ฉ่ำเทศกาลหิมะซัปโปโร แต่จำลาเทศกาลแกะเทียนนานาชาติอุบลราชธานี

ปี 2503 ไทยมีนักท่องเที่ยว 81,340 คน เป็นยูโรเปี้ยนกับอเมริกัน แล้วพัฒนาสู่หมื่นแสนและล้านในปี 2516 ที่ 1,037,737 คน

ต่อมาได้มาเลเซียข้างบ้านปีละ 1 ล้านมาถลกโสร่งหาดใหญ่ ปีหนึ่งเกิดข่าว “ซูเปอร์โกโนเรีย” ระบาด แม่บ้านมาเลย์ยึดพาสปอร์ตสามีห้ามมาซุกซนชั่วคราว เมืองนี้เลยร้าง ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นโรคสำส่อนธรรมด๊าธรรมดา เหตุการณ์ถึงคลี่คลายลงได้

ยามนั้นนอกจากมาเลเซียแล้วยังมีญี่ปุ่นทัวร์ไทย เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฉลุยจนญี่ปุ่นต้องแก้ขวยตั้งโปรเจ็กต์ “เท็นมิลเลียน โปรแกรม” หนุนคนออกเที่ยวปีละ 10 ล้านคนลดดุลความได้เปรียบ ไทยจึงมีคนแดนบูชิโดมาเที่ยวปีละแสนถึงล้าน

ส่วนจีน เกาหลียังไม่เห็นแววขณะนั้น

จู่ๆ ญี่ปุ่นเศรษฐกิจทรุด…ปี 2554 แผ่นดินไหวชายฝั่งแปซิฟิกด้านโทโฮคุ เป็นสึนามิทำลายบ้านเรือนใน จ.อิวาตะ สังเวยชีวิตไป 18,000 คน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมาเสียหายยับเยิน

ประติมากรไทยในเทศกาลแกะสลักหิมะซัปโปโร

ญี่ปุ่นซึ่งไม่เคยสนใจตลาดท่องเที่ยวถึงกลับลำ หันมาอัดแคมเปญ “สุโก้ยเจแปน” ส่งเสริมท่องเที่ยวแต่ปี 2555 เป็นต้นมา องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น หรือ “เจเอ็นทีโอ” เผยผ่านหนังสือพิมพ์อาซาฮี มีต่างชาติไปเยือน 8.36 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.6% เป็นไทย 200,673 คน

ปี 2559 ไทยทัวร์ญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 908,702 คน ขณะญี่ปุ่นทัวร์ไทย 1.4 ล้านคน

ปีถัดไปญี่ปุ่นทัวร์ไทย 1.52 ล้านคน ส่วนไทยทัวร์ญี่ปุ่น 942,184 คน…พอปี 2562 โลกยังไม่รู้จักโควิด ต่างชาติไปทัวร์ญี่ปุ่น 31.88 ล้านคน เป็นไทย 1.31 ล้านคน มากอันดับ 6 รองเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สหรัฐ แต่นำโด่งกลุ่มอาเซียนด้วยยอดเกิน 1 ล้านคน

ปีนั้นไทยพีกมีต่างชาติ 39.7 ล้านคน ได้ญี่ปุ่น 1.8 ล้านคน ปี 2563 ญี่ปุ่นจัดกีฬาโอลิมปิกสู้กระแสโควิด จึงคุมเข้มต่างชาติเข้าประเทศ ตัวเลขถึงหายไป 99% อย่างน่าอนาถ

แต่ไทยยังพอมีญี่ปุ่นมาทัวร์ 3.2 แสนคน ใกล้เคียงไทยไปทัวร์ญี่ปุ่น 2.19 แสนคน ข้ามปีหลังไทยคิกออฟ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ฝ่ายญี่ปุ่นอั้นปิดประเทศไม่ไหวปล่อยคนในออกคนนอกเข้าตลาดไทยที่เห่อญี่ปุ่นเป็นทุนชวนกันไปแบบว่าเขื่อนแตก 3 พันคน แย่งจองตั๋วเครื่องบินไปกลับทั้งฝั่งสนามบินฮาเนดะ-นาริตะโตเกียว คันไซนอกฝั่งอ่าวโอซาก้าเต็มหมดทุกเที่ยวบิน

เล่นเอาซามูไรที่อยากเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กินแห้วเพราะหาที่นั่งเครื่องบินไม่ได้ ส้มเลยหล่นใส่เวียดนามชิงญี่ปุ่นไปทัวร์ฮาลองแทนภูเก็ต พังงา กระบี่ ดานังแทนพัทยา บางแสน ขายฮอยอัน แหล่งมรดกโลกกว๋างนามแทนอยุธยา

จึงเหลือญี่ปุ่นมาไทย 9,461 คนนะโยม!

งานประติมากรรมหิมะไก่ชน

ปี 2566 เจเอ็นทีโอบอกญี่ปุ่นมีต่างชาติ 25 ล้านคน ไทยไปลั้ลลาซากุระแบบ “โดน! โดน!” ญี่ปุ่นหมายถึง “มากขึ้น” 9.95 แสนคน เป็นครั้งแรกที่ไทยเสียดุลท่องเที่ยวให้ญี่ปุ่น ขณะญี่ปุ่นกลับหดตัวเหลือมาไทย 8 แสนคน น้อยกว่ากัน 1.95 แสนคน

เจเอ็นทีโอเผยมกราคมถึงเมษายนปีนี้คนไทยฉลองเงินเยนอ่อนตัว ไปทัวร์แดนปลาดิบแล้ว 4.66 แสนคน โตขึ้น 27% หรือ 91% เมื่อเทียบปี 2562 ก่อนถูกโควิดเล่นงาน

ส่วนผลสำรวจทัศนคติคนไทยนิยมทัวร์ญี่ปุ่น เมนต์สรุป 67% ไปผ่อนคลายที่เมาต์ฟูจิ จัดหนักฤดูซากุระบาน เซลฟี่ที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์แซลโอซาก้า และถือโอกาสกินซูชิ ยากินิกุปิ้งย่างถึงถิ่น

41% ขาดเสียมิได้คือช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นและต่างประเทศปลอดภาษี ส่วนอีก 37% หาประสบการณ์ใหม่ๆ 26% เป็นอินเซนทีฟให้ตัวเอง และ 25% ชอบเที่ยวกึ่งผจญภัย

อีกประเด็นมั่นใจในระบบโลจิสติกส์เซฟตี้ต่อชีวิตทรัพย์สิน ปราศจากโจรผู้ร้ายชุกชุม ผู้คนไม่พกอาวุธ ปลอดคนบ้าคลั่งยาเสพติด และไร้ซึ่งนักเรียนนักเลงฆ่าขิงกันกลางพับลิกแอเรีย

ประติมากรรมหิมะเต่าทะเล

มีคอนเทนต์น่าสนใจสำหรับทัวร์ไทย คือนับแต่ปี 2534 ไทยซึ่งไม่มีหิมะ แต่ส่งช่างแกะสลักน้ำแข็งโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) ไปแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติซัปโปโร เกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือญี่ปุ่น ติดทะเลรัสเซียเห็นเมืองวลาดิวอสตอก วันที่ฟ้าแจ่มใส

อดีตซัปโปโรเป็นชนบทเล็กๆ มีประชากร 5 ล้านคน เล่ากันว่าร้อยปีก่อนคือแหล่งอพยพซามูไรพ่ายสงคราม ไปอยู่รวมชนพื้นเมืองเผ่าไอนุปัจจุบันถูกกลืนเป็นชาวอาทิตย์อุทัยหมดแล้ว

อุณหภูมิที่นั่นหนาวเย็นติดลบ 20 องศาเซลเซียส หิมะคลุมตลอด 6 เดือน ฤดูร้อนเฉลี่ย 15 ถึง 30 องศาเซลเซียสสบายๆ น่าอยู่ สวนสาธารณะริมทางเต็มไปด้วยสีสันฟลอร่าละลานตา

เสน่ห์ที่นี่เคมีจะตรงกับก๊วนกอล์ฟญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มักจองล่วงหน้าเป็นปีถึงจะได้คิวทีออฟ มิฉะนั้นต้องเป็นกลุ่มนีชมาร์เก็ตตลาดท่องเที่ยวเหินฟ้ามาออกรอบเมืองไทย เพราะไม่ต้องคอยคิวนาน โดน! โดน! แถมค่ากรีนฟีถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับเงินสกุลเยนญี่ปุ่น

ช่วงหนาวในซัปโปโรจะเริ่มปลายปีถึงต้นปีใหม่ มีหิมะขาวโพลนทุกหนแห่ง เด็กๆ ที่นั่นจึงน่าสงสาร ด้วยสนามเด็กเล่นหายไปกับกองหิมะ ต้องทนอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน จนวันหนึ่งคิดหาทางออกขึ้นมาได้ โดยการใช้หิมะเป็นวัตถุดิบปั้นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาแทนมันเสียเลย

ดราม่านี้เกิดปี ค.ศ.1950 หรือ พ.ศ.2493 พ่อแม่ผู้ปกครองปิ๊งไอเดียต่อยอดนวัตกรรมเป็นเทศกาลประติมากรรมหิมะ นำนักเรียนไฮสกูลมาปั้นผลิตชิ้นงาน 5-6 ชิ้นรับคนมาชม 5 พันคน

จากนั้นบรรดาผู้ประกอบการโรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหารและผู้เกี่ยวข้อง มองว่าถ้าช่วยกันขับเคลื่อนให้คนมาเที่ยวทุกปี จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจของตนแน่นอนถึงลงขันรับเป็นเจ้าภาพดันอีเวนต์รอผลตอบแทน โดยไม่กวนของบประมาณฝ่ายเมืองเหมือนบ้านเรา ที่ชอบอาศัยเงินภาษีโกยกำไรให้ตัวเอง ทั้งที่รู้ว่าผิดระเบียบการเงินการคลังห้ามใช้เงินรัฐ…เว้นแต่กรณีรัฐร่วมลงทุน

ประติมากรรมหิมะปลากัด

เทศกาลหิมะซัปโปโรระบุไทม์ไลน์จัดทุกต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปักหมุดไว้ที่สวนโอโดริกลางเมือง

ไฮไลต์คือการประกวดประติมากรรมหิมะจากศิลปินทั่วโลก 300 คณะ ซึ่งแต่ละชาติต้องยื่นโมเดลให้ดูว่าเป็นศิลปะบริสุทธิ์ไม่ส่อเสียดการเมือง ไม่ลามกอนาจารทำศีลธรรมเสื่อม

ทางฝ่ายผู้จัดจะหาวัตถุดิบคือก้อนหิมะให้ โดยไม่อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเข้าร่วมทีม แต่เป็นที่ปรึกษาสภาพอากาศได้ และมีวันเวลาให้สร้างงานถึง 4 วันก่อนตัดสิน

การเข้าร่วมกิจกรรมทุกปีของไทยตั้งแต่ปี 2534 หวังรางวัลที่จะได้สูงสุดคือจำนวนชาว โลก ซึ่งปีหนึ่งมาเที่ยวชมงานกว่า 2.6 ล้านคนได้รู้จักเมืองไทยมากขึ้น อันเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการทำตลาดแต่ละปี…โหมดนี้จะว่าโม้ก็ได้ ที่เมืองไทยถึงไร้หิมะก็จริง ทว่า การนำเสนองานศิลปะนั้น มีเอกลักษณ์สวยงามละไมในเชิงช่างมาแต่ไหนแต่ไร จึงมักได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

บันทึกประวัติการร่วมแกะสลักหิมะไทยไม่เก๊ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้ว 9 ครั้งตั้งแต่ปี 2543 ด้วยภาพจำลองพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ชีวิตชาวนาไทย ไก่ชน ปลากัด เต่าทะเล และอีกชิ้นศิลปะมวยไทยที่ปีนั้นอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง เป็นผลให้ข้อศอกนักมวยละลายผิดรูปต้องรีบแก้ไข…ทีแรกเรามีแววเข้าวิน แต่ที่สุดก็ได้แค่อันดับรอง เช่น ชุดบั้งไฟพญานาคปีนี้

เจเอ็นทีโอได้สรุปคนไทยไปเที่ยวชมงานซัปโปโรปี 2552 มี 6,300 คน ปี 2555 ขยับเป็น 37,000 คน ปี 2556 ญี่ปุ่นปล่อยผียกเว้นวีซ่าให้ 15 วัน เพิ่มเป็น 98,000 คน ล่าสุด 4 เดือนแรกปีนี้ไปออนทัวร์แดนซากุระแล้ว 4.66 แสนคน อนุมานว่า 30% คือ 1.66 แสนคน

นักเรียนที่มาชมงาน

เมื่อเอ่ยถึงเทศกาลหิมะซัปโปโรที่ปังทุกปี ก็อยากชวนให้มองเทศกาลประเพณีแห่เทียนพรรษานานาชาติอุบลราชธานีบ้าง ปีนี้กำหนดจัด 17 ถึง 23 กรกฎาคม ในวาระครบ 119 ปี แห่งการสืบสานตำนานโบราณ ก่อนขึ้นสู่ระดับนานาชาติมากว่า 40 ปี เพื่อตอบโจทย์ท่องเที่ยวตามเจตนา ททท. แต่อดขำไม่ได้ที่ ททท.สำนักงานพื้นที่กลับตอบอะไรไม่ได้ – อ้างเหตุเกิดไม่ทัน?

ดีแต่ได้นิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด เล่าให้ฟัง “แต่ละปีมีการประกวดต้นเทียนทั้งแบบติดพิมพ์และแกะสลัก แข่งขันกันด้วยเงินลงทุนต้นเทียนแต่ละต้นมูลค่าสูงเกิน 1 ล้านบาท มากกว่าเงินรางวัลที่จะได้รับแค่หมื่นแสนบาท แต่ผลที่ได้รับถือว่ามีค่ามหาศาลจากผู้คนทั่วสารทิศมาร่วมงานปีละ 2.5 แสนคน สร้างกระแสเงินสะพัดร่วม 300 ล้านบาท”

รองผู้ว่าการบอกอีกว่า “โรงแรมที่อุบลราชธานีทั้งในเมือง และต่างอำเภอริมโขงเฉียด 5 พันห้องถูกจองเต็มล่วงหน้า ล้นไปถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น ยโสธร มุกดาหารและศรีสะเกษ”

มีเมนต์น่าเสียดายที่ว่าความสูญเปล่าได้เกิดขึ้นช่วงเทศกาล เมื่อทุกปีที่ ททท.ผนวก “เทศกาลแกะสลักเทียนนานาชาติ”ไว้ด้วยกัน โดยเชิญประติมากรต่างชาติมาร่วมงานปีละ 10 ประเทศ ภายใต้เงื่อนไขคล้ายเทศกาลหิมะซัปโปโร แถมมีดนตรีวงซิมโฟนีบิ้วให้โรมานซ์

กิจกรรมนี้เริ่มปี 2549 ที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ปีถัดมาย้ายไปห้าใหญ่กลางเมืองไปลงตัวที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติท้องถิ่น ไม่ยักใช้ทุ่งศรีเมืองที่แสดงต้นเทียนพรรษามีคนชมมาก

ที่ไม่เหมือนโมเดลซัปโปโร คือหลบซ่อนในหลืบหลังอัฒจันทร์ชมงานแห่เทียนหน้าอารามหลวงยากที่ผู้สนใจจะรู้ นอกจากนักเรียนนักศึกษาที่ถูกครูวางให้มาทำรายงานเก็บคะแนน

และที่น่ารังเกียจสุดฉ่ำ…ก็ตรงมีนักการเมืองมากบารมีแต่ไร้คุณธรรม แอบโยกงบฯ ที่เตรียมไว้สนับสนุนไปสร้างส้วมสาธารณะในพื้นที่ตนแทน สมควรประณามในความอัปยศที่ทำให้เทศกาลช่วงบุญใหญ่เข้าพรรษาอุบลราชธานี มีอันต้องยุติไปนับแต่ปี 2559 จนกระทั่งบัดนี้!

ขณะเทศกาลหิมะซัปโปโรมีแต่เดินหน้าอย่างงดงาม ได้ศิลปินเมืองไทยไร้หิมะร่วมสร้างสีสันทุกปี โดยไร้เงามนุษย์แฝงทำลายบรรยายกาศ เช่น เทศกาลแกะสลักเทียนนานาชาติบ้านเรา?

ประติมากรต่างชาติในงานแกะสลักเทียนอุบลฯ
งานประติมากรรมเทียนนานาชาติที่อุบลฯ เคยมี
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจมาชม
หิมะจำลองพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ
เด็กๆ ในซัปโปโรฤดูหิมะ