เครือหมาน้อย ใช้ให้ถูกต้น ประโยชน์มากมาย

มิตรรักแฟนสมุนไพรที่ติดตามเรื่องราวสมุนไพรนี้ น่าจะพอจำกันได้ถึงเรื่อง กรุงเขมา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cissampelos pareira L. เป็นสมุนไพรที่หลายๆ ประเทศรู้จักใช้ และในอดีตเคยจำแนกตามหลักพฤกษศาสตร์ให้เป็นพืชชนิดเดียวกันกับ เครือหมาน้อย

แต่เมื่อปี พ.ศ.2560 ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาระดับโมเลกุลของเครือหมาน้อย พบว่าโครงสร้างทางพันธุกรรมของเครือหมาน้อยกับกรุงเขมาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เครือหมาน้อย มีโครงสร้างทางพันธุกรรมเหมือนพืชในสกุล Cyclea และพิจารณาจากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งรายงานว่าพืชในสกุล Cyclea มีจำนวน 31 ชนิด ในจำนวนนี้พบในประเทศไทย 5 ชนิด คือ

1) Cyclea atjehensis Forman มีถิ่นกำเนิดในไทยและสุมาตรา ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบในภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน

2) Cyclea barbata Miers เป็นชนิดที่มีถิ่นกำเนิดกระจายมากที่สุด พบในหมู่เกาะอันดามัน อัสสัม บังกลาเทศ กัมพูชา จีนตะวันออกเฉียงใต้ หิมาลัยตะวันออก เกาะไหหลำ เกาะชวา ลาว หมู่เกาะซุนดาน้อย เมียนมา หมู่เกาะนิโคบาร์ เกาะในทะเลจีนใต้ เกาะสุมาตรา ไทย เวียดนาม ในประเทศไทยพบการกระจายอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ

3) Cyclea laxiflora Miers มีถิ่นกำเนิดในเกาะบอร์เนียว หมู่เกาะมาลายา เกาะสุมาตรา ไทย ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

4) Cyclea polypetala Dunn มีถิ่นกำเนิดในจีนตอนกลาง-ตอนใต้ จีนตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ ไทย เวียดนาม ในประเทศไทยมีรายงานพบที่ดอยอินทนนท์ ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และภูเรือ จังหวัดเลย

5) Cyclea varians Craib มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในประเทศไทย มีรายงานว่าพบที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก ชัยภูมิ และนครราชสีมา

 

ในฐานข้อมูลของชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ เรียกพืชทั้ง 5 ชนิดว่า กรุงบาดาล

แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า ลักษณะของขนเป็นลักษณะที่สำคัญที่ใช้ในการจำแนกชนิด ทั้ง 5 ชนิดข้างต้น

และเนื่องจากมีความเข้าใจผิดมามานานที่คิดว่าเครือหมาน้อย คือ กรุงเขมา หรือ กรุงเขมา คือ เครือหมาน้อย จึงทำให้การรายงานการใช้ประโยชน์ในไทยของกรุงเขมาและเครือหมาน้อยมีความสับสนในระดับหนึ่ง

ดังนั้น จึงต้องใช้ข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบการนำเสนอ และเมื่อนำชนิดลำดับ 2 ที่เสนอไว้ซึ่งเป็นชนิดที่พบว่ามีการกระจายมาก คือ ชนิด Cyclea barbata Miers นั้น เอกสารจากต่างประเทศส่วนใหญ่จึงเป็นการศึกษาสรรพคุณเครือหมาน้อยชนิดนี้เป็นส่วนใหญ่เช่นกัน

เครือหมาน้อยชนิด Cyclea barbata Miers มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Grass Jelly ส่วนใหญ่นิยมนำส่วนของใบมาคั้นทำเป็นวุ้นนำมาประกอบอาหารคาวหรือขนมหวาน ในลาวและภาคอีสานของไทยนิยมใช้ใบสดคั้นเอาน้ำทำวุ้นเป็นอาหารหรือขนม แต่ในประเทศอินโดนีเซีย นำใบสดมาขยี้แล้วนำน้ำไปต้มกับน้ำตาล แล้วนำมาทิ้งไว้ให้เย็นจะได้วุ้นมากินเป็นของหวาน

ในประเทศจีนใช้รากจากเครือหมาน้อยชนิดนี้ ทำเป็นยาแก้เจ็บท้อง ในกลุ่มประเทศอินโดไชน่าใช้รากต้มดื่มเพื่อลดไข้และเป็นยาช่วยย่อยอาหาร ซึ่งยาที่ได้จากเครือหมาน้อยนี้ มีลักษณะคล้ายเฉาก๊วย ซึ่งพืชเฉาก๊วย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platostoma palustre (Blume) A.J.Paton

ในหมู่เกาะชวานำใบมาทำเป็นเครื่องดื่มและเป็นยาแก้อาการท้องเสีย ช่วยแก้ปัญหาทางเดินอาหาร และถือว่าเป็นอาหารสุขภาพป้องกันเบาหวาน และนับเป็นยาช่วยลดไข้ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร คลายกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคกระดูกพรุน เร่งการขับถ่าย ลดอาการท้องอืด ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง

ในบางประเทศใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาอาการดีซ่าน โรคเกี่ยวกับตา

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบของเครือหมาน้อยชนิด Cyclea barbata Miers มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดได้มากถึง 55-90%

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าสามารถช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งอีก 3 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด และในตำรับยาพื้นบ้านของอินโดนีเซียมีการใช้ใบที่สับเอาน้ำคั้นทำเป็นวุ้น หรือนำใบแห้งที่บดเป็นผงมาเป็นยารักษามะเร็งและเนื้องอก โดยการกินวันละ 3 ครั้ง

ในประเทศจีนใช้สารสกัดจากรากเป็นยาสลบช่วยในการผ่าตัด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารสำคัญหลัก ที่สกัดได้จากใบ คือ “เพ็คติน” และสารสำคัญอื่นๆ มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ในปี ค.ศ.2020 นักวิจัยของอินโดนีเซียรายงานว่า สารสกัดจากใบเครือหมาน้อยชนิด Cyclea barbata Miers ที่สกัดด้วยเอทานอล มีโปรตีนที่สำคัญที่ไปช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง ทำให้เกิดการตกไข่ในรังไข่ของผู้หญิงได้

สำหรับเครือหมาน้อยชนิดอื่น เช่น ชนิด Cyclea laxiflora Miers ก็มีรายงานว่าใช้เป็นยาได้ เช่น นำรากมาต้มดื่มช่วยในการลดไข้ และรักษาริดสีดวงโดยเฉพาะในผู้หญิงหลังคลอด ใช้เป็นยาขับพยาธิในเด็ก นอกจากนี้ น้ำต้มจากรากยังใช้เป็นยาภายนอกในการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกโพรงจมูก

เครือหมาน้อยและกรุงเขมา เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าและประโยชน์มากมาย แต่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราต้องช่วยกันจำแนกแยกแยะชนิดพันธุ์ที่สร้างความสับสน เพื่อพัฒนาต่อยอดได้ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดในตำรับยาที่ปรากฏในตำรายาของประเทศไทย ที่รอการพิสูจน์ให้แจ่มชัดว่าคือชนิดพันธุ์ไหนแน่ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อไป •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org