เศรษฐกิจไทย-ตลาดหุ้นอึมครึม สัญญาณอันตรายโรงงานปิดตัวพุ่ง

เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอึมครึม ตลาดหุ้นไทยก็ซบเซาอย่างหนัก ดัชนีตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ร่วงหลุด 1,300 จุด โดยปิดตลาดที่ 1,296.59 จุด เรียกว่าลงไปอยู่ระดับเดียวกับช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 เลยทีเดียว

โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง ไม่ว่าจะเรื่องยุบพรรคก้าวไกล จนถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ยังไม่มีความชัดเจน และยืดเยื้อออกไปอีก โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดี 10 กรกฎาคม 2567 ก็ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ เศรษฐกิจอึมครึมยาวนานขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัญหาของตลาดหุ้นไทยไม่ใช่เรื่องชั่วคราวที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่ซึมลึก สะท้อนจากที่นักลงทุนต่างชาติขายทิ้งหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกือบ 1 ล้านล้านบาท เฉลี่ยต่างชาติขายสุทธิปีละ 1 แสนล้านบาท

แต่ปีนี้แค่ช่วง 6 เดือนแรกนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท ด้วยสารพัดปัจจัยลบทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รวมถึงเรื่องความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ที่ดูนับวันจะถดถอย

ทำให้วันนี้นักลงทุนไทยรายย่อยกลายเป็น “เดอะแบก” ตลาดหุ้นไทย

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ภาวะที่บรรยากาศบ้านเมืองอึมครึมเช่นนี้ กลัวว่านักลงทุนที่เดิมจะแค่ Wait & See ตอนนี้อาจจะไม่ Wait แล้ว แต่ไปที่อื่นแทน เพราะมีตลาดอื่นที่น่าสนใจกว่า มีเทคโนโลยีใหม่ มีการเติบโต มีกำลังซื้อ

ขณะที่บรรยากาศในประเทศไทยทำให้ทั้งนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้น และ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) ไม่มา

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่สายเน้นคุณค่า (Value Investor) ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้คิดว่านักลงทุนจำนวนมากรู้สึก “ท้อแท้” และ “สิ้นหวัง” และที่แย่ลงไปอีกก็คือ หุ้นไทยนั้นตกต่ำลงทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลักๆ ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างทั่วหน้า อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นโดดเด่น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยถดถอยลงมาก

“ปัญหาของหุ้นไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นปัญหาถาวรที่เกิดจากโครงสร้างที่แก้ไขยาก โครงสร้างเหล่านั้นเดิมทีเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปในขณะที่เราไม่ได้ตระหนักและไม่ได้ปรับโครงสร้างตามที่ควรจะเป็น ผลก็คือ เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นเติบโตไปได้ยาก และไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะเดิมได้อีก” ดร.นิเวศน์กล่าว

 

หนึ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจที่เผชิญกับความท้าทายก็คือ สัญญาณอันตรายภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยก็รุนแรงมากขึ้น

เกิดอะไรขึ้น ขณะที่รัฐบาลเดินสายโรดโชว์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยทยอย “ปิดตัว”

เดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ก็มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นถึง 2 แบรนด์ ประกาศถอนการลงทุน โดยจะยุติการผลิตโรงงานประกอบในไทย

ได้แก่ “ซูบารุ” ซึ่งมีกำหนดยุติไลน์ผลิตในสิ้นปี 2567 และ “ซูซูกิ” ที่ประกาศยุติการผลิตโรงงานในไทยในสิ้นปี 2568 แม้จะยืนยันว่ายังคงทำตลาดในประเทศไทย โดยจะใช้การนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายแทน ซึ่งก็หมายถึงแนวโน้มคนตกงานที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

KKP Research ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จัดทำรายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไร??” ระบุว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ สะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่ “หดตัว” ติดต่อกันกว่า 1 ปี นับเป็นการโตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง

พร้อมๆ กับสัญญาณอันตรายจากตัวเลขยอด “โรงงานปิดตัว” ที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว

ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีการ “ปิดโรงงาน” ในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 จากตัวเลขโรงงานปิดตัวพุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือน

จากค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานในปี 2564 อยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือน และขยับเพิ่มเป็น 83 โรงงานต่อเดือน ในปี 2565

ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 (ระยเวลา 15 เดือน) มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

โดย 5 อุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่าห่วง เนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ 1.กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง 2.การผลิตยาง 3.อุตสาหกรรมการเกษตร 4.อุตสาหกรรมไม้ และ 5.การผลิตเครื่องจักร

ขณะที่ตัวเลขการ “เปิด” โรงงานใหม่ลดลงกว่าในอดีต ซึ่งย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก

และมีประเด็นน่าสังเกตว่า ข้อมูลโรงงานที่ปิดตัวส่วนใหญ่เป็น “โรงงานขนาดใหญ่” แต่โรงงานที่มีการเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็น “โรงงานขนาดเล็ก”

ทั้งนี้ การปิดตัวที่เกิดขึ้นจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก เป็นภาพสะท้อนว่าปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของ “หนี้เสีย” ในภาคการผลิตที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว

จึงนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

 

นอกจากนี้ รายงานของ KKP Research ยังตอกย้ำว่า สถานการณ์โรงงาน “ปิดตัว” ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญใน 3 ประเด็นหลัก ที่สะท้อนถึงความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ถูกลดทอนลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของสินค้าบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทย และส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์สันดาปในไทย

หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ ที่ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ของ Hard Disk Drive (HDD) แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้ Solid State Drive (SSD) ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันซึ่งจะรุนแรงมากขึ้น

และโดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น

2. การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการทะลักเข้ามาของ “สินค้าจีน” ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มยานยนต์ EV ที่เข้ามาถล่มราคาในประเทศไทยจนทำให้ค่ายรถยนต์สันดาปต้องปรับลดราคาปกป้องตลาด แต่ประเทศไทยยังมีการนำเข้าสินค้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จีนมีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ผลิตไทยออกมาร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ถึงการเข้ามาดัมพ์ตลาดของสินค้าจีนจนทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้จนถึงต้องปิดกิจการ

และ 3. มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายังอาเซียน รวมถึงไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีน

หมายความว่าผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มลุกลามมาสู่อุตสาหกรรมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขณะนี้เริ่มเห็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง “ซูซูกิ” และ “ซูบารุ” ที่ประกาศยุติการผลิตในประเทศไทย

และนี่คือสารพัดสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจไทย ในห้วงเวลานี้