IGNITE ‘น่าน’ อัพเกรด ‘สนามบิน’ เมืองเก่ามีชีวิตฯ สู่ ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’

เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับการผลักดันให้ “จ.น่าน” ขึ้นทะเบียน “มรดกโลก” ต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ไปเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน) พร้อมทั้งประกาศเสียงดังฟังชัด ว่าจะสนับสนุน จ.น่าน ให้เป็นเมืองมรดกโลก โดยจะสร้างความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว และผลักดันควบคู่กับการเป็นเมืองคู่แฝด เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว

เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากต่างประเทศ เข้ามาเที่ยว จ.น่าน หวังเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของ จ.น่าน ไปสู่ระดับสากล ซึ่งจะสร้างทั้งโอกาส และสร้างรายได้ให้จังหวัดท่องเที่ยว “เมืองน่าเที่ยว”

โดยจะผลักดันควบคู่กับการ “อัพเกรด” สนามบินน่าน ให้เป็น “สนามบินนานาชาติ”

ซึ่งนายกฯ เศรษฐาย้ำว่า เป็นนโยบายสำคัญ และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยได้เตรียมสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เดินหน้าผลักดันเต็มสูบ

ขณะที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจกแจงที่มาที่ไปที่นายกฯ เลือกที่จะขับเคลื่อนให้ จ.น่าน ให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพราะด้วยศักยภาพที่ จ.น่าน เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ยาวนาน หลากหลายทางชาติพันธุ์ ร่ำรวยทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และมีพื้นที่ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงวัดสำคัญ

อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการจุดประกาย หรือ IGNITE จ.น่าน สู่การเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมของรัฐบาล!!

 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกของไทย และ วธ.เร่งผลักดันให้ จ.น่าน เป็นเมืองมรดกโลกอีกแห่ง ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพ “ท่าอากาศยานน่านนคร” ซึ่งเป็นสนามบิน จ.น่าน ให้บินได้ในเวลากลางคืน

โดยจะขับเคลื่อนให้เป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อให้เกิดการเดินทางที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ ทั้งเมืองหลวงพระบาง และ จ.น่าน

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเรื่อง “5 Countries 1 Destination” ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของการเดินทางมาท่องเที่ยว ทั้งไทย และเชื่อมโยงไป สปป.ลาว มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา

ทั้งหมดนี้ นายกฯ เชื่อมั่นในศักยภาพของไทย ที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม ผ้าไทย อาหาร ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน และผลักดัน จังหวัดท่องเที่ยวที่เป็นเมืองน่าเที่ยวของไทย โดยชูอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดเป็น “จุดขาย” เพื่อดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ ให้มาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น

สร้างรายได้แก่ชุมชนและจังหวัด ต่อยอดการกระจายรายได้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ!!

 

หากย้อนกลับไปในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นการประชุม ครม.สัญจรครั้งแรกในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่) ที่มหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา ครั้งนั้น ครม.มีมติเห็นชอบให้ผลักดัน จ.น่าน เป็นเมืองมรดกโลกคู่เมืองหลวงพระบาง เพื่อเชื่อมโยงทั้ง 2 เมืองเข้าด้วยกัน และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยเห็นชอบในหลักการ “โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก”

หากลงรายละเอียดในโครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิตฯ จะแบ่งออกเป็นอีก 2 โครงการย่อย ที่ วธ.โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) น่าน ได้เสนอ ครม.ของบประมาณรวม 7 ล้านบาท เพื่อใช้ขับเคลื่อนเมืองมรดกโลก ได้แก่

1. โครงการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ ประวัติศาสตร์มรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ จ.น่าน สู่มรดกโลก ใช้งบฯ 2 ล้านบาท ประกอบด้วย การประชุมเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมรดกทางวัฒนธรรมแก่หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จ.น่าน รวมทั้งจัดทำหนังสือองค์ความรู้มรดกทางวัฒนธรรมของ จ.น่าน และสื่อเผยแพร่ในระบบออนไลน์

และ 2. โครงการศึกษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อน จ.น่าน สู่มรดกโลก ใช้งบฯ 5 ล้านบาท โดยจะดำเนินการศึกษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ จ.น่าน ประเมินคุณค่า และความสำคัญที่โดดเด่นในระดับสากล รวมถึงรวบรวมองค์ความรู้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดเป็นเอกสารวิชาการ และประเมินความเชื่อมโยงของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานในการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของ จ.น่าน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก

โดยทั้ง 2 โครงการจะดำเนินการในปี 2567 มีเป้าหมายมุ่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าในความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ จ.น่าน และการมีส่วนร่วมแก่หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชน และประชาชน จ.น่าน ในการขับเคลื่อน จ.น่าน สู่การเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรม และร่วมกันอนุรักษ์ไว้

รวมทั้งเพื่อเตรียมเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของ จ.น่าน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก

 

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการ วธ.กล่าวว่า โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิตฯ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง วธ. ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน และกรมศิลปากร และหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.น่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของ จ.น่าน ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เนื่องจากเมืองน่านมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความรุ่มรวยศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และยังคงมีพื้นที่ที่มีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่เคยสำรวจ ขุดค้น และค้นพบข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องมือหิน เตาเผาโบราณ บ่อเกลือสมัยโบราณ โครงกระดูกของมนุษย์ยุคโบราณ และมีวัดสำคัญต่างๆ

“นโยบายของนายกฯ ที่มุ่งผลักดันให้ จ.น่าน เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมคู่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโยงทั้ง 2 เมืองเข้าด้วยกัน ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในประเทศไทย ขับเคลื่อน Soft Power ด้านท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน และชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ” น.ส.สุดาวรรณกล่าว

แต่เพื่อให้การขับเคลื่อนเมืองน่านเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม อย่างเป็นรูปธรรม วธ.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการเสนอแหล่งโบราณคดีและแหล่งวัฒนธรรมของจังหวัดน่าน ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

ขณะที่ จ.น่าน ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแหล่งมรดกวัฒนธรรมจังหวัดน่านสู่มรดกโลก มีวัฒนธรรมจังหวัดน่านเป็นคณะทำงานเช่นกัน

การขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน ในการ IGNITE “จ.น่าน” ขึ้นเป็น “เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม”!! •

 

| การศึกษา