ยุทธศาสตร์ เลือก สว.ระดับประเทศ กติกาบังคับให้ต้องรวมกลุ่มสู้

มุกดา สุวรรณชาติ

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
คือสร้างแนวร่วม

1.ระดับประเทศ ขอบเขตกว้างใหญ่ กฎพื้นฐานข้อแรกคือ เขตพื้นที่อำเภอ หรือจังหวัด ลดความสำคัญลงไปเหลือแค่ 10% กลุ่มอาชีพกลายเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ทั้งประเทศ สังคมที่เคยรู้จักกัน เห็นหน้ากัน เปลี่ยนไป คนที่เคยเด่นดังในท้องถิ่น ถูกกลืนหายไปในกลุ่มคนระดับประเทศ

จะเห็นว่า กกต.ให้รายชื่อและเบอร์ผู้ที่ผ่านเข้ารอบประเทศมาเป็นกลุ่มอาชีพ รายชื่อผู้ที่เข้ารอบเรียงตามตัวอักษร ไม่สนใจว่าจะมาจากจังหวัดอะไร ก.ไก่ -จ.จาน ก็จะได้เบอร์ต้นๆ ส.เสือ-อ.อ่าง ก็จะได้เบอร์ท้ายๆ

การเลือกแต่ละรอบล้วนเกี่ยวพันกับกลุ่มอาชีพทั้งสิ้น

 

2.ในรอบแรก ที่เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ถ้ารวมตัวแทน 20 กลุ่มอาชีพจาก 77 จังหวัด แต่ละกลุ่มจะมีประมาณ 146-154 คน (ยกเว้น อุตสาหกรรม มี 129 คน)

วิธีการเลือก มีความแตกต่างออกไปก็คือ…ขยายขอบเขตกว้างขึ้นมาก…ในระดับประเทศผู้สมัคร 1 คนสามารถเลือกตนเองและเลือกคนอื่นได้อีก 9 คน หรือจะเลือกคนอื่นหมด 10 คนก็ได้… (จากระดับจังหวัด 1+1 กลายเป็น 1+9) จากนั้นนับคะแนนผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 คนแรกถือว่าผ่านรอบแรก อีก 114 คน ต้องออกจากสถานที่คัดเลือก (จาก 5 กลายเป็น 40)

กฎข้อนี้มีลักษณะบังคับให้ผู้สมัครต้องหาแนวร่วมเพราะต้องไปหาข้อมูลหรือทำความรู้จักคนที่จะเลือกอีก 9 คน เมื่อรู้จักแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่จะต่างคนต่างเลือกซึ่งกันและกัน การหาแนวร่วมก็จะกลายเป็นการรวมกลุ่มซึ่งจะได้มากน้อยก็แล้วแต่ฝีมือ และพื้นฐานทางความสัมพันธ์ของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม บางคนอาจจะหาได้ 4-5 คน บางคนอาจจะหาได้ถึง 8-9 คน

กลุ่มที่มีการจัดตั้งบางอาชีพอาจจะหาได้เกิน 10 คน

แต่การกีดกันคู่แข่ง เหมือนในรอบจังหวัด ที่คัดเอาแค่ 2 คนไม่ใช่ทำง่ายแล้ว เพราะในระดับประเทศ รอบแรกผู้ที่ผ่านเข้ารอบมีได้ 40 คน คนที่จะตกรอบแรกก็คือคนที่คิดจะเลือกแต่ตัวเองแล้วไม่เลือกคนอื่น ไม่รู้จักหาแนวร่วม

ผู้ที่ผ่านเข้ารอบน่าจะมีคะแนน 7-15 คะแนน

 

3.การเลือกรอบสอง 40 จะเหลือ 10 โดยผู้เลือก 160 คน

มาถึงตรงนี้ก็จะพบว่าผู้สมัครที่สามารถผ่านมาถึงรอบนี้มีประมาณ 800 คน ทุกกลุ่มอาชีพจับสลากแบ่งสาย 4 สาย ได้สายละ 5 กลุ่ม จากนั้นจึงจะแยกห้องออกไปตามสาย ซึ่งแต่ละสายจะมีคน 200 คนไปเลือกแบบไขว้

กติกาคือ…จะเลือกตัวเองและกลุ่มของตัวเองอีก 39 คนไม่ได้…แต่จะให้เลือกคนจากกลุ่มอื่นอีก 4 กลุ่ม

…และการเลือกครั้งนี้สามารถเลือกแต่ละกลุ่มได้ถึง 5 คน จาก 40 คน… ดังนั้น ผู้สมัคร 1 คนจะลงคะแนนให้คน 20 คนจาก 4 กลุ่ม คนละ 1 คะแนน หรือไม่เลือกก็ได้ ทำให้การเลือกแต่ละกลุ่ม จะครบ 5 คนหรือไม่ก็ได้ เพราะ…

ผู้สมัครแต่ละสายมีประมาณ 200 คน จาก 5 กลุ่ม เมื่อตัดกลุ่มตัวเองออกไป 40 คนก็จะต้องเลือก 160 คนที่เหลือ

ใครจะจำชื่อใครได้กี่คน บางทีที่ตั้งใจไว้ก็ไม่ได้ไขว้กลุ่มมาอยู่สายเดียวกัน ที่อยู่สายเดียวกันก็ดันไม่รู้จัก การเลือกในรอบ 2 นี้จึงอาจมีความสับสนและอาจควบคุมได้บางระดับเท่านั้น

ต่อให้เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งมา ก็ต้องหวังผลแค่บางส่วนเพราะไม่รู้ว่าจะจับสลากได้กลุ่มใดมาอยู่สายเดียวกัน การแจกโพยรายชื่อพรรคพวกก็ไม่มีใครแจกไปทั้ง 200 คน แจกไปแค่ 20-30 คนก็จำไม่ไหว แถมที่แจกไปอาจจะไม่ได้ไขว้มาอยู่สายเดียวกัน

การกำหนดให้ใช้ ส.ว. 3 แบบไหน จดรายชื่อคนที่อยากเลือกเข้าไปได้หรือไม่จึงมีส่วนสำคัญ เพราะผู้เลือกแม้จะตั้งใจเลือก แต่คงจำได้ไม่กี่คน ที่เหลือไม่รู้จัก ก็อาจจะใช้วิธีว่างเว้นไปเลย จึงเลือกเพียงแค่ 2- 3 คนต่อกลุ่มอาชีพ หรือไปเลือกคนเด่นดัง

ดังนั้น ในแต่ละสายซึ่งมี 4 กลุ่มก็จะมีคนที่ไม่ได้คะแนนเลย จำนวนมาก ในขณะเดียวกัน อาจมีคนเด่นได้คะแนนหลายสิบคะแนนก็ได้

 

ส.ว.ที่ต้องพึ่งพา
เครือข่ายพรรคพวก
พึ่งดวง พึ่งชื่อเสียงตัวเอง

การเลือกแบบไขว้กลุ่มทำให้ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 3,000 คน ที่อยู่ต่างอาชีพไม่สามารถจะไปจับกลุ่มเพื่อแลกคะแนนกันได้ง่ายๆ เพราะแม้ทำความรู้จักกันล่วงหน้ามาหลายวัน แต่พอถึงรอบแรกตอนเช้า คนที่จะตกรอบแรกมีถึง 2,200 คน คนที่ทำความรู้จักไว้อาจจะตกรอบไปแล้ว ส่วนอีก 800 คนที่รอดมาอยู่ในกลุ่ม 40 คนก็อาจจะจับสลากมาอยู่สายเดียวกันได้ 1 กลุ่มหรือ 2 กลุ่มเท่านั้น

เครือข่ายพรรคพวกที่กว้างขวาง ทั้งในเชิงการเมือง และมิตรสหาย จึงมีความสำคัญที่สุด ยิ่งกระจายไปหลายกลุ่มยิ่งได้เปรียบ และดวงก็สำคัญ ถ้าดวงดีตอนจับสลาก ตอนไขว้กลุ่มก็จะเจอพรรคพวก ทำให้พอมีคะแนนเพิ่ม

ส่วนคนชื่อเสียงดีก็ยังมีคะแนนแถมจากคนทั่วไปที่หาคนเลือกได้ไม่ครบ 5 คน ชื่อเสียง ยศ ตำแหน่ง จุดยืนทางการเมือง มีส่วนในการเพิ่มหรือลดคะแนนทั้งสิ้น

มีคนถามว่าจะมีการซื้อเสียงกันได้หรือไม่?

เรื่องแบบนี้ก็พอได้ยินอยู่บ้าง แต่ดูแล้วทำได้ยากเพราะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ซื้อเสียง และใช้ได้เพียงบางคนซึ่งไม่มีความแน่นอนอะไร

แถมคนที่รับเงินไปก็อาจจะไม่ยอมลงคะแนนให้ ซึ่งก็จะพิสูจน์ยากมาก ดังนั้น จึงเป็นการลงทุนที่หวังผลไม่ได้ เชื่อว่าถ้ามีคนกล้าทำก็มีคนกล้ารับเงินและกล้าเบี้ยวข้อตกลงนั้น คนที่จ่ายเงินก็จะเป็นเพียงไอ้โง่คนหนึ่งเท่านั้น

อย่าลืมว่าในแต่ละกลุ่มอาชีพประมาณ 150 คน พวกเขาคือแชมป์ของจังหวัดทั้ง 2 คน คงไม่มีใครยอมถอยให้กันง่ายๆ เพราะมาถึงขั้นนี้แล้ว อีก 2 ก้าวก็ได้เป็น ส.ว. ถ้ามองในเชิงผลประโยชน์ ได้มากกว่า

ในหลายกลุ่มจึงใช้วิธี แพ้เป็นพระ (พระรอง เป็นผู้ช่วย ส.ว.) ชนะ เป็น ส.ว.

กลุ่มที่มีลักษณะจัดตั้งแบบเป็นระเบียบ บางกลุ่มมีข้อตกลงกันว่าจะใช้วิธีจับสลากเพื่อผลักดันคนในกลุ่มเข้าไปเป็น ส.ว. ที่เหลือให้เป็นผู้ช่วย

 

ผู้สมัครอิสระ
จะเป็นอิสระแค่ความคิด

สําหรับผู้สมัครอิสระซึ่งฝ่าฟันมาจนถึงระดับประเทศ ก็คงมีเหลืออิสระจริงๆ ไม่กี่คนเพราะตอนผ่านระดับจังหวัดก็คงต้องจับกลุ่มกับคนโน้นคนนี้บ้าง เพื่อให้ได้คะแนน

แต่สนามระดับประเทศกว้างใหญ่มาก คนที่เคยจับมือกันระดับจังหวัดอาจจะหลุดหายไปแล้ว ดังนั้น จำเป็นจะต้องมาหามิตรใหม่ในสนามระดับประเทศ

ถ้าไม่ทำแบบนั้นก็ไม่รู้ว่าจะไปเลือกใครอีก 9 คน และก็อาจจะไม่มีใครมาเลือกเราเช่นกัน

ดังนั้น ผู้สมัครอิสระจึงจำเป็นจะต้องหากลุ่มคนที่มีแนวคิดอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ในทุกๆ กลุ่มอาชีพเท่าที่หาได้

แล้วก็หวังว่าเขาจะลงคะแนนให้เราทั้งในรอบแรกอาชีพเดียวกันและในรอบไขว้ต่างอาชีพ

กลุ่มที่มีการจัดตั้งมาอาจมีคนบอกว่าให้เลือกเฉพาะชื่อที่เขากำหนดให้เท่านั้น ที่เหลือให้ว่างไว้เพื่อไม่ให้คะแนนของเบอร์อื่นสูงขึ้นมาเบียดหรือมาแทรก ทำให้คนที่เขากำหนดไว้สอบตก

แต่การเลือก ส.ว.ระดับประเทศในรอบ 2 จะเป็นการชี้คุณสมบัติของ ส.ว.ตัวจริงซึ่งจะสำเร็จได้ โดยผู้สมัครส่วนใหญ่จะต้องตัดสินใจเลือก ส.ว.ในรอบสุดท้ายให้ครบทั้ง 20 คนแม้จะรู้จักเพียง 5 คน 10 คนก็ตาม แต่ก็ต้องตัดสินใจเลือกเพิ่มโดยศึกษาประวัติของแต่ละบุคคลที่ไขว้เข้ามาอยู่ในสาย

เพราะคะแนนจากการศึกษาประวัติโดยไม่มีอคติหรือการจัดตั้งใดๆ มาสนับสนุนน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความบริสุทธิ์และได้ผลให้ประชาชนมากกว่า