ทดลองตอบคำถาม ‘อาจารย์ธงชัย’ ว่าด้วยหนังสารคดี ‘Breaking the Cycle’

คนมองหนัง

เมื่อ “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” ให้เกียรติเขียนจดหมายตั้งคำถามว่าด้วยภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Breaking the Cycle : อำนาจ ศรัทธา อนาคต” มาถึงผม (และผู้อ่านท่านอื่นๆ) ดังที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ไปในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับก่อน

ในสัปดาห์นี้ ผมจึงขออนุญาตทดลองตอบคำถามที่อาจารย์ธงชัยริเริ่มตั้งประเด็นชวนสนทนาเอาไว้ (ด้วยความรู้ที่ไม่ได้ลึกซึ้งกว้างขวางนักของตนเอง)

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

คําถามข้อแรก เมื่อ “อำนาจ” ถูกขีดฆ่าทิ้ง?

โดยส่วนตัว เวลากล่าวและเขียนถึงชื่อภาษาไทยของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมก็อ่านออกเสียงและพิมพ์คำว่า “อำนาจ” อยู่ด้วยเสมอ

แต่นั่นก็เป็นการอ่านและเขียน ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนความรู้สึกกระอักกระอ่วนสงสัยที่คล้ายคลึงกับวิธีการอ่านชื่อหนังในแบบที่สามของอาจารย์ คือ ผมมักรู้สึกลักลั่น อีหลักอีเหลื่อ ไม่แน่ใจ ว่าเราควรเขียนและออกเสียงคำว่า “อำนาจ” ออกมาหรือไม่?

ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ออกแบบโปสเตอร์ของหนังน่าจะ “จงใจ” ให้พวกเราเกิดความรู้สึกเช่นนั้น

ความรู้สึกที่ด้านหนึ่ง เราก็ตระหนักว่า “อำนาจ” คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเป้าหมายของการทำงานทางการเมือง ไม่ว่ากลุ่มการเมืองนั้นๆ จะต้องการ “อำนาจ” เพื่อหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลง หรือต้องการ “อำนาจ” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงก็ตาม

ขณะเดียวกัน การเติบโตเปลี่ยนผ่านจากพรรคอนาคตใหม่มาสู่พรรคก้าวไกล ก็บ่งบอกว่าพรรคการเมืองพรรคนี้ได้ข้ามพ้นจากการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีเป้าประสงค์เพียงแค่อยากจะ “ต่อต้านอำนาจ” มาไกลโขแล้ว

ทว่า พวกเขาต้องการจะเข้าถึงอำนาจ และเข้าไปแชร์หรือร่วมใช้อำนาจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศนี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนทำหนังและคนดูหนังเรื่องนี้ก็คงตระหนักได้ไม่ต่างกันว่า มีคณะ-เครือข่ายบุคคลที่พยายามขัดขวางไม่ให้ก้าวไกลเข้าถึงอำนาจ หรือตั้งใจ “ขีดฆ่า” อำนาจออกจากมือของพวกเขา

ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นพรรคการเมืองที่มีความชอบธรรมสูงสุด ที่จะใช้อำนาจอธิปไตยในการบริหารประเทศแทนประชาชน ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

คําถามข้อสอง ถ้าหนังสารคดีเรื่องนี้ออกฉายก่อนการเลือกตั้ง 2566 (และชัยชนะของพิธา-ก้าวไกล) หนังน่าจะจบลงตรงไหน? และทิ้งท้ายเรื่องราวไว้อย่างไร?

คำถามข้อนี้ตอบยากอยู่ไม่น้อย โดยผมจะลองให้คำตอบผ่านการจินตนาการว่าตนเองเป็นคนทำหนังเรื่องนี้

หากหนังออกฉายในราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 ผมไม่แน่ใจนักว่าการจบเรื่องราวลงด้วยประเด็นการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และมิตรสหายร่วมอุดมการณ์บางคน ตลอดจนการสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จะมีพลังส่งทางการเมืองที่สูงพอจะกระตุ้นเร้าคนดู ซึ่งกำลังจะมีสถานภาพเป็นโหวตเตอร์ในสนามเลือกตั้ง

เพราะ ณ ปี 2566 เรื่องราวของ “ธนาธร-อนาคตใหม่” อาจเป็นเพียง “เหตุการณ์เก่า” ชุดหนึ่งที่ผ่านเลยมาได้สามปีแล้ว

ซีเนริโอหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็น “การปิดฉาก” ภาพยนตร์ที่ทรงพลังมากกว่า อาจได้แก่การจบเรื่องราวด้วยระลอกคลื่นความเคลื่อนไหวของ “ม็อบคนรุ่นใหม่” ที่ก่อตัวขึ้นหลังการยุบอนาคตใหม่ ซึ่งผ่านมาแล้วทั้งจุดที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคมไทยอย่างหนักหน่วง จุดที่โดนฝ่ายรัฐปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม และจุดที่แกนนำเยาวชนต้องตกเป็นผู้ต้องหา บางคนถูกจองจำอย่างอยุติธรรม

นี่อาจเป็น “ฉากจบ” ที่น่าสนใจของ “Breaking the Cycle” (ฉบับก่อนเลือกตั้ง 2566) ซึ่งจะเป็น “จุดเชื่อมต่อ” ระหว่างการสิ้นสุดลงของอนาคตใหม่และพันธกิจทางการเมืองหลังจากนั้น (ตราบถึงปัจจุบัน) ของก้าวไกล

อีกหนึ่ง “ฉากจบในจินตนาการ” นั้นเกี่ยวพันกับคำถามอีกข้อที่ผมนึกสงสัย คือ ถ้าหนังเรื่องนี้อยากเล่าเรื่องของพรรคก้าวไกลก่อนหน้าการเลือกตั้ง 2566 ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และปิดฉากตัวเองด้วยความหวังที่มีต่อพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ (โดยยังไม่ทราบผลเลือกตั้ง) เรื่องราวดังกล่าวจะถูกเล่าออกมาอย่างไร?

ตามประสาคนที่ตามข่าวการเมืองอยู่บ้าง ผมพอทราบอย่างที่หลายคนรู้ ว่ากระแส “พิธาฟีเวอร์-ก้าวไกลฟีเวอร์” ที่มาแรงแซงโค้งพรรคเพื่อไทยนั้น เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง

หมายความว่า ถ้า “Breaking the Cycle” เข้าโรงฉายก่อนการเลือกตั้งคราวนั้น หนังก็ย่อมจะจับคว้าเอาอารมณ์ความรู้สึกที่ “หันเหเปลี่ยนแปลง” ของผู้คนจำนวนมาก อันจะปูทางไปสู่ชัยชนะน่าทึ่งของพรรคก้าวไกล มาใส่ไว้ในจอภาพยนตร์ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนการมาถึงของกระแสฟีเวอร์ข้างต้น ประสิทธิภาพการทำงานทางการเมือง (โดยเฉพาะด้านนิติบัญญัติ) ของก้าวไกลในช่วงสามปีหลังของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว นั้นค่อยๆ ก่อตัวขึ้น จนกลายเป็นความหวังที่ทั้ง “ใหม่” และ “ใหญ่” ของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไปเรียบร้อยแล้ว

ผมจึงค่อนข้างเสียดาย (ดังที่ได้เขียนไปแล้วในบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ของตนเอง) ที่เราแทบไม่เห็นภาพบทบาทการอภิปรายในสภาอันน่าประทับใจของพรรคก้าวไกล (หรือกระทั่งอนาคตใหม่) ปรากฏในหนังเรื่องนี้เลย (นอกจากเหตุการณ์ที่ธนาธรต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แล้วเดินออกจากห้องประชุมสภา และเหตุการณ์ตอนที่เขาแพ้โหวตนายกฯ)

 

คําถามเกี่ยวพันข้อสุดท้ายว่าด้วยปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากตัวภาพยนตร์

ส่วนหนึ่งผมเห็นด้วยกับอาจารย์ที่ว่า “ความหมายที่คน (ดูหนัง) จำนวนมากรู้สึกร่วมกันถูกผลิตขึ้นด้วยปัจจัยนอกเหนือจากตัวของภาพยนตร์เอง”

สภาวะเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “Breaking the Cycle” มิได้มีคนซื้อตั๋วเข้าไปดูอย่างถล่มทลาย ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะนี่เป็นหนังสารคดีที่ไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างเหมือน “หนังบล็อกบัสเตอร์” แต่ยังอาจเป็นเพราะผู้คนจำนวนมากสามารถแสวงหาแรงบันดาลใจทางการเมืองในทำนองเดียวกันนี้ ได้จากกิจกรรมอื่นๆ ที่มิใช่การชมภาพยนตร์ในโรง

แต่ขณะเดียวกัน ผมก็มองว่าความรู้สึกและความหมายที่เราได้รับจากการชมหนังสารคดีเรื่องนี้ อาจไม่ได้ถูกกำหนดด้วย “ชัยชนะที่ถูกขัดขวางอย่างหน้าด้านๆ” ของพรรคก้าวไกลภายหลังการเลือกตั้ง 2566 เป็นองค์ประกอบหลักหนึ่งเดียว

โดยส่วนตัว ความรู้สึกร่วมที่ผมมีกับ “Breaking the Cycle” นั้นถูกสั่งสมมายาวนานกว่านั้น ตั้งแต่การรัฐประหาร 2549, การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงปี 2553, การรัฐประหารปี 2557, หนึ่งทศวรรษภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการทหาร ผนวกรวมด้วยการเกิดขึ้นและจบลงของพรรคอนาคตใหม่ การอุบัติขึ้นและคลี่คลายสลายตัวลงของพลังคนรุ่นใหม่ จนมาถึงความหวังที่ฝากเอาไว้กับพรรคก้าวไกล

นี่คือความรู้สึกที่เก็บสะสมมาอย่าง “สืบเนื่อง” แต่พร้อมๆ กันนั้น ก็มีรอยปริร้าว-แตกหักบางอย่างบังเกิดขึ้นด้วย

คนที่มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ย่อมสามารถรับรู้ได้ว่า ภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอภาพลักษณ์ของ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะ “ผู้ร้าย” เลย แต่ระหว่างดูหนังไปเรื่อยๆ ผู้ชมเช่นผมกลับรู้สึกโดยชัดเจนว่าพรรคการเมืองที่เก่าแก่กว่าพรรคนี้ เป็นแค่พรรคที่ “เคยคุ้น” หรือเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

การตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้วหลังการเลือกตั้ง 2566 ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็น “สิ่งแปลกแยก” จากความใฝ่ฝันและความปรารถนาทางการเมืองของผม ณ ห้วงเวลาปัจจุบันเสียแล้ว •

 

| คนมองหนัง

คำถาม 2-3 ข้อ จาก ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ว่าด้วยหนังสารคดี ‘Breaking the Cycle’ ทำไม ‘อำนาจ’ จึงถูก ‘ขีดฆ่า’?