ผลสอบ ‘ศึกนายพลสีกากี’ ‘เศรษฐา’ ผู้ชี้ชะตา ‘2 บิ๊ก’ กังขา ‘ชนักติดหลัง’ ทั้งคู่

บทความโล่เงิน

 

ผลสอบ ‘ศึกนายพลสีกากี’

‘เศรษฐา’ ผู้ชี้ชะตา ‘2 บิ๊ก’

กังขา ‘ชนักติดหลัง’ ทั้งคู่

 

ชะตากรรมของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนที่ 14 ได้คืนกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นอยู่กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

หลังจากนายกฯ ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม เด้งทั้ง “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ พร้อม “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

มูลเหตุจาก “2 นายพล” มีความขัดแย้งจนปรากฏต่อสาธารณะ ถึงขนาดพูดกันว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ทุ่งปทุมวัน

แล้วตั้งคณะกรรมการสอบทั้งคู่ มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร. และนายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ อดีตรองอัยการสูงสุด

ทั้งนายฉัตรชัย และ พล.ต.อ.วินัย เป็น ก.ตร.ด้วย ทำให้รู้ตื้นลึกหนาบางในอาณาจักรโล่เงินเป็นอย่างดี

ปรากฏกรอบเวลาการสอบสวน 60 วัน แล้วขยายเพิ่มอีก 30 วัน ได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว

 

เริ่มมูลเหตุที่มา “ตำรวจตัดตำรวจ” สรุปได้ว่า สารตั้งต้นคือ คดี “ผู้การอ๊อด” พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ ผบก.ภ.จ.ชลบุรีขณะนั้น และนายตำรวจอีก 7 คน ถูกกล่าวหารีดทรัพย์เว็บพนันออนไลน์ “Foxbet 168” จากกลุ่มของ “เป้” นายธนินวัฒน์ อุดมเชาวเศรษฐ์ และพวกรวม 6 คน กว่า 140 ล้านบาท

ตามด้วยคดีอุกอาจ ยิง “สารวัตรแบงก์” ที่สำนักงานกำนันนก นครปฐม โยงไปถึง “ทีมตำรวจทางหลวง” ซึ่งใกล้ชิดกับเบอร์ 1 กรมปทุมวัน ที่ตอนแรก “บิ๊กโจ๊ก” คุมคดีเอง และจ่อจะเอาผิด “ผู้กำกับเบิ้ม” น้องรักของ “พี่ต่อ” ถึงแม้นยิงตัวตายไปแล้ว แต่แล้วมีคำสั่งโอนคดีให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางทำ

ถัดมาว่ากันว่าเป็นการ “เอาคืน” ด้วยปฏิบัติการตำรวจไซเบอร์ และคอมมานโด ค้นบ้านด้านหลังสโมสรตำรวจตอนเช้าตรู่วันที่ 25 กันยายน 2566 ปรากฏภาพ “รอง ผบ.ตร.หนุ่ม” อยู่ในสภาพชุดลำลอง เสื้อยืดสีขาว กางเกงบ๊อกเซอร์ขาสั้น สวมถุงเท้า

และวันเดียวกันนั้นตำรวจไซเบอร์ได้ระดมกำลังกวาดล้างเครือข่ายแก๊งพนันออนไลน์ เข้าค้นรวม 30 จุดใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, เพชรบุรี, ขอนแก่น, อุดรธานี และสระบุรี

จนกลายมาเป็น “สารตั้งต้น” นำมาสู่การดำเนินคดีเว็บพนันออนไลน์ของ ‘มินนี่’ และเครือข่าย 53 คน รวมทั้งนายตำรวจใกล้ชิด “บิ๊กโจ๊ก” อีก 8 คน ต่อมาจับกุมเครือข่ายเว็บพนัน BNK ที่ สน.เตาปูน กทม. และ สภ.คอหงส์ จ.สงขลา

แล้วนำมาสู่ บช.น. เสนอศาลอนุมัติออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ข้อหาฟอกเงินและสมคบฟอกเงินเว็บพนัน

 

คณะกรรมการสอบสรุปรอบแรกว่า เชื่อว่า “บิ๊กโจ๊ก” มีส่วนร่วมในการกระทำผิดจริง

โดยเป็นการฟอกเงิน ที่พบเส้นทางการเงินจากเว็บพนันออนไลน์มายังบัญชีม้าและเชื่อมโยงมายัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

จึงเชื่อว่า “นายพลหนุ่ม” รู้และได้รับประโยชน์บางส่วนจากการกระทำดังกล่าว

นอกจากนี้ คดีถูกกล่าวหาพัวพันฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ได้ส่งไป ป.ป.ช.แล้ว

ขณะที่คู่กรณีก็มีเงินจากเว็บพนันไหลเข้ามาที่ญาติพี่น้องเช่นกัน

และกรณีที่ ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ผบ.ตร. เรื่องไม่ได้แจ้งบ้านที่ประเทศอังกฤษด้วย

คณะกรรมการสอบจึงเห็นว่า พฤติกรรมของบิ๊กต่อ เข้าข่ายแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

เพราะฉะนั้น ในทางคดีอาญา ก็เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.จะดำเนินการ

เช่นเดียวกับบิ๊กโจ๊ก ก็ให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญาตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการไม่ชี้ใครถูก-ผิด อยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา

ที่สำคัญทีมสอบ 3 อรหันต์ ได้สอบเสร็จแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์จะอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีต่อ จึงเสนอส่งคืนต้นสังกัดคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่ทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจน ขึ้นอยู่กับนายเศรษฐาจะเคาะอย่างไร

 

ท่ามกลางกระแสข่าว บิ๊กต่อได้คืนสู่ “เก้าอี้พิทักษ์ 1” ก่อนเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนนี้

ขณะที่บิ๊กโจ๊กนั้น หลังจากมีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“ปม” การดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน

วิเคราะห์กันว่าเป็นคุณกับ “นายพลหนุ่ม” บ้างก็วิจารณ์เลยเถิดไปว่า เพราะ “สงขลาคอนเน็กชั่น” ด้วยหรือไม่

ด้วยเหตุ นายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 2 สวมหมวก “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ด้วย เป็นคนพื้นเพบ้านเกิดเดียวกันกับ “รองโจ๊ก”

ขมวด “ปม” หนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ว่า ข้อ 1, 2 เป็นการตอบข้อหารือ

นั่นคือ 1. นายกฯ จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รอง ผบ.ตร. พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

2. กรอบระยะเวลาเป็นดุลพินิจนายกฯ ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป

ส่วนข้อ 3 นั้น เป็นข้อสังเกตว่า “การสั่งให้ตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้นและความจำเป็นที่ต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม”

อย่างไรก็ตาม มีการหยิบยกคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.17/2559

ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานของรัฐ มิได้มีผลให้หน่วยงานต้องปฏิบัติ

การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาย่อมเป็นไปตามดุลพินิจและนโยบายของแต่ละหน่วยงาน

ดังนั้น กรณี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ลงนามให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น

เจ้าตัวได้อุทธรณ์คำสั่งไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) แล้วมีกรอบเวลาทั่วไป 120 วัน

เพราะฉะนั้น การที่จะให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กลับเข้ารับราชการได้หรือไม่ อยู่ที่ “ปม” การวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.

 

หาก ก.พ.ค.ตร.ชี้ว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย รอง ผบ.ตร.ก็สามารถกลับเข้ารับราชการได้

แต่หาก ก.พ.ค.ตร.ยกอุทธรณ์ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ก็สามารถฟ้องศาลปกครองสูงสุดต่อไปได้

จับตาแรงกระเพื่อมหลังจากนี้ ถ้ามีข้อกังขาเคลือบแคลงว่าฝั่งตัวเองได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกันหรือไม่

ดีกรีอุณหภูมิความขัดแย้งในองค์กรยังเหมือนเดิม