ทนายอานนท์ : สำนึกใหม่เรื่องชาติและประชาธิปไตย | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ทนายอานนท์ นำภา เป็นแกนนำผู้ชุมนุมปี 2563 ที่ผมผูกพันเป็นพิเศษด้วยเหตุผลหลายประการ

ข้อแรก คือทนายอานนท์มีจุดยืนประชาธิปไตยแน่วแน่เท่าที่มนุษย์พึงมี

ข้อสอง คือทนายอานนท์ทำเพื่อประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งทำได้

และข้อสาม คือทนายอานนท์พิสูจน์ตัวเองในเรื่องแบบนี้แล้วกว่าสิบปี

เมื่อผมพบอานนท์ที่ศาลในสภาพนักโทษตีตรวนล่ามโซ่ต่อสู้คดี ทนายอานนท์ถามผมว่าข้างนอกเป็นอย่างไร เพื่อไทยผลักดันนิรโทษกรรมหรือไม่ ก้าวไกลลดเพดานหรือเปล่า ฯลฯ

แต่ในคำตอบที่ผมเล่าให้อานนท์ฟังหลายเรื่อง เรื่องที่เขาตื่นเต้นที่สุดคือภาพยนตร์ Breaking The Cycle ฉายสัปดาห์แรก 150 โรง

ทนายอานนท์เป็นหนึ่งในคนหนุ่มที่ผมรู้จักช่วงที่เราคัดค้านการปราบปรามคนเสื้อแดงปี 2553 ตั้งแต่วันที่ทหารเริ่มยิง ตอนนั้นอานนท์อายุแค่ 26 ปี

ผมจำไม่ได้ว่าพบเขาครั้งแรกที่ไหนและอย่างไร แต่จำได้ว่าในเวลาที่สื่อและนักวิชาการไม่สนใจเรื่องฆ่าคนเสื้อแดง อานนท์ซึ่งเพิ่งจบกลับมาเป็นทนายให้คนเสื้อแดง

ผมไม่แน่ใจว่าอานนท์มีบทบาทอย่างไรในการต่อต้าน กปปส.ก่อนรัฐประหาร 2557

แต่จำได้ว่าหลังจากนั้นอานนท์เป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นเขาอีกมากที่ต่อต้านระบอบรัฐประหารอย่างกล้าหาญผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ

และในที่สุดจบด้วยการที่เขาเป็นแกนนำการชุมนุมม็อบราษฎรปี 2563 พร้อมอีกหลายคน

สําหรับผมแล้ว การต่อสู้ของประชาชนในปี 2563 สำคัญเพราะมีแกนกลางอยู่ที่หลักการเรื่องสิทธิ, ความเสมอภาค และความเท่าเทียม

สัญลักษณ์ชูสามนิ้วสะท้อนถึงภราดรภาพว่ายิ่งสู้สังคมจะยิ่งก้าวหน้า และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากขบวนการที่เป็นแนวราบที่แทบไม่มีใครบัญชาการเลย

ในประเทศที่ชาติมีแกนกลางที่เพิ่งสร้างราวร้อยปีที่เรื่องหน้าที่, ความเหลื่อมล้ำ และความเชื่อว่าคนเราไม่เท่ากันตั้งแต่เทือกเขาอัลไต ความเคลื่อนไหวปี 2563 คือการท้าทายความเป็นชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

เพราะมีคนเป็นล้านลงถนนหรือแสดงออกด้วยวิธีอื่นๆ ถึงความคิดใหม่ระดับที่ไม่เคยมี

เป็นความรู้พื้นฐานของคนเรียนสังคมศาสตร์หลายสิบปีแล้วว่าชนชั้นนำสร้างชาติในสังคมไทยโดยไม่มีประชาชนเป็นแกนกลาง ชาติเกิดจากการยัดเยียดความคิดเรื่องอดีตเพื่อบอกว่าชาติต้องเป็นแบบนั้นในปัจจุบันและอนาคต ศูนย์กลางของความเป็นชาติจึงอยู่ที่การจรรโลงสถาบันและอำนาจแบบเก่าตลอดเวลา

ในการชุมนุมปี 2563 ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากบอกว่าพวกเขามารวมตัวเพราะรู้สึกว่าประเทศไม่มีอนาคต คนรุ่นใหม่อยากอยู่นอกประเทศมากกว่าอยู่ในประเทศต่อไป

พูดอีกแบบคืออดีตที่เคยเป็นนั้นสร้างปัจจุบันที่ดีไม่ได้ และคนรุ่นนี้ไม่เชื่ออีกแล้วว่าการจรรโลงสังคมแบบเดิมจะทำให้เกิดอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน

 

ปี 2567 คือปีที่แกนนำการเคลื่อนไหวปี 2563 ถูกขังไปแล้วและจะถูกตัดสินขังคุกอีกจำนวนมาก

สารที่ผู้มีอำนาจบอกกับสังคมไทยคือพวกเขาพร้อมจับอนาคตมาขังคุก กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรมและกลไกการปกครองอยู่ข้างผู้มีอำนาจ และความต้องการเห็นไทยเปลี่ยนอย่างสากลโลกคือความผิดในสังคมไทย

Breaking The Cycle มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า อำนาจ ศรัทธา อนาคต แต่ก็อย่างที่ทุกคนเห็นว่าชื่อภาษาไทยทำให้กระอักกระอ่วนเพราะไม่รู้ว่า “อำนาจ” จะอยู่ร่วมกับ “ศรัทธา อนาคต” อย่างไรจนไม่มีใครเรียกชื่อภาษาไทยของหนังเรื่องนี้เลย

ทนายอานนท์ในชุดนักโทษล่ามโซ่ตื่นเต้นทันทีที่ผมเล่าถึงหนังเรื่องนี้จนเป็นเรื่องที่เราคุยเยอะที่สุด และยิ่งตื่นเต้นขั้นร้องโอ้โหเมื่อผมให้เขาเห็นภาพคนดูแน่นโรงรอบต่างๆ

และจบท้ายด้วยการพึมพำในห้องพิจารณาคดีว่าประเทศเรายังมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง

 

สําหรับผมแล้ว ขณะที่อานนท์ซึ่งต้องการสร้างประเทศสู่อนาคตใหม่กลับถูกรัฐจับขังจนอาจติดคุกตลอดชีวิต ความต้องการเห็นประเทศไทยก้าวไกลไปสู่สู่อนาคตใหม่กลับโบยบินสู่อิสรภาพและจนกลายเป็น “ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม” หรือ “ซอฟต์เพาเวอร์” รูปแบบต่างๆ ที่ไม่มีใครควบคุมได้เลย

นักทฤษฎีการเมืองฝั่งยุโรปบางคนพูดไว้นานแล้วว่า “รัฐ” ควบคุมประชาชนผ่าน “กลไกทางกฎหมาย” กับ “กลไกทางอุดมการณ์” และถึงแม้ชะตากรรมที่เกิดกับอานนท์จนคนรุ่นเดียวกันคือภาพสะท้อนกลไกทางกฎหมายที่ควบคุมประชาชน Breaking the Cycle คือภาพสะท้อนความพังพินาศของกลไกทางอุดมการณ์

ศาลรัฐธรรมนูญเคยบอกว่าพรรคการเมืองบางพรรคควรถูกยุบเพราะ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ระบอบการปกครอง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันคืออุดมการณ์ที่รองรับการปกครองแบบทุกวันนี้ก็กำลังถูก “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” โดย “ซอฟต์เพาเวอร์” แบบประชาธิปไตยอย่างที่ระบอบกำลังจะไม่มีรากฐานเหลือเลย

การต่อสู้ปี 2563 คือ “ขบวนการ” ที่มีเสาหลักอยู่บนการปฏิวัติทางความคิดซึ่งการขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่ยังไม่มีการชุมนุม และจะมีต่อแม้การชุมนุมยุติแล้ว การประท้วงและแสดงออกทางออนไลน์วิธีต่างๆ คือการระเบิดของความคิดใหม่ซึ่งถูกกดทับจนแรงต้านพุ่งทะลักออกมาในรูปการชุมนุมและการต่อสู้ทางวัฒนธรรม

ในแง่นี้ อานนท์และขบวนการปี 2563 เป็นการปฏิวัติซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามกับระบบการศึกษา, เพศวิถี, กฎหมาย 112, ระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ จนทำให้สังคมไทยหลังปี 2563 เกิดความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างสมรสเท่าเทียม, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, แก้ 112 หรือแม้แต่การตรวจสอบงบประมาณสถาบัน

 

พูดก็พูดเถอะ ถ้าไม่มีการลงถนนและการแสดงออกทางออนไลน์อย่างกว้างขวางในปี 2563 การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจไม่เกิด หรือถ้าเกิดก็อาจไม่สำเร็จอย่างในปัจจุบัน

หากมองความเคลื่อนไหวปี 2563 โดยเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ประเทศไทยช่วงปี 2563 มีบรรยากาศคล้ายสังคมไทยช่วงก่อนและหลัง 2475 ที่ “สำนึกใหม่” เรื่องสิทธิ, ความเสมอภาค และความเท่าเทียมปรากฏทั่วไปหมดทั้งในหนังสือพิมพ์, เรื่องสั้น, บทละคร และแม้แต่นวนิยาย

แกนหลักของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือความเชื่อว่าคนเท่ากันจนประเทศไม่ได้เป็นของคนกลุ่มเดียวอย่างที่ถูกหลอกลวง สังคมไทยช่วง 2475 จึงเต็มไปด้วย “ซอฟต์เพาเวอร์” เรื่องคนเท่ากัน, ความเสมอภาค, ความเป็นคนไม่ได้มาจากชาติกำเนิด ฯลฯ โดยที่คนพร้อมจ่ายเงินซื้อสื่อที่พูดแบบนี้อย่างเต็มใจ

ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนขายดีของยุคอย่าง “ศรีบูรพา” และ “มาลัย ชูพินิจ” สิ่งที่คนเหล่านี้มีเหมือนกันคืองานเขียนที่สอดแทรกด้วยหลักการคนเท่ากันและความเป็นคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด และถึงแม้คนเหล่านี้จะไม่ได้ใช้คำตรงเหมือนคนรุ่นจิตร ภูมิศักดิ์ ที่พูดถึง “โฉมหน้าศักดินา” แต่เนื้อหาก็มีด้านที่ไม่ต่างกัน

เมื่อใดที่คนในสังคมพร้อมจ่ายเงินเพื่อบริโภคสื่อที่พูดเรื่องคนเท่ากัน เมื่อนั้นก็แปลว่าสังคมต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจนความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสินค้าที่ขายได้แล้ว

และก็แปลว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและอุดมการณ์ในสังคมเคลื่อนตัวมาสู่จุดที่พร้อมเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจริงๆ

 

สังคมไทยหลัง 14 ตุลาฯ ก็มีบรรยากาศของการตื่นตัวทางความคิดแบบนี้คล้ายกัน การขับไล่เผด็จการทหารตามมาด้วยความตื่นตัวของแนวคิดสิทธิสตรี, สหภาพแรงงาน, สังคมนิยม, ปฏิรูปการศึกษา, ปฏิรูปคณะสงฆ์, ปฏิรูปที่ดิน, ยกเลิกค่าเช่านาไม่เป็นธรรม ฯลฯ จนเรื่องพวกนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ทุกครั้งที่ประเทศเกิดความขัดแย้งระหว่าง “ความคิดใหม่” และ “ระบอบเก่า” ที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการปะทะที่มักจบด้วยการปะทุของความคิดใหม่ครั้งใหญ่เสมมอ และสังคมไทยในช่วงหลังปี 2563 ก็แสดงให้เห็นวงจรนี้ด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ประเทศไทยหลังปี 2563 กำลังเคลื่อนตัวสู่จินตนาการของความเป็นชาติแบบใหม่ๆ ที่เดินหน้าสู่ความเชื่อเรื่องคนเท่ากัน ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ และความหลากหลาย ฯลฯ และทั้งหมดนี้คือประตูสู่ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่มากกว่าเรื่องสกัดก้าวไกลเป็นรัฐบาล

สำนึกเรื่องชาติแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปคือแผ่นดินไหวทางความคิดที่จะทำให้ประชาธิปไตยไทยเดินหน้าสู่กระบวนการที่ใครเท่าทันก็ชนะยาวไปเลย