มต่ำอย่างโดดเด่น ไปจนถึงการใช้เอฟเฟ็กต์ Reverb ที่ช่วยเพิ่มมิติของกีตาร์ให้ก้องกังวานอย่างมีมิติ

ส่งอิทธิพลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อวงร็อกทางเลือกรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโพสต์ พังก์ รีไวเวิล, อินดี้ ร็อก, ชูเกซ ไปจนถึงโพสต์ ร็อก ตั้งแต่ยุค 80 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เพลงที่โด่งดังมากที่สุดของ The Cure ก็คือ Friday I’m in Love ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ประชดประชันอยู่ไม่น้อยที่เพลงฮิตที่สุดของวงดนตรีวงนี้กลับเป็นเพลงที่มองความรักในแง่ดีเช่นนี้

ทั้งๆ ที่เพลงอย่าง Boy Don’t Cry, Pictures of You, Lovesong, Close to Me, Disintegration, Last Dance, the Edge of the Deep Green Sea หรือแม้กระทั่งหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดของวงอย่าง In Between Days ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่มองความรักด้วยมุมมองที่เปราะบางร้าวรานทั้งสิ้น

หากมองในภาพรวมแล้วละก็ งานเพลงของวง The Cure สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่ไม่สมหวัง และรักแท้อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงไปได้ นั่นทำให้แทบจะทุกบทเพลงของวง The Cure ฟังแล้วน้ำตาตกในด้วยความรู้สึกเดียวดาย

แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงเอาไว้ด้วยความโรแมนติกแบบดาร์กๆ ด้วย

วง The Cure

ถึงแม้ว่าจะเป็นซิงเกิลที่ 3 และเป็นซิงเกิลสุดท้ายจาก Wish สตูดิโอ อัลบั้มชุดที่ 9 ของวง The Cure ที่วางจำหน่ายในปี 1992 แต่ A Letter to Elise ก็ไม่ถือว่าเป็นเพลงที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งนักหากมีการจัดอันดับเพลงของวงที่แฟนๆ ชื่นชอบมากที่สุด

แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม เพลงๆ นี้ก็ติดอยู่ในอันดับที่ 184 ในการจัดอันดับ 200 เพลงที่ดีที่สุดแห่งทศวรรษที่ 90 ของทางสื่อดนตรีอินดี้ออนไลน์ทรงอิทธิพลอย่าง Pitchfork Media เมื่อปี 2010

A Letter to Elise มีเบสในไลน์ ในคอร์ดไมเนอร์ที่สวยงาม ฟังแล้วรื่นหู

เมโลดี้จากกีตาร์ที่ก้องกังวานฟังดูสดใสและหมองหม่นในเวลาเดียวกันทำให้ทำนองเพลงโดดเด่นติดหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อนกีตาร์โซโล่ในช่วงท้ายเพลงที่ฟังแล้วยิ้มทั้งน้ำตา

ส่วนเสียงอะคูสติกกีตาร์ที่มีการสตัมมิ่งคอร์ดอยู่อย่างบางเบาเข้ากันได้ดีกับซาวด์โดยรวม

และสิ่งที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของเพลงๆ นี้คือเนื้อหาของบทเพลงและเสียงร้องของ โรเบิร์ต สมิธ เองที่เข้าถึงจิตวิญญาณของทุกตัวอักษรที่ร้องออกมาได้อย่างลึกซึ้งและบาดลึกยิ่งกว่าใช้คมมีดกรีดแทงเข้าไปกลางใจเสียอีก

หน้าปกซิงเกิล A Letter to Elise

โรเบิร์ต สมิธ ได้รับแรงบันดาลใจการแต่งเนื้อเพลง A Letter to Elise มาจาก Letters to Felice วรรณกรรมกระฉ่อนโลกที่ดัดแปลงมาจากชีวิตรักของ ฟรานซ์ คาฟคา นักเขียนนามอุโฆษชาวยิว

คาฟคาเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นการอุทิศให้กับ เฟลิเซ บาวเออร์ เลขาฯ สาววัย 25 ปี

เขาพบเธอเป็นครั้งแรกที่บ้านของ มักซ์ โบรด เพื่อนของเขาเองในเดือนสิงหาคม ปี 1912

เฟลิเซเป็นหญิงสาวที่มองโลกในแง่ดีและมีพลังใจในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่คาฟคาไม่มี

นักเขียนหนุ่มตกหลุมรักเฟลิเซ แต่ระยะทางระหว่างทั้งคู่ถือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง เนื่องจากเขาอาศัยอยู่ที่เมืองปราก แต่เฟลิเซอาศัยอยู่ที่เบอร์ลิน

ฟรานซ์ คาฟคา เป็นผู้ชายที่สับสนในตัวเองซึ่งเป็นผลมาจากโรควิตกกังวล เขาปรารถนารักแท้แต่กลับติดกับดักเพศรสจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตามาอย่างโชกโชน

และเมื่อพบกับหญิงสาวที่เขาหลงรักจริงๆ อย่างเฟลิเซ ที่เป็นญาติห่างๆ ของเขาเอง คาฟคาหลงใหลใฝ่ฝันถึงตัวเธออย่างถอนตัวไม่ขึ้นและลงมือเขียนจดหมายถึงเธอแทบทุกวัน

บางวันเขียนเป็นจำนวนหลายฉบับด้วยซ้ำ

 

จดหมายที่ ฟรานซ์ คาฟคา เขียนถึงเฟลิเซ มีจำนวนราวๆ 350 ฉบับ

เขาเป็นฝ่ายบอกรักเฟลิเซก่อน และเธอก็ตอบรับ แต่ด้วยความย้อนแย้งในตัวเองและอาการทางจิต เมื่อทั้งคู่ได้หมั้นหมายและเตรียมที่จะแต่งงานกัน คาฟคากลับกลัวความสุขและกลัวความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาที่จะทำให้เขาต้องหมดสิ้นอิสรภาพไป

ในท้ายที่สุดแล้วด้วยสภาวะทางจิตใจที่ย่ำแย่ของคาฟคา ทำให้เขาบอกกับเฟลิเซไปว่าเขาจะต้องมีอิสระในการใช้ชีวิตและต้องแยกกันอยู่ถึงแม้ว่าจะแต่งงานกันไปแล้ว

ข้อแม้นี้นำไปสู่การถอนหมั้นในที่สุด แต่หลังจากนั้นทั้งคู่ก็กลับมาคบกันอีกครั้ง

แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มีการถอนหมั้นเป็นครั้งที่ 2 ในขณะที่คาฟคาป่วยเป็นวัณโรค โดยเขาบอกเลิกเฟลิเซผ่านการเขียนจดหมาย

 

แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดที่ โรเบิร์ต สมิธ ได้มาจากวรรณกรรมเรื่อง Letters to Felice ก็คือความซับซ้อนของความรักที่ยากแท้หยั่งถึง

ส่วนการที่มนุษย์ไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความต้องการที่ซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ รวมถึงการยอมรับตัวตนที่แท้จริงของคนรักย่อมนำไปสู่ความแหลกสลายของสายสัมพันธ์ในท้ายที่สุด

โดย A Letter to Elise เป็นเพลงที่ผ่านการตีความอย่างหลากหลาย บ้างก็ว่ามันเป็นเพลงที่พูดถึงความรักที่จบสิ้นลงเพราะความล้มเหลวทางการสื่อสารผ่านการเขียนจดหมายที่ไม่มีวันจะแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่แท้จริงได้ เพราะความรักและความปรารถนาดีอาจจะตกหล่นไปในระหว่างตัวอักษรที่นำไปสู่ความล้มเหลวทางการสื่อสาร

ดังนั้น ภาพลักษณ์, เรื่องราวชีวิต, อารมณ์และความรู้สึกของเฟลิเซ หรือเอลิซ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านทางตัวอักษรก็อาจจะผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงก็ได้ เพราะจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นมาไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ทุกตัวอักษรที่ถูกเขียนขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้วและมันใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะถึงมือผู้รับ ซึ่งนั่นทำให้เรายึดติดอยู่กับอดีต

“I just can’t stay here every yesterday” ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งในเนื้อเพลงแสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งที่สั่นคลอนความรักได้อย่างรุนแรงมากที่สุดก็คือความสุขในอดีตที่เราไม่สามารถ move on ไปจากมันได้

และมันยิ่งเศร้าอย่างบาดลึกมากขึ้นอีกอีก ถ้าหากความรักในปัจจุบันไม่ได้หวานซึ้งและโรยไปด้วยกลีบกุหลาบเหมือนในช่วงแรกๆ ที่ได้รักกัน

ซึ่ง โรเบิร์ต สมิธ ได้กล่าวย้ำเอาไว้ในเพลงว่าเขาอยากได้แต่จินตนาการถึงรอยยิ้มและความสัมพันธ์แสนงดงามที่เคยทำร่วมกันมากับเอลิซ จริงอยู่ที่ว่าเขาไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว แต่อดีตก็คืออดีต มันเป็นสิ่งที่มิอาจหวนคืนกลับมาได้อีกแล้ว

ท่อนที่นับว่าเขียนออกมาได้ดีและสะท้อนให้เห็นถึงความรักที่สูญสลายไปแล้วอย่างสิ้นเชิงอยู่ในท่อนที่ โรเบิร์ต สมิธ ร้องออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกว่า

“ถึงแม้ว่าฉันจะสามารถรักษาคำสัญญาทั้งหมดเอาไว้ได้ และถึงแม้ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงที่เหมือนกับที่ฉันฝันไว้ทุกอย่างก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วฉันจำใจต้องปล่อยความฝันนั้นไป เช่นเดียวกับคำมั่นสัญญาที่ฉันก็ไม่อาจที่จะรักษามันเอาไว้ได้”

 

โรเบิร์ต สมิธ อาจจะมีประสบการณ์ความรักที่จบไม่สวยคล้ายๆ กับ ฟรานซ์ คาฟคา

ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ความรักของทั้งคู่ไม่มีทางเหมือนกัน แต่จดหมายที่ต่างฝ่ายต่างก็เขียนถึงคนรักเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลอกลวงได้

มันเป็นทั้งความฝันและความจริงปะปนกันไป ความรักที่จบลงไปแล้วไม่ต่างไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ยิ่งเราฝืนมากเท่าไหร่มันก็ยิ่งสูญสลายหายไปอย่างรวดเร็วไม่ต่างไปจากการใช้มือกำเม็ดทรายที่อยู่บนชายหาด ยิ่งกำเม็ดทรายขึ้นมาจากผืนทรายมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งร่วงหล่นลงบนพื้นผิวชายหาดผ่านช่องว่างระหว่างมือเร็วมากขึ้นเท่านั้น

เม็ดทรายที่ใช้อุปมาอุปไมยถึงความรักที่ไม่สมหวังนี้อยู่ในท่อนหนึ่งของเพลง Letter to Elise ด้วย

รักที่จบสิ้นลงไปแล้วไม่ต่างไปจากเม็ดทรายจำนวนมหาศาลเหล่านั้น ต่อให้เราหยิบขึ้นมาได้ ละอองเม็ดทรายก็ต้องหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติอยู่ดี สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คงมีเพียงแค่นั่งมองมันอยู่ห่างๆ และจดจำความสวยงามอันแสนเจ็บปวดนั้นเอาไว้ โดยที่ไม่อาจครอบครองมันได้เลย

แม้จะเป็นทรายเม็ดเล็กๆ เพียงแค่เม็ดเดียวก็ตาม