แก่ ไม่มีความรู้ และขี้โรค

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ใครที่ติดตามความเป็นไปของตลาดหุ้นไทยซึ่งช่วงที่ผ่านมาทรงๆ ทรุดๆ โดยมีแนวโน้มทรุดมากกว่าทรง น่าจะต้องผ่านตาการวิเคราะห์ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ได้รับการยอมรับในความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นเป็นอย่างมากคนหนึ่งของไทย

สถานการณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยขณะนี้ ดร.นิเวศน์ให้สัมภาษณ์ไว้ในหลายสื่อโดยมองว่าจะเป็นการทรุดตัวถาวร เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโครงสร้างใน 3 เรื่องใหญ่ คือ หนึ่ง โครงสร้างประชากรซึ่งเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุ สอง โครงสร้างการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ และสาม โครงสร้างของบริษัทในตลาดที่ตามไม่ทันพัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่

ใน 3 เรื่องนี้ โครงสร้างประชากรดูจะน่าสนใจที่สุด โครงสร้างอำนาจทางการเมืองยังเปลี่ยนแปลงได้ หากทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าเป็นเงื่อนไขทำร้ายประเทศจริงๆ เช่นเดียวกับโครงสร้างบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสามารถลงทุนเพื่อแก้ไขได้ไม่ยาก

แต่โครงสร้างประชากรเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำงานหนักหากจะหาหนทางแก้ไข

 

ความเป็นไปจาก “กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์” เกี่ยวกับสถิติผู้สูงอายุในประเทศไทย

ในปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน คิดเป็น 19% ของประชากรทั้งหมด

คาดการณ์ว่าในปี 2578 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 20 ล้านคน คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด

ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2583

ผู้สูงอายุเพศหญิงมีจำนวน 6.7 ล้านคน คิดเป็น 52% เพศชายมีจำนวน 6.3 ล้านคน คิดเป็น 48%

ผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) มีจำนวนมากที่สุด คือ 6.8 ล้านคน คิดเป็น 53% วัยกลาง (70-79 ปี) มีจำนวน 3.5 ล้านคน คิดเป็น 28% วัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็น 13%

ทั้งหมดอยู่ในภาคกลาง 4.1 ล้านคน คิดเป็น 32% ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.7 ล้านคน คิดเป็น 29%

ที่น่าสนใจคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่โสด ม่าย หรือหย่าร้าง คือมีจำนวน 8.3 ล้านคน คิดเป็น 64% ที่แต่งงานอยู่แล้วมีจำนวน 4.7 ล้านคน คิดเป็น 36%

ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า คือ 8.1 ล้านคน คิดเป็น 63% ระดับมัธยมศึกษาหรือสูงกว่า มี 4.9 ล้านคน คิดเป็น 38%

ส่วนใหญ่เคยประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ 5.4 ล้านคน คิดเป็น 42% ที่เคยประกอบอาชีพค้าขายมีจำนวน 3.2 ล้านคน คิดเป็น 25%

ที่น่าเป็นห่วงมากคือผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรัง คือมี 10.4 ล้านคน คิดเป็น 81% โรคเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

 

โครงสร้างประชากรที่สัดส่วนของกำลังแรงงานเป็นเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องหาทางแก้โจทย์เพื่อให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปได้

ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าทุนของธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจโลกไปลงที่ประเทศเพื่อนบ้าน หนำซ้ำทุนในธุรกิจเก่ายังหนีจากประเทศไทยเรา โดยเป็นที่รู้กันว่าเพราะประเทศเราขาดแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ การพัฒนาการศึกษาของเราไม่เอื้อต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก

เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องเร่งหาทางแก้ไข

การเดินทางไปเชิญชวนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศเราด้วยการให้สิทธิพิเศษอาจจะเป็นหนทางที่ดี

แต่จะดีกว่าไหมในการคิดสร้างเงื่อนไขให้เป็นการลงทุนที่มีความหวังด้วยการสร้างปัจจัยที่เอื้อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะเรื่องความรู้ความสามารถของประชากร

ทำอย่างไรไม่ให้เป็นประเทศที่มีแต่คนแก่ ไม่มีความรู้ และขี้โรค แต่เป็นประเทศของคนหนุ่มสาวที่ทรงภูมิ และกระฉับกระเฉง