นักศึกษาร้องนายกฯ พัฒนาโบราณคดี | สุจิตต์ วงษ์เทศ

นักศึกษาร้องนายกฯ พัฒนาโบราณคดี

| สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

โบราณคดีมีปัญหาสั่งสมทั้งด้านการเรียนการสอนอ่อนแอและธุรการอ่อนด้อยที่ไม่พร้อมเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เมื่อแรกเป็นคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สังกัดกรมศิลปากร มีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร (โดยตำแหน่ง)

ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ “ท่านอาจารย์” เป็นคณบดีลำดับที่ 2 ของคณะโบราณคดี พ.ศ. 2507 ครั้นหลังรับตำแหน่ง ได้เดินทางไปราชการต่างประเทศตามคำเชิญทันที (โดยไม่มีประเพณีพบปะพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษาทั้งคณะ)

ปัญหาที่สั่งสมมานาน (ตั้งแต่แรกขยายการเรียนการสอน) ก็ปะทุในปีรุ่งขึ้น เมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 เมื่อนักศึกษาหมดความอดทน ได้รวมตัวยกขบวนเข้าร้องเรียนต่อจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยปรับปรุงการบริหารการเรียนการสอน

มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, ไทยรัฐ, สยามรัฐ

นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 รวมตัวร้องเรียนนายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร มีข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, ไทยรัฐ, สยามรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2508

 

เดลินิวส์ ประจําวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508

นักศึกษาศิลปากรร้องนายกฯ การสอนเละเทะ

เรียนจบไปได้แต่ปริญญา ไม่มีความรู้

นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ยกคณะเข้าร้องทุกข์นายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยปรับปรุงคณะว่าปริญญาบัตรไม่มีความหมาย เรียนจบไปแล้วไม่มีความรู้เพราะมีแต่หลักสูตร แต่ไม่มีอาจารย์สอน นักศึกษาจบไปแต่ละปีหางานทําไม่ได้เลย พร้อมทั้งขอเชิญนายกรัฐมนตรีไปดูสภาพเสื่อมโทรมในคณะ

หัวหน้าคณะเข้าพบนายกฯ

ที่บ้านพักจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เชิงสะพานเกศโกมล 7.00 น. เช้าวานนี้ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรร้อยคนเศษทั้งหญิงและชายได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อจอมพล ถนอม กิตติขจร ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย ขอให้พิจารณาปรับปรุงหลักสูตรและการบริหารของคณะเสียใหม่ เพราะที่เป็นอยู่นี้อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมาก นักศึกษาได้ติดต่อกับ พล.ต.ต. ชุมพล โลหะชาละ ผู้บังคับกองปราบปราม ที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน และยืนเป็นกลุ่มอย่างเรียบร้อย กรําฝนรอคอยอยู่จนกระทั่งเวลา 8.00 นาฬิกา นายกรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้ผู้แทนนักศึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะและหัวหน้าชั้นแต่ละปี เข้าพบเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง

ผู้แทนนักศึกษาทั้ง 4 ซึ่งมีนายดํารงสิทธิ์ ณ บางช้าง หัวหน้าคณะ ม.ล. เพชรี สุขสวัสดิ์ นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และนางสาวทรงศิริ สุวรรณศร ได้เป็นตัวแทน เข้าพบนายกรัฐมนตรี และยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งมีข้อความขอให้นายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัย ช่วยปรับปรุงหลักสูตรและการบริหารของคณะโบราณคดีเสียใหม่ เพราะคณะโบราณคดีนี้ ได้จัดตั้งมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้มีความเจริญก้าวหน้าเลย มีแต่จะเลวลง นักศึกษาได้พยายามขอให้ทางคณะปรับปรุงหลักสูตร หาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถมาสอน เป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ไม่ได้รับความเหลียวแลจากทางคณะเลย

มีแต่ปริญญาบัตรไม่มีความรู้

สําหรับการสอนของอาจารย์นั้น นักศึกษาบอกว่ามาสอนไม่ตรงเวลา และบางทีก็ไม่มาสอนเฉยๆ โดยไม่มีเหตุผล อาจารย์บางท่านก็ไม่เข้าสอนโดยเหตุผลว่า คําบรรยายยังพิมพ์ไม่เสร็จและบ่อยครั้งที่นักศึกษามามหาวิทยาลัย และยังไม่ได้เรียนเลยตลอดทั้งวัน วิชาบางชั่วโมงศาสตราจารย์ผู้บรรยายสุขภาพไม่ดี ก็ปล่อยให้ชั่วโมงสอนขาดอยู่ตลอดทั้งปี เมื่อถึงเวลาสอบก็ให้ได้หมดทั้งที่ไม่เคยเรียนเลย นักศึกษากล่าวว่าอาจารย์และการบริหารงานของคณะนี้แทบทุกคนทํางานเพื่อตัวเอง ขาดทั้งความรู้ ความรอบคอบ ที่ร้ายที่สุดที่นักศึกษาข้องใจก็คือ อาจารย์ส่วนมาก ประพฤติตัวไม่เหมาะสม อาจารย์สตรีบางท่านแต่งกายไม่สุภาพ และอาจารย์ชอบเปิดวิทยุฟังและเล่นไพ่กันในเวลาราชการ

นักศึกษากล่าวว่า หลักสูตรและการดําเนินงานของคณะที่เป็นไปอย่างเหลวแหลกเช่นนี้ ทําให้พวกเขาทั้งหลายกลัวว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะไม่รู้อะไรเลย มีแต่ปริญญาบัตร แต่ไม่มีความรู้ความสามารถ

จบไปแล้วไม่มีงานทํา

นักศึกษาได้กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เขาวิตกและเป็นทุกข์ร้อนที่สุด ก็คือ ค่าของปริญญาบัตร ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีความหมายอะไรเมื่อจบไปแล้ว ก็ไม่มีงานที่ไหนจะให้ทํา ทางสถานที่ราชการก็ไม่เคยประกาศรับปริญญาตรีผู้มีคุณวุฒิทางนี้เลย นอกจากกองโบราณคดีของกรมศิลปากร ซึ่งนานๆ ปีหนึ่งถึงจะรับเสียครั้งหนึ่ง นักศึกษาได้รําพันว่าจํานวนผู้จบการศึกษาในปีหนึ่งๆ ที่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 30 คน จบมาแล้วไม่รู้จะไปทํางานที่ไหน ซึ่งไม่คุ้มกับงบประมาณอุดหนุนที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับนักศึกษาถึงคนละ 4,500 บาทต่อปีเลย นักศึกษากล่าวว่าทางคณะเองก็ไม่เคยมีโครงการแน่นอนสําหรับนักศึกษาที่จบออกไป วัตถุประสงค์เดิมของการตั้งคณะนั้น ก็เพื่อผลิตบัณฑิตออกไปเป็นครูบาอาจารย์ตามสถาบันต่างๆ และให้เป็นมัคคุเทศก์แก่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่คงเป็นเพียงวัตถุประสงค์เลื่อนลอยอยู่อย่างนั้น และจะไม่มีวันเป็นความจริงไปได้ ถ้าไม่มีการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร

นายกฯ รับจะช่วยเหลือ

นักศึกษาได้ยืนยันในที่สุดว่า การมาร้องเรียนครั้งนี้ไม่ได้ทําการสไตร๊ค์หยุดเรียน หรือเดินขบวนหรือเจตนาจะจะโค่นล้มใครทั้งนั้น การที่ต้องร้องเรียนนี้ ก็เพราะต้องการจะให้คณะได้รับการปรับปรุงให้ดําเนินไปในทางที่ถูกต้อง และเพื่อให้นายกรัฐมนตรีช่วยกรุณาปัดเป่าความหวาดกลัวของพวกเขาที่ต้องคอยคิดอยู่เสมอว่า เมื่อจบไปแล้วจะไม่มีงานอะไรทํา ทั้งที่มีปริญญาบัตรอยู่ในมือ

จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังข้อร้องเรียนของนักศึกษาด้วยความเห็นใจ โดยมี พล.ท. แสวง เสนาณรงค์ ร่วมรับฟังอยู่ด้วย และรับที่จะช่วยเหลือนําปัญหาดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยต่อไป เพื่อรีบแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรของคณะโบราณคดีโดยรีบด่วนต่อไป

ผู้แทนนักศึกษาทั้ง 4 คนออกจากบ้านนายกรัฐมนตรีด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และบอกถึงคําสัญญาของนายกรัฐมนตรีที่รับจะช่วยเหลือ นักศึกษาที่รอฟังข่าวอยู่ข้างนอกไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ กับผู้สื่อข่าว ผู้แทนนักศึกษากล่าวว่า

“ท่านได้แสดงความเห็นใจพวกเรา และรับปากที่จะช่วย พวกเราก็ดีใจมากครับ”

เลขาธิการยอมรับข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ได้เข้าพบนายแสวง สดประเสริฐ เลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งรักษาการแทน ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณดี ซึ่งไปราชการต่างประเทศ ยืนยันว่า ข้อร้องเรียนของนักศึกษาที่ว่า อาจารย์ขาดแคลนนั้น เป็นความจริง เพราะแม้กระทั่งคณบดีเองก็ยังต้องขอยืมตัวมาจากกรมศิลปากร สําหรับหลักสูตรนั้น นายแสวงกล่าวว่าควรปรับปรุงหลักสูตร ทางคณะก็ได้พิจารณาจะดําเนินการอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามจะต้องขอความเห็นชอบจากสภาการศึกษาเสียก่อน

เลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวด้วยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มีโครงการที่จะย้ายไปอยู่ชานพระนคร ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์จริงๆ เพราะที่อยู่เก่านี้คับแคบมาก การดําเนินงานจะเริ่มตั้งแต่ปี 2509 ถึงปี 2511 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการนี้แล้ว 40 ล้านบาท

 

ไทยรัฐ ประจําวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508

นักศึกษาศิลปากรร้องนายกให้สังคายนาคณะโบราณคดีด่วน

ยกเสมียนพิมพ์ดีดมาเป็นอาจารย์ ขอให้ล้มล้างระบบ “เล่นพวก”

นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรจํานวนร่วมร้อยร้องทุกข์นายกรัฐมนตรี ขอให้ ปรับปรุงกิจการมหาวิทยาลัยเสียใหม่ ทั้งด้านหลักสูตร ด้านการบริหาร การใช้เงินงบประมาณ การแต่งตั้งอาจารย์ไม่ค่อยจะพิถีพิถัน แม้เสมียนพิมพ์ดีดก็ยังบรรจุเข้ามาเป็นอาจารย์ และที่ร้ายที่สุดก็คือไม่มีหน่วยราชการหน่วยไหนรับพวกเขาเข้าทํางาน เพราะไม่รู้ว่ามีการศึกษาประเภทนี้ในเมืองไทย นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะช่วยเหลือโดยนําเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย

เมื่อเช้าวานนี้ (ที่ 23) นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกชั้นเว้นปี

ที่ 1 จํานวนร่วมร้อยคนได้พากันไปชุมนุมที่บ้านรับรองของนายกรัฐมนตรีเชิงสะพานเกษโกมล ครั้นได้เวลาประมาณ 8 นาฬิกา จอมพล ถนอมจึงได้อนุญาตให้นักศึกษาเหล่านั้นส่งตัวแทนเข้าพบ ส่วนนักศึกษาที่เหลืออยู่ได้ถูก พล.ต.ต. ชุมพล โลหะชาละ ผู้บังคับการกองปราบ และ พ.ต.ต. วุธ ภาคอัฐ สารวัตรใหญ่สถานีตํารวจนครบาลสามเสน ขอร้องให้แยกย้ายกันกลับไปเรียนหนังสือเสีย

ผู้แทนนักศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบกับจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้แก่ นายดํารงสิทธิ ณ บางช้าง, ม.ล. หญิงเพชรี สุขสวัสดิ์, น.ส. ทรงศิริ สุวรรณศร และนายพิเศษ เจียจันทรพงษ์ ผู้แทนนักศึกษาได้นําหนังสือร้องเรียน ซึ่งเตรียมไว้มีความยาวถึง 6 หน้ากระดาษให้จอมพล ถนอม กิตติขจร และพลโท แสวง เสนาณรงค์ เลขาธิการทําเนียบนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งอยู่ด้วยอ่าน

ในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว มีข้อความโดยสรุปว่าขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานนายก

สภามหาวิทยาลัยพิจารณาช่วยเหลือปรับปรุงคณะโบราณคดีเสียใหม่ในด้านหลักสูตรเท่าที่เป็นมาไม่มีอะไรเป็นที่แน่นอน ไม่จัดสอนตามหลักสูตร นักศึกษาจับต้นชนปลายไม่ถูก “หลักสูตรของคณะแม้จะได้รับการรับรองจากสภาการศึกษาและ กพ. ว่าเป็นหลักสูตรขั้นปริญญาตรี แต่ในทางปฏิบัติแทบจะไม่มีผู้ใดรู้จักเราเลย เมื่อไปสมัครงานตามหน่วยราชการต่างๆ มักจะได้รับคําถามว่าปริญญาโบราณคดีมีในเมืองไทยด้วยหรือ” ผู้ที่จบการศึกษาได้มีโอกาสรับราชการน้อยเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ที่สําเร็จในปีการศึกษา 2507 มีผู้สําเร็จ 18 คน ล้วนไม่มีงานทําเลย แม้แต่คนเดียว

เกี่ยวกับอาจารย์เกือบทั้งหมดเป็นผู้หย่อนสมรรถภาพ ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ การเข้ามาเป็นอาจารย์ก็โดยระบบพรรคพวก แม้แต่เสมียนพิมพ์ดีดก็ยังบรรจุเข้ามาเป็นอาจารย์ อาจารย์บางคนมาสอนไม่ตรงต่อเวลา หรือไม่มาสอนเสียเลย อาจารย์ผู้หญิงบางคนแต่งกายไม่สุภาพมาสอน

นักศึกษาร้องเรียนต่อไปอีกว่า การดําเนินงานของคณะไม่มีอะไรดี การรวมคะแนน

สอบทํากันอย่างหละหลวม นักศึกษาบางคนสอบได้กลายเป็นสอบตก ในด้านสถานที่เรียนแม้จะได้รับงบประมาณมา 5 ล้านบาทเศษ เพื่อซ่อมแซมอาคารเรียน ก็ไม่ทราบว่า เอาเงินเหล่านั้นไปทําอะไรเสีย มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย เรื่องต่างๆ เหล่านี้พวกเขาได้ร้องเรียนกับคณบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ได้รับคําตอบว่า “ให้รอไปก่อน”

ท้ายที่สุดนักศึกษาได้กล่าวยืนยันว่า การที่ต้องมาร้องเรียนเช่นนี้หาได้มีการสไตร๊ค์

หรือเพื่อจะโค่นล้างบุคคลหนึ่งบุคคลใด หากแต่เพื่อต้องการให้คณะโบราณคดีก้าวขึ้นสู่ความเจริญเหมือนกับสถาบันอื่น “และเพื่อจะให้นักศึกษาคณะโบราณคดีได้เงยหน้า อ้าปากบ้าง”

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้อ่านหนังสือร้องเรียนดังกล่าวจบแล้ว ได้บอกกับผู้แทนนักศึกษาที่เข้าพบว่าจะรับเรื่องเหล่านี้ไว้พิจารณา และจะนําเข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยศิลปากรในเร็ววันนี้

 

สยามรัฐ ประจําวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2508

นักศึกษาศิลปากรร้องนายกฯ

ให้ปรับปรุงหลักสูตรและสถานที่

นายกฯ รับจะช่วยเหลือเต็มที่

เมื่อเช้าวันที่เวลา 8.00 น. นิสิตชายหญิงคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรจํานวน 120 คนได้พากันไปร้องเรียนต่อจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ณ บ้านพักเชิงสะพานเกศโกมล โดยขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย จัดหาที่เรียนให้มีสภาพที่ดีกว่าในปัจจุบันนี้

ภายหลังจากการพบนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้แทนนิสิตชายหญิง 4 คนได้ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่าบรรดานิสิตที่มานั้น เป็นนิสิตปี 2-4 ซึ่งไม่มีชั่วโมงเรียนแต่อย่างใด และการมาพบนายกรัฐมนตรีก็มิได้มุ่งหวังที่จะกระทําการรุนแรงแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือร้องเรียนไว้พิจารณาแล้ว พร้อมกับรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีจะได้นําเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อปรึกษาหาทางแก้ไขต่อไป

ส่วนหนังสือร้องเรียนนั้น มีใจความสําคัญสรุปได้ดังนี้ คณะกรรมการนักศึกษาคณะ

โบราณคดีพิจารณา เห็นว่าภายหลังที่นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาปรับปรุงมหาวิทยาศิลปากรแล้ว คณะโบราณคดีมิได้มีทีท่าว่าจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นแต่อย่างใดเลย ตรงกันข้าม กลับมีสภาพเลวลงจนสุดที่นักศึกษาจะทนได้ กล่าวคือในเรื่องหลักสูตรนั้นก็มิได้เปลี่ยนแปลงโดยไม่มีวิชาเนื้อหาอันแท้จริงของโบราณคดีกลับสอนเหมือนกับคณะอักษรศาสตร์และวิชาที่มีอยู่เช่นวิชาก่อนประวัติศาสตร์ วิชาขุดค้น หรือวิชาโบราณคดีเอง ก็ไม่มีอาจารย์สอน และมิได้มีการกําหนดหลักสูตรของแต่ละวิชาการแน่นอน จึงเห็นว่านิสิตที่จบจากคณะโบราณคดีนี้ หามีความรู้อย่างแท้จริงไม่ ทําให้หางานทํากันลําบาก เกี่ยวกับคณะอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการนั้น ก็ล้วนแต่เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพ มีแต่คุณวุฒิ นอกจากนั้นก็ไม่มีการแยกว่าใครเป็นอาจารย์ ใครเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ แม้แต่เสมียนพิมพ์ดีดก็บรรจุเป็นอาจารย์ และการสอนของอาจารย์ก็มิได้กระทําอย่างจริงจัง มีการประกาศยอมให้นักศึกษาที่ไม่เข้าเรียนมีสิทธิได้คะแนน 60% นโยบายเช่นนี้เป็นนโยบายสอนให้คอรัปชั่น เกี่ยวกับสถานที่เรียนนั้นทางมหาวิทยาลัยได้รับเงินงบประมาณ 550,000 บาท ซ่อมแซมอาคาร แต่ทางมหาวิทยาลัยมิได้ใช้เงินปรับปรุงอย่างถูกต้องเลย โต๊ะเรียนอยู่ในสภาพที่หัก ห้องเรียนทึบ ห้องนํ้าห้องส้วมไม่มี อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ได้ให้ความยุติธรรมคือจ่ายงบประมาณการสําหรับนิสิตเฉลี่ยแล้ว 4,500 บาทต่อหัว แต่เงินเหล่านี้หาได้ตกมาถึงพวกนิสิตอย่างมีประสิทธิภาพไม่ จึงขอกราบเรียนให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขความคับใจและปรับปรุงให้คณะโบราณคดีเจริญเหมือนสถาบันอื่นๆ บ้าง

นายแสวง สดประเสริฐ เลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีโบราณคดีไปราชการต่างประเทศ ตนเองเป็นผู้รักษาการแทนเท่านั้น ย่างไรก็ดีเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรนั้นก็กําลังดําเนินการอยู่ และในการนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากสภาการศึกษาแห่งชาติด้วย นายแสวงชี้แจงต่อไปว่าสําหรับในด้านตัวอาจารย์นั้นขาดแคลนจริง ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์พิเศษและขอยืมตัวมาจากกรมศิลปากร

เลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดเผยต่อไปว่าจะได้ดําเนินการย้ายมหาวิทยาลัย

ศิลปากรไปตั้งอยู่ชานพระนคร ทั้งนี้เพราะปัจจุบันบริเวณมหาวิทยาลัยคับแคบ สนามกีฬาสโมสรของนักศึกษาก็ไม่มี อย่างไรก็ดี โครงการย้ายมหาวิทยาลัยนี้ ทางคณะรัฐมนตรีก็ตกลงจัดสรรงบประมาณให้ราว 40 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2509 ถึง 2511 การย้ายไปครั้งนี้ก็เพื่อปรับปรุงให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบจริงๆ

 

สยามรัฐ หน้า 7 วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2508

ความรับผิดชอบของใคร?

โดย ผู้ปกครองที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง

ประมาณเกือบสองเดือนมานี้ นักศึกษาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พากันไปร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักสะพานเกศโกมล ถึงเรื่องความเดือดร้อนเมื่อจบการศึกษาไปแล้วไม่มีงานทำ เรื่องนี้ดูเป็นที่น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่ในกระบวนการร้องเรียนของนักศึกษานั้นไม่ถูกระเบียบ เพราะไม่เป็นไปตามลำดับขั้นและยังกล่าวตำหนิครูอาจาย์บางท่าน และการดำเนินงานที่หย่อนสมรรถภาพของมหาวิทยาลัยมากไปสักหน่อยก็ตาม ข้าพเจ้าเผอิญมีลูกสาวเรียนอยู่ในปีที่สามของคณะนี้ เคยได้ยินได้ฟังลูกสาวพร่ำบ่นถึงความไม่สมหวังในการเรียนอยู่บ่อยๆ ว่าเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง อาจารย์ที่ดีก็กำลังจะหมดไป เมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะปริญญาโบราณคดีนั้น ไม่มีใครรู้จักว่าจะใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง

ข้าพเจ้ารับฟังคำบ่นนั้นอย่างเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งและเลยตักเตือนลูกสาวไปว่าไม่ควรจะต้องโวยวาย มีโอกาสได้มีที่เรียนในมหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนี้ก็นับว่าโชคดีถมไปแล้ว เด็กอีกเป็นจำนวนมากที่ผิดหวังอยากจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ก็สอบเข้าไม่ได้ ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่บ่นอยู่ทุกมหาวิทยาลัย ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบคงจะไม่ทอดทิ้งในเรื่องเช่นนี้หรอก คงคิดหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ควรจะอดทนไปก่อน หลังจากว่ากล่าวแล้วก็ดูลูกสาวเงียบไป ไม่กล้าบ่นให้ได้ยินอีก

ครั้นต่อมาเมื่อนักศึกษาได้พากันไปร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เรียกบุตรสาวมาสอบถามว่าได้ไปร่วมการร้องทุกข์กับเขาหรือเปล่า ก็ได้รับตอบว่าไป และก่อนไปก็ได้พากันเซ็นชื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการนักศึกษาทำหน้าที่เป็นตัวแทนจัดการร้องเรียน ข้าพจ้าเลยตำหนิว่าไม่ควรนำเรื่องให้ไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี ทางที่ดีนั้นควรร้องเรียนต่อคณบดี หรือไม่ก็อธิการบดี เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และอาจจะหาหนทางแก้ไขได้เร็วกว่า จะไม่เป็นเรื่องอื้อฉาวในหน้าหนังสือพิมพ์ และจะไม่เป็นตัวอย่างให้นักศึกษาหรือนักเรียนในสถาบันอื่นทำตาม ประเพณีของคนไทยเราไม่ชอบโวยวายอื้อฉาว และเรื่องเช่นนี้ด้วยแล้วควรทำในสิ่งสุภาพ ไม่ให้กระทบกระเทือนใจคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้ว ก็ขอให้แล้วไปอย่าได้ร่วมกันทำขึ้นอีก อนึ่งการร้องทุกข์ครั้งนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็กรุณารับจะช่วยเหลืออยู่แล้ว ควรจะพอใจ ประพฤติตนให้เรียบร้อยอยู่ในระเบียบ รอจนกว่าผู้ใหญ่จะแก้ไขให้ เมื่อตักเตือนแล้วก็ดูลูกสาวของข้าพเจ้าเชื่อฟังและให้คำมั่นว่าจะไม่ร่วมกันทำอะไรรุนแรงเช่นนี้อีก และก็ยังคงไปเรียนตามปรกติ

มาในระยะสองสามสัปดาห์ที่แล้วมานี้ ข้าพเจ้าสังเกตว่าลูกสาวมักจะไปมหาวิทยาลัยสายและบางครั้งก็กลับแต่วัน ดูเหมือนว่าในวันหนึ่งๆ เรียนหนังสือเพียงชั่วโมงสองชั่วโมงเท่านั้น ผิดกว่าแต่ก่อนซึ่งไปมหาวิทยาลัยแต่เช้าและกลับมาบ้านอย่างน้อยก็เกือบห้าโมงเย็น จึงเรียกมาสอบถาม ลูกสาวก็หัวเราะและตอบว่า เดี๋ยวนี้สบายมาก ไม่ต้องเรียนเท่าใดเพราะไม่มีอาจารย์สอนตั้งหลายคน ก่อนไปร้องทุกข์ไม่มีอาจารย์สอนเพียงสองสามคน แต่พอร้องทุกข์แล้วจำนวนอาจารย์ที่ไม่มาสอนเพิ่มอีกรวมเป็น 5 คนด้วยกัน และแต่ละคนก็สอนอาทิตย์ละสองชั่วโมงบ้าง สามชั่วโมงบ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะอาจารย์เหล่านี้เป็นอาจารย์พิเศษ ติดราชการบ้าง ไม่สบายบ้าง และบางคนก็โกรธเคืองนักศึกษา หาว่าไปสาวไส้ให้กากิน ข้าพเจ้าเลยเอ็ดลูกสาวว่า ทำไมไม่ชวนกันไปขอขมาท่านอาจารย์เหล่านั้น ก็ได้รับตอบว่า นักศึกษาได้ส่งตัวแทนไปขอขมา และเรียนชี้แจงให้ทราบถึงเหตุผลแล้ว แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมยังไม่มาสอน พอมีชั่วโมงว่างมากๆ เข้า พวกนักศึกษาก็พากันวิตกกลัวจะไม่มีอะไรสอบ เลยบอกให้หัวหน้าคณะนำเรื่องไปเรียนให้คณบดีทราบ หัวหน้าคณะก็ทำหนังสือเรียนให้คณบดีทราบ แต่เจ้าหน้าที่ทางคณะกลับนำหนังสือมาคืนให้ และบอกให้รอไปก่อนแล้วจะจัดการให้ ข้าพเจ้าได้ฟังคำบอกเล่าจากลูกสาวก็รู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ยังไม่อยากจะเชื่อเด็กจนเกินไปนัก เลยนิ่งเฉยเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อสองสามวันนี้จึงเรียกมาถามอีก ก็ได้รับตอบว่ายังไม่มีอาจารย์มาสอนอยู่นั่นเอง ในครั้งนี้ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อลูกสาวอย่างไม่มีข้อสงสัย

ข้าพเจ้าเองก็เคยผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยมาก่อน แต่ไม่เคยได้รับประสบการณ์อย่างที่ลูกสาวของข้าพเจ้าได้รับ ในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปนั้น ถ้าอาจารย์ผู้ใดมีเหตุจำเป็นมาสอนไม่ได้ ทางคณะจะต้องจัดให้อาจารย์อื่นมาสอนแทนทันที เพื่อไม่ให้นักศึกษาต้องขาดการเรียนไป เขาจะไม่ยอมให้มีชั่วโมงว่างโดยการที่อาจารย์ไม่มาสอนเป็นเดือนๆ เช่นนี้ เป็นอันขาด การศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นขั้นอุดมศึกษาของชาติ นักศึกษาผู้ผ่านการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาบัตรก็เป็นบัณฑิต เป็นชนชั้นแนวหน้าที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ควรจะได้รับการอบรมและความรู้ให้สมกับมาตรฐานที่ได้วางไว้อย่างสมบูรณ์ แต่การที่นักศึกษาในคณะโบราณคดีกำลังประสบปัญหาในเรื่องที่อาจารย์ไม่มาสอนเป็นจำนวนหลายคน และเป็นเวลานานเป็นเดือน ซึ่งเป็นผลทำให้ไม่ได้รับวิชาความรู้ครบถ้วนตามหลักสูตรเช่นนี้ เราจะสอบผ่านขั้นไปจนจบได้รับปริญญาบัตรอย่างภาคภูมิและสมบูรณ์เช่นบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างไรได้ นักศึกษาที่ขยันหมั่นเพียรและสอบไม่เคยตกนั้น มีเวลาที่เรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อจบขั้นปริญญาตรีเป็นจำนวน 4 ปีเต็ม เพราะฉะนั้นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็จะต้องจัดวางหลักสูตรการศึกษาให้ครบถ้วนตามมาตรฐาน ตลอดจนจัดหาครูบาอาจารย์ไว้ทำการสอนอย่างพร้อมเพรียง พร้อมทั้งหาทางป้องกันแก้ไขข้อบกพร่องอื่นๆ อันเป็นอุปสรรคต่อเวลาและการเรียนของนักศึกษาด้วย แต่ที่คณะโบราณคดีนี้ดูเหมือนไม่ได้ตระเตรียมแก้ไขอะไรไว้เลย พออาจารย์ขาดสอนก็ไมรู้จะทำอย่างไร ได้แต่บอกให้นักศึกษารอคอยเป็นเดือนๆ ดูๆ ก็เหมือนกับว่าการเรียนปริญญาตรีในคณะนี้นักศึกษาอาจจะต้องใช้เวลาเรียนถึงห้าหรือหกปี จึงจะเรียนวิชาครบถ้วนตามหลักสูตร

ข้าพเจ้าในฐานะเป็นผู้ปกครองของนักศึกษามีอาชีพเป็นพ่อค้าเล็กๆ คนหนึ่งที่มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวเท่านั้น อยากเห็นความก้าวหน้าของลูกสาว ก็อาบเหงื่อต่างน้ำหาเงินทองมาส่งเสียให้ได้เรียนในมหาวิทยาลัย โดยหวังว่าคงจะเรียนจบได้ปริญญาออกมาอย่างมีความรู้และมีหน้ามีตา แต่พอมาได้ทราบและได้ฟังความเพิกเฉยของคณะโบราณคดีที่มีต่อลูกสาวของข้าพเจ้า และนักศึกษาคนอื่นๆ แล้วก็รู้สึกผิดหวังและเศร้าใจ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าสงสัยว่าการที่ลูกสาวของข้าพเจ้าและลูกเต้าของประชาชนคนอื่นๆ ไปเรียนหนังสือในคณะโบราณคดีแล้วต้องเสียเวลาเรียนไม่ได้ความรู้เท่าที่ควร เพราะไม่มีอาจารย์มาสอนนั้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ •