ไทย ‘สนาม’ การต่อต้านญี่ปุ่น ขององค์กรคนจีนในไทยช่วงสงคราม (จบ)

ณัฐพล ใจจริง

บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในไทย

ความเคลื่อนไหวของคนจีนต่อต้านญี่ปุ่นผ่านพรรคคอมมิวนิสต์จีนในไทยนั้น นำโดยหลิวซู่สือ คูกิบ และหลี่ฮวด ได้ก่อตั้งพันธมิตรปลดแอกและต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นแห่งชาติขึ้น หรือ “ข้างเหลียน” หรือ “ฮั่วคั่ง” บ้างก็เรียก “สมาคมปล่อยมีด” นั้น (มูราซิมา, 2539, 120) ซึ่งมีสมาชิกเป็นกรรมกร นักเรียน สตรี พ่อค้าและปัญญาชน (Eiji Murashima, 2002, 194; เออิจิ มูราซิมา, 2541, 127)

สำหรับกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในไทยดำเนินการผ่านสมาคมลับชื่อ “ข้างเหลียน” เช่น เรี่ยไรเงิน ช่วยตัดเย็บเสื้อผ้าส่งกลับไปให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน

การส่งชาวจีนโพ้นทะเลกลับไปรับใช้ชาติผ่านกองทัพที่ 4 ใหม่ ที่มณฑลฮกเกี้ยน

ส่งสมาชิกข้างเหลียนไปประจำการที่กองพลลู่ที่ 8 ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่หยานอัน มากกว่า 300 คน

รวมทั้งมีมาตรการลงโทษพ่อค้าจีนทรยศที่ละเมิดการคว่ำบาตรทำการค้ากับญี่ปุ่นด้วยความรุนแรง

กิจกรรมคว่ำบาตรญี่ปุ่นของข้างเหลียนใช้ความรุนแรงมากกว่ากลุ่มก๊กมินตั๋งโดยเปรียบเทียบ เพราะข้างเหลียนใช้วิธีบังคับเรี่ยไรเงิน และบางครั้งถึงขั้นทำร้ายเอาชีวิตก็มี (มูราชิมา, 2539, 124-129)

-ภาพสารวัตรทหารญี่ปุ่นควบคุมชาวจีนในประเทศจีน เครดิตภาพ : asiamedals.info

วิธีการกำจัดพ่อค้าจีนผู้ทรยศนั้น เมื่อข้างเหลียนได้รับข้อมูลพ่อค้าทรยศแล้ว จะส่งจดหมายไปเตือนพ่อค้า

ในจดหมายจะระบุวันเดือนปี ชนิดของสินค้า ท่าเรือ สถานที่ตั้งโกดังและเครื่องหมายการค้าของพ่อค้า มีการกำหนดให้พ่อค้าลงประกาศขอขมาการกระทำนั้นลงในหนังสือพิมพ์ภายใน 3 วัน และเสียค่าปรับตามคำเตือน

จากหลักฐานในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียวของเดือนตุลาคม 2480 นั้นมีพ่อค้าถูกทำร้ายไปถึง 7 คน ทำให้พ่อค้าจีนต่างๆ หวาดกลัวในการค้าขายกับญี่ปุ่นมาก (มูราชิมา, 2539, 128-129)

ความรุนแรงจากการทำร้ายพ่อค้าจีนทำให้ตำรวจไทยพยายามปราบปรามข้างเหลียนเมื่อปี 2481 ตำรวจจับกุมชาวจีนได้ถึง 22 คน (มูราชิมา, 2539, 130-131)

นอกจากข้างเหลียนจะเป็นองค์กรลับทำการลงโทษพ่อค้าจีนของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ยังมีอีกหลายองค์กรลับที่ดำเนินการลงโทษพ่อค้าจีนทรยศทำนองนี้อีกด้วย องค์กรเหล่านี้ บ้างสังกัดกับนายพลไต้ลี่ หัวหน้าตำรวจลับแห่งรัฐบาลเจียงไคเช็กในจีน บ้างก็เป็นกลุ่มเยาวชนเลือดร้อนที่ไร้สังกัด บ้างก็เป็นองค์กรอาชญากรรมด้วย (มูราชิมา, 2539, 132-133)

ไม่แต่เพียงข้างเหลียนจะลงโทษพ่อค้าจีนทรยศต่อชาติจีนที่ทำการค้ากับญี่ปุ่นด้วยความรุนแรงนั้น แต่ในบางกรณียังพบว่า มีองค์กรอาชญากรอ้างชื่อข้างเหลียนไปแสวงหาผลประโยชน์เรียกค่าคุ้มครองแอบแฝงไปด้วย เช่น การใช้จดหมายเรียกค่าคุ้มครองจากพ่อค้าจีน หากไม่ให้จะลงโทษด้วยใช้กรรไกรขาเดียวแทง

อย่างไรก็ตาม ความตายของเหียกวงเอี่ยมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2482 นำมาสู่การปราบปรามแชชั่งจากตำรวจไทยอย่างกว้างขวางอีกด้วย (มูราซิมา, 2539, 140)

หลิวซู่สือ และคูกิบ แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ในไทย

ในเหล่าสมาคมลับคนจีนหัวรุนแรงนั้น “แชชั่ง” เป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากในการทำร้ายพ่อค้าจีน กลุ่มแชชั่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มกรรมกรหนุ่มจีนเลือดร้อนราว 30 คน ไม่มีอุดมการณ์การเมืองที่แน่ชัดเจนในการนำการกระทำ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกรรมกร โดยกลุ่มมีกิจกรรมให้การศึกษากันเอง ให้สมาชิกรักชาติจีนและเกลียดชังญี่ปุ่น ต่อมา มีสมาชิกขยายตัวมากถึง 3,000 คน (มูราซิมา, 2539, 133-135)

ควรบันทึกด้วยว่า ในปี 2483 มีรายงานจำนวนพ่อค้าจีนถูกสมาคมลับเหล่านี้สังหารไปราว 61 คน ทั้งนี้ พ่อค้าที่มีชื่อเสียงที่ถูกสังหาร เช่น อึ้งหยุกหลงล่ำซำ ตั้งฮองฮี้ ตั้งฮวงงี้ เป็นต้น (มูราชิมา, 2539, 141-142)

ในช่วงสงคราม ขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทยแปรสภาพไปเป็นสหสมาคมต่อต้านญี่ปุ่น มีวัตุประสงค์หลักในช่วงนั้นคือ การต่อต้านญี่ปุ่น และในช่วงปลายสงครามราว 2487 กลุ่มกรรมกรและหน่วยจัดตั้งองค์กรใต้ดินได้กว่า 30 กลุ่มที่มุ่งต่อต้านญี่ปุ่นเป็นสำคัญ (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2529, 152, 160)

ด้วยความรุนแรงและความอื้อฉาวของความเคลื่อนไหวของสมาคมลับชาวจีนเหล่านี้ ทำให้ ป.อินทรปาลิต นำเรื่องราวของกลุ่มสมาคมลับในช่วงเวลานั้น มาเขียนเรื่อง “ปราบสมาคมลับ” (2482) อันมีเรื่องราวสังเขปว่า กิมหงวน อันเป็นหนึ่งในตัวละครในพลนิกรกิมหงวน ผู้เป็นพ่อค้าจีนได้รับจดหมายข่มขู่จากสมาคม “จั้บโป้ยเฮียบ”

กิมหงวนหวาดหวั่นต่อการถูกกรรไกรขาเดียวทำร้ายมาก ด้วยความรักตัวกลัวตายของเขา พลและนิกร จึงได้เสนอต่อกิมหงวนว่า พวกเขาต้องการไปถล่มสมาคมลับนี้ให้ราบคาบ ดังเห็นได้จากภาพปกปราบสมาคมลับ (2482) จะเห็นกรรไกรขาเดียวแขวนอยู่หลายอันพร้อมทั้งบรรยากาศของสมาคมลับที่น่าสะพรึงกลัว

อย่างไรก็ตาม แม้นแชชั่งจะมีมาตรการทำร้ายพ่อค้าจีนที่ค้ากับญี่ปุ่นอย่างรุนแรง แต่ยังคงมีพ่อค้าจำนวนไม่น้อยที่ยังสมัครใจค้ากับญี่ปุ่นต่อไป

กองทัพญี่ปุ่นจัดนิทรรศการพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น

ในรายงานของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในช่วงนั้น รายงานว่า การปราบปรามชาวจีนที่ใช้ความรุนแรงของตำรวจได้รับการยกย่องจากหลายฝ่าย และทำให้ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นยุติลง

พ่อค้าจีนระดับนำได้แสดงความยินดีอย่างเปิดเผยที่ตำรวจปราบปรามคนหัวรุนแรงเหล่านั้นลง ทูตญี่ปุ่นขณะนั้น (2481) วิเคราะห์ว่า ความเชื่อถือของพ่อค้าจีนต่อเจียไคเช็กลดลงด้วยเหตุที่เจียงไคเช็กพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นในหลายศึก จนไม่อาจเป็นความหวังในการกู้ชาติจีนได้ (มูราชิมา, 2539, 142)

การใช้ความรุนแรงในการลงโทษพ่อค้าจีนที่ติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้พ่อค้าจีนเห็นว่า ความรุนแรงเหล่านั้นนำมาสู่ความเสียหายในทางการค้ามากจนพวกเขาไม่อาจทนได้ ประกอบกับความพ่ายแพ้ของเจียงไคเช็กที่พ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นเรื่อยๆ ประกอบกับเมื่อรัฐบาลไทยปราบปรามพวกหัวรุนแรงอย่างเด็ดขาด ทำให้กลุ่มคนจีนหัวรุนแรงส่วนหนึ่งเลือกเดินทางกลับไปรับใช้ชาติที่จีนแทน (มูราชิมา, 2539, 143)

ควรบันทึกด้วยว่า ชาวจีนในไทยส่วนใหญ่สมัยนั้นนิยมก๊กมินตั๋งมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ (มูราชิมา, 2539, 50)

ปกพลนิกรกิมหงวน ปี 2482, 2494 เครดิตภาพ : เพจสามเกลอ

การขัดขวางการผลิตของญี่ปุ่น
โดยพรรคคอมมิวนิสต์

จากบันทึกของเชาว์ พงษ์พิชิต สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยบันทึกว่า ในช่วงสงคราม กลุ่มกรรมกรไทยจีนในสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวขัดขวางการผลิตสินค้าปัจจัยยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตในพระนคร เช่น โรงงานตัดเย็บเครื่องแบบทหารกาเมยามา ใกล้แยกถนนพระราม 4 ตัดถนนสาทร โรงงานคิตาโชจิ ที่ถนนสุรวงศ์และใกล้โรงเรียนอุเทนถวายที่ผลิตเครื่องหนังและรองเท้าบู๊ต โรงงานฟูจิวารา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามตรอกจันทร์ที่ผลิตลูกระเบิดชนิดขว้าง

รวมทั้งอู่ต่อเรือฮิตากะ อู่ต่อเรือมิซูบิชิโชจิ โรงงานชาฮิตะที่ผลิตหม้อแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย กระบอกไฟฉายของทหาร โรงต่อเรือไม้แถวถนนตก โรงงานผลิตพานท้ายปืน โรงงานไม้ขีดไฟ โรงงานทำขนมปัง โรงงานซิอิ๊ว รวมทั้งโรงงานของชาวจีนที่รับจ้างกองทัพญี่ปุ่นผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยการสไตรก์หยุดงานประท้วง การเฉื่อยงาน และทำให้ยุทโธปกรณ์มีความบกพร่องในการใช้งาน เป็นต้น (เชาว์ พงษ์พิชิต, 2553, 232-241)

ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งแตกแยกออกเป็น 2 ค่าย ระหว่างวังจิงไวและเจียงไคเช็ก ต่อมาเจียงไคเช็กสามารถสร้างความร่วมมือกับเหมาเจ๋อตง ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เป็นแนวร่วมในการต่อต้านกับญี่ปุ่นได้อย่างเป็นทางการเมื่อ 2480

อย่างไรก็ตาม นโยบายของจอมพล ป. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหลายเรื่องทำให้เจียงไคเช็กไม่พอใจ และเจียงไคเช็กกล่าวว่า รัฐบาลจอมพล ป. ข่มเหงคนจีนทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายมาตลอดตั้งแต่ก่อนสงคราม (ปรีดี พนมยงค์, 2527, 162-171)

ภาพประกอบหัสนิยายของ ป.อินทปาลิต เรื่อง ปราบสมาคมลับ (2482)
ภาพสารวัตรทหารญี่ปุ่นตรวจค้นคนจีนในจีน เครดิตภาพ : asiamedals.info
ธงก๊กมินตั๋งและธงของพรรคคอมมิวนิสต์หลังบรรลุข้อตกลงแนวร่วมต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อ 2480