เกาหลีเหนือ-รัสเซีย พันธมิตรใหม่ ที่ยังมีข้อจำกัด

(Photo by KCNA VIA KNS / AFP)

คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ให้การต้อนรับ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียผู้มาเยือนอย่างยิ่งใหญ่ พบหารือกันสองสามชั่วโมง แล้วออกมาประกาศร่วมกันว่า เกาหลีเหนือและรัสเซียได้ร่วมกันลงนามในความตกลงความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ไปเมื่อไม่นานมานี้

ขณะเดียวกัน รัสเซียกับเกาหลีเหนือก็ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันขึ้นสู่ระดับความเป็น “พันธมิตร” ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตามอง

สำนักข่าวกลางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) ที่เป็นสื่อทางการของเกาหลีเหนือ ตีพิมพ์รายละเอียดของความตกลงดังกล่าวในเวลาต่อมา จุดที่เรียกความสนใจได้สูงสุดก็คือ ความในข้อที่ 4 ของสนธิสัญญาระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซีย ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า

หากฝ่ายหนึ่ง “ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์สงครามจากการรุกรานด้วยอาวุธ” อีกฝ่ายจะ “ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารและอื่นๆ” ในทันที

 

ประเด็นที่ทำให้สัญญาพันธมิตรครั้งนี้ถูกจับตามองมากที่สุดก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ สองประการ

หนึ่งคือ ทั้งโลกล่วงรู้กันว่า รัสเซียและเกาหลีเหนือ ต่างล้วนมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง

กับอีกหนึ่งก็คือ รัสเซียกำลังทำศึกยืดเยื้อติดพันอยู่ในยูเครนในเวลานี้

มองอย่างผิวเผิน พัฒนาการดังกล่าวนี้ไม่น่าแปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งสองประเทศพบว่ามีความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้านที่เป็นการ “สมประโยชน์” ของทั้งสองประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

รัสเซียเองต้องการกระสุนและยุทธภัณฑ์จากเกาหลีเหนือเพื่อใช้ในสงครามกับยูเครน

ในขณะที่เกาหลีเหนือเองต้องการ “ตลาด” สำหรับสินค้าส่งออกของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องการความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคสำหรับโครงการอวกาศที่ผสมผสานกับโครงการพัฒนาอาวุธอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

นั่นทำให้ โรเบิร์ต แพทแมน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประจำมหาวิทยาลัยโอตาโก ในนิวซีแลนด์ คิดว่า อาจไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าความต้องการเฉพาะหน้า รัสเซียอยากได้กระสุนและจรวด ส่วนเกาหลีเหนืออยากได้น้ำมัน, อาหาร และความช่วยเหลือในด้านอวกาศ

และในความเป็นจริง ความเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศทั้งสองก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงนี้ หากแต่ความเป็นมายาวนานตั้งแต่ร่วมกันทำศึกกับฝ่ายตรงกันข้ามในสงครามเกาหลีเมื่อต้นทศวรรษ 1950 เรื่อยมา

 

เซอร์เกย์ รัดเชนโก ศาสตราจารย์จากสำนักศึกษาการต่างประเทศก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ความสัมพันธ์ที่ผ่านมาของทั้งสองประเทศ ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะเกาหลีเหนือเป็นสาเหตุสำคัญ

“เกาหลีเหนือเป็นหุ้นส่วนที่รับมือยาก เชื่อถือไม่ได้ และคาดเดาใดๆ แทบไม่ได้เอาเลย” เขาย้ำ ทั้งยังเชื่อด้วยว่า ปัญหาทำนองเดียวกันก็จะเกิดขึ้นกับความเป็นพันธมิตรในครั้งนี้

ในแง่นี้ รัดเชนโกชี้ว่า การมีเกาหลีเหนือเป็นพันธมิตร กลับเป็นหนทางนำไปสู่ความยุ่งยากมากกว่าอย่างอื่น ตัวอย่างเช่น หากอีกไม่กี่เพลาข้างหน้า คิม จองอึน เกิดตัดสินใจก่อปัญหาขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี เพราะเห็นว่ามีสัญญาพันธมิตรนี้ค้ำประกันอยู่ รัสเซียก็จะพาลถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางทหารครั้งใหม่ที่ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นแม้แต่น้อย

แต่ เบนจามิน คัทเซฟฟ์ ซิลเบอร์สตีน นักวิจัยจากสถาบันเพื่อกิจการระหว่างประเทศแห่งสวีเดน เตือนว่า สัญญาพันธมิตรระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียอาจไม่ใช่เรื่องชั่วครั้งคราว แต่อาจยาวนานและแนบแน่นกว่าที่คิดเอาไว้ก็เป็นได้

เขาเชื่อว่า ถ้าหากโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะแตกแยก แบ่งขั้ว แบ่งฝักฝ่ายกันเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หรือยิ่งทวีความแตกแยกลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ จะพัฒนายกระดับขึ้นเป็น “พันธมิตรที่แท้จริง” ได้ในอนาคต

ซิลเบอร์สตีนชี้ว่า แค่ความคิดในเชิงต่อต้านอเมริกันรุนแรงสุดโต่งที่ทั้งสองประเทศมีเหมือนกัน กับการตกเป็นประเทศที่ถูกแซงก์ชั่นจากนานาชาติขนานใหญ่เหมือนกัน แค่นี้ก็เพียงพอที่จะผลักทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดกันได้จริงๆ

 

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในกรณีนี้จึงไม่ใช่ว่ารัสเซียกับเกาหลีเหนือจะเป็นพันธมิตรที่แท้จริงกันหรือไม่ หรือจะเป็นพันธมิตรที่แท้จริงกันได้นานเท่าใด แต่กลับอยู่ที่ว่า ประเทศสำคัญๆ ในภูมิภาคเดียวกันนี้ตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมไปถึงหุ้นส่วนด้านความมั่นคงอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เป็นหลักประกันทางทหารของประเทศทั้งสอง ยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงกันขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อมีการประชุมสุดยอดระหว่าง 3 ประเทศ และตกลงกันยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ ผ่านมาตรการความร่วมมือระหว่างกันที่ใกล้ชิดและเข้มข้นมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ทั้งสามประเทศตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูลกิจกรรมเกี่ยวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือซึ่งกันและกัน “สดๆ” ชนิดตามเวลาจริงกันเลยทีเดียว

แผนยุทธศาสตร์ร่วมของทั้งสามประเทศ อาจต้องปรับเปลี่ยนไปบ้าง เพราะจำเป็นต้องเพิ่ม “รัสเซีย” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมการทางทหารด้วย นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า แผนยุทธศาสตร์บางส่วนอาจมีการตกลงกันอย่างเป็นทางการในช่วงระหว่างการประชุมร่วมด้านความมั่นคงของ 3 ประเทศในเดือนกรกฎาคมนี้

แต่ที่ผู้เชี่ยวชาญและผู้สันทัดกรณีเห็นตรงกันว่า ที่สำคัญยิ่งกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าใดนักก็คือคำถามที่ว่า จีนมีปฏิกิริยากับสัญญาพันธมิตรเกาหลีเหนือ-รัสเซียนี้อย่างไร

เหตุผลก็คือ ถ้าหากจีนถูกดึงเข้าหาและตัดสินใจมีความสัมพันธ์ด้านการทหารใกล้ชิดกับทั้งเกาหลีเหนือและรัสเซียแล้วละก็ ปัญหาสัญญาพันธมิตรครั้งนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของเอเชียอีกต่อไป

แต่จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโลกทั้งโลกไปนั่นเอง