ผู้เชี่ยวชาญเตือนภัย ไข้หวัดนกอาจระบาดใหญ่ในคน

(Photo by aaron tam / AFP)

ไข้หวัดนก หรือเอเวียน อินฟลูเอนซา (Avian influenza) เป็นโรคระบาดในสัตว์ปีกที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอช5 เอ็น1 (H5N1) พบครั้งแรกที่ฟาร์มสัตว์ปีก มณฑลกวางตุ้งในประเทศจีน เมื่อปี 1996

ไข้หวัดนกนอกจากจะสร้างปัญหาให้แก่อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างหนักแล้ว ยังก่อให้เกิดความกังวลมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่ามันสามารถแพร่มาสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือตัวสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย จนทำให้เกิดการเสียชีวิตรายแรกขึ้นที่ฮ่องกงเมื่อปี 1997

ปี 2005 นักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อแพร่กระจายไปยังนกป่า จนทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และในที่สุดก็พบเมื่อปี 2020 ว่าเกิดสายพันธุ์ใหม่ของไข้หวัดนกที่สามารถคงอยู่ได้ในประชากรนกป่าตลอดทั้งปี

ผลก็คือ ไข้หวัดนกระบาดเป็นวงกว้างออกไปมากขึ้นทุกที ปี 2021 ระบาดมาถึงอเมริกาเหนือ ปีถัดมาตรวจพบในภาคพื้นอเมริกาใต้ ต่อมาก็ในยุโรป เรื่อยไปจนถึงแม้กระทั่งในทวีปแอนตาร์กติกาหรือขั้วโลกใต้

 

เมื่อไม่นานมานี้ ทางการไทยประกาศให้ไข้หวัดนกเป็นโรคต้องเฝ้าระวัง หลังพบมีการแพร่ระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยเฉพาะที่กัมพูชาพบผู้ป่วย 4 ราย เสียชีวิตไป 1 ราย

ในเวลาเดียวกันนั้น ไข้หวัดนกก็แพร่ระบาดอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา ที่น่ากังวลก็คือ โรคนี้ไม่ได้ระบาดจำกัดอยู่แค่เฉพาะในสัตว์ปีกอีกต่อไป แต่ยังแพร่ไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลากหลายชนิด ตั้งแต่วัว แมว หนู เฟอร์เรต ไปจนถึงแมวน้ำช้าง

นอกจากนั้นยังสามารถยืนยันได้ว่า เชื้อเอช5 เอ็น1 จากปศุสัตว์อย่างเช่นวัว สามารถแพร่สู่คนได้ เพราะพบผู้ป่วย 3 รายที่ติดเชื้อจากการสัมผัสกับปศุสัตว์เหล่านั้นโดยตรง

ที่สำคัญก็คือ หนึ่งในจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้พบว่าเกิดจากการติดเชื้อในช่องทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้โอกาสการแพร่ระบาดผ่านการไอหรือจามมีมากยิ่งขึ้น

พัฒนาการของการแพร่ระบาดต่างๆ เหล่านี้ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายวิตกกังวลมากขึ้นตามลำดับ

เพราะสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งของไวรัส นั่นคือสามารถกลายพันธุ์ได้ไม่หยุดหย่อนเพื่อปรับปรุงตัวมันเองให้สามารถยังชีพอยู่ได้ในตัวพาหะที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

เกรงกันว่า สักวันหนึ่ง เอช5 เอ็น1 จะกลายเป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ และกลายเป็นการระบาดใหญ่ หรือแพนเดมิกไปทั่วโลกอีกครั้ง แม้ว่าทางศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกาจะยังคงยืนยันว่าอัตราเสี่ยงเช่นนี้ยังคงต่ำอยู่มากก็ตามที

 

โรเบิร์ต เรดฟีลด์ อดีตผู้อำนวยการซีดีซี ระหว่างปี 2018-2021 ถึงกับออกมาให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาผ่านรายการโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาว่า การแพร่ระบาดใหญ่จากคนสู่คนของโรคไข้หวัดนกนั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น เลี่ยงไม่ได้

เรียกได้ว่า ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เวลาไหนเท่านั้นเอง

ปัญหาใหญ่ที่เรดฟีลด์หยิบยกเรื่องนี้ออกมาเตือนกันตรงๆ ก็คือ ไข้หวัดนกในคนนั้น เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงระหว่าง 25-50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ทั้งนี้เป็นอัตราการเสียชีวิตที่รวบรวมจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบตั้งแต่ปี 1996 เรื่อยมา รวมแล้วราว 900 คน

เพื่อเปรียบเทียบให้เข้าใจภาพรวมได้ชัดเจนมากขึ้น จากเหตุการณ์การระบาดใหญ่ครั้งล่าสุด โรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากทั่วโลกนั้น มีอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยเพียง 1.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

เมื่อต้นเดือนนี้ องค์การอนามัยโลกเพิ่งรายงานถึงกรณีผู้ป่วยที่น่าวิตกรายล่าสุด เป็นชายวัย 59 ปีจากเม็กซิโก ที่เกิดติดเชื้อ ล้มป่วย และเสียชีวิตไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลกระบุข้อสังเกตสำคัญไว้ 2 ประการ หนึ่งคือ ชายผู้นี้ไม่เคยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือสัตว์ใดๆ โดยตรงมาก่อนเกิดล้มป่วย

ประการถัดมาก็คือ เชื้อที่ตรวจพบในร่างกายผู้ป่วยรายนี้เป็นอีกสายพันธุ์ คือเป็นเอช5 เอ็น2 ซึ่งไม่เคยตรวจพบในมนุษย์คนใดในโลกนี้มาก่อนเลย

 

นิราฟ ชาห์ รองผู้อำนวยการซีดีซี ให้ความเห็นไว้ว่า ความเสี่ยงที่โรคติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นกระจัดกระจาย 1 หรือ 2 ราย จะวิวัฒนาการไปเป็นการแพร่ระบาดที่สร้างความกังวลในระดับระหว่างประเทศได้นั้น มีไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันเช่นกันว่า ที่ผ่านมาทุกคนก็ได้เห็นกันเป็นประจักษ์แล้วว่า ไวรัสสามารถแพร่ระบาดออกไปทั่วโลกได้รวดเร็วแค่ไหน ชนิดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะไล่ตามได้ทัน “นี่แหละคือความเสี่ยง ซึ่งเราจำเป็นต้องจำให้ขึ้นใจ”

หลุยส์ มอนคลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ที่เป็นนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญไข้หวัดนก ตั้งคำถามเป็นเสมือนการเตือนเอาไว้เช่นกันว่า เรากำลังนั่งดูจุดเริ่มต้นกันอยู่ใช่หรือไม่? เราได้เห็นมันกระโดดข้ามจากสัตว์ชนิดหนึ่งไปสู่สัตว์อีกชนิด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอถึงโอกาสเหมาะก็เริ่มต้นการแพร่ระบาดใช่หรือเปล่า?

หรือไข้หวัดนกจะเป็นเหมือนโควิด-19 ที่เริ่มต้นจากกลุ่มก้อนผู้ป่วยขนาดเล็กเพียงไม่กี่ราย แล้วก็ระบาดอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว?