สารพัดนโยบาย ‘หวย’ ยุค รบ.เศรษฐา ไม่ใหม่…แต่เร้าใจ?

โดนใจชาวบ้านสุดสุดกับสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ นโยบายใหม่ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน และฝั่งนักวิชาการ

รายละเอียดเบื้องต้น คือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม.40 และแรงงานนอกระบบ โดยซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม

รางวัลประกอบด้วย รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล ทั้งนี้ เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช.จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว

และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้

 

กระแสความสนใจ สะท้อนจากข้อมูลของสำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ได้สำรวจความเห็นด้วยหรือไม่กับนโยบายหวยเกษียณ พบว่า ประชาชนเห็นด้วย 67.8% ไม่แน่ใจ 34% และไม่เห็นด้วย 8.2%

ส่วนคำถามว่า หวยเกษียณมีจะประโยชน์ต่อการออมเงินไว้ใช้ยามหลังเกษียณได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ช่วยได้มาก 70.2% ช่วยได้น้อย 24.07% และช่วยไม่ได้เลย 5.1%

ขณะที่นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ‘นณริฏ พิศลยบุตร’ ก็แสดงความเห็นว่า เชิงสนับสนุนต่อนโยบายหวยเกษียณ และคิดว่าจะเป็นอีกทางเลือกให้คนไทยมีเงินเก็บออม รองรับสังคมสูงวัย พร้อมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หวยเกษียณ ถือว่ามีความน่าสนใจ โดยการออกแบบนโยบายหวยเกษียณที่ผสมผสานแรงจูงใจในการเสี่ยงโชคเข้ากับการออมสม่ำเสมอ และจำกัดการถอนเงินออกก่อนเวลา มีโอกาสที่จะช่วยให้นโยบายบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผู้ออมยามเกษียณได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี นโยบายหวยเกษียณ เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (บอร์ด กอช.) ต่อจากนี้ จะนำเสนอระดับกระทรวงการคลัง และจะเสนอคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ คาดว่าหวยเกษียณจะเริ่มได้ในช่วงปี 2568

ดังนั้น หวยเกษียณ ถือเป็นอีกผลงานที่น่าจับตามมองของพรรคเพื่อไทย โดย ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะกู้ชื่อเสียงให้พรรคเพื่อไทยได้ หลังจากกระแสโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ค่อยดีนัก

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก หรือเอ็น 3 แล้ว

‘ธนวรรธน์ พลวิชัย’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะประชุมเพื่อหาข้อสรุป 3 ประเด็น ในเรื่องของราคาขาย 20-50 บาท การคัดเลือกผู้ขายจะให้ผู้ค้าสลากดิจิทัลปัจจุบัน หรือเปิดรับสมัครใหม่ หรือให้ทั้งคู่รวมถึงเปิดให้คนอื่นๆ ทั่วไปเข้ามาขาย และสุดท้ายดูว่าจะไปใช้ระบบใดในการจำหน่าย อาทิ แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง แอพพ์อื่น เว็บไซต์ หรือเครื่องจำหน่ายล็อตเตอรี่แบบพกพา

“หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว สำนักงานสลากฯ จะมีการเริ่มทดลองขายผ่านแซนด์บ็อกซ์ โดยมีกำหนดเริ่มปี 2567 เพื่อศึกษาดูข้อดีข้อเสีย ผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเป้าหมายเราต้องการไม่ให้เอ็น 3 กระทบต่อผู้ขายสลาก หรือล็อตเตอรี่รายย่อยเดิม แต่ต้องการเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นทางเลือกเพื่อแข่งกับหวยใต้ดิน หรือสลากออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ ได้” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุทิ้งท้าย

ส่วนโครงการสลากกินแบ่งรัฐบาลเลข 6 หลัก แบบดิจิทัล หรือสลากดิจิทัล ก็ยังคงจำหน่ายได้ปกติ โดยงวดปัจจุบัน 1 กรกฎาคม 2567 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดจำหน่ายในแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จำนวนทั้งสิ้น 24 ล้านใบ ซึ่งคงจำนวนเท่ากับงวดก่อนหน้า 16 มิถุนายน 2567

ส่วนสลากแบบใบ ยังคงพิมพ์ราว 80 ล้านใบต่องวด

 

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับเรื่องหวยๆ นั้น นโยบายสลากดิจิทัล และสลากตัวใหม่สามหลัก หรือเอ็น 3 นั้น เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่ต้องการผลักดันการแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคา ในช่วงปี 2565 ซึ่งนอกจากจะมีการออกสลากในรูปแบบใหม่ๆ พร้อมกับศึกษาผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว รัฐบาลในยุคนั้นยังมีนโยบายในการปราบปรามเว็บไซต์ที่นำสลากไปขาย จนไปถึงการปราบปรามเว็บพนัน หวยใต้ดินต่างๆ

เพราะฉะนั้น นโยบายของสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ยังคงเป็นการสานต่อมาจากงานในรัฐบาลเดิม อย่างต่อเนื่อง

ด้านสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ แม้จะมีคำว่า “หวย” ในชื่อ แถมลุ้นรางวัลได้ แต่ประเภทผลิตภัณฑ์นั้น นับเป็นสลากออมทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์คล้ายเงินฝากเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเพียง 3 สถาบันการเงินของรัฐที่มีผลิตภัณฑ์เช่นนี้ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โดยสลากออมทรัพย์ คือ การออมเงินกับธนาคารในรูปแบบพิเศษ ที่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนว่าต้องฝากเป็นระยะเวลาเท่าไร ผู้ซื้อสลากจะได้รับเป็นดอกเบี้ยตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์สลากออมทรัพย์ และในระหว่างที่ฝากเงินไว้ ก็จะมีโอกาสลุ้นรางวัลตามหมายเลขสลาก ที่มีการออกรางวัลทุกเดือนอีกด้วย

ขณะที่ดอกเบี้ยตอบแทนไม่ได้สูงมากนัก อย่างสลากออมสิน พิเศษ 2 ปี หน่วยละ 100 บาท ฝากครบ 2 ปี รับดอกเบี้ย 1.20% ต่อหน่วย สลากออมทรัพย์ ชุด “นาคราช” หน่วยละ 1,000 บาท อายุสลาก 3 ปี ผลตอบแทนหน้าสลาก 1.00% ต่อปี สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ชุดขวัญถุง ครบกำหนด จะได้รับดอกเบี้ยหน่วยละ 3 บาท คิดเป็นอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี

แต่สิ่งที่จูงใจคือการลุ้นรางวัลใหญ่

 

การมอบหมายให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รับผิดชอบดำเนินการนโยบายหวยเกษียณ ถือเป็นมือใหม่ในวงการมาก เพราะที่ผ่านมา กอช.ก็ทำหน้าที่ดูแลกองทุน ลงทุน และจัดการจ่ายเงินสมทบที่รัฐบาลสนับสนุน ดังนั้น หวยเกษียณจะดีไซน์อย่างไรให้คุ้มค่าและจูงใจแก่การออมเงินจริงๆ

อย่างไรก็ดี นโยบายหวยเกษียณ ก็มีความท้าทายอีก เมื่อ ‘ชัชวาล แพทยาไทย’ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า นโยบายหวยเกษียณ ที่ไม่ต่างจากนโยบายหวยบำเหน็จที่พรรคไทยสร้างไทยได้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงและรณรงค์ตลอดการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดดราม่ากันอยู่พักหนึ่ง ที่อาจจะเป็นเรื่องให้เกิดการต่อต้านจากฝ่ายค้านในอนาคตหรือไม่

สุดท้าย นโยบายหวยๆ ยังเป็นหนึ่งในนโยบายครองใจมหาชน จะคลอดหรือจะแท้ง มาลุ้นกัน!!