ข้าวไทยสู้โลกร้อน (3)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“อร่าม ทรงสวยรูป” อดีตช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ วัย 56 ปี ผันตัวเองเป็นชาวนาตามรอยบรรพบุรุษ เรียนรู้วิถีธรรมชาติ และยึดธรรมะเป็นที่มั่น ได้สร้างสุขทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งมีรายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ ยกระดับครอบครัวและยังช่วยสืบสานพันธุ์ข้าวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ราว 20 ปีที่แล้ว “อร่าม” รู้ตัวเองดีว่าสุขภาพกำลังย่ำแย่ มีโรคความดัน โรคหัวใจรุมเร้า แม้จะกินยาตามคำแนะนำของหมอ อาการก็ไม่ดีขึ้น พยายามหาอาหารที่ปลอดสารพิษมากินแทนยา แต่ไม่รู้ว่าอาหารที่ซื้อมานั้นปลอดสารพิษจริงหรือไม่

ตระกูล “ทรงสวยรูป” ทำนาอยู่แล้วจึงตัดสินใจทิ้งกรุงเทพฯ กลับไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อปลูกข้าวอินทรีย์มาเป็นอาหารแทนยา น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

พันธุ์ข้าวที่ปลูกมีชื่อเรียกเป็นภาษาเขมรว่า “ปะกาอำปึล” หรือข้าวดอกมะขาม เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองนิยมปลูกตามแนวตะเข็บชายแดนไทยกัมพูชาแถบจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอุดรมีชัยฝั่งกัมพูชา

ปะกาอำปึล เป็นข้าวเจ้าทนแล้ง ต้นสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีผลผลิตน้อยกว่าข้าวหอมมะลิ เหมาะปลูกตามหัวไร่ปลายนา ไม่ชอบน้ำขัง เมื่อสุกแก่เปลือกของข้าวสีเหลืองทองเหมือนดอกมะขาม เมล็ดยาว นำมาขัดขาวจะสีขาวเหมือนข้าวทั่วไป

หากสีเป็นข้าวกล้อง เมล็ดสีน้ำตาลออกเขียว เป็นพันธุ์ข้าวทนทานต่อโรคแมลง กลิ่นหอมเหมือนกับข้าวโพดข้าวเหนียว เนื้อสัมผัสของข้าวเหนียวอร่อยและหนึบ กรุบกรอบ

ข้าวกล้องปะกาอำปึล เป็นข้าวที่มีค่าน้ำตาลต่ำเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีจมูกข้าวและกาบ้าสูง มีโปรตีน มีวิตามินบี ธาตุเหล็ก มีธาตุอาหารที่ช่วยบำรุงผิวหนัง ระบบประสาท เสริมสร้างเม็ดเลือด รวมถึงจมูกข้าวเส้นใยอาหารสูง ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี

“อร่าม ทรงสวยรูป” กับทุ่งข้าวเกษตรอินทรีย์ที่บ้านเกิด จ.สุรินทร์

นาข้าว “ปะกาอำปึล” ของอร่ามมีอยู่ 12 ไร่ ปลูกปีละครั้ง ใช้น้ำฝนเท่านั้น ไม่พึ่งสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่ทนต่อโรค ใช้น้ำน้อย

กระบวนการปลูกข้าวของ “อร่าม” ใช้พันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ด้วยวิธีทันสมัย มีการควบคุมความชื้น ตากข้าวด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รักษาอุณหภูมิเพื่อให้พันธุ์ข้าวมีคุณภาพ

จากนั้นปรับหน้าดินใส่ปุ๋ยคอกซื้อมาจากเพื่อนบ้านเป็นมูลวัว มูลควายไม่ต้องเผาตอซังดินมีชีวิตเพราะมีจุลินทรีย์ มีไส้เดือน บรรดาแมลงทำให้ดินร่วนซุยแล้วก็พรวนดิน เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมเข้าหน้าฝน เริ่มไถนา ใช้ควายไถ เป็นการไถดะเพื่อให้หญ้าตายแล้วไถแปรไถคราดแล้วดำนา

ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ปุ๋ยคอกแล้วใช้ปอเทืองมากลบหน้าดิน ช่อดอกของปอเทืองมีธาตุอาหารที่ต้นข้าวต้องการ ทั้งโพแทสเซียม ไนไตรเจนและฟอสฟอรัส ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลย แล้วก็รอน้ำฝน แค่นี้ก็ทำให้ต้นข้าวโตออกรวงเหลืองอร่าม

แต่ละปี นาข้าวพันธุ์ปะกาอำปึลของอร่ามมีต้นทุนการผลิตต่ำมาก ใช้เพียงปุ๋ยคอก ไร่ละ 800 บาท ที่เหลือเป็นค่าต้นทุนจุลินทรีย์

ส่วนผสมจุลินทรีย์ มีไข่ไก่ 11 แผง น้ำยาคูลท์ 2 ขวด นมจืด 5 ลิตร และแป้งข้าวหมัก 2 ก้อน เมื่อได้จุลินทรีย์แล้ว นำไปใส่ต้นข้าวเพื่อเร่งให้ข้าวออกดอกออกรวงสวยงาม

นาข้าวของอร่ามพึ่งพาน้ำฝนจากท้องฟ้าเท่านั้น ไม่ใช้น้ำชลประทานเพราะน้ำจากคลองชลประทานอาจปนเปื้อนสารเคมีที่มาจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า

กระบวนการปลูกข้าวของอร่ามจึงเป็นกระบวนการปลูกข้าวอินทรีย์ อร่ามบอกว่าชาวนาที่ตัดสินใจปลูกข้าวอินทรีย์จะต้องอดทนอย่างน้อยๆ 5 ปี เพราะต้องรอให้ดินมีชีวิต มีความสมบูรณ์เป็นธรรมชาติ

ข้าวปะกาอำปึล พันธุ์ท้องถิ่นที่ทนทานโรคที่ “อร่าม” ปลูก

ถาม “อร่าม” ว่า อากาศแปรปรวนไม่เหมือนเดิม บางปีฝนทิ้งช่วงนานมาก นาข้าวพันธุ์ปะกาอำปึลพึ่งแต่น้ำฝนอย่างเดียวจะไม่เสียหรือ

“พันธุ์ข้าวปะกาอำปึลเป็นพันธุ์ข้าวทนทานต่อภาวะแห้งแล้งอย่างมาก แม้จะมีน้ำน้อย หรือฝนแล้ง ฝนตกน้อย แต่แค่มีน้ำค้างหยดลงมา ต้นข้าวก็อยู่รอดได้”

เมื่อหมดหน้านา เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว “อร่าม” ใช้เวลาที่เหลือปลูกพืชหมุนเวียนอื่นๆ อย่างฟักทอง ข้าวโพด ถั่ว มันญี่ปุ่น

ผลผลิตข้าวปะกาอำปึลของนาข้าว “อร่าม” ได้ราว 900 กิโลกรัมต่อไร่ เฉลี่ย 12 ไร่จะได้ราว 4,000 กิโลกรัมต่อปี

อร่ามมีเงินเหลือเก็บไปซื้อที่ดินแถว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ 50 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์พญาลืมแกง 14 ไร่ ที่เหลือปลูกต้นแมคคาเดเมีย สะตอ โกโก้ ทุเรียนนานาพันธุ์

นาข้าวที่เพชรบูรณ์ “อร่าม” ใช้วิธีหยอด เอาไม้ไผ่แหลมๆ ปักลงในพื้นนาแล้วหยอดข้าวตาม เป็นกระบวนการทำนาท้องถิ่นดั้งเดิม

ข้าวพญาลืมแกง เป็นข้าวเหนียว เหมือนข้าวญี่ปุ่น มีคุณสมบัตินุ่มอร่อย นำไปหุงเหมือนข้าวสวยไม่ต้องใช้หวดเหมือนนึ่งข้าวเหนียว

อร่ามเล่าว่า เหตุที่ชื่อพญาลืมแกงมาจากตำนานดั้งเดิม พญาท่านหนึ่งเดินหลงทางระหว่างไปน้ำหนาว และเกิดหิวข้าว แต่คนทำครัวไปไม่ทัน พญาท่านนั้นจึงกินข้าวอย่างเดียว กินอย่างเอร็ดอร่อยไม่ต้องรอแกงจากพ่อครัว

ข้าวพญาลืมแกงของอร่ามมีผลผลิตต่อครั้งต่อปีแม้ไม่มากแต่ได้ราคาดีมาก ไร่ละ 600 กิโลกรัม เมื่อนำไปสีจะหายไป 40 เปอร์เซ็นต์ ราคาขายกิโลกรัมละ 100 บาท ตันละ 1 แสนบาท มีโรงแรมในกรุงเทพฯ ติดต่อขอซื้อข้าวพญาลืมแกงทุกปี ปีละ 10 ตัน

ผลผลิตข้าวพญาลืมแกงของอร่ามไม่มากพอ ต้องไปรวบรวมข้าวพญาลืมแกงจากเพื่อนๆ ชาวนาที่ปลูกข้าววิถีอินทรีย์ ส่งขายตามออร์เดอร์ได้ทุกปี สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก

ผลผลิตข้าวจากท้องไร่ของ “อร่าม” และเพื่อนชาวนานำมาวางในตลาด

ช่วงแรกในการเข้าสู่เส้นทางชาวนา “อร่าม” ทำงานหนักมาก เหนื่อยมากและท้อแท้มาก แต่ด้วยความอดทน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไป พืชพันธุ์ปลูกเอาไว้ ได้ผลงดงามจนยิ้มได้และรู้สึกเป็นอิสระเพราะทำในสิ่งที่ชอบ มีความสุข ไม่ต้องมีใครมาควบคุม

ทุกวันนี้ อร่าม เลิกสูบบุหรี่ กินเหล้า เดินวันละ 1 ชั่วโมง กิน 2 มื้อ กินข้าวและผักที่ปลูกเอง สุขภาพแข็งแรงดีขึ้นมาก จิตใจเบิกบาน ยึดแนวทางพุทธอย่างแน่วแน่

“ผมอยากบอกทุกคนได้รู้ว่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหล่านี้บรรพบุรุษปลูกมาเป็นเวลานับร้อยนับพันปี ใช้กินเป็นอาหารเป็นยาเป็นพันธุ์ข้าวที่ทนต่อโรค ไม่ว่าจะโรคใบไหม้ โรคใบเหลือง ใบหงิก หรือหนอนชอนใบ นี่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผมสัญญามั่นว่าต้องอนุรักษ์รักษาไว้จนลมหายใจสุดท้าย”

อร่ามพูดด้วยน้ำเสียงฉะฉาน

 

เมื่อเปรียบเทียบ “น้าหวอ” เพื่อนของ “อร่าม” ที่เป็นชาวนาเหมือนกัน แต่ใช้สารเคมีในนาข้าว เห็นความต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการพึ่งพาธรรมชาติกับการใช้สารเคมีในการปลูกข้าว

น้าหวอ วัย 55 ปี ปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 4 เป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวนานิยมปลูกกันมาก เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ยไร่ละ 760 กิโลกรัม มีคุณภาพการสีดี ต้านทานการหักล้ม ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง มีข้อด้อยตรงที่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

กระบวนการปลูกข้าวของน้าหวอมีรายละเอียดดังนี้

เริ่มต้นจากซื้อพันธุ์ข้าว ต่อมาไถดะ จากนั้นฉีดยาคุมหญ้าไว้ก่อน แล้วไถอีกที จากนั้นตีหญ้าให้แตก แล้วคุมหญ้าอีกทีหนึ่งก่อนหว่าน แล้วใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นไว้

กระบวนการนี้ใช้ทุนสูงเพราะทำหลายรอบ พอต้นข้าวเติบโตได้ประมาณหนึ่ง ก็ต้องใช้ปุ๋ยบำรุงต้น พอมันจะออกรวงข้าวก็ใช้ปุ๋ยบำรุงดอก

พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 4 ถ้าไม่ใช้สารเคมีจะได้ผลผลิตน้อยลง “น้าหวอ” ซื้อปุ๋ยเคมี 1 กระสอบต่อไร่ ซึ่งกระสอบหนึ่ง 50 กิโลกรัม ปัจจุบันมีราคา 950 บาท

ยังมีค่าปุ๋ย ค่าไถ ค่ายาฆ่าหญ้า ค่าไถ 800 บาทต่อไร่ ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 และ 16-20-0 ค่ารถเกี่ยว 600 บาทต่อไร่ ค่าขนย้ายไร่ละ 100 บาท ค่าฉีดยากำจัดแมลงไร่ละ 100 บาท ค่ายาตกราว 650 บาท

ทุกปี “น้าหวอ” ต้องซื้อพันธุ์ข้าว ซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลงและฮอร์โมนเร่งบำรุงดอก จ่ายค่าฉีดยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ได้เงินค่าขายข้าวเฉลี่ยไร่ละ 2,000 บาท แต่ไม่คุ้มทุน เพราะมีภาระหนี้ค้างเก่า

“ผมทำนามา 30 ปีแล้ว ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม เพราะตอนเริ่มทำนาก็ต้องกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เอาไปซื้อพันธุ์ข้าว ซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พอขายข้าวได้ก็ต้องเอาไปใช้หนี้ วนอย่างนี้ทุกปี เงินไม่เหลือเก็บ สุขภาพก็ไม่ค่อยดี เจ็บป่วยมาตลอด”

ข้อสรุประหว่างการปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวที่พึ่งพาสารเคมีนั้น จึงไม่เพียงคำนึงแค่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำปัจจัยสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมของประเทศมาพิจารณาด้วย

ผมเรียกร้องให้รัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน เร่งผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวพันธุ์ไทยที่ทนทานต่อโรค ภัยแล้ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หรือนำข้าวที่ได้รับการวิจัยจาก สวทช.ว่าเป็นพันธุ์ข้าวต้านโลกร้อน มาปลูกทั่วประเทศเพื่อนำไปสู่เส้นทาง “ครัวโลก” •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]