พุทธศาสน์นาลันทา : จิตวิญญาณของการเรียนรู้พุทธศาสนาที่ไม่เคยหายไป

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ชาวพุทธไทยต่างคุ้นชื่อ “นาลันทา” (Nalanda) เป็นอย่างดี ว่าเป็น “มหาวิหาร” หรือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกโบราณ โดยเฉพาะหากใครไปทัวร์สายบุญ “สังเวชนียสถาน” ที่อินเดีย บริษัททัวร์มักจัดให้ไปเยี่ยมชมโบราณนาลันทาด้วยเสมอ

ทว่า สิ่งที่นักแสวงบุญบ้านเราสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับนาลันทาคือการได้ไปกราบไหว้ “หลวงพ่อองค์ดำ” พระพุทธรูปโบราณองค์เดียวที่ยังคงอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งชาวบ้านฮินดูผู้ไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปกราบไหว้กันมาในฐานะ “พระไภรวะไล้ทาน้ำมัน” (เตลิยา ภัณฑาร ไภโร) มาก่อน บวกการตอกย้ำประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่และการโดนทำลายจากมุสลิมจนไม่เหลือซาก ไม่เหลืออะไรเลย

นาลันทาจึงมีเพียงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่รอดการทำลายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ซากอิฐเก่าๆ ชาวบ้านฮินดูที่ไม่รู้จักพระพุทธรูป กับประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้า

ทั้งที่จริงมีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะจิตวิญญาณการเรียนรู้ของนาลันทาไม่เคยหายไป ไม่เคยตายหรือถูกทำลาย

 

มหาวิหารแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ห้าและดำรงอยู่อย่างยาวนานถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบสาม ความยิ่งใหญ่ของนาลันทาถูกบันทึกไว้ในเอกสารของนักแสวงบุญหลายท่านว่ามหาวิหารแห่งนี้ทำหน้าที่เป็น “มหาวิทยาลัย” ที่มีคณาจารย์และนักศึกษานับพันนับหมื่น

มีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น นาคารชุน ธรรมกีรติ อสังคะ วสุพันธุ อตีศะ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นนักปราชญ์สำคัญของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

มีนักศึกษาชาวพุทธจากหลายประเทศเดินทางดั้นด้นเพื่อไปศึกษา หนึ่งในนั้นคือพระเสวียนจ้าง หรือพระถังซำจั๋ง พระภิกษุหนุ่มชาวจีนจากต้าถังผู้ได้เป็นถึงอธิการบดีแห่งนาลันทาอันทรงเกียรตินั้นด้วย

จากบันทึกของท่านเหล่านี้ เราพบว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาแม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ก่อตั้งจากฝ่ายมหายาน แต่ก็มีสรรพวิชาที่เปิดกว้าง คือมีการเรียนการสอนมโนทัศน์ของพุทธศาสนาทั้งหีนยาน มหายานและวัชรยาน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาหลักปรัชญานอกพุทธศาสนา ไวยากรณ์ ตรกกวิทยา การแพทย์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ รสายนเวท ฯลฯ

ในอีกแง่มุมหนึ่ง แม้มหาวิทยาลัยนาลันทาจะเปี่ยมไปด้วยนักวิชาการที่ทรงคุณ แต่นักวิชาการเหล่านั้นมิได้ศึกษาวิชาการเพียงเพื่อจะอวดอ้างความเก่งกล้าด้านสติปัญญาเท่านั้น

ทว่า มีหลายท่านที่เมื่อพบว่าตนเองหลุดเข้าไปในความหลงใหลทางวิชาการเพียงอย่างเดียว ท่านก็พกเอาความเข้าใจจากนาลันทาออกไปสู่โลกกว้าง ออกจากมหาวิหารไปสู่มหาวิทยาลัยชีวิต เพื่อเรียนรู้ธรรมจากประสบการณ์ตรง เช่น มหาสิทธานาโรปะ ท่านศานติเทวะ เป็นต้น

นาลันทาจึงเป็นทั้งคลังปัญญาของพุทธศาสนาโดยเฉพาะในฝ่ายมหายาน และจุดกำเนิดสายธรรมมหาสิทธาแห่งวัชรยานไปในตัว

 

เมื่อนาลันทามหาวิหารถูกทำลายลงในคริสต์ศตวรรษที่สิบสาม คณาจารย์ นักศึกษา คัมภีร์ และจิตวิญญาณการเรียนรู้ของนาลันทาได้เคลื่อนย้ายไปยังเทือกเขาหิมาลัย มุ่งสู่ดินแดนแห่งหิมะ “ทิเบต”

ตำรับตำราจากนาลันทา ความทรงจำ รูปแบบอาราม รูปแบบชีวิตพระและจิตวิญญาณการเรียนรู้จึงยังสืบทอดต่อมาในพุทธศาสนาฝ่ายทิเบตอย่างเป็นระบบ เราจึงยังพอจะเห็นเค้าลางของนาลันทาได้แม้ในปัจจุบัน

ครั้นทิเบตแตก ครูบาอาจารย์ชาวทิเบตได้เดินทางไปยังโลกตะวันตก พบเจอกับเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทางวัฒนธรรมที่ต่างจากเดิม แม้อาจไม่สามารถเก็บรักษา “รูปแบบ” เอาไว้ได้ทั้งหมด แต่จิตวิญญาณของนาลันทายังคงไม่หายไปไหน และยังเบ่งบานประสานกับวิทยาการสมัยใหม่บางด้าน เช่น จิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ค.ศ.1974 เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช ธรรมาจารย์ชาวทิเบตเริ่มก่อตั้งสถาบันนาโรปะ ในโบลเดอร์ โคโรลาโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะพัฒนามาเป็น “มหาวิทยาลัยนาโรปะ” ในภายหลัง ตามนามแห่งมหาสิทธานาโรปะ อดีตคณาจารย์ของนาลันทา

มหาวิทยาลัยแห่งนี้นอกเหนือจากการเรียนพุทธศาสนาอันเปิดกว้าง ยังมีวิชาการด้านจิตวิทยา การศึกษา สิ่งแวดล้อม วรรณกรรม ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งเชื่อมโยงกับมิติของการภาวนาภายในอย่างลึกซึ้ง

เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยระบุอย่างชัดเจนว่า แรงบันดาลใจของมหาวิทยาลัยนาโรปะมาจากมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต

 

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการเริ่มก่อตั้งสถาบัน เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช ได้ก่อตั้ง “คณะกรรมการแปลนาลันทา” (The Nalanda Translation Committee) เพื่อแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในภาษาดั้งเดิมสู่ภาษาอังกฤษ โดยท่านเห็นว่า ภารกิจการงานแปลและการตีพิมพ์หนังสือนับว่าเป็นงานอันสำคัญอย่างยิ่งต่อการสืบทอดคำสอนของพุทธศาสนา เฉกเช่นเดียวกับที่บรรดานักวิชาการแห่งนาลันทา-ทิเบต กระทำในอดีต

เดือนกรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2566 ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาเถรวาท วิจักขณ์ พานิช และผม ประชุมกันในคาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งย่านทองหล่อ เพื่อจะหาทางก่อตั้งหลักสูตรพุทธศาสนาร่วมสมัยซึ่งมีความแตกต่างจากหลักสูตรพุทธศาสน์ศึกษาที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือที่อื่น โดยมี “วัชรสิทธา” เป็นผู้ดำเนินการ

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การเผชิญความท้าทายของคุณค่าร่วมสมัย เช่น สิทธิและเสรีภาพ ความเท่าเทียม การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ฯลฯ เรียกร้องให้การศึกษาพุทธศาสนาจำจะต้องเข้าใจประเด็นเหล่านี้ด้วยความเปิดกว้างและเป็นสากลยิ่งกว่าเดิม ผสานกับความเข้าใจเชิงลึกในทางภาวนา และอาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย นำมาสู่การออกแบบหลักสูตรดังกล่าว

พวกเราถกเถียงพูดคุยจนกระทั่งในที่สุดชื่อหลักสูตร “พุทธศาสน์นาลันทา” ก็เกิดขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจของวิจักขณ์จากการศึกษาในมหาวิทยาลัยนาโรปะ รวมถึงแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณการศึกษาของนาลันทาที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การศึกษาที่ลุ่มลึกทว่าเปิดกว้างและเป็นสากลควรจะมีขึ้นในบ้านเราแล้ว

 

อันที่จริงในอินเดียก็มีความพยายามจะฟื้นคืนนาลันทา ด้วยการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยนาลันทา” (Nalanda University) ขึ้นมาใหม่ในรัฐพิหาร แต่ด้วยรูปแบบที่เน้นวิชาการตามระบบมหาวิทยาลัยสมัยใหม่ทั่วไป ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ เราจึงอาจพอตั้งข้อสงสัยได้ว่าจิตวิญญาณแบบนาลันทานั้นยังคงมีอยู่มากน้อยเพียงใด

แม้วัชรสิทธาจะไม่ใช่สถานศึกษาที่ได้รับการรับรองจากรัฐ รวมทั้งยังไม่มีสรรพกำลังมากพอที่จะดำเนินการเป็นสถาบันการศึกษาเต็มรูปแบบ แต่ความตั้งใจที่จะสร้างหลักสูตรพุทธศาสน์นาลันทาก็เริ่มดำเนินการแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เราเริ่มเปิด Moduleแรก ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจ โดยมีสี่วิชาหลัก

วิจักขณ์กับวิชา “ไตรยาน : หินยาน – มหายาน – วัชรยาน” พัฒนาการของพุทธศาสนาในอินเดีย จากมุมมองแบบทิเบต

ตามด้วยวิชาของผม “ภารตะทัศน์ : ศาสนาและมโนทัศน์สำคัญในอินเดีย”

วิชาที่สาม “What is Theravada?” – ฉันคือใคร? ส่องสะท้อนย้อนดูตนในอัตลักษณ์ความเป็นพุทธเถรวาทของอาจารย์ชาญณรงค์

และปิดท้ายด้วย “Buddhist Hermeneutics” : การตีความพุทธศาสน์ ของท่านอาจารย์สุวรรณาที่เพิ่งผ่านไป กับนักเรียน “รุ่น 0” จำนวนเจ็ดคนบวกลบนิดหน่อย

 

แม้คนเรียนจะไม่มาก แต่ห้องเรียนนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา การถามตอบที่น่าสนใจ คำถามที่ม่เคยคิดมาก่อน ซึ่งช่วยให้ทั้งอาจารย์และนักเรียนขัดเกลาปัญญาไปด้วยกัน และยังเชื่อมโยงกับมิติภายในรวมถึงประสบการณ์ของแต่ละคนอย่างลุ่มลึก

เราออกแบบโครงร่างของหลักสูตรไว้คร่าวๆ ว่าจะมีหลาย Module สี่วิชาที่เล่าไปนั้นเป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจ จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาที่ลึกขึ้น ไปสู่การประยุกต์ที่หลากหลาย ศิลปะและจิตวิทยา จนไปถึงประเด็นแหลมคมร่วมสมัย เช่น สถานการณ์ทางสังคมการเมือง เพศวิถี เป็นต้น

อยากชวนให้ติดตามครับ

บางท่านอาจเห็นว่า สิ่งที่พวกเราทำอาจดูคล้ายเล่นขายของ คนสอนก็นิดเดียว คนเรียนก็นิดเดียว จะไปมีผลอะไรกับสังคมมากนัก

แต่หลังจากสี่วิชาแรกจบลง ผมกลับมารู้สึกว่า โอ้ สิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำนวนคนเรียน คือการที่จิตวิญญาณของ “นาลันทา” ซึ่งไม่เคยหายหรือตาย ได้มาปรากฏอยู่ในสังคมไทยมากกว่า

จิตวิญญาณของการศึกษาพุทธศาสนาที่เปิดกว้าง ท้าทาย โอบรับความเป็นสากล สัมพันธ์กับผู้คนธรรมดาๆ ที่ใฝ่รู้

ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการเป็นอย่างยิ่ง •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง