ส่องทิศทางเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลัง 2567

ก่อนอื่นผมขอแสดงความยินดีแก่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ในโอกาสมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หรือ ดร.เปี๋ยม กูรูท่านสำคัญของวงการเศรษฐศาสตร์ เคยติดโผ ครม. ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความกล้าหาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจไทยอย่างตรงไปตรงมา

ล่าสุด ดร.ศุภวุฒิ วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในรายการคุยนอกกรอบ กับคุณสุทธิชัย หยุ่น ว่าเศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ช้ากว่าประเทศอื่นๆ กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจเติบโตช้า และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (ตรงกับช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไทยประสบภาวะเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ขาดความน่าสนใจในการลงทุนใหม่จากนักลงทุนชาวต่างชาติ ซึ่งเป็น “ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย”

“ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย” ดร.ศุภวุฒิ ขยายความเพิ่มเติมว่ามีหลายสาเหตุ หยิบยกมาพูดถึง 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ภาคเกษตรผลผลิตต่ำ 2.การแก่ตัวของประชากร

ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าไทยควรแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หากประเทศไทยอยากจะกลับมาเป็น “เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย”

 

วิสัยทัศน์ของประธานสภาพัฒน์ผู้เป็นคีย์แมนท่านสำคัญของฝั่งรัฐบาล ทำให้ผมหัวใจพองโตว่าหลังจากนี้ รัฐบาลคงมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น

โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถูกวางไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาล “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถูกปรับปรุงใหม่เล็กน้อยภายหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปี ที่ใช้โครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าวมาโดยตลอด

ปัจจุบันสินค้ากลุ่มยานยนต์ที่เคยเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของไทย ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ส่วนสินค้าอื่นๆ ประสบปัญหาการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ หรือการ Decoupling หรือ Deglobalization ในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 แต่ละประเทศต่างลดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพิ่มการกีดกันทางการค้างเพื่ออุดหนุนผู้ประกอบการภายในประเทศ

ปัจจุบันนี้นับเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอีกครั้งเพื่อตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติว่า “ทำไมต้องมาลงทุนที่ประเทศไทย”

 

เมื่อกล่าวถึงทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คงไม่กล่าวถึงคีย์แมนอีก 2 ท่านนี้คงไม่ได้ และคงเป็นการยากยิ่งที่จะไม่กล่าวถึง

คีย์แมนท่านที่ 2 ของฝั่งรัฐบาลที่ผมคงไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ ฯพณฯ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ท่านเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน บัดนี้เป็นระยะเวลาเดือนกว่าเกือบจะสองเดือนแล้ว

ผมยังคงรออย่างใจจดจ่อ รอท่านแถลงนโยบายเศรษฐกิจในมุมของรัฐบาลโดยตรง แต่ยังไร้ข่าวคราว

หากช้ากว่านี้คงต้องประกาศตามหาคนหาย!

คีย์แมนท่านที่ 3 ที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย คือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ยังคงใจแข็งตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งมาแต่ไหนแต่ไร วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด

การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ส่งผลให้การเติบโตของปริมาณเงิน หรือ Money Supply ระดับ M2 ติดลบตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงมีนาคม 2567 เพิ่งกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยในเดือนเมษายน 2567

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ผู้คนในสังคมไม่ค่อยพูดถึงกัน เมื่อปริมาณเงินในระบบเติบโตแบบติดลบ ก็หมายความว่าปริมาณเงินในระบบลดน้อยลง ก็คอยฉุดรั้งเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัว

เช่นเดียวกับปัญหาเงินเฟ้อที่หมดไปด้วย กลายเป็นภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2567 จะกลับมาสูงขึ้นร้อยละ 1.54 (YoY) แต่ก็เกิดจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน แต่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.39 (YoY)

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2567 ลดลงร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 (ทั้งที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น)

ดังนี้แล้ว หากพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่จะบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจซบเซาก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก

 

เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายในมุมของประเทศในโลกตะวันตก ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเริ่มจากธนาคารกลางสวิส (The Swiss National Bank : SNB) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง ร้อยละ 0.25 จาก 1.75% เหลือ 1.50% นับเป็นชาติแรกในยุโรปที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567

ต่อจากนั้น ธนาคารกลางสวีเดน หรือ ริกส์แบงก์ (Riksbank) ลดอัตราดอกเบี้ย จาก 4.00% เหลือ 3.75% เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นับเป็นประเทศที่ 2

ธนาคารกลางแคนาดา (Bank of Canada : BoC) ลดจาก 5.00% เหลือ 4.75% เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567

ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ที่มีคุณคริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ดำรงตำแหน่งประธาน ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย จาก 4.00% เหลือ 3.75% เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ส่งผลให้ประเทศสมาชิกทั้ง 19 รัฐสมาชิก ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในประเทศตาม

ตามมาด้วย ธนาคารกลางเดนมาร์ก (Danmarks Nationalbank) ปรับลดจาก 3.60% เหลือ 3.35% เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567

นอกจากนี้ ทั่วโลกต่างจับตาดูประเทศอื่นๆ ที่จะมีการประชุมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย วันที่ 18 มิถุนายน ประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศนอร์เวย์ วันที่ 20 มิถุนายน และประเทศนิวซีแลนด์ วันที่ 10 กรกฎาคม ว่าจะมีทิศทางเช่นไร

สำหรับสหรัฐอเมริกา แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% เป็นการตรึงดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 และเป็นระดับอัตราสูงสุดในรอบ 23 ปี แต่นักเศรษฐศาสตร์ต่างวิเคราะห์ในทิศทางเดียวกันว่า อนาคตคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้อย่างแน่นอน

 

ดร.พอล ครุกแมน (Paul Krugman) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2008 วิเคราะห์ผ่านบทความ Goodbye Inflation, Hello Recession? ไว้ว่า ถึงเวลาที่เราควรจะเลิกหมกมุ่นกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งดูเหมือนเป็นปัญหาในอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว เราควรเริ่มกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเริ่มที่จะถดถอยภายใต้ความเครียดจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่ง ดร.ครุกแมน คิดว่า FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในไม่ช้า

สาเหตุที่ ดร.ครุกแมน กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อรายปีของสหรัฐอเมริกา มีการลดลงอย่างต่อเนื่องเกือบเป็นเส้นตรง แม้ว่าข้อมูลอัตราเงินเฟ้อรายเดือนจะมีการแกว่งขึ้นลงสลับกันบ้างก็ตาม ซึ่งเขามองว่าการแกว่งเป็นเพียงค่ารบกวนทางสถิติเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย หากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ยังพูดคุยกันคนละภาษาเช่นนี้ คงได้เห็น GDP ปี 2567 เติบโตอย่างช้าๆ ที่ร้อยละ 2.0

ขอปิดท้ายด้วยบทละคร สามก๊ก เวอร์ชั่นปี 2010 โจโฉ กล่าวกับ โจผี บุตรชายว่า “สงครามเป็นสิ่งที่พลิกแพลงได้ตลอด เราต้องศึกษาให้ถ่องแท้ แต่ไม่ให้ตำรามาครอบงำเรา”

นโยบายเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน