คำถาม 2-3 ข้อ จาก ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ว่าด้วยหนังสารคดี ‘Breaking the Cycle’ ทำไม ‘อำนาจ’ จึงถูก ‘ขีดฆ่า’?

คนมองหนัง

หมายเหตุ เมื่อเร็วๆ นี้ “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” นักประวัติศาสตร์-ปัญญาชนสาธารณะอาวุโส ได้ส่งข้อความมาถึงผม ผ่านทางมิตรสหายท่านหนึ่ง

ใน “จดหมาย” ฉบับดังกล่าว อาจารย์ธงชัยได้ตั้งคำถามสำคัญๆ 2-3 ข้อ ว่าด้วยภาพยนตร์สารคดีการเมืองเรื่อง “Breaking the Cycle” เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยมุ่งจะสนทนากับบรรดา “ผู้ชม” ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ มากกว่าจะเป็น “ผู้สร้าง”

จึงขออนุญาตนำคำถามของอาจารย์ธงชัยมาเผยแพร่ ณ พื้นที่นี้ เพื่อให้ “คนอ่าน/คนดู” ทั้งหลาย ได้ช่วยขบคิดตีความขยับขยายประเด็นกันต่อ

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล

สวัสดีครับคุณ “คนมองหนัง”

ผมได้ไปดูภาพยนตร์ “Breaking the Cycle” แล้วเมื่อวานนี้เอง (เสาร์ 15 มิถุนายน) ผมมีความเห็นและคำถาม แต่ผมไม่ทราบว่าจะถามใคร เพราะผมไม่ได้อยากได้คำตอบจากผู้สร้างมากเท่ากับอยากชวนผู้ชมคนอื่นลองคิดหาคำตอบไปด้วยกัน

ผมไม่ทราบจะถามผ่านช่องทางไหนดี (ผมไม่ได้ใช้ social media ครับ ครั้นจะเขียนเป็นบทความก็คงจะเกินไปหน่อย) จึงขออนุญาตเขียนถึงคุณสักครั้งหนึ่ง เผื่อว่าคุณจะไม่รังเกียจที่จะเป็นช่องทางให้ผมถามคำถามไปถึงแฟนๆ ผู้อ่านของคุณ

คำถามข้อที่หนึ่ง ชื่อในภาษาไทย คำว่า “อำนาจ” ถูกขีดฆ่าออกใช่หรือเปล่าครับ ต่อให้ผู้สร้างบอกว่าไม่ได้ถูกขีดฆ่า ก็สายไปแล้วครับ เพราะผมเห็นอยู่ชัดๆ ว่ามันถูกขีดฆ่า

แล้วจะให้อ่านชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่ายังไงครับ ตามที่ “เห็น” ทำให้สามารถอ่านได้สามอย่าง คือ

อ่านแบบที่หนึ่ง ต้องไม่อ่านคำว่า “อำนาจ” คือชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “ศรัทธา อนาคต”

อ่านแบบที่สอง ต้องอ่านคำว่า “อำนาจ” ด้วย ชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “อำนาจ ศรัทธา อนาคต” อย่างที่เราท่านมักอ่านกันทั่วไป

อ่านแบบที่สาม คือ เราเห็นอยู่เต็มตาว่ามีคำว่า “อำนาจ” อยู่ แต่กลับถูกบอก (ด้วยสายตา) ว่าอย่าอ่านคำนี้นะ มาแบบนี้ ผมไปไม่เป็นเลย เพราะไม่ว่าอ่านในใจหรืออ่านออกเสียงก็จะอึดอัดขัดแย้งระหว่างตากับการออกเสียง (ในใจก็เถอะ)

ชื่อทั้งสามแบบมีความหมายต่างกันพอสมควร ทำไมอำนาจต้องถูกฆ่าทิ้ง ทำไมอำนาจต้องถูกเปล่งเป็นเสียงออกมาทั้งทั้งที่เห็นอยู่ว่าถูกฆ่าทิ้ง หรือทำไมอำนาจมีไว้ให้มองเห็น แต่กลับถูกบอกว่าอย่าออกเสียงออกมานะ

คําถามข้อที่สอง ในรอบที่ผมไปดูนั้นมีรายการสนทนาหลังหนังจบ โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ (คุณจีน) กล่าวตอนหนึ่งว่า มีการถกเถียงกันในหมู่ผู้สร้างเมื่อปีกว่ามาแล้วว่า ควรจะฉายก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้ง ถ้าหลังการเลือกตั้ง ควรเป็นเมื่อไหร่ดี

ในที่สุดก็มาฉายหนึ่งปีภายหลังเลือกตั้ง 2566 รู้เรียบร้อยแล้วว่าก้าวไกลชนะเป็นอันดับหนึ่ง แต่กลับถูกเบี้ยวอย่างหน้าด้านๆ ทำให้สามารถมีฟุตเทจของการเลือกตั้ง 2566 และจบลงด้วยการเริ่มของ loop ที่สอง พร้อมกับคำว่า “the cycle continues”

คำถามมีอยู่ว่า ถ้าภาพยนตร์นี้ออกฉายก่อนการเลือกตั้ง 2566 น่าจะจบที่ตรงไหน ภาพไหน และคำทิ้งท้ายจะเป็นอย่างไร ที่แน่ๆ ก็คือ ย่อมไม่มีฟุตเทจเกี่ยวกับพิธาและ loop ที่สองอย่างที่กล่าวมา

ภาพยนตร์เวอร์ชั่นนั้นจะให้ความรู้สึกและความหมายต่างไปจากที่เราได้ชมในปัจจุบันอย่างไร แค่ไหน เราจะได้เห็นและรู้สึกไหมว่า “the cycle continues”

คําถามเกี่ยวพันกันอีกข้อก็คือ ความรู้สึกและความหมายที่เราหลายท่านได้รับจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ถูกกำหนดอย่างมากด้วยชัยชนะของก้าวไกลที่ถูกขัดขวางอย่างหน้าด้านๆ ใช่หรือไม่ ความหมายที่คนจำนวนมากรู้สึกร่วมกันถูกผลิตขึ้นด้วยปัจจัยนอกเหนือจากตัวของภาพยนตร์เอง ใช่หรือไม่

คำถามทั้งหมดนี้ผู้สร้างจะตอบก็ได้ แต่ผมคิดว่าเขาจะตอบหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ไม่น่าสนใจเท่ากับคำตอบของเราท่านทั้งหลาย (รวมทั้งคุณ “คนมองหนัง” ด้วย) จะลองช่วยตอบก็ได้

ผมไม่มีคำตอบหรอกครับ แต่คิดว่าสนุกดีที่จะคิดกับคำถามทั้งสองข้อใหญ่นี้

ธงชัย วินิจจะกูล
(16 มิ.ย. 2567)

(ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ ผมจะขออนุญาตเขียนบทความเพื่อตอบคำถาม-สนทนากับ “จดหมาย” ของอาจารย์ธงชัย ในสัปดาห์หน้า)