ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพ

รายงานพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพ

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน…

ฮัจญ์ คือ การรวมตัวของมนุษยชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถรวบรวมประชาคมโลกที่ก้าวพ้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม มุสลิมทุกคนต้องประกอบพิธีฮัจญ์แม้ครั้งเดียวในชีวิต หากมีความสามารถ

ฮัจญ์คือเทศกาลประจำปีระดับนานาชาติที่เชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติให้หวนรำลึกและฟื้นฟูบรรยากาศแห่งศรัทธา การยำเกรง การยึดมั่นในคำสอน การฝึกฝนความเป็นน้ำหนึ่งเดียว รับทราบ ศึกษาและร่วมแก้ไขวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ดังนั้น จึงเห็นว่า ทุกๆ ปี ชาวไทยมุสลิมจำนวนมากจะไปร่วมประกอบพิธี “ฮัจญ์” ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตามศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นความตั้งใจสูงสุดเช่นเดียวกับอิสลามิกชนจากทั่วโลก

โดยในปีนี้ผู้ที่เดินทางไปทำฮัจญ์หรือ “ฮุจญาจ” ในส่วนของประเทศไทยประมาณ จำนวนเกือบ 8,000 คนจากโควต้าที่ได้รับถึง 13,000 คน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เพราะการประกอบพิธีทำฮัจญ์ เป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมที่มีความสามารถต้องปฏิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งชั่วชีวิต ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ความว่า “และเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเหนือมวลมนุษย์ คือ การทำฮัจญฺ ณ อัลบัยต์ (บ้านของอัลลอฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความสามารถหาทางไปสู่มัน (บ้านหลังนั้น) ได้…”

(ซูเราะฮฺอาลอิมรอน อายะฮฺที่ 97)

 

นายชาดา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ปัจจุบันมีพี่น้องมุสลิมทั่วโลกกว่า 3,000,000 คน เดินทางสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยในนั้นเป็นคนไทยกว่า 7,000 คน การไปประกอบพิธีทางศาสนาเป็นการส่งเสริมให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของหลากหลายประเทศ และรู้จักพี่น้องมุสลิมที่ไปประกอบพิธี ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงมหาดไทยได้ให้การสนับสนุน และส่งเสริมการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ตลอดมา เพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้รับความสะดวกสบาย…

การไปประกอบพิธีฮัจญ์ เหมือนกับเราเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการประพฤติตนหรือว่าการไปอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก ต้องคํานึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทย เพื่อจะได้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม มีความดีงาม โดดเด่น ซึ่งท่านก็เปรียบเสมือนกับเป็นทูตสันติภาพของไทย ที่จะออกไปทําให้พี่น้องมุสลิมทั่วโลกได้รู้ถึงความงดงามของความเป็นไทย และได้รู้ว่าพี่น้องมุสลิมไทยนั้นมีวัฒนธรรม มีประเพณีที่ดีงาม และมีเอกลักษณ์ที่สําคัญ

“ขอให้พี่น้องมุสลิมที่เดินทางไปทําพิธีฮัจญ์ทุกท่านจงภูมิใจว่าท่านก็คือตัวแทนของประเทศไทย”

ดร.อิสมาอีลลุฏฟีย์ จะปะกียา อดีตอามีรุลฮัจญ์ปี 2553 กล่าวว่า “ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์คือผู้ใฝ่สันติ เขาไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใดๆ ไม่ว่าต่อตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหล่าสิงสาราสัตว์ แม้กระทั่งกิ่งก้านหรือใบไม้เล็กๆ ก็ตาม ช่วงเวลาการทำฮัจญ์คือช่วงเวลาแห่งสันติ ในขณะที่มักกะฮ์คือดินแดนและอาณาบริเวณที่สันติสุข ดังนั้น ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงซึมซาบบรรยากาศของสันติภาพทั้งเงื่อนไขแห่งเวลาและสถานที่ เพื่อฝึกฝนให้มุสลิมสร้างความคุ้นเคยในภาคปฏิบัติสู่การประยุกต์ใช้วิถีแห่งสันติในชีวิตจริงต่อไป”

“สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปรัชญาฮัจญ์มับรูรฺ ที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องศึกษาเรียนรู้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อกลับสู่มาตุภูมิ หาไม่แล้วฮัจญ์ก็เป็นเพียงทัศนาจรราคาแพงที่มีการเก็บออมและลงทุนทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถเกิดดอกออกผลในชีวิตจริง สังคมมุสลิมก็ตกในวังวนแห่งการบูชาพิธีกรรมและเทศกาลที่ไม่มีผลต่อระบวนการพัฒนาเลย”

 

ตัวอย่างทูตสันติภาพ เช่น

1. จุฬาราชมนตรี เข้าพบเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก แลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือ

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายอรุณ บุณชม จุฬาราชมนตรี และคณะ ได้รับเชิญเข้าเยี่ยมพบปะกับ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา (Dr. Muhammad bin Abdul Karim Al-Issa) เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) ณ สำนักงานใหญ่องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกประจำนครมักกะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรศาสนาประเทศไทยกับองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก

ทั้งนี้ ทางองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกยินดีที่จะส่งเสริมด้านกิจการศาสนาในสังคมพหุวัฒธรรม บทบาทหลักด้านการเผยแผ่ศาสนา การศึกษาและปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม และสาธารณกุศล

2. ร่วมงานมหกรรมแสดงวัฒนธรรมจีน ตามคำเชิญจากประเทศจีน หวังเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

7 มิถุนายน 2567 น.ส.ณิชาวีร์ สะมะอูน ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายอิสมาอีล สิงหาด ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการฮัจญ์ นายอิมรอน หะมะซอ หัวหน้าสำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย และนายวสันต์ จิสวัสดิ์ ได้เดินทางร่วมงานมหกรรมแสดงวัฒนธรรมจีนและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีน ณ สำนักงานกิจการฮัจย์แห่งราชอาณาจักรจีน โรงแรมอันวาร อัล-อะซีล เขตอาซีซียะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ภายหลังจากที่สำนักงานกิจการฮัจย์แห่งราชอาณาจักรจีนได้เชิญสำนักงานกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยประจำเมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังได้มีสำนักงานกิจการฮัจญ์มาเลเซียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ภายในงานมีการจัดแสดงอาหารพื้นเมืองจีน หนังสือประพันธ์ด้านวิชาการหลากหลายแขนงวิชาการศาสนา สำเนาอัลกุรอ่านที่เขียนด้วยมือ อายุประมาณ 1,000 ปี ผลงานฝีมือด้านการปักถักร้อยเป็นรองเท้าและของที่ระลึก และการสาธิตนวดแผนจีน

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของการจัดงานดังกล่าว นอกจากการประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว ยังต้องการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสำนักงานกิจการฮัจญ์ เพื่อสร้างความรู้วัฒนกรรมซึ่งกันและกัน และสร้างอนาคตที่ดีร่วมกันในอนาคต

สำหรับประเทศไทยนั้น ทางสำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งราชอาณาจักรจีน ประสงค์จะนัดวันเพื่อพบปะพูดคุยกับสำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยในเร็วๆ นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนการบริหารกิจการฮัจญ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ซึ่งประเทศจีนได้รับโควต้าผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ จำนวน 10,000 คน มีจำนวนอาคารที่พักเพียง 4 อาคาร โดยบริบทการบริหารกิจการฮัจญ์ของประเทศจีนมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย

จึงเป็นอีกประเทศที่ควรศึกษาและแลกเปลี่ยน เนื่องจากประเทศจีนได้บริหารกิจการฮัจญ์ได้อย่างเป็นระบบที่สุด

 

ทูตสันติภาพผ่าน

อาหารไทยในซาอุดีอาระเบีย

สําหรับอาหารไทยในซาอุดีอาระเบีย เป็นอาหารที่ขายตามริมทางข้างท้องถนน เช่น ย่านภูเขาซัมเซ็น เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

ซึ่งศูนย์ข่าวฮัจญ์ไทย กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า มีตลาดนัดคนไทยเล็กๆในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งขายอาหารเช้าให้กับผู้แสวงบุญที่เดินทางมาประกอบพิธีฮัจญ์

โดยตลาดดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณใต้สะพานภูเขาซัมเซ็น ยานาดีรียะห์ เขตมักกะฮ์ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอาหารส่วนใหญ่นั้นเป็นอาหารพื้นเมืองของชาว จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ข้าวยำ ละแซ ข้าวเหนียวปลาเค็ม หมี่ผัด ข้าวต้ม และอาหารประเภทขนมขวาน เช่น ขนมโค ถั่วเขียว และอื่นๆ

ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้แสวงบุญทั้งคนไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มาร่วมซื้อกันเป็นจำนวนมาก

นางสเตฟานี เจ๊ะเด็ง ชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นแม่ค้าขายอาหารที่ตลาดแห่งนี้ กล่าวว่า จะออกมาขายเฉพาะช่วงเทศกาลฮัจญ์เท่านั้น ซึ่งหลังจากเทศกาลฮัจญ์ก็จะกลับไปทำงานปกติ โดยจะเริ่มขายในเวลา 06.00.-09.00 น. และหากวันใดขายไม่หมด ก็จะนำไปแจกให้คนย่านนี้ได้รับประทานกัน

ส่วนอาหารก็จะเป็นอาหารที่คนจังหวัดชายแดนภาคใต้รับประทานกัน มีลูกค้าที่เป็นคนไทยที่เคยมาอุดหนุนก็จะเดินทางมาซื้อกันเป็นประจำ รวมถึงชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วยที่เดินผ่านมาเพื่อจะไปมัสยิดฮารอมก็จะแวะซื้อ

สำหรับราคาก็จะขายในราคาเพียงกล่องละ 5 รียาล หรือ 50 บาทเงินไทย ทุกอย่างราคาเดียวกันหมด

ทางด้านผู้แสวงบุญคนไทยที่เดินทางมาเลือกซื้ออาหาร กล่าวว่า มาประกอบพิธีฮัจญ์หลายวัน และคิดถึงอาหารที่บ้าน และทราบจากแซะห์ว่ามีคนไทยมาขายอยู่ที่นี่ วันนี้จึงมาตามหาอาหารไทย เมื่อมาถึงแล้วก็มีอาหารหลายอย่างให้ได้เลือกซื้อ ทำให้ได้บรรยากาศเหมือนอยู่ที่บ้าน

ที่สำคัญคือ อยู่ไม่ไกลจากมัสยิดฮารอม เดินเท้าออกมาเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ ก็มีร้านระดับภัตตาคาร เช่นร้าน Malaysia Foods Restaurant ตั้งอยู่ที่ถนนฮิจเราะห์ ตรงข้ามกับภูเขาซู้ร แม้จะชื่อว่า Malaysia Food แต่คนไทยเป็นเจ้าของคือ นายอิสมาแอ หะยีอิดเรส เป็นชาว จ.ปัตตานี

สำหรับเมนูอาหารแบบไทยๆ ให้บริการแก่ลูกค้า เช่น ข้าวผัด และต้มยำทะเล ซึ่งได้รับความสนใจจากคนอาหรับ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน สิงคโปร์ และแน่นอนคือคนไทยที่เดินทางมารับประทานกันเป็นจำนวนมาก

ศูนย์ข่าวฮัจญ์ไทย กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า “ร้านดังกล่าวเปิดมาได้ประมาณ 2 ปี เป็นแห่งที่ 2 ต่อจากสาขาแรกที่ตั้งอยู่ย่านอาซี-ซียะห์ โดยเป็นธุรกิจที่สานต่อจากครอบครัวที่มีคุณพ่อเปิดสาขาแห่งแรกได้ประมาณ 20 ปี ซึ่งสาขาแห่งที่ 2 นี้ จะเน้นไปที่อาหารไทยเป็นหลัก เช่น ข้าวผัด ต้มยำทะเล ปลานึ่งมะนาว ปลาสามรส ไข่เจียว และอาหารกินเล่นอีกมากมาย เพื่อเอาใจคนเอเชียที่ชื่นชอบในรสชาติของอาหารไทย ส่วนวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบในพื้นที่ มีบางอย่างที่สั่งมาจากประเทศไทย ที่สำคัญคือ เราจะใช้พ่อครัวคนไทยในการทำอาหารเพื่อให้รสชาติไม่ผิดเพี้ยน”