นักศึกษาร้องนายกฯ พัฒนาโบราณคดี

โบราณคดีมีปัญหาสั่งสมทั้งด้านการเรียนการสอนอ่อนแอและธุรการอ่อนด้อยที่ไม่พร้อมเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ พ.ศ.2498 เมื่อแรกเป็นคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สังกัดกรมศิลปากร มีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร (โดยตำแหน่ง)

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ “ท่านอาจารย์” เป็นคณบดีลำดับที่ 2 ของคณะโบราณคดี พ.ศ.2507 ครั้นหลังรับตำแหน่ง ได้เดินทางไปราชการต่างประเทศตามคำเชิญทันที (โดยไม่มีประเพณีพบปะพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษาทั้งคณะ)

ปัญหาที่สั่งสมมานาน (ตั้งแต่แรกขยายการเรียนการสอน) ก็ปะทุในปีรุ่งขึ้น เมื่อ พ.ศ.2508 เมื่อนักศึกษาหมดความอดทน ได้รวมตัวยกขบวนเข้าร้องเรียนต่อจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยปรับปรุงการบริหารการเรียนการสอน

(มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งอ่านได้ในสุดสัปดาห์ออนไลน์)

คณะโบราณคดี เมื่อ “ท่านอาจารย์” เป็นคณบดี มีสถานที่เรียนคับแคบอยู่ร่วมอาคารกับคณะสถาปัตยกรรมไทย และคณะจิตรกรรมและประติมากรรม เป็นตึก 2 ชั้น(คณะโบราณคดีอยู่ชั้นสอง ปีกตะวันออก) บริเวณเดียวกับกรมศิลปากร หลังอาคารที่ทำการกรมศิลปากร สนามหลวง (ด้านตะวันตก)

ห้องน้ำรวมทั้งมหาวิทยาลัย (4 คณะ) มีแห่งเดียวอยู่ด้านเหนือติดกำแพงกรมศิลปากร (ด้านซอยข้างวัดมหาธาตุ)

โรงอาหารไม่มี เฉพาะกลางวันมีหาบเร่ (จากในวัง) ขายข้าวแกง (จานละ 1 บาท) ใต้ต้นไม้ใหญ่ หลังอาคารกรมศิลปากรกับหน้าตึกเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร

นักศึกษาคณะโบราณคดีทั้งหญิง-ชาย มีชั้นปีละไม่เกิน 30 คน (นักศึกษาหญิงมากกว่านักศึกษาชาย) รวมหมดทั้งคณะราว 100 คน

เครื่องแบบนักศึกษา “เสื้อผ้าหน้าผม” แม้ไม่เคร่งครัดมาก (เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นสมัยนั้น) แต่นักศึกษาหญิงไม่แตกแถว ส่วนนักศึกษาชายส่วนมากของคณะโบราณคดีเลียนแบบ “อาร์ติสต์” คณะจิตรกรรมฯ

เรียนวันละ 6 ชั่วโมง (ยกเว้นอาจารย์ไม่มา ก็ว่าง-ซึ่งมีบ่อยมาก) สัปดาห์ละ 6 วัน (เรียนวันเสาร์-หยุดวันอาทิตย์)

อาจารย์สอนด้วยการบอกให้นักศึกษาจดตามคำบอกเกือบทุกวิชา หรือเขียนบนกระดานดำหน้าห้องให้นักศึกษาจด หนังสือประกอบการเรียนการสอนไม่มี ต้อง “จดลูกเดียว” ตามคำบอกของอาจารย์ ทำให้นักศึกษาต้องมีสมุดหลายเล่ม และต้องหอบไปเรียนเพื่อจดบทเรียนแยกวิชาแต่ละเล่ม

เรียนทุกวิชา เพราะวิชาเลือกมีเฉพาะภาษาต่างประเทศ (อังกฤษหรือฝรั่งเศส) นอกนั้นต้องเรียนทั้งหมด ไม่มีวิชาเอก, ไม่มีวิชาโท

นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2508 รวมตัวร้องเรียนนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร ให้พัฒนาการเรียนการสอนโบราณคดีที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีประสิทธิภาพ (ภาพหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, ไทยรัฐ, สยามรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2508 อ่านทั้งหมดอย่างละเอียดในสุดสัปดาห์ออนไลน์)

วิชาหลักของโบราณคดี คือ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ทำให้โบราณคดีในไทยตั้งแต่แรกเริ่มคือประวัติศาสตร์ศิลปะ History of Art หรือ Art ‘s History ซึ่งไม่ตรงเสียทีเดียวกับสากล Archaeology

ส่วนวิชาประกอบ ได้แก่ สำรวจและขุดค้น, ก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ต้องเรียนหมดทุกคน (ไม่มีแยกเรียกเอกต่างๆ เช่น ก่อนประวัติศาสตร์ และไม่มีวิชามานุษยวิทยา)

สอบวัดผลปลายปีให้คะแนนได้-ตก (ไม่มีระบบเกรด) ถ้าตกต้องเรียนซ้ำชั้น ถ้าซ้ำชั้น 2 ครั้ง ต้องให้ออก

วิชาที่เรียน (เป็นทางการ) มี 4 หมวดวิชาตามข้อเขียนของอาจารย์ปรีชา กาญจนาคม ได้แก่

1. หมวดวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ มีวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ วิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ วิชาโบราณคดีปฏิบัติ วิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล ฯลฯ

2. หมวดวิชาศิลปะ มีวิชาวาดเส้นและแผนผัง

3. หมวดวิชาภาษาตะวันตก มีวิชาภาษาอังกฤษและวิชาภาษาฝรั่งเศส

4. หมวดวิชาภาษาตะวันออก มีวิชาภาษาไทย, วิชาภาษาสันสกฤต และวิชาภาษาเขมร

นักศึกษาต้องเรียนทุกวิชาที่เปิดสอนและต้องได้คะแนนแต่ละวิชา 60% ขึ้นไปจึงจะถือว่าสอบผ่าน แต่ถ้าได้คะแนนไม่ถึง 60% ก็สอบตก ต้องเรียนซ้ำชั้นในวิชานั้น และก่อนจะจบการศึกษาต้องทำวิทยานิพนธ์ 1 เรื่อง ที่ตนเองสนใจ

หลักสูตรนี้ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งคณะจนถึง พ.ศ.2515 จึงมีการเปลี่ยนหลักสูตรและระบบการให้คะแนนจากร้อยละไปเป็นให้คะแนนด้วยเกรด A, B, C, D

[คัดจากข้อเขียนของ ศ. เกียรติคุณ ปรีชา กาญจนาคม ในหนังสือ โบราณคดี 60 หนังสือที่ระลึก 60 ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 106] •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ

นักศึกษาร้องนายกฯ พัฒนาโบราณคดี | สุจิตต์ วงษ์เทศ