มุขตลกของ AI ที่ไม่ทำให้ใครขำ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ตอนที่ฉันได้ลองใช้ผู้ช่วยส่วนตัวเก่งๆ อย่าง Amazon Alexa เป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน นอกจากการพูดคุยเพื่อถามข้อมูลหรือสั่งให้จัดการภารกิจนั่นนี่ให้แล้ว อีกอย่างที่มักจะทำก็คือการเล่นเกมกับ Alexa และขอให้ Alexa เล่าเรื่องตลกให้ฟัง

ผู้ช่วยส่วนตัวในดีไวซ์ไม่ว่าจะเป็น Alexa, Google Assistant หรือ Siri ต่างก็มีคลังมุขตลกที่หยิบมาจี้เส้นผู้ใช้งานได้เรื่อยๆ โดยเป็นข้อมูลที่ได้รับการป้อนเอาไว้แล้ว ผู้ใช้งานจะขอให้เล่ามุขตลกโดยทั่วๆ ไปก็ได้ หรือจะลงรายละเอียดให้เล่าเรื่องขำขันในหัวข้อที่อยากได้เป็นเรื่องๆ ไปก็ได้ เช่น ให้เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส หรือให้เล่าเรื่องตลกแบบเป็นกลอนคล้องจอง

มาถึงยุค Generative AI ความสามารถในการเล่าเรื่องตลกก็ได้รับการพัฒนาให้เก่งกาจขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ไม่ใช่แค่หยิบมุขตลกที่ได้รับการป้อนข้อมูลไว้แล้วมาท่องซ้ำให้เราฟัง

แต่มันสามารถสร้างมุขตลกใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง

 

ปกติแล้วศิลปะการเล่าเรื่องตลกถือเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะที่เชื่อกันว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ ดังนั้น เมื่อ AI เก่งกาจขึ้น นี่จึงกลายเป็นภารกิจที่ท้าทายว่า AI จะสามารถเล่าเรื่องตลกให้มนุษย์ฟังแล้วรู้สึกตลกได้หรือไม่

Gen AI มีความสามารถในด้านการเขียน ผู้คนทั่วโลกต่างก็ได้ลองใช้ Gen AI มาช่วยเขียนงานในสาขาอาชีพของตัวเองกันมาหมดแล้วซึ่งก็รวมถึงอาชีพนักแสดงตลกด้วย นำมาซึ่งคำถามว่า Gen AI สามารถช่วยเขียนนักแสดงตลกเขียนสคริปต์การแสดงตลกได้ดีมากน้อยแค่ไหน

และในที่สุดก็มีคนลงมือทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคำตอบจริงๆ

 

ทีมนักวิจัยของ Google DeepMind ที่นำโดย Piotr Mirowski ซึ่งมีงานอดิเรกเป็นนักแสดงตลกด้วยได้ลองศึกษาประสบการณ์ของนักแสดงตลกมืออาชีพกว่ายี่สิบคนที่ใช้ AI มาช่วยเขียนงานพื่อดูว่ามันมีประสิทธิภาพในการช่วยเขียนบทตลกได้แค่ไหน

สิ่งที่ทีมนี้ค้นพบก็คือไม่ว่าจะเป็นโมเดล AI ของ OpenAI หรือของ Google เองนับว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยทำงานพื้นฐานบางอย่างให้กับนักแสดงตลกได้ อย่างเช่น การช่วยวางโครงบทหรือการช่วยเขียนร่างต้นฉบับให้แบบหยาบๆ เป็นร่างแรก ทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นสิ่งที่ AI ช่วยทำได้ดี

สิ่งที่ AI ทำได้อย่างยากลำบากคือการสร้างมุขตลกที่มีความเป็นต้นฉบับของตัวเอง กระตุ้นให้เกิดความคิด และเรียกเสียงหัวเราะ

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มันไม่สามารถเขียนมุขตลกให้ออกมาตลกได้นั่นแหละ

นักแสดงตลกที่เข้าร่วมในการวิจัยครั้งนี้บอกว่าสิ่งที่ AI ทำได้ดีมากๆ คือการช่วย ‘เริ่มต้น’ การเขียนบทให้ แม้จะออกมาเป็นร่างที่หยาบสุดสุด ราวกับสำรอกออกมา แต่อย่างน้อยๆ AI ก็ช่วยแก้ปัญหาหน้ากระดาษว่างเปล่าที่ไม่รู้จะเริ่มเขียนอะไรเป็นตัวแรก

พอมีร่างหยาบขึ้นมาเป็นโครงให้แล้ว การจะหยิบมาเขียนและแต่งเติมต่อก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นกว่าการต้องเริ่มตั้งแต่ศูนย์

ถ้าลองให้ AI เขียนมุขตลกให้ตั้งแต่ต้นจนจบ ปัญหาที่พบก็คือมุขที่ได้จะออกมาเรียบๆ แกนๆ ไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ มุขตลกออกมาแบบธรรมดาทั่วไปเสียจนติดไปทางน่าเบื่อเลยด้วยซ้ำ

Technology Review บอกว่านักแสดงตลกบางคนเปรียบเปรยให้ฟังว่ามุขตลกที่ AI เขียนออกมาคล้ายๆ กับมุขตลกจากยุคห้าศูนย์แบบไม่มีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติมาปนด้วย และไม่ว่าจะพยายามเขียนพรอมพ์หรือคำสั่งให้ออกมาดีแค่ไหน

มุขที่ได้ก็ยังจืดสนิทอยู่ดี

 

การที่ AI เขียนมุขตลกออกมาได้ไร้รสชาติก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจขนาดนั้น เพราะก็ต้องไม่ลืมว่าเจ้าของค่าย AI อย่าง Google หรือ OpenAI ล้วนแล้วแต่ขีดกรอบขึ้นมาคลุมรอบโมเดลไม่ให้มันสร้างเนื้อหาที่มีความสุ่มเสี่ยงออกมา

อย่างเช่น เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงหรือการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งหากจะพูดกันตรงๆ แล้วบทตลกที่ทำให้เราขำได้ทุกวันนี้ล้วนมีส่วนผสมของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ปะปนอยู่ในระดับที่มากน้อยแตกต่างกันออกไปทั้งสิ้น

ถ้ามุขตลกถูกเขียนออกมาในสไตล์แบบ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ มันก็จะไม่สามารถไปท้าทายความคิดหรือความเชื่อของผู้ฟังได้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่มุขจะออกมาแบนเรียบ

อีกปัญหาหนึ่งที่นักแสดงตลกที่ใช้ AI ต้องเจอก็คือการเขียนเรื่องตลกที่สะท้อนมุมมองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อันเนื่องมาจาก AI ไม่ได้ถูกเทรนมาด้วยชุดข้อมูลที่มีความหลากหลายมากพอ

ตัวอย่างเช่น นักแสดงตลกที่เป็นผู้หญิงเชื้อชาติเอเชียจะไม่สามารถใช้ Gen AI ช่วยเขียนมุขตลกจากประสบการณ์ของตัวเองได้ เพราะฐานข้อมูลที่ AI มีนั้นส่วนใหญ่มาจากข้อมูลของมุมมองจากผู้ชายผิวขาวมากที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการเขียนมุขตลกที่ดีจะต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกประหลาดใจ ซึ่งโมเดล AI ยังไม่มีความสามารถในการทำเช่นนั้นเพราะมันถูกออกแบบมาให้สร้างไปทีละคำๆ

 

ข้อสรุปในตอนนี้คือ Gen AI สามารถช่วยเขียนโครงเรื่องของบทแสดงตลกให้ได้บ้างในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีความคิดสร้างสรรค์มากพอที่จะสร้างมุขตลกที่มีคุณค่าได้

อย่างไรก็ตาม ต่อให้เราไปถึงวันที่ Gen AI เชี่ยวชาญในการคิดมุขมากกว่านี้ และนักแสดงตลกหันมาใช้ AI เขียนบทกันให้มากขึ้น สิ่งที่อาจจะตามมาก็คือความรู้สึกภาคภูมิใจที่ลดน้อยถอยลง

นักแสดงตลกบางคนบอกว่าถึงแม้พวกเขาจะรู้สึกว่าการใช้ AI มาช่วยเขียนก็สนุกดี แต่งานที่ได้ออกมากลับไม่สร้างความภาคภูมิใจให้

ในขณะที่นักแสดงตลกบางคนก็เลือกหยิบ AI มาใช้งานในบริบทอื่นๆ อย่างเช่น Colleen Lavin หนึ่งในนักแสดงตลกที่เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ด้วย เธอใช้ AI เพื่อช่วยเก็บข้อมูลปริมาณเสียงหัวเราะของผู้ชมในแต่ละจังหวะเพื่อนำมาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น แต่จะไม่ยอมใช้ AI มาเขียนมุขตลกแทนให้ ด้วยเหตุผลว่าการเขียนบทเพื่อขึ้นแสดงเป็นสิ่งที่ทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สนุก แล้วทำไมเราถึงจะต้องเอางานสนุกๆ ไปโยนให้แมชชีนทำด้วยล่ะ

คุณผู้อ่านคนไหนอยากลองวัดระดับความเส้นตื้นของตัวเองก็ลองให้ AI เขียนมุขตลกให้อ่านแล้วให้คะแนนความขำว่ามันทำได้กี่คะแนน แต่สิ่งที่ Colleen พูดทำให้ฉันนึกถึงทวีตขำๆ อันหนึ่งที่บอกว่า

“รู้ไหมว่าปัญหาของการพัฒนาให้ทุกอย่างเป็น AI ตอนนี้คืออะไร? ปัญหาคือมันผิดทางไง ฉันอยากให้ AI มาช่วยซักผ้ากับล้างจานให้ เพื่อที่ฉันจะได้มีเวลาไปทำงานศิลปะหรืองานเขียน ไม่ใช่ให้ AI มาทำงานศิลปะกับงานเขียนแทนฉัน เพื่อที่ฉันจะได้ไปซักผ้าล้างจานเสียหน่อย”