กระตุ้นอสังหาฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ ‘ก๊อก 2’

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

คงต้องยอมรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ด้วยการลดหย่อนภาษีค่าธรรมเนียมการซื้อขายเมื่อ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น ยังไม่สามารถ “สตาร์ต” เครื่องยนต์อสังหาฯ และจึงยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม กำลังซื้อและเศรษฐกิจภาพรวมยังคงชลอตัวลงต่อไป

การท่องเที่ยวซึ่งกระตุ้นตั้งแต่แรกเริ่มตั้งรัฐบาล และสามารถกระตุ้นได้สำเร็จ กลับมาแล้วถึงประมาณ 90% แต่การท่องเที่ยวมีสัดส่วนในรายได้ประชาชาติหรือ GDP ประมาณ 20% ไม่สามารถ “แบก” หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนที่เหลืออีก 80% ให้ขยับไปข้างหน้าได้

ทางเลือกมีไม่มาก เพราะปัญหาการส่งออก ปัญหาการผลิต และปัญหาอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีการปิดโรงงานเก่ามากกว่าเปิดโรงงานใหม่ๆ ล้วนเป็นปัญหาทางโครงสร้างของระบบที่ไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาเป็นเวลานานทั้งสิ้น

การแก้ไขปัญหาโครงสร้าง การเมืองต้องมีเอกภาพพอสมควร มีทีมบริหารที่มีความสามารถ และต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล

 

ดังนั้น เฉพาะหน้านี้ จึงต้องมี “ก๊อก 2” มากระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ อีกที เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการซื้ออยู่แล้ว และมีสินค้าพร้อมขายอยู่เป็นจำนวนมาก มูลค่ามหาศาลมากพอที่จะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจขยับตัวระดับหนึ่ง

นั่นคือการเปิดทางให้สิทธิต่างชาติซื้อหรือเช่าระยะยาวที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพราะมีความต้องการ มีกำลังซื้อ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไม่อยากแตะเรื่องนี้ เพราะเกรงจะถูกโจมตีทางการเมือง แม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอำนาจในมือพร้อมทุกทาง นำเสนอเรื่องนี้ถูกโจมตีจนต้องถอยเรื่องนี้ออกไป

ครั้งนี้รัฐบาลใช้วิธีการที่ระมัดระวังนุ่มนวล โดยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อ้างตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษามาตรการต่างๆ ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาความเป็นไปได้

ดังนี้

 

1. พิจารณาทบทวนกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ์ 2563 โดยให้กำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี

2. พิจารณาหลักเกณฑ์และกฎหมายการให้สิทธิคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ จากเดิมไม่เกิน 49%เป็น 75% โดยกำหนดเงื่อนไขจำกัดสิทธิการออกเสียงบริหารนิติบุคคลอาคารชุดต่างด้าวส่วนที่เกิน 49%

เรื่องแรก การขยายระยะเวลาการเช่าอสังหาฯ เดิมสูงสุด 30 ปี เป็น 50 ปีและสามารถต่อระยะเวลาได้อีก 1 ครั้ง รวมไม่เกิน 99 ปี ขณะเดียวกันสัญญาเช่าได้สิทธิตาม พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ์ 2563 สามารถเป็นทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์จำนองกับสถาบันการเงินได้และเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้

เรื่องที่สอง ขยายสัดส่วนให้ต่างชาติซื้อห้องชุดได้จาก 49% เป็น 75% โดยจำกัดพื้นที่ได้ในบางจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา

ต้องติดตามว่า เรื่องดังกล่าวนี้จะใช้ระยะเวลากี่มากน้อย จึงจะมีผลในทางปฏิบัติ

และติดตามว่าส่วนต่างๆ ในสังคมไทยจะมีความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องนี้กันมากน้อยเพียงใด •

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.