Terang Boelan (Moonshine) การสำรวจเรื่องเล่าที่ปลุกเร้าอุดมการณ์ชาตินิยมด้วยศิลปะจัดวาง ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Terang Boelan (Moonshine)

การสำรวจเรื่องเล่าที่ปลุกเร้าอุดมการณ์ชาตินิยมด้วยศิลปะจัดวาง

ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024

 

ในตอนนี้ เราขอเล่าถึงผลงานของศิลปินอีกคนที่เราได้ชมในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

จอมเปท คุสวิดานันโต (Jompet Kuswidananto) ศิลปินร่วมสมัยชาวอินโดนีเซีย ผู้ศึกษามาทางด้านการสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัย Gadjah Mada ในยอกจาการ์ตา และหันเหมาทำงานด้านดนตรีจากการฝึกฝนด้วยตัวเอง ในช่วงเวลาของการปกครองระบอบเผด็จการในยุคระเบียบใหม่ (New Order) ของรัฐบาลซูฮาร์โต ก่อนจะเปลี่ยนมาทำงานทัศนศิลป์ โดยร่วมงานกับชุมชนศิลปะท้องถิ่นในยอกจาการ์ตา ตั้งแต่ช่วงปี 1998 จนถึงปัจจุบัน

เขายังร่วมงานกับกลุ่มศิลปินหลากศาสตร์สาขา อย่าง Teater Garasi ในเมืองกาซิฮาน (Kasihan) ในอินโดนีเซียอีกด้วย

จอมเปททำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ทั้งงานศิลปะจัดวาง, วิดีโอ, ศิลปะเสียง, ศิลปะแสดงสด และการละคร

การทำงานของเขามุ่งเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยังไม่ได้สะสางในบริบททางประวัติศาสตร์ของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งจากบาดแผลของการตกอยู่ใต้อาณานิคมและความบอบช้ำอันเป็นผลพวงจากระบอบเผด็จการ และสำรวจหัวข้อเกี่ยวกับความรู้สึกโดยรวมของผู้คนในสังคมอย่างความวิตกกังวล การยึดติดอยู่ภายใต้กรอบของกฎเกณฑ์บังคับ และความสับสนงงงวย ด้วยการใช้วัตถุเก็บตกเหลือทิ้งและวัตถุสำเร็จรูปที่แฝงด้วยความทรงจำส่วนตัวและความทรงจำส่วนรวม มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะจัดวางอันละเมียดละไมราวกับบทกวี

ที่เชิญชวนให้ผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับความซับซ้อนของเรื่องราวที่เขาบอกเล่า

จอมเปทจัดแสดงนิทรรศการศิลปะหลากหลายแห่งในทั่วโลก ทั้ง Yokohama Triennale ในปี 2008, Lyon Biennale ครั้งที่ 10 ในปี 2009, นิทรรศการ Phantoms of Asia ที่พิพิธภัณฑ์ Asian Art ในซานฟรานซิสโก ในปี 2012, นิทรรศการ Taboo ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งซิดนีย์ ในปี 2012, Taipei Biennale ในปี 2012, Sharjah Biennial ครั้งที่ 14, ในปี 2019 ฯลฯ เขายังได้รับรางวัลสำคัญ ในฐานะศิลปินเอเชียรุ่นใหม่จาก Prudential Eye Awards สำหรับผลงานศิลปะจัดวางของเขา

ในนิทรรศการครั้งนี้ จอมเปทนำเสนอผลงาน Terang Boelan (Moonshine) (2022) ที่ได้แรงบันดาลใจจากการล่มสลายของลัทธิล่าอาณานิคม และการถือกำเนิดใหม่ของชาติ และการรวบรวมภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะให้เป็นชาติเดียว ด้วยการใช้เรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโบราณ ในศตวรรษที่ 14 เพื่ออ้างสิทธิ์ในดินแดนส่วนใหญ่ของซูการ์โน ผู้มีส่วนสำคัญในการประกาศเอกราชของอินโดนีเซียจากเนเธอร์แลนด์ และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปกครองประเทศถึง 22 ปี ก่อนที่จะถูกยึดอำนาจโดยซูฮาร์โต ผู้ปกครองประเทศอย่างยาวนานเป็นเวลา 31 ปี

ชื่อของผลงานชิ้นนี้ ถูกหยิบยืมมาจากเพลงพื้นบ้านของผู้คนในคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะนูซันตารา อาณาจักรที่เผชิญหน้ากับการรุกรานของชาติมหาอำนาจตะวันตกเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่าเพลงนี้มีต้นกำเนิดมากจากเพลง La Rosalie ของคีตกวีชาวฝรั่งเศส ปิแอร์-ฌอง เดอ เบรังเงร์ (Pierre-Jean de Béranger) ในศตวรรษที่ 19 ที่สื่อความหมายถึงความพ่ายแพ้และการโหยหาชัยชนะของผู้คนในชาติ

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบสร้างขึ้นจากกองเศษซากปรักหักพังของโคมไฟระย้า เปียโน และเศษกระจก จนดูคล้ายกับเกาะกลางมหาสมุทร อันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซีย ที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก

หรือแม้แต่เป็นภาพแทนของชนชั้นนำอินโดนีเซีย เหล่าวีรบุรุษสงครามผู้ปลดแอกประเทศจากอาณานิคม ที่กลับกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนผู้กดทับประชาชนในประเทศตนเอง

“ผลงานของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างความโรแมนติกของลัทธิอาณานิคมและยุคหลังอาณานิคมในอินโดนีเซีย เพราะอินโดนีเซียไม่เคยปรากฏอยู่ในยุคสมัยก่อนหน้าอาณานิคม เพราะฉะนั้น เรื่องเล่าที่ดีที่สุดเกี่ยวกับอินโดนีเซีย คือการต่อต้านลัทธิอาณานิคม ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรื่องเล่านี้ถูกใช้ในการปลุกเร้าความเป็นชาตินิยมให้แก่ประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชนชาติ (ที่ไม่มีอยู่จริง)”

“สำหรับผม ในฐานะคนอินโดนีเซีย ผมคิดว่าผมต้องมองสิ่งนี้ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องเล่าที่ปลุกเร้าความเป็นชาตินิยมเหล่านี้ เพื่อการรักษาไว้ซึ่งอำนาจและความเป็นอภิสิทธิ์ชนของตนเอง”

“งานศิลปะจัดวางของผมประกอบด้วยเศษซากเปียโน, โคมไฟระย้า และเศษแก้วแตก ผมต้องการใช้วัตถุเหล่านี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเรื่องเล่าที่ปลุกเร้าความเป็นชาตินิยมของชนชั้นนำ เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจของตนเอง ในบริบททางประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา”

“องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้คือโทรศัพท์โบราณที่ส่งเสียงอ่านจดหมายรักที่ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย เขียนถึงภรรยาทั้ง 9 คนของเขา ในช่วงเวลาที่เขาครองอำนาจอยู่ เพราะผมอยากเห็นว่าความปรารถนาส่วนตัวนั้นเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นชาติและความเป็นชาตินิยมได้อย่างไร”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงในเวนิส ซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่เคยเข้าร่วมในการล่าอาณานิคมในอดีต

“สำหรับผม งานชิ้นนี้ไม่ได้เกี่ยวกับแค่เรื่องของลัทธิอาณานิคม แต่เป็นเรื่องของอำนาจ และการต่อต้านอำนาจเผด็จการมากกว่า ผลงานของผมสะท้อนประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ที่ผู้คนมีประสบการณ์จากการตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำ ทั้งจากลัทธิอาณานิคม, ระบอบเผด็จการ และผู้มีอำนาจต่างๆ”

“การติดตั้งผลงานของผมในเวนิส ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นมรดกของอำนาจทางเศรษฐกิจของที่นี่ ทั้งพื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกในอดีต อาคารนิวาสสถานของเศรษฐีผู้มั่งคั่ง อนุสาวรีย์ของชัยชนะในการล่าอาณานิคม โดยเฉพาะอาคารแห่งนี้ที่จัดแสดงผลงานชิ้นนี้ของผมอยู่ ผมคิดว่างานของผมเข้ากับการตกแต่งในรูปแบบศิลปะคลาสสิคภายในตัวอาคาร ทั้งจิตรกรรมฝาผนัง รายละเอียดการตกแต่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่ยึดโยงกับอำนาจและความมั่งคั่ง”

“ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นตอของปัญหาในการใช้อำนาจครอบงำประเทศอื่นๆ ด้วยลัทธิอาณานิคม ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

ไม่เพียงพูดถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หากแต่ผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ของจอมเปทก็สะท้อนถึงสถานการณ์ในยุคสมัยปัจจุบันด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่ผมให้ความสำคัญก็คือ การเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ที่ขับเน้นให้เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์ทางการทหารและวีรบุรุษสงคราม ผู้ปลดแอกอาณานิคมแต่เพียงเท่านั้น และแน่นอนว่ามีเพียงคนไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากเรื่องเล่าที่ปลุกเร้าความเป็นชาตินิยมในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้ก็สามารถบิดเบือน ปั้นแต่งขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้อง ไร้ความชอบธรรม ตามแต่ใจผู้มีอำนาจเหล่านั้นอย่างง่ายดาย”

เมื่อได้ชมและได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ของศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้านผู้นี้ และหวนกลับมาสำรวจสภาวการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของเรา รวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ต้องประสบชะตากรรมจากการเขียนประวัติศาสตร์ (ที่เพิ่งสร้าง) เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำคล้ายๆ กันแล้ว

ก็ทำให้เราอดนึกถึงประโยคหนึ่งที่ภูมิภาคเราเคยเหน็บแนมตัวเองอย่างเจ็บแสบไม่ได้ว่า มันช่างเป็นอะไรที่ “โสมมประชาคมอาเซียน” จริงๆ อะไรจริง!

นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ณ พื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในเมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-24 พฤศจิกายน 2567

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, Arina Matvee และอมรินทร์ •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์