ยุบพรรค เหยื่อหรือฮีโร่?

คำ ผกา

ต้องออกตัวก่อนว่าต้นฉบับของคอลัมน์นี้แม้จะถูกตีพิมพ์ในวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน แต่มันถูกเขียนขึ้นในคืนวันที่ 17 มิถุนายน ก่อนจะมีความชัดเจนในคดีทางการเมือง 4 คดีด้วยกัน นั่นคือ

หนึ่ง ประเด็น ส.ว. 40 คนเข้าชื่อยื่นถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กรณีตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

สอง กรณีอัยการสั่งฟ้องคดี 112 อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

สาม กรณียื่นยุบพรรคก้าวไกล

สี่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาลงมติว่ามาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดกับสี่มาตราของ พ.ร.ป. ส.ว. หรือไม่

ดังนั้น ณ ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้จึงไม่รู้เลยว่า 4 เรื่องนี้จะมีความชัดเจนออกมาแบบไหน

แต่ถ้าจะให้คาดการณ์ฉันคิดว่า เรื่องถอดถอนนายกฯ กับยุบพรรคก้าวไกล น่าจะยังมีขั้นตอนไต่สวน พิจารณาหลักฐานเพิ่มเติมและยังไม่มีทั้งการยุบพรรคและการถอดถอนใดๆ ทั้งสิ้นเกิดขึ้น

คดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็น่าจะดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็น เช่น เมื่อยื่นฟ้องก็ยื่นประกันตัวแล้วก็สู้คดีตามกระบวนการ

ส่วนเรื่อง ส.ว.ก็ไม่น่าจะมีอะไร วิญญูชนย่อมรู้ว่า พ.ร.ป.เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น มันจะประหลาดเกินไปหาก พ.ร.ป.ไปขัดกับตัวรัฐธรรมนูญเอง

แต่ความน่าสนใจของเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ที่คดีความต่างๆ ด้วยตัวของมันเอง แต่คือสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบันที่ควรจะเป็นไปตามครรลองแต่ก็ไม่เป็น และทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการ “บงการ” ของมือที่มองไม่เห็นจากไหน แต่เกิดจาก “สำนึกทางการเมือง” ของคนไทยและสังคมไทยอันเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา

และมันทั้งน่าเหนื่อยหน่าย ทั้งน่าสนใจ น่าพิศวงงวยไปพร้อมๆ กัน

 

สิ่งที่ควรจะเป็นและเรียบง่ายคือ หลังจากที่พวกเราเกือบทุกคนรู้สึกทุกข์ทรมานกับการมีชีวิตภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 และพยายามผลักดันขับเคลื่อนต่อสู้จนได้เลือกตั้ง การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จบลงด้วยการที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด

แต่ไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ ต่ออีกหนึ่งสมัย หลังจากนั้น พรรคการเมืองในปีกที่ไม่เอารัฐประหาร คือ พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ที่ต่อมาถูกยุบ และตั้งพรรคใหม่คือพรรคก้าวไกล ก็เฝ้าต่อสู้ในฐานะฝ่ายค้าน ทำงานทางความคิด พร้อมๆ กับที่สังคมสุกงอมเบื่อหน่ายกับรัฐบาลประยุทธ์ที่ความนิยมถดถอยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสมัยแรกที่เป็นรัฐบาล

อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปปัตย์ก็ถดถอยอย่างหนักในด้านคะแนนนิยม พรรคพลังประชารัฐก็มีปัญหา “พรรคแตก”

ทำให้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างเชื่อว่าหากเลือกตั้งอีกครั้งทางปีกประชาธิปไตยมีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้ง

 

ภาวะทางสองแพร่งจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ “ข้อจำกัด” ในตัวรัฐธรรมนูญเอง นั่นคือหากแม้นเลือกตั้งมี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งแล้วก็ยังต้องการเสียง ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ เพราะฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยต้องการเป็นแกนนำในจัดตั้งรัฐบาล ต่อให้ชนะได้ 250 เสียง หรือแม้แต่ 300 เสียง ก็ยังต้องมี ส.ว.อย่างน้อยๆ 75 คนมาโหวตให้แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ เว้นแต่ว่า พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคก้าวไกลที่เป็นปีกประชาธิปไตยด้วยกัน รวมเสียงกันแล้วได้ 380 เสียงก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียง ส.ว. ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงจากพรรคอื่นๆ ในฐานะพรรคร่วม

และนั่นทำให้พรรคเพื่อไทยใช้ยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” ในการหาเสียงเพื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ถ้ายังจำแคมเปญนี้ได้ มันคือ เลือกเพื่อไทยให้ชนะขาดเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.

แต่เมื่อเพื่อไทยเดินเกมแลนด์สไลด์ แคมเปญนี้กลับไปทิ่มแทงพรรคในปีกประชาธิปไตยด้วยกัน นั่นคือพรรคก้าวไกล เพราะหากปล่อยให้เพื่อไทยหาเสียงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ให้เลือกเชิงยุทธศาสตร์ แม้จะชอบพรรคอื่นๆ ในปีกประชาธิปไตยด้วยกัน (ซึ่งก็มีอยู่พรรคเดียวคือก้าวไกล) ก็อย่าเพิ่งเลือกก้าวไกล ให้มาเลือกเพื่อไทยให้ชนะขาดไปก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ได้

จากจุดนี้เองทำให้พรรคก้าวไกลต้องออกมาโต้ว่า ยุทธศาสตร์นี้เลวร้ายมาก หาเสียงด้วยความกลัว เหมือนจับเอาประชาชนไปเรียกค่าไถ่ ว่าถ้าไม่เลือกเพื่อไทยจะปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ได้

ทางพรรคเพื่อไทยก็โต้ว่า นี่คือความจริง ถ้าคราวนี้ไม่เลือกเชิงยุทธศาสตร์ ก็จะมีปัญหาตอนโหวตนายกฯ (ซึ่งก็มีจริงๆ)

เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรรคก้าวไกล จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะคู่แข่งทางการเมืองแม้จะเป็นปีกประชาธิปไตยเหมือนกัน

 

พรรคเพื่อไทยมองว่า ยุทธศาสตร์เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.สำคัญที่สุด

ส่วนพรรคก้าวไกลก็มองว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีสิทธิ์ใช้ความกลัวมาช่วงชิงคะแนนเสียงที่ควรเป็นของก้าวไกล

เรื่องอะไรก้าวไกลต้องเป็นผู้เสียสละให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์ (ส่วนเพื่อไทยก็คงคิดว่าตอนโหวตนายกฯ ครั้งก่อน เพื่อไทยยังเสียสละได้เลย เพื่อเห็นแก่ภาพรวมที่หมายถึงชัยชนะของฝั่งประชาธิปไตยเหนือชัยชนะของพรรค จึงเสนอชื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่เพื่อไทยมีจำนวน ส.ส.มากกว่า)

จากนั้นการหาเสียงก็ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ

พรรคก้าวไกลสามารถสร้างจุดแตกต่างของตัวเองให้ชัดเจนว่าแตกต่างจากเพื่อไทยไทยในประเด็นสำคัญ

 

หนึ่ง ประกาศว่ามีเราไม่มีลุง ในขณะพรรคเพื่อไทยไม่พูดเรื่องนี้เพราะถือว่า “แลนด์สไลด์” ชัดเจนในตัวมันเอง นั่นคือ ถ้าแลนด์สไลด์ก็ไม่ต้องจับมือกับใคร แต่ถ้าไม่แลนด์สไลด์ก็ไม่มีอำนาจต่อรอง ทว่า การอยู่กับความจริงแบบนี้ไม่เซ็กซี่ ช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อไทยก็ถลำไปอยู่ในเกมของก้าวไกลคือการออกมาผูกมัดตัวเองว่าจะไม่จับมือกับ “สองลุง” อย่างเด็ดขาด

สอง ก้าวไกลประกาศแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง พูดเรื่องรัฐปรสิต ปฏิรูปกองทัพ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็น “เซ็กซี่” สำหรับโหวตเตอร์

และจุดแหลมคมคือพรรคก้าวไกลกล้าเทหมดหน้าตักด้วยการอ้างว่าตนเองมีความชัดเจนเรื่องกฎหมาย 112 ทำให้กฎหมาย 112 กลายเป็น “สัญลักษณ์” เอาไว้วัดว่าใคร “ก้าวหน้า” กว่ากันอย่างฉาบฉวยไปโดยปริยาย

ซึ่งประเด็นนี้ยังไงพรรคเพื่อไทยก็ไม่ไปต่อกรด้วยอยู่แล้ว แต่สุดท้าย ราคาที่พรรคก้าวไกลต้องจ่ายก็ค่อนข้างแพง นั่นคือ ทำให้โหวตเตอร์เพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงสายแรดิคอล หรือสายปัญญาชนหันไปเป็น “ส้ม” ด้วยเชื่อว่า พรรคก้าวไกลคือของจริง พรรคเพื่อไทยสุดท้ายก็สู้ไปกราบไป

แต่การมุ่งหวังชนะพรรคเพื่อไทยด้วยเรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นพัวพันทำให้พรรคก้าวไกลเผชิญวิบากรรมเรื่องยุบพรรคในตอนนี้ไปอีก

สาม น่าสนใจและซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่พรรคก้าวไกลดึงดูดกลุมปัญญาชนหัวห้าวหน้า คนรุ่นใหม่ที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ทำรัฐสวัสดิการ

พรรคก้าวไกลก็สามารถใช้ประเด็นที่เซ็กซี่ต่อสลิ่มเฟสหนึ่งมาดึงความนิยมจากสลิ่มเฟสหนึ่งไปได้อีก นั่นคือใช้วาทกรรมการเมืองเก่า นักการเมืองบ้านใหญ่ การเมืองแบบฮั้วผลประโยชน์ วาทกรรมคณาธิปไตย วาทกรรมนักการเมืองแบบเก่าแสวงหาผลประโยชน์เน้นพวกพ้อง วาทกรรมผีทักษิณ วาทกรรมการเมืองระบบครอบครัว

พรรคเพื่อไทยเป็นของตระกูลชินวัตร ในขณะที่พรรคก้าวไกลพรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค เจ้าของพรรคคือประชาชน เราจึงรับใช้ประชาชน ไม่รับใช้นายใหญ่

สิ่งนี้ถูกใจสลิ่มเฟสหนึ่ง และทำให้แม้แต่คนในคณะก้าวหน้าก็ยอมรับว่าพรรคก้าวไกล “เป็นที่พักใจของสลิ่ม”

 

ด้วยบริบทเช่นนี้ทำให้ท้ายที่สุดพรรคการเมืองในฝั่งประชาธิปไตยสองพรรคไม่อาจมี solidarity ร่วมกันได้

และมาพีกที่สุดเมื่อพรรคก้าวไกลสามารถ “ชนะ” การเลือกตั้งได้จริงๆ คือมี ส.ส. 151 เสียง

แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

อันเนื่องมาจากไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.มาโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของตนเองได้ และทำให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกฯ อย่างที่ได้ขึ้นรถแห่ขอบคุณประชาชน

ส่งให้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจข้ามขั้วไปจับมือกับพรรคอื่นๆ ยกเว้นประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ มีนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย

ถามว่าพรรคเพื่อไทยผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนตอนหาเสียงไหม

คำตอบคือผิด

แต่ผิดหลักการประชาธิปไตยไหม?

คำตอบคือไม่ผิด

และการผิดสัญญาแต่ไม่ผิดหลักการประชาธิปไตยเพื่อแลกกับการได้ครองอำนาจ ได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร โหวตเตอร์เพื่อไทยจำนวนหนึ่งอาจรับไม่ได้ แต่ฉันคิดว่าส่วนใหญ่ให้เลือกระหว่าง

ก. เสียคำพูดแต่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ต้องเสียตำแหน่งนายกฯ ให้คนอื่น

ข. รักษาคำพูดแต่เป็นฝ่ายค้าน

ฉันคิดว่าโหวตเตอร์เพื่อไทยส่วนมากเลือกข้อ ก. เพราะนี่คือวิธีคิดแบบคนที่ชอบพรรคเพื่อไทยคือ realistic มากกว่า idealistic

 

แต่พรรคก้าวไกลเมื่อต้องถูกโดดเดี่ยวเป็นฝ่ายค้าน แถมยังต้องไปเป็นฝ่ายค้านกับประชาธิปัตย์ ก็ต้องพยายามใช้ประโยชน์หรือ utilized การข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองสูงสุดแก่ตนเอง

และนั่นคือความเชี่ยวชาญของพรรคก้าวไกล นั่นคือการสร้างวาทกรรมตระบัดสัตย์แปะหน้าผากพรรคเพื่อไทยเอาไว้ และทำให้พรรคเพื่อไทยสูญเสีย “แบรนด์” ประชาธิปไตย (ซึ่งมีมูลค่าสูงทางการเมือง)

และพรรคก้าวไกลดูเหมือนจะทำสำเร็จ

นั่นคือทำให้พวกเขากลายเป็นพรรคการเมืองในประเทศไทยพรรคเดียวเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย พรรคอื่นเป็นพรรคเผด็จการ ชั่วช้า สกปรก เป็นปีศาจ

(และทำให้เกิดวลีความชั่วร้ายที่จำเป็นของพรรณิการ์ วานิช ในกรณีถ้าต้องจับมือกับภูมิใจไทย) และโดยไม่รู้ตัว กระบวนการนี้ทำให้พรรคก้าวไกลเองกลับไปใช้แท็กติก “การเมืองคนดีย์” แบบที่ตนเองเคยต่อต้าน นั่นคือการผูกขาดว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงกว่าพรรคอื่นๆ

พร้อมกันนั้น “สื่อ” ที่เคยกลัวรัฐบาลเผด็จการจนหางจุกตูด ปากอมสากอยู่ตลอด 9 ปี พอเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง “สื่อ” ก็สวมวิญญาณสื่อปากแจ๋ว เอาความเก็บกดตลอดเก้าปีมาโชว์พราวด์ โชว์ว่าชั้นนี่แหละสื่อคุณภาพ สื่อกล้าด่ารัฐบาลแรงๆ เพียงเพราะอีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมันไม่มี ม.44 ไม่ใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งสื่อ และหนึ่งหน้าที่ของรัฐบาลเลือกตั้งคือต้องอดทนอดกลั้นต่อการถูกสื่อบูลลี่หยามเหยียด ฮึบๆๆ เอาไว้ว่า เราครองอำนาจรัฐ เราต้องอดทนต่อความเกลียดชังได้เก่ง

ฉันคงไม่ต้องบอกว่าอะไรคือผลทางการเมืองของภาวะเปราะบางของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะถูกสื่อขยันเติมเชื้อความเกลียดชังให้มวลชน

พร้อมๆ กับความอ่อนแอของพรรคฝ่ายค้านที่เสี่ยงต่อการถูกยุบหรือถูกกระทำด้วยกฎหมายเพราะถูกบีบให้เลือกหาคะแนนนิยมจากประเด็นอ่อนไหว

พรรครัฐบาลถูกประชาชนเกลียด

พรรคฝ่ายค้านถูกเล่นงานจากกฎหมาย แลกกับการได้เป็นฮีโร่ของมวลชนเพราะตายก่อนได้อำนาจ

ฉันถามง่ายๆ ว่าสุดท้ายใครชนะ?

สุดท้ายใครคือผู้พ่ายแพ้ที่แท้จริง?

ถ้าวันนี้ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นเหยื่อของอะไร ก็จงเสพความโรแมนติกกับการได้เป็นมวลชนผู้ทุกข์ทนกันต่อไป