ครั่ง (1)

ญาดา อารัมภีร

ถ้าเอ่ยถึง ‘ครั่ง’ บางคนอาจนึกถึงสี ยาง ขี้ผึ้ง แมลง ฯลฯ ในที่นี้ ‘ครั่ง’ มีความหมายตาม “สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 5 อธิบายว่า

“ครั่ง เป็นยางธรรมชาติชนิดหนึ่ง (rasin) ซึ่งถ่ายออกมาจากตัวแมลงครั่ง มีขนาดโตเท่าตัวไร อาศัยอยู่บนต้นไม้ ดำเนินชีวิตโดยใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็นอาหาร เมื่อเจริญเติบโตขึ้นลำตัวของมันจะเต่งโตขึ้นเป็นสีแดงเลือดนก ระบายน้ำครั่งเหนียวๆ ออกทำรังหุ้มตัวของมันเรื่อยไป เพื่อไม่ให้ศัตรูทำอันตรายแก่มันได้

ครั่งดิบ รังครั่งที่ได้จากการตัดกิ่งไม้ที่ครั่งจับทำรัง แล้วกะเทาะแยกเอากิ่งไม้และครั่งออกจากกัน ครั่งที่แยกมานี้เป็นครั่งดิบ

สีครั่ง เมื่อได้ตำป่นครั่งดิบแล้วล้างน้ำให้สะอาด น้ำจะละลายให้สีครั่งออกไว้ สีครั่งมีคุณสมบัติพิเศษใช้ย้อมพวกขนสัตว์และไหมจะติดทนทานและสีสดงดงามดี”

 

คนไทยรู้จัก ‘ครั่ง’ มานานหลายร้อยปี วรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงผู้หญิงในอุตตรกุรุทวีป ม้าแก้ว และไกรสรราชสีห์ ว่ามีอวัยวะบางส่วนแดงงามดั่งน้ำครั่ง

“แลมีฝูงหญิงอันอยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคน …นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงามนะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้นแดงงามดั่งน้ำครั่งอันท่านแต่งแล้วแลแต้มไว้”

ทั้งเล็บมือเล็บเท้าของสตรีมีสีแดงสดราวกับนำน้ำครั่งไปทาหรือเขียนไว้

นอกจากนี้ ‘ม้าแก้ว’ หรือ ‘อัศวรัตนะ’ มีกีบเท้าและหน้าผากแดงเด่นเห็นชัดเช่นกัน

“ม้าแก้วตัวประเสริฐตัวดีตัวเร็วอันชื่อว่าม้าพลาหกอัศวราชตัวดีกว่าม้าทุกตัวอันเกิดในกระกูลสินธพชาติอันงามดั่งสีเมฆ แลหมอกขาว แลมีรุ่งเรืองเขียวดังสายฟ้าแมลบรอบไส้ แลมีกีบเท้าทั้ง ๔ แลหน้าผากแดงดั่งน้ำครั่ง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

โดยเฉพาะ ‘ไกรสรสีหะ’ หรือ ‘ไกรสรราชสีห์’ นั้นดูจะแพร่หลายในวรรณคดีหลายเรื่องหลายสมัย

“ไตรภูมิพระร่วง” วรรณคดีสมัยสุโขทัยบรรยายว่า

“ไกรสรสีหะนั้นมีฝีปากแลปลายตีนทั้ง ๔ นั้นแดง ดั่งท่านเอาน้ำครั่งละลายด้วยน้ำชาดหรคุณทา”

เราจะเห็นภาพไกรสรราชสีห์ที่มีริมฝีปากและเล็บเท้าทั้งสี่เป็นสีแดงราวกับทาด้วยน้ำครั่งรวมกับน้ำชาดหรคุณ น้ำครั่งนั้นมีสีแดงสด น้ำชาดหรคุณคือชาดผสมปรอทและกำมะถัน ใช้ทาให้เนื้อทองติดแน่น ทำให้สีสดและสุกปลั่งยิ่งขึ้น ริมฝีปากและเล็บเท้าทั้งสี่ของไกรสรราชสีห์จึงมิใช่สีแดงทั่วไป

แต่เป็นสีแดงสดสุกปลั่งเปล่งประกายวาวสมศักดิ์ศรีราชสีห์ตระกูลสูงสุด

 

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์พรรณนาถึงไกรสรราชสีห์ไว้โดยละเอียดในทำนองเดียวกันว่า

“เกสรสีโห แลไกรสรสีหราชนั้น มีปากอันแดงงามดี เปรียบประดุจดังบริกรรมด้วยน้ำครั่ง อคฺคนงฺคุฏฺเฐน ปลายหางนั้นเล่าก็แดงงามประดุจบริกรรมด้วยน้ำครั่ง จตูหิ ปาทปริยนฺเตหิ ที่สุดแห่งเท้าทั้ง ๔ เท้านั้น ก็งามบริสุทธิ์ประดุจบริกรรมด้วยน้ำครั่งเหมือนกัน มตฺถกโตปิสฺส ปฏฺ ฐาย จำเดิมแต่ศีรษะแห่งไกรสรราชสีห์ลงไปตามหางนั้น มีลายยาวๆ สามลาย เล่ห์ลายระบายอันช่างเขียนผู้ฉลาดวิจิตรด้วยพู่กัน ลายทั้งสามนั้นวิจิตรมีพรรณอันแดงประดุจบริกรรมด้วยน้ำครั่ง”

‘ไกรสรราชสีห์’ หรีอ ‘ไกรสรสีหราช’ จากวรรณคดีเรื่องนี้มีริมฝีปาก ปลายหาง เล็บ และลวดลาย เป็นสีแดงสดดุจบริกรรม หรือฉาบทาไว้ด้วยน้ำครั่ง ไม่ต่างจาก ‘ไกรสรราชสีห์’ หรือ ‘ไกรสรสิงหราช’ กัณฑ์มหาพน ใน “มหาเวสสันดรชาดก” วรรณคดีสมัยเดียวกัน

“หนึ่งนามไกรสรสิงหราชฤทธิเริงแรง ปลายหางและเท้าปาก เป็นสีแดงดูดุจย้อมครั่ง”

 

‘ครั่ง’ ซึ่งเป็นของป่า เป็นผลผลิตทางธรรมชาติจากสัตว์ที่ได้มาจากการเก็บหรือเสาะหามาจากป่า น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวไทยสมัยสุโขทัยคุ้นเคยและใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ย้อมผ้า ย้อมไหม กวีจึงนำมาเปรียบเทียบกับร่างกายคนและสัตว์ในวรรณคดีที่กล่าวมาข้างต้น

“สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 5 บันทึกเกี่ยวกับครั่งว่าเป็นของป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ

“ครั่ง เป็นสินค้าของประเทศในภาคพื้นเอเชีย เช่น อินเดีย ไทย พม่า และอินโดจีน มาช้านานแล้ว บริษัท East India Company ได้เป็นผู้ริเริ่มค้าขายครั่งเป็นบริษัทแรกในโลก สินค้าครั่งแรกที่โลกรู้จัก คือ สีที่ได้จากครั่ง…ประเทศไทยเลี้ยงครั่งเป็นสินค้าออกรองจากอินเดีย…”

“สำหรับประเทศไทยครั่งเลี้ยงกันมากที่สุดในจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลางมีเลี้ยงกันบ้างเป็นบางจังหวัด แต่ยังไม่แพร่หลายทั่วไป สำหรับภาคใต้ไม่ปรากฏว่ามีการเลี้ยงครั่งกันเป็นสินค้า”

 

หนังสือเรื่อง “Histoire du Royaume de Siam” (เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา) ที่นายฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง รวบรวม นายปอล ซาเวียร์ แปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม” (กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2530) ได้บันทึกเกี่ยวกับครั่งไว้ในบทที่ 11 ‘ประวัติศาสตร์ด้านธรรมชาติแห่งพระราชอาณาจักรสยาม’ ว่า

“ขี้ครั่ง ใช้ทำครั่งผนึกจดหมาย ขี้ครั่งเป็นผลงานของมดชนิดหนึ่ง ตัวเหมือนมดในทวีปยุโรป แต่ชอบผลิตยางนี้เฉพาะต้นไม้บอบบางชนิดหนึ่ง สูงไม่เกินสิบหรือสิบสองฟุต”

คนไทยสมัยโบราณนอกจากใช้น้ำสีแดงแก่ในรังครั่ง และใช้สีครั่งจากครั่งดิบเป็นสีย้อมแล้ว ยังนำตัวรังที่แข็งและเหนียวมาหลอมใช้ผนึกตราและผนึกจดหมายอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกที่ ‘ครั่ง’ เป็นสินค้าได้รับความนิยมแพร่หลายทั้งภายในและภายนอกประเทศ

‘ครั่ง’ มีการเดินทางยาวนานจากอดีตสู่ปัจจุบัน ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร