เบื้องหลัง เลือก สว. ยอมหัก ยอมงอ ยอมทรยศ และยอมรับชะตากรรม

มุกดา สุวรรณชาติ

เลือก ส.ว.ระดับประเทศ
วุ่นวายมากกว่าที่คาดไว้

เมื่อมี ส.ว.ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาในระดับประเทศ 3,000 คน และต้องถูกคัดออกในรอบแรกถึง 2,200 คน การดิ้นรนเพื่อเข้าไปเลือกในรอบ 2 ซึ่งเป็นการเลือกไขว้จึงเกิดการรวมกลุ่มตามทฤษฎี พวกมากจะลากจนรอดไปได้ จากเดิมตามกฎที่เลือกตนเอง 1 คนและเลือกคนอื่นได้อีก 9 คนทำให้การรวมกลุ่ม 10 คนเป็นไปตามธรรมชาติและมีข้อตกลง ที่ให้เลือกซึ่งกันและกัน ทำให้ได้คนละ 10 คะแนน ทั้ง 10 คน

สำหรับพวก ส.ว.อิสระ การจับกลุ่มที่ทำท่าจะยากก็กลับไม่ยากเท่าใดเพราะทุกคนรู้ว่าถ้าอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มเล็กต้องแพ้แน่นอน ดังนั้น หลายคนจึงยอมลดทิฐิไม่ยอมหัก ยอมงอดีกว่า จากไม่รู้จักกันเลย ก็ผ่านคนกลางแนะนำ หรือบางทีก็แนะนำตัวเองผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โทร.ไปหากันเอง

ส่วนกลุ่ม ส.ว.ที่มีการจัดตั้งหรือมีฐานการเมืองเป็นแกนนำ ก็มีการรวมพรรคพวก ผ่านเส้นสายที่มีอยู่เพื่อขยายเครือข่ายให้ใหญ่ขึ้น เหมาะที่จะจับกลุ่ม 10 คนให้เป็นพื้นฐาน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มจังหวัดซึ่งเกิดจากนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นในจังหวัดนั้นรวมตัวกันส่งคนสมัคร ส.ว.และได้มาจำนวนหนึ่ง เมื่อรวมกันได้ในแต่ละจังหวัด 10-20 คนแต่กระจายอยู่ตามกลุ่มอาชีพต่างๆ 1 คนบ้าง 2 คนบ้าง ก็ต้องนำไปรวมกับกลุ่มกับจังหวัดอื่นเพื่อให้ได้กลุ่มอาชีพละ 10 คน

หลังจาก 5 วันแรกกลุ่มต่างๆ ก็รวมตัวกันติดทั้งผู้สมัครอิสระก็สามารถรวมกลุ่มได้ประมาณ 10 คน ส่วนกลุ่มที่มีจัดตั้งก็รวมกันได้ไม่ยากนัก แต่ก็จะมีเศษของ 10 คน จะเป็น 3 คน หรือ 7 คน ดังนั้น จึงมีคนคิดเพิ่มคะแนน

 

การยกระดับกลุ่มขึ้นเป็น 20 คน
โดยมีโหวตเตอร์

จากข่าวสารที่เข้ามาก็ปรากฏมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งสามารถจัดตั้งมาประมาณ 40 จังหวัดหลุดเข้ามาในระดับประเทศได้จำนวนมากจึงมีการจัดตั้งกลุ่มให้เหนือกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจาก 10 คะแนนจะเป็นพื้นฐานถ้าคนส่วนใหญ่ได้ 10 คะแนนกันหมดก็ต้องจับสลาก ดังนั้น พวกเขาจึงยกระดับมาเป็น 20 คะแนน

โดยจะกำหนดให้ 10 คนเป็นตัวจริง และอีก 10 คนเป็นผู้เสียสละมาเป็นผู้โหวตสนับสนุนโดยไม่โหวตคะแนนให้ตัวเองเลย แต่โหวตให้ตัวจริงคนละ 1 คะแนนทั้ง 10 คน ผู้เสียสละนี้เรียกว่า โหวตเตอร์

ถ้าโหวตเตอร์ทำแบบนี้ไม่มีการโกหก ตัวจริงก็จะได้คะแนนเพิ่มอีกคนละ 10 คะแนน จากเดิมที่มี 10 ในการโหวตแลกคะแนนกันในกลุ่ม คะแนนของตัวจริงก็จะเพิ่มเป็น 20 เหนือกว่ากลุ่มอื่น

เมื่อทฤษฎีนี้แพร่กระจายออกไป ก็ยังมีคนเอาไปประยุกต์ใช้โดยหาผู้เสียสละการโหวตเพิ่มเข้าไปอีก 1-3 คน ก็จะทำให้ตัวจริงเหล่านั้นกลายเป็นมีคะแนนเพิ่มจาก 20 เป็นคนละ 21-23 คะแนน เพื่อมุ่งหวังเอาชนะพวกที่ได้คะแนน 20

 

ยอมหัก…ไม่ยอมเป็นโหวตเตอร์

แต่ความเป็นจริงด้านกลับก็ปรากฏขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ตัดสินว่าใครเป็นผู้เสียสละจะต้องสอบตกได้คะแนน 0 ก็มีคนจำนวนมากไม่ยอมรับการจัดการ หลายกลุ่มจึงแตกกระจายออก บางกลุ่มมีคนครั้งแรกถึง 30 คน พอประกาศจะให้มีผู้เสียสละเป็นโหวตเตอร์ ก็มีคนหนีออกเกิน 10 คนทันทีแล้วไปตั้งกลุ่มใหม่

หลายคนประกาศว่ายอมสอบตกตามธรรมชาติแต่ไม่ยอมเสียสละให้คะแนนเป็นศูนย์เพื่อคนอื่น แม้จะมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนว่าถ้าในกลุ่มมีคนได้ ส.ว.จะได้เป็นผู้ช่วยหรือจะได้ผลประโยชน์อื่นตอบแทน

แต่ก็มีผู้เสียสละเป็นโหวตเตอร์อย่างจริงใจ เพราะตั้งใจมาตั้งแต่ตอนรับสมัครแล้ว ดังนั้น จึงมีบางกลุ่มใช้วิธี Primary vote แต่ก็ต้องนำมาใช้ในนาทีสุดท้าย เพราะถ้าใช้แต่เนิ่นๆ คนที่ไม่ได้รับเลือกเป็นตัวจริงและทำใจรับไม่ได้จะเผ่นหนีออกไปก่อน

บางกลุ่มก็ใช้วิธีจับคู่ แล้วใช้การตัดสินแบบ กกต.คือการจับสลาก เพื่อหาตัวจริงและโหวตเตอร์ ดูเหมือนการหาโหวตเตอร์ในกลุ่มที่มีการจัดตั้งมาจะทำได้ง่ายกว่า เพราะหลายคนก็รู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีความสามารถและประสบการณ์ไม่ถึงระดับการไปเป็น ส.ว. การยอมรับชะตากรรมก็ง่ายขึ้น

 

3 วันก่อนการเลือก สว.ระดับประเทศ
ความวุ่นวายหนักมาก

เมื่อมีผู้สมัครแตกกลุ่มออกไป ก็มีการไปหามาเพิ่มโดยใช้วิธีดึงตัวกลุ่มอื่นหรือดึงตัวผู้สมัครอิสระเข้ามาทดแทน แต่แทบทุกกลุ่มต้องการโหวตเตอร์

การแลกเปลี่ยนโหวตเตอร์จึงเกิดขึ้น

มีการแลกเปลี่ยนโดยตรง เช่น ขอโหวตเตอร์กลุ่มอาชีพนี้ซึ่งยังมีเหลือไปแลกกับโหวตเตอร์อีกกลุ่มอาชีพ บางครั้งก็มีการแลกเปลี่ยนผ่านคนกลาง เพราะหลายกลุ่มการเมืองเหลือคนบางกลุ่มอาชีพเพียงแค่ 2-3 คน สู้ไปก็แพ้ตกรอบแรกเสียคะแนนเปล่าๆ

การสู้แพ้ตกรอบแรกมีผลถึงการเลือกไขว้ในรอบ 2 เพราะถ้าคนที่หวังว่าจะมาลงคะแนนหนุนช่วยรอบ 2 สอบตกไปแล้วตั้งแต่ตอนเช้า ต่อให้จับสลากไขว้กลุ่มมาเจอกันก็ไม่มีคะแนนมาหนุน

การเลือกรอบแรก คะแนนสูงสุด 1-20 อันดับน่าจะเป็นของกลุ่มการเมืองที่เข้มแข็งแต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มอาชีพ เป็นบางกลุ่มอาชีพ แต่อันดับ 21-40 น่าจะมีผสมปะปนกันไป กลุ่มที่รวมกันได้ถึง 10 คนก็ยังพอมีโอกาส โดยเฉพาะถ้าทำได้ 10 กว่าคะแนนนี่คือสิ่งที่ทุกคนคาดหวังไว้

 

การเลือกรอบ 2
พวกมาก ดวงดี มีชื่อเสียง

การจับสลากเลือกรอบ 2 เป็นการชี้ชะตาว่าใครจะมีโอกาสเข้าไปเป็น ส.ว. ถ้าจับสลากไขว้ไปเจอกลุ่มที่มีพรรคพวกตัวเองอยู่มาก โอกาสก็สูง แต่บางครั้งไปเจอแล้วก็จริงแต่กลุ่มพรรคพวกตัวเองสอบตกเหลือคะแนนมาสนับสนุนน้อยมากหรือไม่มีเลย

ในรอบนี้คะแนนจัดตั้งของกลุ่มการเมืองหรือของกลุ่มอิสระที่รวมกันก็จะมาเป็นคะแนนพื้นฐาน

แต่ยังมีคะแนนส่วนตัวตามชื่อเสียงของผู้สมัครคนนั้นและคนที่มีความสัมพันธ์กว้างขวางกับคนในกลุ่มต่างๆ เพราะสามารถเพิ่มคะแนนพิเศษแม้จะเป็น 1 หรือ 2 คะแนนก็ตาม แต่สามารถทำให้ชนะได้เพราะคะแนนในรอบนี้ไม่น่าจะสูงมาก

ตามการประเมินของผู้สันทัดกรณีคิดว่าคนที่มีคะแนนสูงและเป็นที่นิยมไม่น่าจะเกินกลุ่มอาชีพละ 1-2 คน ลำดับ 3 ถึงลำดับ 10 จะได้คะแนนธรรมดา คนที่ได้คะแนนลำดับท้ายๆ ของกลุ่มอาชีพ 40 คนคงมีคะแนนเป็น 0 เพราะไม่มีใครเลือกเนื่องจากผู้เลือกสามารถเลือกเพียง 5 คนจาก 40 เท่านั้น

การส่งข้อความขอคะแนนกันทางสื่อโซเชียลระหว่างผู้สมัครด้วยกันจึงมีมากมาย เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะไขว้กลุ่มไปเจอกับใคร บางคนก็ขยันส่งไปหมดทั้ง 3,000 คน แม้รู้ว่าจะตกรอบแรกไปถึง 2,200 คนก็ตาม แต่ก็หวังว่าอีก 800 คนถ้าจำเขาได้ แล้วไขว้มาเจอกันก็อาจจะได้สัก 1 คะแนน

ช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าไม่รู้ประวัติกันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตัดสินใจได้อย่างง่ายๆ การเลือกในรอบนี้ส่วนใหญ่คงจะเลือกจากการที่ศึกษามาแล้ว มีคนฝากมาแล้ว รู้จักกัน ซึ่งก็ไม่มีทางจำได้หมด ทางเดียวคือต้องจดชื่อและเบอร์ คนที่อยากจะเลือกเอาไว้ แม้ไขว้มาแล้วหาได้ไม่ครบตามที่อยากเลือกก็ต้องไปหาดูเอาจากโปรไฟล์

โปรไฟล์ของบุคคลเพียง 5 บรรทัดจึงอาจจะมีส่วนตัดสินใจถ้าผู้ลงคะแนน จำคนได้หรือมีคนอยู่ในใจเพียงสองสามคนก็จะมีช่องว่างอยู่อีก 2 คะแนน คนที่เด่นดังก็จะได้เปรียบ

การเลือกคน 5 คนจากทั้ง 40 คนก็จะทำให้มีคนคะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้าย ซึ่งก็จะต้องมีการจับสลากวัดดวง และหลายๆ กลุ่มอาชีพจะมีคนคะแนนเท่ากันเกินกว่า 5 คน

(ตอนนี้กำลังตามหาตัวคนที่ผ่านการจับสลากและชนะมาทุกรอบ)

ฉบับหน้า จะวิเคราะห์กลุ่มที่ได้ ส.ว.