วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. 67 ระบบที่ถูกออกแบบมาให้ฮั้วในตัวเอง

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

สัปดาห์ก่อนผมเขียนบทความเรื่อง “ปริศนานครหลวงสระบุรี” ค้างไว้ เดิมตั้งใจว่าสัปดาห์นี้จะลงตอนจบ แต่เห็นว่าสัปดาห์หน้าเป็นการเลือกสรร ส.ว.รอบสุดท้ายในระดับประเทศแล้ว หลังจากนั้นเรื่อง ส.ว.ก็อาจไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่ เลยขอลัดคิวเอางานที่เขียนถึงการเลือกสรร ส.ว.มาลงในตอนนี้เลย ส่วนเรื่องนครหลวงสระบุรีไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วน เดี๋ยวค่อยเอามาลงภายหลังก็ได้

เรื่อง ส.ว.นี้มาจากการเข้าไปติดตามสังเกตการณ์พฤติกรรมของกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.ในจังหวัดภาคกลางอย่างใกล้ชิด โดยเลือกมา 1 อำเภอ แล้วตามติดพวกเขาไปเรื่อยๆ จนถึงในระดับประเทศ ทำให้แบ่งลักษณะของผู้สมัครออกมาได้ว่ามี 3 ประเภท ดังนี้

(1) จัดตั้งกลุ่มใหญ่ (2) จัดตั้งกลุ่มเล็ก และ (3) มาคนเดียว

 

1.ประเภทแรก “จัดตั้งกลุ่มใหญ่” เป็นแบบจัดตั้งกันมาเป็นกลุ่มจำนวนหลายคน ซึ่งมีผู้มีอิทธิพลรายใหญ่เป็นผู้รวบรวมคนให้ได้จำนวนมาก ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เข้ามาเพื่อการันตีการเข้ารอบของผู้สมัครบางคน โดยคนในกลุ่มจะมีพฤติกรรมการเลือกแบบพลีชีพ คือเลือกคนอื่นทั้งสองเบอร์ แต่ไม่เลือกตัวเองเลย

ผู้สมัครแบบนี้ไม่ได้ออกค่าสมัครเอง และมีค่าเสียเวลาเพิ่มให้ด้วย

เมื่อผ่านรอบแรกไปแล้ว ผู้สมัครประเภทนี้ส่วนใหญ่จะตกรอบ แต่ก็ได้ส่งคนที่วางเอาไว้เข้าไปสู่รอบสองแล้ว

เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ

 

2.แบบที่สอง “จัดตั้งกลุ่มเล็ก” คือชวนกันมาไม่กี่คน พวกนี้จะมากันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีตั้งแต่สองคนแบบคู่บัดดี้ สามคน สี่คน ประมาณนี้ ทั้งหมดจะรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีมาก่อนแล้ว บางคนจ่ายค่าสมัครเอง บางคนก็ไม่ได้จ่าย

พูดง่ายๆ คือการรวมตัวจัดตั้งกันมาจากความสนิทสนม ทำให้ตกลงกันง่าย และตกลงกันได้ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนถึงวันเลือกในระดับอำเภอแล้ว

ซึ่งในระดับนี้ก็มีผู้สมัครไม่มาก บางจังหวัดมีผู้สมัครไม่ครบทุกกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มักมีจำนวนไม่ครบ คือมีไม่ถึงสามคนด้วยซ้ำ แกนนำของผู้สมัครประเภทนี้จะเป็นคนบริหารจัดการเสียง ทำให้มีคะแนนตุนไว้ก่อนเป็นการยืนพื้น

หลังจากวันปิดรับสมัครก็ค่อยตระเวนขอคะแนนเพิ่มเติมจากผู้สมัครกลุ่มอื่นในอำเภอเดียวกันเพื่อเป็นหลักประกันในรอบไขว้

 

3.แบบที่สาม “ข้ามาคนเดียว” ผู้สมัครประเภทนี้จ่ายค่าสมัครเอง และไม่ค่อยรู้จักใครมากนัก แต่เมื่อสมัครไปแล้วก็จะเกิดการเข้าไปรวมกลุ่มกับพวกที่เกาะกลุ่มอยู่แต่เดิม

วิธีหลักในการเข้าไปรวมกลุ่มก็คือทางแอพพลิเคชั่นไลน์ พื้นที่หลักในการพูดคุยคือไลน์กลุ่ม จากนั้นจะมีการแยกทักไปทางไลน์ส่วนตัว

พอใกล้วันเลือกก็มีนัดเจอกันสองต่อสอง และนัดกันแบบเป็นหมู่คณะด้วย

ผู้สมัครประเภทนี้แม้มาคนเดียวตอนสมัครก็จริง แต่ในภายหลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาชีพและกลุ่มพื้นที่ ซึ่งถ้าเจรจากันรู้เรื่องก็มีโอกาสเข้ารอบลึกได้

ผู้สมัครแบบมาคนเดียวหากไม่สามารถตกลงกับผู้สมัครคนอื่นให้ลงตัวได้จะถูกบล็อกออกไปเรื่อยๆ ทีละคน วิธีการบล็อกก็ง่ายดายคือคนในกลุ่มจับมือกันให้เรียบร้อยว่าเสียงโหวตของแต่ละคนจะไปลงให้ใคร คนที่ไม่ได้รับการจัดสรรคะแนนจากกลุ่มจะตกรอบอย่างรวดเร็วในรอบแรกของระดับอำเภอ

ดังนั้น ที่ฝันหวานกันว่าผู้สมัครจะเลือกคนจากโปรไฟล์ ความรู้ ความสามารถ หรือเลือกจากชื่อเสียง ดี เด่น ดัง อะไรที่พูดๆ กันจึงไม่เป็นความจริง

เพราะในทางปฏิบัติไม่มีใครใช้เหตุผลไตร่ตรองถึงประวัติของผู้สมัครคนอื่น ไม่สนใจโปรไฟล์ใครทั้งสิ้น สนใจแต่เพียงว่าตกลงกันมาอย่างไร ใครต้องเลือกให้ใคร

ซึ่งวิธีการเตี๊ยมแบบนี้ไม่ได้มีแค่พูดคุยเฉยๆ แต่มีการนัดหมายซักซ้อมลงคะแนน แจกโพย หรือจำลองสถานการณ์ในวันจริงตามสถานที่ซึ่งแกนนำกลุ่มจัดเตรียมไว้

 

กลไกของการตกลงกันคือ “แลกเปลี่ยนคะแนน” ตลอดจนการสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งต่างๆ เมื่อตนเองได้เป็น ส.ว.แล้ว รวมไปถึงการหยิบยื่นเงินทองและผลประโยชน์ ซึ่งเกือบทั้งหมดทำแบบปิดลับเป็นการส่วนตัว จึงแทบไม่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่ มีแต่เพียงคำบอกเล่าจากใครคนใดคนหนึ่งซึ่งก็ไม่เพียงพอไปมัดตัวคนเหล่านั้นได้ ประกอบกับตัวผู้เล่าเองก็เป็นผู้ร่วมขบวนการ ดังนั้น จึงไม่อยากให้เรื่องแดง เพราะจะเดือดร้อนไปด้วย

เมื่อสนามแข่งจริงๆ อยู่นอกคูหา การเลือกในวันจริงระดับอำเภอจึงรวดเร็วและเรียบร้อย เนื่องจากสงครามได้จบสิ้นมาตั้งแต่ก่อนถึงวันลงคะแนน 9 มิถุนายนแล้ว

การที่มีผู้สมัครน้อยทำให้การจัดสรรไกล่เกลี่ยคะแนนค่อนข้างราบรื่น แต่ปัญหาจะมากขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อมาถึงระดับจังหวัด

เพราะในขณะที่ระดับอำเภอมีบางคนเข้ามาเพื่อเลือกคนอื่น แต่ระดับจังหวัดผู้สมัครทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการเข้ารอบด้วยกันทั้งสิ้น การยอมสละคะแนนไปให้คนอื่นจึงเป็นไปได้ยากกว่าเดิมมาก

นอกจากนี้ วิธีการ “วิ่งเต้น” เพื่อสร้างพันธมิตรในการแลกเปลี่ยนคะแนนกันก็ยากเป็นทวีคูณด้วย ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น พื้นที่ปฏิบัติการกว้าง

ยิ่งจังหวัดไหนใหญ่ก็ยิ่งวิ่งไปมาหาสู่กันได้ลำบากกว่าจังหวัดเล็ก แถมยังไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน ไม่ได้มีโอกาสคุ้นหน้าคุ้นตากันในพื้นที่เล็กและวงสังคมแคบๆ แบบระดับอำเภอ

ผลจากความไม่แน่นอนของข้อตกลงระหว่างกัน ประกอบกับความปรารถนาจะเข้ารอบ ทำให้เกิดเหตุการณ์ “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” เป็นจำนวนมากในระดับจังหวัด คือหักหลังกัน ไม่มาตามสัญญา บอกว่าจะกาแต่กาไม่จริง

 

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่าระบบการเลือกสรร ส.ว.แบบนี้ถูกออกแบบมาให้ฮั้วกันโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะกำหนดให้ผู้สมัครมีสิทธิเลือกในกลุ่ม 2 คะแนน โดยที่จะเลือกตัวเองหรือไม่ก็ได้ แต่ห้ามเลือกเบอร์เดียวซ้ำ 2 คะแนน วิธีการเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดมารองรับเลย ทำไมผู้สมัครจึงต้องเลือกตัวเองไปพร้อมกับเลือกคนอื่นด้วย แล้วทำไมผู้สมัครถึงเลือกตัวเองก็ได้ไม่เลือกก็ได้

ลองจินตนาการถึงการเลือกตั้งแบบปกติ เช่น การเลือก ส.ส. อบต. อบจ. เทศบาล ฯลฯ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนมี 1 เสียงเพื่อไปเลือกคนอื่นเท่านั้น แต่นี่กลับมี 2 เสียง เพื่ออะไร? ทำไมถึงไม่แยกระหว่างผู้สมัครกับผู้ลงคะแนนออกจากกันแล้วให้มีสิทธิลงคะแนน 1 เสียงแบบการเลือกตั้งปกติ

แต่ในเมื่อไปออกแบบระบบที่ไม่แยกระหว่าง “ผู้สมัคร” กับ “ผู้ออกเสียง” ออกจากกัน จึงทำให้เกิดผลที่ตามมาคือความขัดกันของผลประโยชน์หรือที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (conflict of interest) นั่นเอง

คือหากผู้สมัครลงคะแนนเสียงให้คนอื่น ตัวเองจะมีโอกาสเข้ารอบน้อยลง ดังนั้น คนตัดสินกับคนแข่งขันจะเป็นคนเดียวกันไม่ได้ ต้องออกแบบมิให้ “คนเลือก” กับ “คนที่ถูกเลือก” เป็นคนเดียวกัน

กติกาเช่นนี้หากทุกคนไม่รู้จักกันเลยและไม่ได้ตกลงอะไรมาก่อน วิธีเลือกที่ทำให้ตนมีโอกาสเข้ารอบมากที่สุดก็คือกาเบอร์ตัวเองเบอร์เดียวเท่านั้น ไม่เลือกใครเลยยกเว้นตนเอง

แต่หากปล่อยให้พูดคุยตกลงกันได้ก่อนวันเลือก ผู้ที่รวมตัวเป็นกลุ่มแล้วจัดสรรแลกคะแนนกันอย่างเป็นระบบจะเขี่ยพวกที่มาคนเดียวออกไปได้อย่างรวดเร็ว

 

สรุปก็คือระบบการเลือกสรร ส.ว. 2567 ที่คุยนักคุยหนาว่าสร้างมาเพื่อป้องกันการฮั้ว

กลับกลายเป็นการออกแบบให้ฮั้วโดยตัวระบบเองในทุกกระบวนการ

ซึ่งทำให้การชิงชัยเก้าอี้ ส.ว.ในระบบนี้ผู้สมัครจะต้องตกลงกันให้ได้คะแนนเสียงมาตั้งแต่ก่อนถึงวันเลือกแล้ว

เพราะฉะนั้นที่ประกาศปาวๆ ว่าไม่มีการฮั้วจึงไม่ใช่ความจริง ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้คำใดมาแทนเท่านั้นเอง

จะเป็นคำว่าตกลง จับมือ แลกเปลี่ยน พันธมิตร เตี๊ยม เพื่อน กอดคอ ผนึกกำลัง บัดดี้ ทีม ฯลฯ หรือคำอะไรก็แล้วแต่

เอาเข้าจริงๆ ในเวที ส.ว. 2567 พฤติการณ์เช่นนี้ก็มีความหมายเดียวกันทั้งนั้น