ส่องอันดับชาติอาเซียน รายงานค้ามนุษย์สหรัฐ 2024

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก และเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งให้ความสำคัญ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2024 หรือ Trafficking In Person (TIP) Report ที่สำรวจสถานการณ์การค้ามนุษย์ใน 188 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรายงานฉบับนี้มีความสำคัญอย่างมองข้ามไม่ได้ เพราะประเทศที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 3 มีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐคว่ำบาตรหรือลดความช่วยเหลือที่จะมอบให้

ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 1 ซึ่งเป็นอันดับสูงที่สุด อาทิ สเปน สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย โคลอมเบีย จอร์เจีย เกาหลีใต้ บาห์เรน และซูรินาเม

โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ใน Tier 1 คือ ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

 

สําหรับไทยแล้ว รายงานดังกล่าวได้จัดให้ไทยอยู่ใน Tier 2 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันซึ่งสะท้อนถึงความพยายามและพัฒนาการที่สำคัญของรัฐบาลไทยและภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา โดยมีการสืบสวนและดำเนินคดีการค้ามนุษย์ ระบุตัวตนผู้เสียหายเพิ่มขึ้น และให้ข้อเสนอแนะที่ไทยอาจพิจารณาดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นวาระแห่งชาติของไทยที่ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ประเทศที่อยู่ใน Tier 2 เช่นเดียวกับไทย มีอาทิ แอลเบเนีย อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เคนยา ไนจีเรีย เอธิโอเปีย อิรัก และแอลจีเรียที่อันดับดีขึ้นมาจาก Tier 2 Watch List ในปีที่แล้ว ที่มีการใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ฉบับใหม่และมีการเอาผิดผู้ที่ค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า

ขณะที่ชาติสมาชิกอาเซียนที่อยู่ใน Tier 2 ได้แก่ อินโดนีเซีย ลาว รวมถึงมาเลเซียและเวียดนามที่ถูกจัดอันดับให้ดีขึ้นจาก Tier 2 Watch List ในปีที่แล้วขึ้นมาเป็น Tier 2 ในปีนี้

รายงานดังกล่าวระบุว่าเวียดนามมีความพยายามโดยรวมที่มากขึ้นในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ และมีการยื่นร่างกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ให้สภานิติบัญญัติพิจารณาอีกด้วย รวมถึงมีการลงโทษผู้กระทำความผิดและช่วยเหลือเหยื่อมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวยังระบุถึงหลายประเด็นที่เวียดนามยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น การจัดการกับเรื่องการค้ามนุษย์ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่การขยับอันดับขึ้นของเวียดนามก็หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์และข้อครหา Project88 กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในเวียดนามอ้างว่า เวียดนามได้ส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและพยายามปกปิดเรื่องราวการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหวังที่จะได้รับการจัดอันดับดีขึ้นในปีนี้

 

ส่วนประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน Tier 3 อัฟกานิสถาน เบลารุส บรูไน เมียนมา กัมพูชา อิหร่าน จีน และรัสเซีย โดยซูดานถูกปรับลดอันดับลงจาก Tier 2 ในปีที่แล้วให้อยู่ใน Tier 3 ในปีนี้ จากปัญหาสงครามกลางเมืองที่ยังคงดุเดือด และรายงานได้พบเห็นนโยบายและการกระทำของรัฐบาลซูดานที่จะเกณฑ์เด็กเข้ามาเป็นทหาร

ขณะที่บรูไนถูกปรับลดอันดับเพราะไม่มีการตัดสินโทษความผิดแก่ผู้กระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์มานาน 7 ปีติดต่อกันแล้ว

แต่ในทางกลับกัน บรูไนก็อาจมีการดำเนินคดีหรือเนรเทศเหยื่อบางรายที่ต้องการความช่วยเหลือ

อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจคือประเทศที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 3 หลายประเทศมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ว่าปัญหาการค้ามนุษย์จะมีทิศทางดีขึ้น แต่การค้ามนุษย์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในหลายภูมิภาคของโลก และคาดว่ามีผู้คนราว 27 ล้านคนตกเป็นเหยื่อการใช้แรงงานกายและแรงงานทางเพศ

นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐบอกอีกว่า พบเห็นการหลอกลวงทางออนไลน์ที่ล่อให้คนตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น แต่การทำงานขององค์การนอกภาครัฐ (NGO) และการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็มีส่วนช่วยสกัดและนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ดีขึ้นเช่นกัน

ปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่การจัดทำรายงานเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้รายงานการค้ามนุษย์ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ใด