‘คู่มือ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

สิ่งหนึ่งซึ่งเมื่อนึกถึงในตอนนี้ผมคิดว่าผมโชคดีมาก ที่ได้มีโอกาสพบและคบหากับเพื่อนๆ ชาวดอยต่างๆ ในวิถีชีวิตของพวกเขา คือความเรียบง่าย ใช้ชีวิตสอดคล้องไปกับธรรมชาติ

มีหลายสิ่งที่พวกเขาพูดและทำ สิ่งที่พวกเขาเชื่อ คล้ายเป็นบทเรียนให้ผมจดจำและเรียนรู้จากพวกเขา

เช่น “เดินขึ้นดอย อย่ามองข้างบน มันจะท้อ” หรือพูดให้กำลังใจว่า “ดอยสูงไม่เกินหัวเข่า”

มีประโยคหนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืม และนำมาใช้ในการเดินป่า รวมทั้งในชีวิต

“เดินขึ้นดอย พบทางแยก ที่ไม่แน่ใจว่าจุดหมายไปทางไหน

ทางหนึ่ง เดินลงหุบ อีกทาง เป็นทางเดินขึ้น ให้เลือกเส้นทางที่เดินขึ้น”

นี่คล้ายเป็นคู่มือ ซึ่งผมนำมาใช้ ทั้งในการเดินป่า และการดำเนินชีวิต

 

ก่อนถึงฤดูมรสุม

ปีนี้ดูเหมือนว่า จะเป็นปีที่ความแห้งแล้งเข้ายึดครองป่ารุนแรงและยาวนาน ตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ทั่วทั้งผืนป่าเต็มไปด้วยสีน้ำตาลของใบไม้แห้ง ใบไม้ส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงติดอยู่กับกิ่ง ส่วนใหญ่ร่วงหล่นปกคลุมอยู่บนพื้นจนกระทั่งมองไม่เห็นดิน

การเดินไปตามด่านจึงยากที่จะไม่ให้เกิดเสียง

ไม่เพียงความร้อนอบอ้าวของบรรยากาศในช่วงกลางวันและความแล้งที่มาถึงอย่างรวดเร็วเท่านั้น บรรดานกต่างๆ ก็คล้ายจะยังไม่มีท่าทีจะสร้างรังวางไข่

พวกมันรอเวลาให้ไฟป่ารุนแรงผ่านพ้นไปก่อน

สัญชาตญาณของนก ทำให้ผมคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ้าง

กระแสน้ำในลำห้วยสายหลักลดลงมาก ลำห้วยสายย่อยๆ มีน้ำขังเป็นแอ่งๆ และดูท่าว่าจะแห้งเหือดในไม่ช้า

 

แคมป์อยู่ริมลำห้วยสายเล็ก ที่สายน้ำขาดเป็นช่วงๆ

ความแล้งทำให้โป่งอันมีน้ำซับ ค่อนข้างคึกคัก ฝูงช้างที่ผ่านมาหลายวันก่อน ปรับพื้นที่กระทั่งราบโล่ง

กลางคืนผมได้ยินเสียงพวกมันร้องไม่ไกล

วันนี้ค่อนข้างเงียบสงบ มีแค่ฝูงนกเขาเปล้า และนกหกเล็กปากแดง ลงมากินน้ำ

อาจเพราะช่วงสาย หมาไนฝูงหนึ่งผ่านมา และหยุดพักนอนเล่น หยอกล้อกันอยู่นาน

มีสัตว์กินพืชมาชุมนุม เหล่านักล่าย่อมตามมา

 

ทํางานในป่าช่วงเวลาแล้งๆ เช่นนี้ไม่น่ารื่นรมย์เอาเสียเลย ความแล้งล้อมรอบตัว เสียงแกรกกรากจากสัตว์เลื้อยคลาน เสียงใบไม้ร่วงหล่น

กลับถึงแคมป์ตอนพลบค่ำ อยู่ลำพัง ป่าไม่ได้เงียบสงัด มีเสียงโน่นนี่ตลอด

ผมใช้เวลาที่แคมป์แห่งนี้บ่อยๆ ที่นี่อยู่ห่างจากโป่งที่ผมตั้งซุ้มบังไพรราว 45 นาที ไม่ไกลนัก แต่ก็ห่างพอที่กลิ่นกายของผม และควันจากกองไฟ จะไม่เข้าไปรบกวนการกินน้ำในโป่งของสัตว์ป่า

นานมาแล้ว ลุงศรี พิทักษ์ป่าอาวุโส ซึ่งเกษียนไปนานแล้ว เป็นคนพาผมมา

แกมาส่ง พักอยู่กับผมหนึ่งคืน แล้วเดินกลับหน่วยพิทักษ์ป่า

“อยู่คนเดียวนะ ฝึกไว้ ชีวิตน่ะ ไม่มีใครอยู่ช่วยได้ตลอดเวลาหรอก”

ผมฟังแกสอน และเรียนรู้ที่จะอยู่ในป่าลำพังกว่าหนึ่งสัปดาห์

“ที่เรากลัวน่ะ เพราะเราไม่รู้”

ผมออกจากเต็นท์เพื่อดูว่ามีอะไรมาเดินรอบๆ และพบว่า เป็นเสียงน้ำค้างหยดจากฟลายชีตลงพื้น เดินไปดูใต้กอไผ่ เพราะได้ยินเสียงหายใจแรงๆ พบว่าเป็นตัวอ้น

เสียงเหล่านี้ สร้างให้เกิดจินตนาการไปไกล ออกไปดูให้รู้ ความกังวลก็หายไป

ครั้งนั้น ผมพบกระทิงฝูงหนึ่ง ในวันเวลาที่กระทิงและประชากรสัตว์ป่าอื่นๆ ไม่ได้พบเจอง่าย และจำนวนยังไม่มากอย่างทุกวันนี้ สำหรับผม การได้รูปกระทิงเป็นเรื่องน่ายินดี

นกเงือกกรามช้าง – เมื่อช่วงเวลาแห่งฝนเข้าครอบคลุมป่า พ่อแม่นกเงือกกรามช้าง จะพาลูกที่ออกจากโพรง มาร่วมชุมนุมประจำปี ในหุบเขาร่วมกับนกเงือกตัวอื่นๆ ลูกนกได้รับการสั่งสอน เพื่อเป็นคู่มือในการดำเนินชีวิต

ลุงศรี เกิดและเติบโตในป่า ทักษะการใช้ชีวิตรวมทั้งการหาของป่า มีอาชีพเป็นพราน ก่อนเข้าทำงาน “ป่าไม้”

ระหว่างเดินไปจุดหมาย แกสอนให้ผมรู้จักแยกรอยตีน ให้สังเกตว่า เป็นรอยใหม่หรือเก่า มุ่งหน้าไปทางไหน

นั่งในซุ้มบังไพร การขยับตัวอย่างไรให้เกิดเสียงน้อยที่สุด เมื่อกระทิงออกมา แกตบไหล่ผมปลอบใจไม่ให้ตื่นเต้น ส่งสายตาอย่างให้กำลังใจ ขณะผมคลานเข้าไปเพื่อให้ได้ระยะพอดี

ไม่ผิดนักที่แกคล้ายเป็นครูผู้สั่งสอนช่วงเวลาที่ผมเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้

เส้นทางทุรกันดารอันทอดยาว

โชคดีที่ผมได้รับโอกาสให้เริ่มต้นกับเหล่าครูในป่า ผู้สอนโดยวิธีการทำให้เห็น

 

ข้อดีประการหนึ่งของการอยู่ในป่าช่วงฤดูแล้ง คือ บางคืนเมื่อนอนบนเปล ผมไม่ต้องใช้ฟลายชีตคลุมด้านบน อีกทั้งต้นไม้ก็ไร้ใบ มีแค่กิ่งก้านโกร๋นๆ ทำให้มองดวงจันทร์ และแสงระยิบระยับมวลหมู่ดาวชัดเจน

นับจากวันที่ลุงศรีพาเดินมาที่นี่ เริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ เป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว ผมอยู่กับบรรยากาศเช่นนี้มายาวนาน บนเส้นทางนี้ แม้ว่าจะเดินไปได้อย่างไม่รวดเร็วอะไรนัก

แต่ก็ดูเหมือนว่า ผมจะเดินมาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับแล้ว

 

บนเส้นทางกันดาร บนหนทางซึ่งต้องไต่ขึ้นดอยสูง ผมใช้คำสอนต่างๆ ของคนในป่า เป็นคล้ายคู่มือทั้งในการทำงาน และดำเนินชีวิต

หลายครั้งที่ผมพบกับทางแยก ไม่แน่ใจว่าต้องไปเส้นทางไหน

ผมจะเลือกเส้นทางที่พาขึ้นทางชัน

แม้จะรู้ว่า ทางลงหุบนั่น จะพาไปพบกับลำน้ำ หรือหมู่บ้าน ผมไม่แน่ใจหรอกว่า จุดหมายจะอยู่ข้างบนนั่นไหม

แต่อย่างน้อย ทิวทัศน์ที่จะพบย่อมงดงามกว่าในหุบ แน่นอนว่า มันจะเหนื่อย รวมทั้งต้องใช้พละกำลังมากกว่า

……………

“คู่มือ” ที่ผมใช้ ไม่ใช่ตำรา หรือจะหาซื้อได้

ต้องค้นหา ทำความเข้าใจด้วยตัวของเราเอง •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ