หลักหกประการของคณะราษฎร สู่การต่อสู้ในปัจจุบัน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

หลักหกประการของคณะราษฎร

สู่การต่อสู้ในปัจจุบัน

 

24 มิถุนายนปีนี้ผมไปแสดงปาฐกถานำในหัวข้อว่า “หลักหกประการของคณะราษฎรสู่การต่อสู้ในปัจจุบัน”

ผมตั้งประเด็นไว้สองประการคือ หนึ่ง ประเมินความสำเร็จและล้มเหลวของนโยบายหลัก 6 ประการของคณะราษฎร สอง คือทำไมถึงไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ทำไมยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่ยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยต่อมาอีกเล่า

หลักหกประการมีดังต่อไปนี้

เอกราช ความปลอดภัยในประเทศ เศรษฐกิจให้มีงานทำ สิทธิเสมอภาคกัน เสรีภาพและการศึกษาแก่ราษฎรเต็มที่

กล่าวอย่างนโยบายรัฐคือ อธิปไตยแห่งรัฐ การปกครองและเศรษฐกิจเพื่อราษฎร สังคมเท่าเทียมพลเมืองมีคุณภาพ เป็นนโยบายรองรับรัฐใหม่ที่มีโครงสร้างประชาธิปไตย คืออำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนเป็นองค์อธิปัตย์ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ดังแต่ก่อนอีกต่อไป

ถามว่าหลักหกประการบรรลุความสำเร็จไหม

ต้องดูที่การปฏิบัตินโยบายเหล่านั้น ทางเอกราชประสบความสำเร็จ เพราะยุโรปกำลังเกิดความขัดแย้งกันเองระบบทุนนิยมโลกปั่นป่วนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การเมืองแนวซ้าย เช่น สังคมนิยมและขบวนการกรรมกรมาแรง ขบวนการเอกราช กู้ชาติกำลังเติบใหญ่ไปทั่วภูมิภาคและโลก

ตรงนี้เองที่ทำให้คำกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงในสถานการณ์การเมืองโลกขณะนั้น ที่แทบทุกแห่งระบอบการปกครองและรัฐบาลที่ไม่มีฐานจากประชาชน ไม่มีนโยบายตอบสนองและรับใช้ผลประโยชน์ของคนชั้นล่างยากที่จะอยู่ในอำนาจได้ เป็นกระแสธารแห่งการล้มล้างเปลี่ยนแปลงจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง

ประเทศสยามไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทและสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมาก จึงไม่อาจดำเนินไปอย่างทองไม่รู้ร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลกตอนนั้นได้

ตอบกำปั้นทุบดิน ยังไงก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนอย่างไรโดยใครต่างหากที่เป็นปัญหาอันควรนำมาถกเถียง

ไม่ใช่ “ชิงสุกก่อนห่าม”

กลับมาดูการปฏิบัตินโยบายของรัฐบาลคณะราษฎร รวมเวลาที่ได้บริหารปกครองจริงๆ แค่ 15 ปีเท่านั้น คือจาก 2475-2490

ประการแรกว่าด้วยการสร้างรัฐ รัฐไทยนับจากสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปใหญ่ในการสร้างโครงสร้างรัฐสมัยใหม่แบบตะวันตก คือสถาปนากระทรวงแบบใหม่แล้วรวมศูนย์อำนาจปกครองเรียกว่าระบบมณฑลเทศาภิบาล

ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นจังหวัดมีผู้ว่าราชการจากกรุงเทพฯ ส่งไปปกครองแทนเทศาภิบาลมณฑล

ถ้าพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างข้าหลวงและข้าราชการในภูมิภาคกับส่วนกลาง ต้องถือว่าได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างมาก มีการสร้างรัฐธรรมนูญจำลองแจกจ่ายและกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเมืองใหม่ในระยะนั้นไปทั่วประเทศรวมถึงในวัดด้วย

กล่าวได้ว่า ไม่มีการประท้วง การเคลื่อนไหวทำนองต่อต้านไปถึงการล้มล้างคิดกบฏต่อระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ต้องถือว่าการเปลี่ยนผ่านทางการปกครองได้รับความสำเร็จค่อนข้างดี

 

แต่มีคนแย้งว่ามีการต่อต้านจากคณะเจ้าในกรณี “กบฏบวรเดช” แค่ปีเดียว 2476 จะอธิบายอย่างไร

ตอบว่าเป็นผลมาจากการที่การเปลี่ยนแปลง 2475 ไม่ได้ใช้กำลังและความรุนแรงถึงขั้นโค่นล้มระบอบเก่าและโครงสร้างรองรับหมด ยังมีการประนีประนอมและยอมรับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังจากการยึดอำนาจอย่างฉับพลันสำเร็จลงในเช้าวันที่ 24 มิถุนายนแล้ว มีการประชุมโดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นประธานในฐานะของผู้รักษาพระนคร โดยเชิญคณะเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ มาประชุมร่วมกับคณะราษฎร เพื่อพิจารณาทำข้อตกลงเสนอให้รัชกาลที่ 7 ทรงพิจารณาในเย็นวันนั้น โดยมีข้อเสนอสองข้อ

ข้อแรก เปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองสยามโดยคณะราษฎรนั้นจึงเป็นการดำเนินไปครรลองเดียวกับที่คณะเจ้านายและข้าราชการ ร.ศ.103 ได้เคยเสนอแนะมาก่อนแล้วคือ “คอนสติตูชาแนลโมนากี” เพียงแต่ครั้งนี้คณะราษฎรมีจุดหมายระยะยาวที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นดำเนินไปสู่การมีระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ขึ้นด้วยในเวลาต่อไป จุดหมายประการแรกจึงได้แก่การ “เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย”

และประการที่ 2 คือการพัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ

ในความคิดของผู้นำสมัยนั้น การเปลี่ยนผ่านระบบไม่ใช่เป็นกระบวนการเดียวที่สำเร็จเสร็จสิ้นในการปฏิบัติครั้งเดียว จะด้วยการใช้อำนาจอย่างเต็มที่หรือหักโค่นอีกฝ่ายลงให้หมดสิ้นก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่คิดก็ยากและการนำไปปฏิบัติยิ่งยากกว่าอีก เพราะไม่มีฐานทางภูมิปัญญาไทยมาชี้นำ

ตรงกันข้ามการสถาปนาระบบกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย “ราชาธิปไตย” กับ “ประชาธิปไตย” เข้าด้วยกัน กลับไปกันได้กับลักษณะความคิดสมัยใหม่ของสยามที่มีการผสมปนเปกันระหว่างใหม่เก่าและนอกกับในมายาวนาน

ในระยะเฉพาะหน้าความคิดและทางออกดังกล่าวอาจช่วยให้ระบบใหม่ก้าวพ้นอุปสรรคและความขัดแย้งทางการเมืองขณะนั้นไปได้ระดับหนึ่ง

แต่แล้วการพัฒนาเข้าสู่ระบบใหม่อย่างแท้จริงนั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่อาจเป็นจริงได้ ในระยะยาวการดำรงอยู่และการประนีประนอมระหว่างสองระบบและสถาบันทั้งทางความคิดและสังคมการเมืองปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย

ภารกิจของคณะราษฎรในขณะนั้นจึงได้แก่การคลี่คลายและแก้ไขปัญหาปมเงื่อนของความขัดแย้งดังกล่าว มากกว่าการมุ่งหน้าไปสู่การสร้างประเทศและสังคมใหม่ตามอุดมการณ์และนโยบายหลัก 6 ประการที่ได้ประกาศไว้แต่อย่างเดียว

 

สภาพการณ์ดังกล่าวนักรัฐศาสตร์รุ่นหลังเรียกว่าคือการเมืองของการประนีประนอมหรือการปฏิวัติที่ไม่เสร็จสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการแตกหักและการโค่นล้มระบบเก่าอย่างถอนรากถอนโคนหมดสิ้น

ตรงกันข้ามกล่าวได้ว่าด้านที่เป็นหลักของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นได้แก่ด้านของการต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รุนแรงและสันติ ดังเห็นได้จากการที่รัชกาลที่ 7 ทรงรับรองฐานะของคณะราษฎรว่าถูกต้องตามกฎหมายด้วยการนิรโทษกรรม

การยึดอำนาจจึง เปลี่ยนมาเป็นการนำราษฎรในการขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

การกระทำทั้งหมดนั้นต่างยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจ จากนั้นทรงลงพระปรมาภิไธยให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นการสถาปนา “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองสยามเป็นเวลาหลายพันปี กับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น” (ตามคำกล่าวของปรีดี พนมยงค์)

ปมเงื่อนของความไม่เด็ดขาดนี้ต่อมาจะแสดงออกในการรับรู้ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นแท้จริงแล้วเป็นของใคร ดำรงอยู่อย่างไรและนำไปปฏิบัติอย่างไร ดังปรากฏในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญระหว่างฉบับแรก 27 มิถุนายน ที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ไปสู่ฉบับ 10 ธันวาคมที่ว่า “มาตรา 1 สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ มาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

นับจากนั้นมาอำนาจอธิปไตยก็ “มาจาก” ปวงชนชาวไทยแต่อย่างเดียว ไม่ใช่ “เป็นของ” อีกต่อไป

คำถามสำหรับนักคิดปรัชญาการเมือง อำนาจอธิปไตยที่มาจากประชาชนนั้นหมายความว่าอะไร มีอำนาจฯ แล้วอำนาจฯ นั้นแสดงออกอย่างไร ถ้าประชาชนมีอำนาจฯ นั้นแต่ไม่อาจแสดงออกได้ แล้วจะมีอำนาจฯ นั้นได้อย่างไร

ความยอกย้อนของมโนทัศน์ดังกล่าวนี้ อำนวยให้นักกฎหมายรุ่นหลังประดิษฐ์วาทกรรมว่า ถ้าอย่างนั้นหลังจากทหารทำรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจอธิปไตยก็ไหลไปหาพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยนั้นแทนราษฎรต่อไป

ถ้าตีความตามนี้หมายความว่า อำนาจอธิปไตยดำรงอยู่ในราษฎรและสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมกันในเวลาเดียวกัน

ที่แปลกประหลาดคือในสูตรนี้สภาผู้แทนราษฎรไม่มีฐานะและความชอบธรรมในการเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนหรือในนามของราษฎรเลย เพราะอะไร?

 

หากประเมินผลงานของคณะราษฎรในประเด็นการสร้างและสถาปนารัฐประชาธิปไตย และอำนาจรัฐที่อิงกับประชาชนหรือราษฎร โดยที่หลักความชอบธรรมทางการเมืองต้องหันมาสู่หลักการใหม่ที่เป็นสากลคือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ต้องพูดว่างานนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และนับวันยิ่งห่างไกลจากหลักการสากลมากขึ้นเรื่อย

เห็นได้จากนวัตกรรมทางการเมืองที่บัดนี้อาศัยสถาบันตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตยที่ไม่มีอำนาจ เข้ามากำกับควบคุมและทำลายสถาบันรัฐสภาโดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรให้อยู่ภายใต้อำนาจเก่านอกระบบทั้งหลายได้อย่างไม่แยแสกระแสท้วงติงและคัดค้านของรัฐสภาในอาเซียนและในตะวันตก

เป็นความเสื่อมทรามของอำนาจอธิปไตยในไทยอย่างเซื่องๆ