ชาตินิยม : ความหมาย และที่มาในโลกตะวันตก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

บุคคลผู้ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า “ชาตินิยม” (nationalism) ขึ้นใช้คนแรกของโลก เป็นนักปรัชญา ควบตำแหน่งนักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่มีชื่อว่า โยฮันน์ กอตต์ฟรีด แฮร์เดอร์ (Johann Gottfried Herder)

แฮร์เดอร์มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเขาได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเขาที่ชื่อ “ตำราว่าด้วยการกำเนิดของภาษา” (Treatise on the Origin 0f Language) เมื่อ ค.ศ.1772 (พ.ศ.2315) ซึ่งมีข้อความบางตอนที่ตราตรึงอยู่ในใจของผู้คน จนกลายเป็นวรรคทองประโยคหนึ่งมาตราบเท่าทุกวันนี้ว่า

“ขากน้ำเมือกโสมมจากแม่น้ำแซน (Seine River) ออกไป แล้วพูดเยอรมันออกมาเสีย โอ! คุณคือชาวเยอรมัน”

แน่นอนว่าแม่น้ำแซนวางตัวอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ไม่ได้อยู่ในเขตประเทศเยอรมนี ดังนั้น ที่แฮร์เดอร์กล่าวประโยคอย่างนี้จึงเป็นเพราะว่า ในภาษาเยอรมันมีคำยืมจากภาษาฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก และแฮร์เดอร์ก็ดูไม่ค่อยจะสบอารมณ์กับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากข้อความก่อนหน้าที่มักจะถูกตัดออกไปจากวรรคทองข้างต้น แต่ยังคงหาอ่านได้ในตำราของแฮร์เดอร์เล่มที่ว่าก็คือ

“คุณจะยินดีหรือที่มีแม่เป็นพวกฝรั่งเศสหรือ?”

ใครหลายคนอาจจะยินดีถ้าแม่ของผมมีเชื้อฝรั่งเศสอยู่สักนิด เผื่อว่าดั้งจมูกจะโด่งขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งมีดหมออีกสักหน่อย แต่สำหรับแฮร์เดอร์แล้วเขาคงจะไม่ปลื้มแน่ๆ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักที่ ความหมายของคำว่า “ชาตินิยม” ที่เราแปลมาจากศัพท์ “nationalism” ตามพจนานุกรมฉบับมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปของฝรั่งเองอย่าง Merriam-Webster จะให้จำกัดความของศัพท์คำนี้เอาไว้ว่า ความภักดีและการอุทิศตนให้แก่ชาติ จนทำให้รู้สึกว่าชาติของตนเองมีฐานะเหนือกว่าชาติอื่นๆ จนมีการเน้นย้ำและยกระดับให้วัฒนธรรมและสิ่งต่างๆ ของชาติตนเองขึ้นมาเพื่อต่อต้านชาติ หรือกลุ่มนานาชาติอื่นๆ ขึ้นมา

ก็ในเมื่อผู้ประดิษฐ์คำว่า “ชาตินิยม” อย่างแฮร์เดอร์ ได้กล่าวถึงชนชาติอื่นอย่างดูแคลนเอาไว้เสียขนาดนั้นเลยนี่ครับ

โยฮันน์ กอตต์ฟรีด แฮร์เดอร์ (Johann Gottfried Herder)

ความรักชาติ คงมีหลายๆ ความหมาย แต่เฉพาะความรักชาติที่พ่วงเป็นแพกเกจมากับแนวคิดเรื่องชาตินิยมนั้น มีอยู่หลายครั้งที่ภาษาไทยเราแปลมาจากคำว่า “patriotism”

และแน่นอนว่าเมื่อแฮร์เดอร์ประดิษฐ์คำว่าชาตินิยมขึ้นมาแล้ว เขาก็ต้องไม่ลืมที่จะรักชาติของเขาด้วย ดังที่เขาได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือเล่มเดิมนั้นด้วยว่า

“เขาคนใดที่ไร้ซึ่ง ‘จิตวิญญาณของชาติ’ เขาคนนั้นก็ไร้ซึ่งตัวตนและทุกสิ่งในโลกที่รายล้อมตัวเขาอยู่”

คำว่า “จิตวิญญาณของชาติ” ผมแปลมาจากคำว่า “patriotic spirit” ซึ่งแฮร์เดอร์เขียนเป็นภาษาเยอรมันไว้ แต่ผมอ่านไม่ออกเลยต้องแปลมาจากภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงไม่แน่ใจนักว่า สำหรับแฮร์เดอร์แล้ว วิญญาณของชาติจะสามารถปรากฏตัวตนออกมาเป็นๆ เหมือนอย่างวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วได้หรือเปล่า?

แต่ผมคิดว่าแฮร์เดอร์อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ เพราะเขาก็เคยเขียนไว้อีกว่า

“ในความหมายที่แน่นอน ทุกความสมบูรณ์แบบของมนุษย์คือชาติ”

ประมาณว่าถ้าไม่มีชาติแล้ว คนก็จะไม่มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เหมือนขาดไร้ซึ่งจิตวิญญาณไปเลยทีเดียว

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกอะไรเลยนะครับที่ “วิญญาณของชาติ” ในความหมายของนักชาตินิยมนั้น จะออกตามหลอกหลอนผู้คนในสังคมกันอยู่บ่อยๆ

และถ้าจะว่ากันด้วยความหมายอย่างนี้แล้ว “ชาติ” ก็ไม่ต่างอะไรจากผีโดยทั่วไป ที่ต้องเซ่นให้ดี ต้องพลีให้ถูก อย่าลืมว่าชาติไม่ใช่ผีธรรมดา อย่างน้อยที่สุด ผีรัฐชาติของแฮร์เดอร์นั้น ก็ยิ่งใหญ่เสียจนน้ำในแม่น้ำแซนกลายเป็นสิ่งโสมมไปเลยทีเดียว

 

ที่ยิ่งไปกว่า “ความรักชาติ” คือ “ความคลั่งชาติ”

ผมไม่แน่ใจว่าคำว่า คลั่งชาติ เกิดจากการที่นักวิชาการพยายามถอดคำของพวกฝรั่งออกมาเป็นภาษาไทย หรือมีใครเคยเทียบเคียงความหมายของคำดังกล่าว เข้ากับศัพท์แสงทางวิชาการของโลกตะวันตกหรือเปล่า?

แต่สำหรับในโลกวิชาการของชาวตะวันตกนั้นก็มีคำที่หมายถึง ความเป็นชาตินิยมอย่างสุดโต่ง อย่างคำว่า คลั่งชาติ ของไทยด้วยเหมือนกันอย่างน้อยอีกสองคำ ได้แก่คำว่า “chauvinism” และ “jingoism”

“chauvinism” หมายถึง ลัทธิที่กล่าวโอ้อวดเกี่ยวกับชาติของตนเองอย่างเกินจริง การปลุกระดมด้วยการนำชาตินิยมมาใช้เพื่อความรุนแรง หรือความเชื่อที่ว่าชาติของตนเองยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากกว่าชาติอื่นๆ

แนวคิดแบบ chauvinism จึงมักจะถูกกลุ่มหัวรุนแรงนำมาใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายตรงกันข้ามของตนเอง บางครั้งคำนี้ก็ผูกรวมกับการเหยียดเพศแม่อย่างสุดขั้วอย่างที่เรียกว่า male chauvinism

ศัพท์คำว่า chauvinism มีที่มาจากโลกของพวกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก โดยผูกศัพท์ขึ้นมาจากตำนานของ นิโคลาส์ โชแวง (Nicolas Chauvin) นายทหารผู้รักชาติยิ่งชีพของฝรั่งเศส ในยุคที่นโปเลียนเรืองอำนาจ แต่ตำนานก็ยังเป็นตำนานเพราะนักวิชาการชาวฝรั่งเศสเคยตรวจสอบและสรุปผลออกมาว่า โชแวงเป็นเพียงแค่บุคคลในตำนานที่ไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง โดยผู้แต่งเรื่องวีรกรรมของโชแวงได้ลอกเลียนเนื้อเรื่องมาจากบทละครของพวกโรมันเรื่อง “Miles Gloriosus” เท่านั้นเอง

ชื่อบทละครโรมันเรื่องนี้อาจแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “นายทหารขี้โม้” ซึ่งก็เหมาะกันดีกับแนวคิดแบบ chauvinism เพราะอันที่จริงแล้ว “โชแวง” ก็เป็นตัวละครนายทหารที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา เพื่อรองรับอุดมการณ์แบบชาตินิยม ไม่ต่างกัน ชื่อของบทละครในยุคคลาสลิคของยุโรปเรื่องที่ว่านี้เลยสักนิด

 

ส่วน “jingoism” นั้น มีความหมายใกล้เคียงกับ chauvinism แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ในที โดยในพจนานุกรมมาตรฐานอีกฉบับหนึ่งอย่าง Oxford ให้ความหมายไว้ว่า ความรักชาติแบบสุดโต่งที่อยู่ในรูปแบบของความก้าวร้าวทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น ในบางสำนักคิดจึงระบุว่า jingoism มีลักษณะที่สุดขั้วยิ่งขึ้นไปกว่าพวก chauvinism

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันอย่างแน่นอนระหว่าง jingoism กับ chauvinism ก็คือ jingoism เกิดขึ้นในโลกของพวกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก โดยจะสังเกตได้ว่า คำว่า “jingo” นี้ ปรากฏอยู่ในเนื้อร้องท่อนสร้อยของเพลงเพลงหนึ่งที่เล่นอยู่ตามผับในประเทศอังกฤษช่วงสงครามรัสโซ-เตอร์กิซ (Ruso-Turkish) ซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรออตโตมันกับพวกออโธดอกซ์ตะวันออก เมื่อปี ค.ศ.1877-1878 (พ.ศ.2420-2421) ดังมีใจความว่า

“พวกเราไม่ต้องการไปรบ แต่เพื่อ ‘jingo’ เราจะไป พวกเรามีทั้งเรือ มีทั้งกำลังพล แล้วเราก็มีเงินทุนอีกด้วย พวกเราจะไปสู้กับหมีก่อน ถึงแม้ว่าเราจะเป็นมนุษย์ชาวอังกฤษ (Briton) ก็ตามที พวกรัสเซียนจะไม่มีวันได้กรุงคอนสแตนติโนเปิลไป”

คำว่า jingo ในที่นี้เป็นคำกล่าวถึงพระคริสต์โดยทางอ้อม เพราะสงครามครั้งนี้เกี่ยวพันกับทางศาสนา และขอให้สังเกตว่า ในเนื้อเพลงเรียกพวกตัวเองว่าเป็น “คน” แต่เปรียบเทียบศัตรูว่าเป็นสัตว์ (คือ หมี) ลักษณะอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงการยกย่องชาติตนเองอย่างสุดโต่ง พร้อมกับที่เหยียดชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติศัตรูว่าต่ำต้อย

เอาเข้าใจจริงแล้ว ศัพท์คำว่า “nationalism” ในโลกภาษาอังกฤษ และรวมไปถึงศัพท์คำอื่นๆ ที่มีความหมายเทือกเดียวกัน อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังข้างต้น จึงต่างก็มีความหมายที่ไม่ค่อยจะดีนัก โดยเฉพาะในแง่ของความเป็นมิตรกับชาติ หรือคนในชาติอื่นๆ ดังนั้น การที่เราจะแปลคำศัพท์พวกนี้ออกมาใช้ในโลกภาษาไทยว่า “ชาตินิยม” หรืออะไรเทือกนี้ ในความหมายทิศทางบวกสถานเดียว จึงออกเป็นสิ่งที่ผิด และบิดเบือนความหมายแต่ดั้งเดิมไปเสียจนไกลลิบ

แต่ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ผมไม่ได้จะบอกว่า ถ้าใครอยากจะรักชาติ โดยไม่เหยียดใส่ชาติอื่น เป็นสิ่งที่ผิดอะไรเลยนะครับ แค่อยากจะให้เผื่อแผ่ความรักไปให้กับคนชาติอื่นๆ ซึ่งก็เป็นคนเหมือนกันกับเราด้วยก็เท่านั้น

ไม่ต้องรักมากก็ได้ แต่อย่าเกลียด และไม่เหยียดกันก็พอ •